“เรืองไกร” ร่อนหนังสือยุบ ปชป.ถึง อสส.แล้ว เข้าข่ายช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง และได้อำนาจมาซึ่งการปกครองขัดต่อง รธน. มั่นใจเหตุผลที่ยื่น แขวะ กกต.อย่าทำงาน 2 มาตรฐาน ตะแบงยื้อส่งศาล รธน.ตีความ
วันนี้ (5 ม.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ได้ส่งจดหมายลงทะเบียนถึงอัยการสูงสุด (อสส.) เรื่องการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศมิได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย เพื่อให้ อสส.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคประชาธิปัตย์เลิกการกระทำดังกล่าว และมีคำสั่งยุบพรรค
เมื่อถามว่า การยื่นเรื่องในครั้งนี้มั่นใจแค่ไหน นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนได้ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยยุบพรรคการเมืองไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น หากพิจารณาตามนี้ก็มั่นใจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ อสส. ความจริงการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะพิจารณา แต่ กกต.บางคนกลับออกมาพูดก่อนว่าไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. ทั้งๆ ที่ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนออกมาให้ข่าว ดังนั้น เสนอว่าการทำงานควรจะมีมาตรฐานเดียว มิใช่ 2 มาตรฐาน
ต่อข้อถามถึงกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ไม่หนักใจเพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกรัฐบาลที่จะไม่ส่งผู้สมัครแข่งกันเอง นายเรืองไกร กล่าวว่า ก็สามารถพูดได้ แต่อยากให้ดูเหตุผลที่ยื่นก่อน อีกทั้งต้องดูด้วยว่าสิ่งที่เคยทำกันมาในอดีต ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จึงอยากให้ไปอ่านรัฐธรรมนูญปี 2550 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้ดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จดหมายที่นายเรืองไกรส่งถึง อสส.ระบุว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พร้อมด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงต่อสาธารณะทำให้เข้าใจว่าได้กระทำการร่วมกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยปรากฏข่าวว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ร่วมทำการที่สำคัญ ด้วยการแถลงข่าวให้สัมภาษณ์ว่าได้ดำเนินการติดต่อกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคพลังประชาชนมาก่อนที่พรรคพลังประชาชนจะถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551
นายเรืองไกร ระบุด้วยว่า ข่าวที่ปรากฏต่อสาธารณะหลังจากวันที่ 2 ธ.ค.จนถึงวันที่มีการประชุมสภาฯเพื่อให้ความเห็นชอบให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ทราบว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้เดินทางพบกับบุคคลที่มิใช่ ส.ส.และบางคนเป็นผู้อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นาย สมศักดิ์ เทพสุทิน นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายเนวิน ชิดชอบ โดยเฉพาะการที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพเดินทางไปพบกับนายเนวินที่โรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อแสดงให้สาธารณชนเข้าใจว่านายเนวินเป็นผู้ที่มีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งเคยเป็น ส.ส.ในพรรคพลังประชาชนเดิมซึ่งมีจำนวนหลายสิบคนเพียงพอที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลและจะเป็นผลให้นายอภิสิทธิ์ได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี
นายเรืองไกร ระบุอีกว่า ในการสัมมนาพรรคประชาธิปัตย์ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นายสุเทพ ยังกล่าวขอโทษเพื่อนสมาชิกพรรคทุกคน หากการจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้ทำให้ผิดหวัง เพราะตำแหน่งที่ได้มาน้อยจริงๆ แต่เป้าหมายคือ ตั้งรัฐบาลให้ได้ เปลี่ยนขั้วทางการเมืองให้ได้ นำประเทศสู่แสงสว่าง คือเป้าหมายที่ต้องแลกทุกอย่าง แม้จะได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพียงเก้าอี้เดียวก็เอา นอกจากนี้ข่าวจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 8 ธ.ค. 2551 หน้า 15 หัวข้อข่าว ปชป.ซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาลไม่ส่งคนชิง ส.ส.พื้นที่ทับซ้อน โดยมีเนื้อข่าว นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากผลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ส่งผลให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ใน 22 จังหวัด 26 เขตเลือกตั้ง จำนวน 29 คน ทั้งนี้ จากการที่สถานการณ์การเมืองในขณะนี้เปลี่ยนไป พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคจึงกำหนดแนวทางการคัดเลือกผู้สมัคร โดยเปิดโอกาสให้ที่นั่งแก่พรรคร่วมรัฐบาลที่เสียไปมีสิทธิ์ส่งผู้สมัครก่อน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครเพียง 9 คน สอดคล้องกับข่าวจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 8 ธ.ค.2551
“การกระทำโดยการหลีกเลี่ยงไม่ส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งดังกล่าวไม่เป็นไปตามครรลองของกฎหมายตามปกติ โดยสมคบร่วมกันกระทำเป็นขบวนการกับพรรคการเมืองอื่นหรือกลุ่มการเมืองอื่น เพียงเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลโดยเร็วยิ่งขึ้น พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวอาจเพียงพอให้เชื่อได้ว่าถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และยังอาจถือได้ว่า เป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่พรรคประชาธิปัตย์กระทำการอันอาจเข้าลักษณะแทรกแซงบิดผันกระบวนการเข้าสู่อำนาจในการปกครองโดยสร้างภาพว่ากระทำการตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่โดยเนื้อแท้อาจมิได้เป็นเช่นนั้น ย่อมจะส่งผลให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องสั่นคลอนไม่มั่นคง ทำให้ประชาชนที่รู้ข้อเท็จจริงเสื่อมศรัทธาต่อระบบการเมือง อาจนำไปสู่การต่อต้านการใช้อำนาจปกครองโดยไม่ชอบธรรมของพรรคการเมือง” นายเรืองไกร ระบุ
นายเรืองไกร ระบุว่า การกระทำของนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ เข้าลักษณะเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อันเป็นวิธีการหนึ่งที่นักการเมืองใช้กันมานานจนเกิดความเคยชิน เข้าลักษณะเป็นความผิดที่ร้ายแรง และเป็นการบ่อนทำลายไม่ให้ประชาธิปไตยพัฒนาเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ เนื่องจากนักการเมืองเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบ โดยไม่มีความละอาย เพื่อเตรียมไว้ใช้กับการเลือกตั้งต่อไป อันเป็นวงจรเลวร้ายไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อได้พิจารณาพฤติการณ์เห็นว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ อาจกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและมีผลให้การให้ความเห็นชอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2551 ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า 1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ 2.มีเหตุสมควรให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ และ 3.หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่” นายเรืองไกร กล่าว
รายละเอียดหนังสือถึงอัยการสูงสุดของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
ที่ 5/155 ซอยอารีย์ 5 ถนนพหลโยธิน
แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
วันที่ 5 มกราคม 2552
เรื่อง การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศมิได้เป็นไปตามวิถีทางในรัฐธรรมนูญ
เรียน อัยการสูงสุด
อ้างถึง 1. คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2551
2. บทสัมภาษณ์ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2551 หน้า A6 และฉบับวันที่ 12 ธันวาคม 2551 หน้า A6
3. ข่าวหนังสือพิมพ์ ข่าววิทยุ ข่าวโทรทัศน์ ข่าวทางอินเตอร์เน็ท ที่เกี่ยวข้อง
ข้าพเจ้านายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อยู่บ้านเลขที่ 5/155 ซอยอารีย์ 5 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพ 10400 โทรศัพท์ 081-6599391 ในฐานะบุคคลสัญชาติไทย ที่ทราบการกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมือง ขอใช้สิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้บุคคลหรือพรรคการเมืองเลิกการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
ด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงต่อสาธารณะทำให้ข้าพเจ้าทราบและเข้าใจว่า นายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ได้กระทำการร่วมกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง
นายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงต่อสาธารณะว่า ได้กระทำการร่วมกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอื่นเพื่อประสงค์จะเข้ามาเป็นคณะรัฐบาลใช้อำนาจบริหารแทนพรรคพลังประชาชนที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยการติดต่อกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งบางคนเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ปรากฏข่าวที่ชัดเจนว่ามีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ร่วมทำการที่สำคัญ โดยการแถลงข่าวให้สัมภาษณ์ว่า ได้ดำเนินการติดต่อกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคพลังประชาชนมาก่อนที่พรรคพลังประชาชนจะถูกยุบพรรค
พรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 เป็นเหตุให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาห้าปี ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (5)
รัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 182 (5) ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม ย่อมหมายถึงให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการขอเปิดสมัยประชุมวิสามัญ การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และการให้ความเห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
การออกเสียงให้ความเห็นชอบให้บุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมมีอิสระและไม่ถูกผูกพันโดยมติของพรรคการเมืองหรืออาณัติอื่นใด ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสาม ประกอบมาตรา 126 วรรคห้า
แต่ข่าวที่ปรากฏต่อสาธารณะหลังจากวันที่ 2 ธันวาคม 2551 จนถึงวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ความเห็นชอบให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ทราบว่า การกระทำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้เดินทางพบกับบุคคลที่มิใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและบางคนเป็นผู้อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายเนวิน ชิดชอบ เป็นต้น
โดยเฉพาะการที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ที่ได้เดินทางไปพบกับนายเนวิน ชิดชอบที่โรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อแสดงให้สาธารณชนเข้าใจว่า นายเนวิน ชิดชอบ เป็นผู้ทีมีผลต่อการตัดสินใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทราบทั่วไปว่าเป็นกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคพลังประชาชนเดิมซึ่งมีจำนวนหลายสิบคนเพียงพอที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลและจะเป็นผลให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คือนายอภิสิทธิ์ ได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
การแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและบทความให้สัมภาษณ์ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ทราบว่า การกระทำดังกล่าวพรรคประชาธิปัตย์ย่อมทราบถึงวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศอันอาจมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเข้าใจได้ว่ามีการติดต่อระหว่างพรรค กรรมการบริหารพรรค กลุ่มบุคคลที่มิใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศ ก่อนที่รัฐบาลชุดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะสิ้นสุดลง อันไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
วันที่ 20 ธันวาคม 2551 www.thairath.co.th รายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (19 ธ.ค.) ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดงานสัมมนาสมาชิกพรรคโดยมีแกนนำพรรค อาทิ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค นายกรณ์ จาติกวาณิช รองหัวหน้าพรรคเข้าร่วมงาน นายสุเทพ ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า การจัดงานครั้งนี้ไม่ได้เป็นการฉลองที่พรรคเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เป็นการเลี้ยงขอบคุณ ส.ส.ที่ช่วยกันทำงาน มาจนปิดสมัยการประชุมและทำให้การทำงานของพรรคเดินหน้าไปได้ การประชุมครั้งนี้ ตั้งใจก่อนพรรคจะได้เป็นรัฐบาล การที่พรรคเป็นรัฐบาลครั้งนี้เกิดจากความบังเอิญ ที่มีบุคคลหลายกลุ่ม หลายฝ่ายให้ความช่วยเหลือพรรค แต่คนเหล่านั้น ไม่ประสงค์ออกนาม เหมือนคนปิดทองหลังพระ เพราะมีความเชื่อมั่นว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นทางออกของวิกฤติชาติบ้านเมืองในขณะนี้ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวขอโทษเพื่อนสมาชิกพรรคทุกคน หากการจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้ทำให้ผิดหวัง เพราะตำแหน่งที่ได้มาน้อยจริงๆ แต่เป้าหมายคือ ตั้งรัฐบาลให้ได้ เปลี่ยนขั้วทางการเมืองให้ได้ นำประเทศสู่แสงสว่าง คือเป้าหมายที่ต้องแลกทุกอย่าง แม้จะได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพียงเก้าอี้เดียวก็เอา
วันที่19 ธันวาคม 2551 www.dailynews.co.th รายงานว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย เปิดเผยภายหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางเข้าพบที่บ้านพักว่า นายกฯ ได้เข้ามารายงานถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ซึ่งก่อนที่มีการจัดตั้งรัฐบาล ตนก็ได้ให้คำปรึกษาไปหลายข้อ ส่วนการจัดรายชื่อ ครม.ได้รับคำยืนยันว่า เรียบร้อย พร้อมทั้งไม่มีปัญหา
วันที่19 ธันวาคม 2551 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 2 บทความ เบื้องลึกปชป.ยอมถอยพรรคร่วม “ไม่มีเขา เราก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล” มีการลงข่าวบางส่วนว่า นายสุเทพต้องลุกขึ้นชี้แจงว่า เป็นเงื่อนไขในการเจรจาเชิญพรรคร่วมมาสนับสนุน ถือว่าเป็นเครดิตของคู่เจรจาด้วยซึ่งผู้จัดการตั้งรัฐบาลต้องเอ่ยวลีที่ใช้สยบแรงต้าน ไม่มีเขา เราก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล” และชี้แจงด้วยว่า การที่ยอมให้ตำแหน่ง รมว.มหาดไทยให้กับกลุ่มเพื่อนเนวินเพราะเห็นว่าจะเป็นการวางฐานในการเลือกตั้งครั้งหน้า เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถเจาะพื้นที่ในภาคอีสานได้มาก จึงจำต้องให้กลุ่มเพื่อนเนวินช่วย เพราะเชื่อว่าถ้ามาช่วยดูในจุดนี้ก็จะสามารถเรียกคะแนนกับพรรคประชาธิปัตย์ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 18 ธันวาคม 2551 หน้า A6 ลงข่าวมีเนื้อหาบางส่วนว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อสื่อมวลชนหลังทำพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม โดยมีเนื้อหาบางส่วน ดังนี้ เมื่อเสียงข้างมากซึ่งเป็นเสียงข้างมากเดิมในสภามีปัญหา สส.ส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจสนับสนุนผมขึ้นมาตามวิถีทางของประชาธิปไตย และตามวิถีทางของกระบวนการรัฐสภา รัฐบาลภายใต้การนำของผมจะยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค และจะเคารพกระบวนการและเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผมต้องการเห็นประเทศไทยเป็นต้นแบบของการพัฒนาตามวิธีทางประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ที่มีความยั่งยืน ผมอยู่ในการเมือง 16 ปี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้แทนของพี่น้องประชาชนมา 7 สมัย เคยเป็นรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง บรรดาประสบการณ์ความรู้ทั้งหมด ผมจะนำมาใช้บนพื้นฐานความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อรับใช้ผลประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น และผมยืนยันกับพี่น้องประชาชนที่ได้สนับสนุนผมมาตลอดว่า จะไม่ละทิ้งอุดมการณ์ แนวทางการทำงานของผม และปล่อยสิ่งเหล่านี้ให้สูญหายไปกับการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง หรือปล่อยปละละเลยให้เกิดความไม่ถูกต้องขึ้นในบ้านเมืองแห่งนี้
หนังสือพิมพ์ บางกอกทูเดย์ วันอาทิตย์ที่ 14 – วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2551 หน้า A2 ข่าวโดนหางเลข มีข้อความบางส่วนที่เข้าใจว่าเป็นคำพูดของนายอภิสิทธิ์ดังนี้ สิ่งทีผมได้คุยกับนายเนวินและกลุ่มเพื่อนเนวิน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทิศทางของอนาคตของประเทศล้วน ๆ และพูดกันชัดเจนว่าไม่มีเรื่องอื่น วันนี้ต้องยอมรับสถานการณ์ของบ้านเมืองไม่ปกติ เพราะฉะนั้นเราต้องหาทางออก ที่จริงนายเนวินก็บอกว่า ถ้าผมไปพบเขาก็คงจะมีเสียงต่อต้านอย่างนี้ แต่ผมคิดว่าในเมื่อกลุ่มเพื่อนเนวินตัดสินใจมาทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เราพูดกันเป็นเรื่องประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่มีประโยชน์อื่นเข้ามา ผมคิดว่าเมื่อเขาตัดสินใจร่วมงานและเขาอยู่ภายใต้แรงกดดันที่สูงมาก ผมก็ควรไปพบเขาและคุยกันให้ตรงไปตรงมาดีกว่า ทั้งที่นายเนวินก็บอกว่าให้ผมอยู่เฉย ๆ เพื่อรักษาภาพก็ได้
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 ธันวาคม 2551 หน้า A6 หัวข้อ สุเทพเปิดใจเบื้องลึกพลิกขั้ว กระชากเนวินจากอกแม้ว ลงข่าวมีเนื้อหาบางส่วนว่า โพสต์ทูเดย์ ได้ใช้พื้นที่ร้านกาแฟในพรรคประชาธิปัตย์สนทนากับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล สุเทพเริ่มต้นเล่าถึงความคิดในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ว่า เราได้หารือกับเพื่อน สส. ซึ่งเป็นฝ่ายที่สู้กันในสภาอยู่เรื่อย ๆ ปรากฏว่ามี สส.ที่คิดเหมือนเรา แต่มาสบโอกาสตอนที่มีการยุบพรรคการเมือง นั่นแหละโอกาสสำคัญเป็นจุดหัวเลี้ยว เพราะถ้าไม่มีเหตุการณ์นี้สส.คงไม่สามารถแหกกฎกรงของพรรคออกมาได้ สุเทพเล่าอีกว่า ต้องยกเครดิตและชื่นชมกลุ่มเพื่อนเนวินและกลุ่มเพื่อนสรอรรถ ยืนยันกับเราว่า เขามี 37 คน ซึ่งเราเห็นว่า ถ้าเขาออกมาได้ 37-38 คน ไปลดทางรัฐบาลลงและมาบวกกับของเราจะทำให้ตัวเลขความแตกต่างของสส. ดูชัดเจนขึ้น ผู้จัดการรัฐบาลยอมรับว่า เวลาไปพูดคุยกับพรรคชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย รวมใจไทยชาติพัฒนา ทุกคนถามผมเหมือนกันว่าพี่เทพของเนวินมีกี่คนกันแน่ เป็นเรื่องที่ทุกคนสงสัยเหมือนกันหมดผมก็ชี้แจงว่ามีตามที่คุณเนวินบอก เขาถึงเชื่อ “ถึงขนาดผมต้องขอดูตัวกันว่าตัวจริงอยู่ที่ไหนเป็นยังไง คุณเนวินก็เอาตัวจริงมาแสดงให้ผมดูว่ามี 23 คน ผมก็ได้พบจริงแต่อีก 14 คน เขาขอว่าไม่เปิด เพราะพวกนี้ถ้าเปิดออกไปจะถูกกดดันหนักและจะตัดสินใจลำบากเพราะฉะนั้นขอให้อยู่อย่างนี้ไปก่อน ถึงเวลาคนพวกนี้จะแสดงตัวเอง ผมก็เชื่อและคิดว่ามีสัก 20 คนผมพอใจแล้ว ส่วนที่ได้เกินไปมาเท่าไหร่ก็เท่านั้น” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ บอกอีกว่า “ถึงนาทีนี้มั่นใจไม่มีพลิก ผมก็เอาตัวเลขมาบวกดูว่า มีของคุณเนวิน 20 เพื่อแผ่นดิน 23 แต่ทำงานได้จริง 21 รวมใจไทยชาติพัฒนา 9 ชาติไทย 15 และสมศักดิ์ 11 มาอยู่กับผมหนึ่งคนก็เป็น 10 และของคุณสรอรรถอีก 4 ผมเอาตัวเลขนี้มาบวกกับประชาธิปัตย์ที่มีอยู่ 167 คิดว่าไปได้ ยังไม่รวมกับสส.ที่แสดงความจำนงแต่ไม่ขอเปิดชื่ออีก 10 นับไปนับมาได้ 260 ถือว่าใช่ได้ พอตกลงเช็กสต๊อกทั้งหมดมั่นใจจึงแถลงข่าวได้ แล้วผมก็เผื่อไว้ว่า แม้ว่าจะถูกดึงถูกดูดไปบ้างอย่างเก่งก็น่าจะมีเพียง 13-14 คน ยังมีเหลือเฟือพอที่จะตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้” จริง ๆ แล้วได้คุยกับเนวินมาประมาณสักเดือนเศษ ๆ ก่อนที่พรรคจะถูกยุบ โดยผมอยากให้มีตัวเลขความแตกต่างของตัวเลขระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านประมาณ 40 เสียง เพราะคุณคิดดูสิคนที่มาร่วมแถงกับเราล้วนเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองเท่านั้น และเป็นตัวจริงเสียงจริงทั้งนั้นโดยเฉพาะพรรคเพื่อแผ่นดิน และผมได้คุยมาทุกคนแล้ว ทั้งคุณสุชาติ ตันเจริญ คุณพินิจ จารุสมบัติ คุณไพโรจน์ สุวรรณฉวี และคุณประชา พรหมนอก ตอนที่คุณสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็มีการคิดฟอร์มรัฐบาลกันแล้ว ในตอนนั้นมีทางกลุ่มพลังประชาชน ซึ่งผมไม่รู้เหมือนกันว่ามีที่มาอย่างไร โดยมีการแตกกันออกเป็น 2 กลุ่มนี้ และ 2 กลุ่มนี้ก็เคยมาติดต่อกับผม เหตุการณ์คราวนี้เป็นโอกาสของคนสองคน คนที่ 1 คือคุณเนวิน ที่ได้พิสูจน์ความเป็นธาตุแท้ความเป็นนักการเมือง ได้ลุกขึ้นมาแสดงบทบาทในเวลาชาติวิกฤติเพื่อให้ประเทศผ่านไปได้ อีกคน คือคุณอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯ ซึ่งผมคิดว่าเขาทำได้ โดยเฉพาะงานแรกในฐานะประธานอาเซียน ส่วนเรื่องข้างในพวกผมตะลุมบอนได้ ถ้าคุณอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯและผมเป็นผู้จัดการรัฐบาล พวกคุณก็มาคุยกับผมก็แล้วกัน เมื่อผมตัดสินใจมาเป็นเลขาธิการพรรคให้กับคุณอภิสิทธิ์ และทำงานด้วยกันมานาน ผมมั่นใจว่าคนอื่นทำงานร่วมกันได้ ผมจึงพาคุณอภิสิทธิ์ไปพบกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อจะเป็นโอกาสให้คุณอภิสิทธิ์ได้คุยกับคนเหล่านั้นเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่สุเทพพูดนั้นเป็นความจริง
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 ธันวาคม 2551 หน้า A5 หัวข้อ อภิสิทธิ์-เนวิน ชื่นมื่นจูบปากรับ 4 เงื่อนไขตั้งรัฐบาล ลงข่าวมีเนื้อหาบางส่วนว่า ภารกิจการเดินสายขอบคุณแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค วานนี้ เป็นไปอย่างครึกครื้น โดยเฉพาะการไปพบกับนายเนวิน ชิดชอบ และสส.กลุ่มเพื่อเนวินที่โรงแรมสยามซิตี้ ทันทีที่นายอภิสิทธิ์พบหน้าเนวิน ได้มอบดอกกุหลาบจากเนเธอร์แลนด์ช่อใหญ่ให้ ขณะที่นายเนวินได้โอบกอดนายอภิสิทธิ์ก่อนที่จะหารือร่วมกันในการร่วมสนับสนุนจัดตั้งรัฐบาล นายเนวินแถลงว่า สาเหตุที่จับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลครั้งนี้ คือ 1. อยากให้ว่าที่นายกรัฐมนตรีรักษาสถาบันหลักของชาติ 2. นโยบายเดิม ไม่ว่าจะเรียกว่าประชานิยมหรือไม่ก็ช่วยเหลือประชาชนรากหญ้าได้มากขอให้รัฐบาลใหม่ช่วยสานต่อ 3. อยากเห็นการทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และ 4. สร้างความปรองดองชาติ บังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรมมีมาตรฐานเดียวกัน และนายเนวินกล่าวว่า “อยากบอกให้พรรคประชาธิปัตย์สบายใจได้ว่า จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากวันนี้ไปจนถึงวันโหวตเลือกนายกฯ นี่คือสัญญาของลูกผู้ชาย และให้สบายใจได้ว่าแม้จะมีพรรคการเมืองอื่นไปร่วมรัฐบาล ผมก็จะอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ อยากบอกคุณอภิสิทธิ์ว่า อย่าให้ความสูญเสียและความเจ็บปวดของพวกผมนั้นสูญเปล่า ซึ่งเป็นความตั้งใจของผม ที่ยอมเสียเพื่อน เสียพรรค เสียนาย มาร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์” สำหรับกลุ่มเพื่อนเนวินที่มาร่วม อาทิ นายทรงศักดิ์ ทองศรี นายสุภชัย โพธิ์สุ สส.นครพนม นายเอกพร รักความสุข นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ สส.นครราชสีมา นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ นายโสภณ ซารัมย์ นายทวีศักดิ์ ฤทธิ์ลือชัย นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายทศพล สังขทรัพย์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล บุตรชายของนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกรัฐมนตรี
ในเว็บไซต์ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงข่าวเมือวันที่ 7 ธันวาคม 2551 ในหัวข้อข่าว ปชป.-พรรคร่วมฯ ประกาศจัดตั้งรัฐบาลชูอภิสิทธิ์นายกฯ ดังนี้ 6 ธค. 51 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกาศจับมือ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ได้แก่ พรรคชาติไทย (ชท.) พรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) พรรคมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และ กลุ่มเพื่อนเนวินแถลงตั้งรัฐบาลที่โรงแรมสุโขทัย ถ.สาธรใต้ ทั้งนี้ การแถลงข่าวดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 18.00 น.โดยประมาณ โดยในส่วนของฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะที่แกนนำพรรคการเมือง และตัวแทนกลุ่มการเมือง อาทิ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์, นายไชยยศ จิรเมธากร,รต.หญิงระนองรัตน์ สุวรรณฉวี, นายพิเชษฐ์ ตันเจริญ, นายรณ ฤทธิชัย คานเขต, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล, นายวินัย ภัทรประสิทธิ์, นายพรทิวา นาคาสัย, นายมานิต นพอมรวดี, นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร, นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร, นายศุภชัย โพธิสุข, นายประจักษ์ แก้วกล้าหาญ, นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา และนายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ ได้มาเข้าร่วมการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย
ในเว็บไซต์ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงข่าว ในหัวข้อข่าว แกนนำปชป.เดินสายพบพรรคร่วมหารือทางออกวิกฤติบ้านเมือง มีเนื้อข่าวบางส่วนดังนี้ วันนี้ (8 ธ.ค.51) เวลา 13.30 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหนาพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค พร้อมด้วย สมาชิกพรรคกว่า 40 คนได้เดินทางเข้าพบ นายบรรหาร ศิลปะอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่บ้านพัก ซ.จรัญ 55 เพื่อมอบดอกไม้ พร้อมทั้งขอคำชี้แนะ โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การเดินทางมาพบครั้งนี้หลังจากนายสุเทพ ได้ประสานไว้เรียบร้อยแล้ว และทราบว่านายบรรหารให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนายบรรหารเป็นผู้มีประสบการณ์มายาวนาน น่าจะให้คำปรึกษาที่มีประโยชน์ต่อประเทศ ต่อไป ขณะที่นายบรรหาร พร้อมที่จะให้คำแนะนำ เพราะทุกพรรคก็มีส่วนร่วมในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับชาติบ้านเมือง ส่วนตัวไม่ขัดข้องแต่อย่างใด จากนั้น 15.00 น. แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปยังบ้านพักนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่สนามบินน้ำ โดยมีนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมา และนางพรทิวา นาคาสัย เลขาธิการพรรค พร้อมด้วยสมาชิกพรรคให้การต้อนรับ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มอบช่อดอกกุหลาบให้กับนางอนงค์วรรณ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณที่ให้การสนับสนุนและวันนี้มาเพื่อขอให้คำปรึกษาทางการเมือง จากนั้นได้เข้าพบนายสมศักดิ์ข้างในบ้าน
ในเว็บไซต์ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงข่าวเมือวันที่ 10 ธันวาคม 2551 ในหัวข้อข่าว อภิสิทธิ์เข้าเยี่ยมประชา หน.เพื่อแผ่นดิน ดังนี้ วันนี้ 10 ธค.51 เมื่อเวลาประมาณ 11.55 น. นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยสมาชิกพรรค อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค นายกรณ์ จาติกวณิช นายอาคม เอ่งฉ้วน นายถาวร เสนเนียม เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่บ้านพักซอยวิภาวดีรังสิต 60 โดยมีสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดินรอต้อนรับ อาทิ นายไชยยศ จิรเมธากร นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ นายปาน พึ่งสุจริต นายพิเชษฐ์ ตันเจริญ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ และนายพินิจ จารุสมบัติ ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ได้มอบดอกกุหลาบแดงช่อใหญ่ให้กับ พล.ต.อ.ประชา พร้อมระบุว่าวันนี้มาเยี่ยมคารวะและขอปรึกษาเรื่องอนาคตบ้านเมือง หลังจากนั้น พล.อ.ประชาได้เชิญ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปในห้องรับรอง และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2551 หน้า 15 หัวข้อข่าว ปชป.ซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาลไม่ส่งคนชิง สส. พื้นที่ทับซ้อน โดยมีเนื้อข่าวบางส่วน ดังนี้ นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากผลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ส่งผลให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ใน 22 จังหวัด 26 เขตเลือกตั้ง จำนวน 29 คน ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 11 ม.ค.2552 และเปิดรับสมัครในวันที่ 22-26 ธ.ค.นี้ จึงทำให้มีเวลาในการรณรงค์หาเสียงมีเพียง 15 วัน ส่งผลให้มีจำกัดในการคัดเลือกผู้สมัคร และมีเงื่อนไขที่ผู้สมัครต้องเป็นสมาชิกพรรคครบ 90 วัน ทั้งนี้ จากการที่สถานการณ์การเมืองในขณะนี้เปลี่ยนไป พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคจึงกำหนดแนวทางการคัดเลือกผู้สมัคร โดยเปิดโอกาสให้ที่นั่งแก่พรรคร่วมรัฐบาลที่เสียไปมีสิทธิ์ส่งผู้สมัครก่อน นายเทพไท กล่าวอีกว่า ส่วนเขตเลือกตั้งที่ไม่ทับซ้อนกับพรรคร่วมรัฐบาลนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะส่งผู้สมัครเอง โดยมีมติส่งในภาคเหนือ ได้แก่ จ.ลำพูน และ ลำปาง ภาคอีสาน ได้แก่ จ.อุบลราชธานี เขต 3 ส่วนภาคกลาง ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา ราชบุรี สมุทรปราการ ขณะที่ภาคใต้ ได้แก่ จ.นราธิวาส และกรุงเทพฯ เขต 10 ส่วนพื้นที่ที่ทับซ้อนกับพรรคชาติไทยพัฒนา รวมใจไทยชาติพัฒนา และเพื่อแผ่นดิน ที่ประชุมได้มอบหมายให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ไปประสานงานกับพรรคเหล่านี้ และนำผลมาแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้
วันที่ 14 ธันวาคม 2551 นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์แถลงว่า ในช่วงเช้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาผลการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธานฯ ในเรื่องของการส่งผู้สมัครของพรรค เข้ารับการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 11 มกราคมที่จะถึงนี้ นพ.บุรณัชย์ระบุว่า จากการประกาศยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีผู้สมัครที่พ้นสภาพและจะว่างอยู่ใน 28 เขตทั่วประเทศ ในวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติในเบื้องต้นอนุมัติผู้สมัครใน 6 จังหวัด ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร เขต 10 นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ภาคเหนือจังหวัดลำพูน นายขยัน วิพรหมชัย จังหวัดลำปาง นายมัธยม นิภาเกษม ภาคกลาง จังหวัดสมุทรปราการ เขต 1 คุณสรชา วีรชาติวัฒนา จังหวัดสิงห์บุรี เขต 1 นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ จังหวัดปทุมธานี เขต 1 นายอภินันท์ ช่วยบำรุง
ข่าวจากเว็บไซต์ www.thaiinsider.com วันที่ 23 ธันวาคม 2551 ลงไว้บางส่วนว่า วันที่ 23 ธ.ค. 2551 ที่รัฐสภา นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงอนาคตทางการเมืองว่า ถ้าสื่อโหวตให้ตนออก ตนก็พร้อมลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯและส.ส. แต่ถ้าไม่ต้องการให้ลาออก ก็จะทำงานต่อไป แต่จะมีใครมาบีบบังคับนอกเหนือกฎหมายไม่ได้ เพราะตำแหน่งประธานสภาฯเป็นตำแหน่งที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ และรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ว่าผู้ที่จะออกจากตำแหนงประธานสภา จะต้องติดคุก ทำผิดหรือลาออก แต่ตนไม่ได้ทำผิดอะไร จึงไม่จำเป็นต้องลาออก และตอนนี้ตนยังไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง แต่อีก 2-3 วัน จะสังกัดพรรค ซึ่งก็จะไปอยู่กับกลุ่มเพื่อนเนวิน ตนไม่พูดอ้อมค้อมเพราะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเพื่อนเนวิน
ข่าวจากเว็บไซต์ www.manager.co.th วันที่ 23 ธันวาคม 2551 ลงไว้บางส่วนว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกในวันนี้ โดยระบุว่า ได้ให้แนวทางการทำงานร่วมกันของคณะรัฐมนตรี 9 ข้อ เพื่อเน้นย้ำและปฏิบัติงานว่า รัฐบาลเข้ามาบริหารงานท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยแนวทางดังกล่าว ประกอบด้วย 8.รัฐบาลต้องพร้อมรับการตรวจสอบ ในเชิงนโยบาย และเรื่องอื่นๆ โดยใช้เหตุผลข้อเท็จจริงในการชี้แจง และหลีกเลี่ยงการนำรัฐบาลไปตอบโต้ หรือทะเลาะ เพราะไม่สอดคล้องกับแนวทางการสร้างความสามัคคี 9.รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเหนือประชาชนในแง่ของการปฏิบัติตามกฎหมาย และความรับผิดชอบทางการเมืองมีมาตรฐานสูงกว่ากฎหมาย นายกฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาลจะประเมินว่า หากการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีคนใดเป็นอุปสรรค แม้จะไม่ได้กระทำผิด ขอให้ทุกคนยึดถือว่าประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนส่วนตัวหรือรัฐบาล
ข่าวจากเว็บไซต์ www.manager.co.th วันที่ 23 ธันวาคม 2551 หัวข้อ กกต.ตั้งทีมสอบแล้วคนทรท.เอี่ยวตั้งรัฐ ลงไว้บางส่วนว่า นาง สดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวด้วยว่าในการประชุม กกต.ได้พิจารณากรณี นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส. พรรคเพื่อไทยได้ร้องให้ กกต. ตรวจสอบการเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ของอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งว่า ที่ประชุมมีมติให้คณะอนุกรรมการชุดที่ 13 ไปสืบสวนสอบวนข้อเท็จจริงว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการขัดต่อ มาตรา 98 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง ที่ระบุการห้ามกระทำของกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบหรือไม่ โดยให้ระยะเวลาในการพิจารณา 15 วัน ทั้งนี้คณะอนุกรรมการ สามารถประเด็นสอบสวนได้เช่น ตาม มาตรา 94 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง ซึ่งเกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตามวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะ กกต. ไม่ได้ตีกรอบชัดเจนว่า จะต้องสอบในประเด็นใดประเด็นหนึ่งเท่านั้น ส่วนกกต. เคยตอบข้อหารือเกี่ยวกับการกระทำของ กรรมการบริหารพรรค ที่ถูกเพิกถอนสิทธิในประเด็นที่ว่าสามารถเข้ามาช่วยหาเสียงได้หรือไม่นั้น นางสดศรี กล่าวว่า ในครั้งนั้นมีการหารือเข้ามา ของพรรคเพื่อแผ่นดิน และเราก็ได้ตอบข้อหารือ ว่าไม่สมควรทำเช่นใดบ้าง และการที่เข้ามาร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นความผิด หรือไม่ต้องดูข้อกฎหมายเสียก่อน
อย่างไรก็ตามในมาตรา 97 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง ก็ได้ห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบเข้ามาจัดตั้งหรือมีส่วน ในการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ อย่างเช่นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ได้ถูกยุบไปแล้วได้ไปมีส่วนจัดตั้งพรรคเพื่อไทยหรือไม่ หากมีทำก็ถือว่าผิดชัดเจน ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นการกระทำในหน้าที่ของกรรมการบริหารพรรคหรือไม่นั้นต้องดูกฎหมายและข้อบังคับพรรคเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย รวมถึงจะต้องสอบปากคำกรรมการบริหารพรรคที่ให้ อดีต111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย
12 พ.ย. 2550 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดปราศรัยที่วงเวียนใหญ่ นำทีมโดยนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้อำนวยการศูนย์เลือกตั้งกรุงเทพฯ ของพรรค และนายพนิช วิจิตรเศรษฐ รองผู้ว่าฯกทม. โดยมีประชาชนมาร่วมรับฟังการปราศรัยประมาณ 700 คน ด้านนายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า ที่ตนประกาศเรื่องการแบ่งขั้วไม่ใช่ต้องการให้เกิดความแบ่งแยก แต่ถือว่าคนที่อยู่พรรคพลังประชาชนก็คือคนที่เคยดูแลบ้านเมืองนี้มาเป็นเวลา 6 ปีที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น มโหฬาร มหาศาลที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็น 6 ปีที่เอาอำนาจของประชาชนไปข่มขู่ คุกคาม ข่มเหง คู่แข่งขันทางการเมือง คนที่คิดไม่เหมือนกับตัวเอง “ผมบอกว่าวันนี้ถ้าคิดจะเป็นรัฐบาลและผมไปจับมือกับพลังประชาชน คิดว่าสองพรรคเกินครึ่ง แต่ผมไม่ต้องการเป็นรัฐบาลแล้วทรยศประชาชน จะเป็นไปได้อย่างไรที่จะบอกว่าคนที่เคยต่อสู้คัดค้าน กล่าวหากันแล้ววันหนึ่งก็บอกจับมือจะได้มีอำนาจด้วยกัน นั่นไม่ใช่การเมืองในวิถีทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่การเมืองอุดมการณ์ ไม่ใช่การเมืองของประชาธิปัตย์แน่ ผมประกาศว่ายืนอยู่คนละขั้วเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกที่ชัดเจน อยากให้ทั้งสองฝั่งมาแสดงความคิดและบอกกับประชาชนพร้อมๆ กันว่าแต่ละฝ่ายคำนึงถึงบ้านเมืองว่าไปในทิศทางไหน อย่างไร ประชาชนจะได้ตัดสินใจได้ถูก แต่คงยาก”
ข่าวจากเว็บไซต์ www.komchadluek.net วันที่ 24 มีนาคม 2549 ลงไว้บางส่วนว่า วันที่ 24 มี.ค. พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดปราศรัยใหญ่เป็นครั้งแรก หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา ที่ท้องสนามหลวง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ปราศรัยชี้แจงถึงความเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบทักษิณว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ อีกทั้งกระบวนการตรวจสอบก็ไม่ชอบมาพากล และนายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชอบอ้าง 19 ล้านเสียง ไม่ยอมให้มีการตรวจสอบในการกระทำหลายโครงการทั้งการนำสมบัติของชาติไปขาย หรือการโกงในรูปแบบเก่า ๆ เช่น การชักเปอร์เซ็นต์ การฮั้วประมูล และหนักที่สุดคือ ทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นการปล้นแบบถูกกฎหมาย เช่น การยกเว้นภาษีดาวเทียม ให้กับโครงการของครอบครัว ทำให้รัฐสูญเงินทันที 16,000 ล้านบาท
นายอภิสิทธิ์ เคยลงในเว็บไซต์ของตนเองในหัวข้อ บทเรียนจากกรณีทุจริตในระบอบทักษิณ โดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 24 ธันวาคม 2549 บางส่วนดังนี้ การทุจริตซับซ้อนขึ้น มีทุจริตรูปแบบใหม่ ขณะที่ทุจริตแบบเก่าก็ไม่หมดไป หลายกรณีที่เกิดขึ้นเหมือนดูหนังเก่าซ้ำซาก เช่น ปัญหาสินบน การทุจริตจากงบประมาณ โครงการแทรกแซงต่างๆ อีกหลายกรณีแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคเอกชนในกระบวน การทุจริต ในรูปแบบของการสมยอมกันในการเสนอราคา ซึ่งพรรคได้ผลักดันกฎหมายให้เป็นความผิดอาญาในสมัยรัฐบาลชวน 2 แต่การใช้กฎหมายยังไม่สัมฤทธิผล แต่ที่สำคัญที่สุดคือการเติบโตของการทุจริตเชิงนโยบาย ที่เริ่มตั้งแต่การคิดโครงการ/นโยบาย โดยมีเป้าหมายในการเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจของผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน บางเรื่องกลายเป็นการทุจริตที่อาจไม่ผิดกฎหมาย เพราะ ความซับซ้อน หรือ ความแนบเนียนทางกระบวนการที่เกิดขึ้น บทเรียนที่เกิดขึ้นก็คือ เราจำเป็นที่จะต้องผลักดันกฎหมายใหม่ๆ หรือ ปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ ให้มีความเข้มงวดกวดขันมากขึ้น ในการห้ามการมีผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ บังคับให้มีการเปิดเผยผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งและครอบครัว เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ใช้กฎหมายจะต้องสามารถใช้ข้อเท็จจริงในภาพรวมของการทุจริตมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา มากกว่าดูเพียงแค่ว่าการกระทำในแต่ละขั้นตอนผิดกฎระเบียบหรือไม่
ข่าวจากเว็บไซต์ www.posttoday.com วันที่ 26 ธันวาคม 2551 หัวข้อข่าว กกต.เคาะยอดผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 11 ม.ค.52 ลงไว้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้รับรายงานจาก กกต.ประจำจังหวัดที่มีการเลือกตั้งส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่างจำนวน 29 ตำแหน่งใน 22 จังหวัด 26 เขตเลือกตั้ง การเปิดรับสมัคร ส.ส.ในระหว่างวันที่ 22 - 25 ธันวาคม จนถึงขณะนี้มีจำนวนผู้มาสมัครรับแล้ว รวม 69 คน โดยแยกเป็นชาย 49 คน และหญิง 20 คน ดังนี้
1. กทม.เขต 10 (ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ บางขุนเทียน บางบอน) มีผู้มาสมัครจำนวน 4 คน ได้แก่ 1 . นายจารุวงศ์ เรืองสุวรรณ พรรคเพื่อไทย 2.นายถนอมศักดิ์ นวลเศรษฐ พรรคสาธารณชน 3.นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ พรรคประชาธิปัตย์ 4.นายบุญฤทธิ์ ขวัญชุม พรรคประชากรไทย
2. จ.ฉะเชิงเทรา เขต 1 ได้แก่ 1.นางสุธาทิพย์ ตันเจริญ พรรคประชาราช
3.จ.นครปฐม เขต 1 มีสมัคร 2 คน ได้แก่ 1 .นายมารุต บุญมี พรรคประชาธิปัตย์ 2.นายฐานุพงศ์ รังสิไตรพงศ์ พรรคประชาราช และ 3.นายสาโรช เบญจาสินสวัสดิ์ พรรคเผ่าไท
4.จ.นครพนม เขต1 ได้แก่ 1. น.ส.สุมาลี พูลศิริกุล พรรคเพื่อแผ่นดิน และ2.นายอภิสิทธิ์เป๊าะ คำกรฤาชา
5.จ.นราธิวาส เขต 2 สมัคร 1 คนได้แก่ 1.นายนิอาริส เจตาภิวัฒน์ พรรคชาติไทยพัฒนา 2.นายมุคตารื กีละ พรรครวมไทยชาติพัฒนา
6.จ.บุรีรัมย์ เขต 2 ได้แก่ 1.นายจักรกฤษณ์ ทองศรี พรรคประชาราช 2.นายอธิวัฒน์ บุญชาติ พรรคประชาชาติไทย เขต 4 ได้แก่ 1.นายสุทัศน์ชัย กลมไธสง พรรคประชาราช 2.นางเจติยา เลี้ยงผ่องพันธ์ พรรคชาติไทยพัฒนา 3.นายพีระพงษ์ เฮงสวัสดิ์ พรรคเพื่อแผ่นดิน
7.จ.ปทุมธานี เขต1 ได้แก่ 1 นางชนากานต์ ยืนยง พรรคประชาราช 2.นายอภินันท์ ช่วยบำรุง พรรคประชาธิปัตย์
8.จ.มหาสารคาม เขต1 ได้แก่ น.ส.กุสุมาลวดี ศิริโกมุท พรรคเพื่อแผ่นดิน 2.นายอภิราช บรรณารักษ์ พรรคประชาราช 3.นายเตชสิทธิ์ พิมล พรรคความหวังใหม่
9.จ.ร้อยเอ็ด เขต 2 ได้แก่ นางรัชนี พลซื่อ พรรคเพื่อแผ่นดิน 2.นายปิยะรัช หมื่นแสน พรรคเพื่อไทย 3.น.ส.สุนิดษา เวฎสุวัณ พรรคความหวังใหม่
10 จ.ราชบุรี เขต 1 ได้แก่ 1.นายยศศักดิ์ ชีววิญญู พรรคประชาธิปัตย์ 2.นายเดชา ตุลาธาร พรรคเพื่อไทย
11.จ.ลพบุรี เขต 1 ได้แก่ 1.นายสิงห์สมุทร รัตนอำภา พรรคความหวังใหม่ 2.น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช พรรคชาติไทยพัฒนา 3.นายไธพัตย์ ประจินเกียรติ พรรคสาธารณชน
12. จ.ลำปาง เขต 1 ได้แก่ 1.นายสมโภช สายเทพ พรรคเพื่อไทย 2.นายมัธยม นิภาเกษม พรรคประชาธิปัตย์ 3.นายสินธ์ ประสาทไทย พรรคสาธารณชน
13.จ.ลำพูน เขต 1 ได้แก่ 1.นายเพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล พรรคเพื่อไทย 2.นายขยัน วิพรหมชัย พรรคประชาธิปัตย์ 3.น.ส.อาภาภรณ์ พุทธปวน พรรคเพื่อแผ่นดิน
14.จ.ศรีสะเกษ เขต1 ได้แก่ 1.นางสกุลทิพย์ อังคสกุลเกียรติ พรรคชาติไทยพัฒนา และ 2.นายสุตา พรมดวง พรรคประชาราช 3.นายไชยยงค์ รัตนวัน พรรคความหวังใหม่ เขต 2 ได้แก่ 1.นางมาลินี อินฉัตร พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 2.น.ส.จิรวดี จึงวรานนท์ พรรคประชาราช
15. จ.สมุทรปราการ เขต 1 ได้แก่ 1.นางอรุณลักษณ์ กิจเลิศไพโรจน์ พรรคเพื่อไทย 2.น.ส.สรชา วีรชาติวัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ 3.นายโชคชัย ไทยพิชิตบูรพา พรรคสาธารณชน
16.จ.สระบุรี เขต ได้แก่ 1.นายองอาจ วงษ์ประยูร พรรคประชาธิปัตย์
17.จ.สิงห์บุรี เขต 1 ได้แก่ 1.นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พรรคประชาธิปัตย์ 2.นายพายัพ ปั้นเกตุ พรรคเพื่อไทย
18.จ.สุพรรณบุรี เขต 1 ได้แก่ 1.นายนพดล มาตรศรี พรรคชาติไทยพัฒนา 2.นายนิติวัฒน์ จันทร์สว่าง พรรคชาติไทยพัฒนา 3.นายชาญชัย ประเสริฐสุวรรณ พรรคชาติไทยพัฒนา เขต 2 ได้แก่ 1.นางพัชรี โพธสุธน พรรคชาติไทยพัฒนา 2. นายเจรจา เที่ยงธรรม พรรคชาติไทยพัฒนา 3.นายทวี พิมพขันธ์ พรรคความหวังใหม่ 4.นางศุภานัน เรืองศรี พรรคความหวังใหม่
19.จ.อ่างทอง เขต 1 ได้แก่ 1.นายภคิน ปริศนานันทกุล พรรคชาติไทยพัฒนา และ 2.น.ส.เพ็ญชิสา หงส์อุปถัมภ์ชัย พรรคเพื่อไทย 3.นางสุวภัทร พลกลาง พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย
20. จ.อุดรธานี เขต 2 ได้แก่ 1.นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ พรรคเพื่อไทย 2.น.ส.ณฐกมล นนทะโชติ พรรคเพื่อแผ่นดิน 3.นายบุญจันทร์ โมระพัตร พรรคสาธารณชน
21.จ.อุทัยธานี เขต 1 ได้แก่ 1.นายอดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ พรรคชาติไทยพัฒนา 2.นายกลุเดช พัวพัฒนกุล พรรคประชาราช
22.จ.อุบลราชธานี เขต 2 ได้แก่ 1.นายอุดร ทองประเสริฐ พรรคเพื่อแผ่นดิน 2.นายพินิจ ชัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา 3.นายสุขุมรัฏฐ์ สาริบุตร พรรคเพื่อไทย เขต 3 สมัคร 2 คน ได้แก่ 1.นายสุริยพันธ์ ภักดีล้น พรรคเสียงประชาชน 2.นางอุดร จินตะเวช พรรคชาติไทยพัฒนา 3.นายกิตติพงษ์ เทียมสุวรรณ พรรคเพื่อไทย
สำหรับจังหวัดที่มีผู้สมัครมากที่สุด คือ อุบลราชธานี 7 คน ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา และจ.สระบุรี มีผู้สมัครเพียงรายเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่มีจำนวนผู้รับสมัครมากที่สุดจนถึงน้อยที่สุด ดังนี้ 1.พรรคชาติไทยพัฒนา 13 คน 2.พรรคเพื่อไทย 11 คน 3.พรรคประชาราช 8 คน 4.พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน 5.พรรคเพื่อแผ่นดิน 7 คน 6. พรรความหวังใหม่ 7 คน 7.พรรคสาธารณชน 5 คน 8 .พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 2 คน ทั้งนี้มีพรรคที่ส่งผู้สมัครเพียง 1 คน ดังนี้ พรรคประชากรไทย พรรคเผ่าไท พรรคประชาชาติไทย พรรคเสียงประชาชน พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย
รัฐธรรมนูญ 2550 มีเจตนารมณ์ให้การเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอิสระและไม่ถูกผูกพันโดยมติของพรรคการเมืองหรืออาณัติอื่นใด เช่นกลุ่มการเมือง เป็นต้น และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะต้องรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีบทบัญญัติที่เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว
รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธรการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว
รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสาม ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้
รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสี่ ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว
รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
รัฐธรรมนูญ มาตรา 238 คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงโดยพลันเมื่อมีกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(3) ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ก่อนได้รับเลือกตั้งหรือสรรหา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ใดได้กระทำการใด ๆ โดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้งหรือสรรหา หรือได้รับเลือกตั้งหรือสรรหามาโดยไม่สุจริตโดยผลของการที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดได้กระทำลงไปโดยฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 94 เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกระทำการตามที่รัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการดังกล่าว
มาตรา 95 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 94 ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งต่ออัยการสูงสุด พร้อมด้วยหลักฐาน เมื่ออัยการสูงสุดได้รับแจ้งให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควร ก็ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ถ้าอัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากนายทะเบียนและผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าวไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่แต่งตั้งคณะทำงาน ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจยื่นคำร้องเอง
มาตรา 95 วรรคสอง หากนายทะเบียนเห็นสมควรจะให้ระงับการดำเนินการของพรรคการเมืองซึ่งกระทำการตามมาตรา 94 ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งต่ออัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับการกระทำดังกล่าวของพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราว
มาตรา 95 วรรคสาม ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองซ้ำ หรือพ้อง หรือมีลักษณะคล้ายคลึงกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ในการดำเนินกิจการทางการเมือง หรือประโยชน์อื่นใดในทำนองเดียวกัน
มาตรา 98 ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดเพราะเหตุอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนมาตรา 82 หรือเหตุตามมาตรา 94 และปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนร่วม รู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบถึงการกระทำดังกล่าวแล้วมิได้ยับยั้ง หรือแก้ไขการกระทำดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น มีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
มาตรา 110 วรรคสอง ผู้ใดโดยเจตนาสมคบกันตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไปดำเนินกิจการเช่นเดียวกับพรรคการเมือง หรือดำเนินการไม่ว่าโดยวิธีใดให้เข้าใจว่าเป็นพรรคการเมืองโดยมิได้จดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดเรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
มาตรา 103 วรรคหนึ่ง ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว หรือรู้ว่ามีการกระทำการดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าการกระทำนั้นน่าจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครที่กระทำการเช่นนั้นทุกรายเป็นเวลาหนึ่งปี โดยให้มีผลนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่ง
มาตรา 103 วรรคสอง ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่ง ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำนั้นแล้วมิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง
มาตรา 103 วรรคสาม ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนในวรรคหนึ่ง ไม่ว่าเป็นการกระทำของผู้ใด ถ้าเห็นว่าผู้สมัครผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดจะได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งให้ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นระงับหรือดำเนินการใด เพื่อแก้ไขความไม่สุจริตและเที่ยงธรรมนั้นภายในเวลาที่กำหนด ในกรณีที่ผู้สมัครผู้นั้นหรือพรรคการเมืองนั้นไม่ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานว่าผู้สมัครผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำนั้น พรรคการเมืองนั้นมีส่วนรู้เห็นในการกระทำนั้น เว้นแต่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว
มาตรา 103 วรรคสี่ มติของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง
มาตรา 103 วรรคห้า เมื่อมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครผู้ใดหรือศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดแล้วให้พิจารณาดำเนินการให้มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้สมัคร หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้นั้นด้วย ในการนี้ให้ถือว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 111 วรรคหนึ่ง เมื่อประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดหรือผู้สมัครผู้ใดกระทำการใด ๆ โดยไม่สุจริตเพื่อที่จะให้ตนเองได้รับเลือกตั้ง หรือได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริตโดยผลของการที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดได้กระทำ ทั้งนี้ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณา ในกรณีที่ปรากฏจากการไต่สวนของศาลฎีกาว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากรณีเป็นไปตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ศาลฎีกาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้สมัครผู้นั้นมีกำหนดเวลาห้าปี แล้วแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีทราบ
การส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่างจำนวน 29 ตำแหน่งใน 22 จังหวัด 26 เขตเลือกตั้ง การเปิดรับสมัคร ส.ส.ในระหว่างวันที่ 22 - 25 ธันวาคม 2551 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครเพียง 9 คน สอดคล้องกับข่าวจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2551 หน้า 15 หัวข้อข่าว ปชป.ซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาลไม่ส่งคนชิง สส. พื้นที่ทับซ้อน ซึ่งต่างจากการส่งผู้สมัครในคราวการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ที่พรรคประชาธิปัตย์มีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เกือบครบทั้ง 26 เขตเลือกตั้งที่จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ในวันที่11 มกราคม 2552
การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ในการส่งผู้สมัครเพียง 9 คน จึงน่าจะเป็นการกระทำที่ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเนื่องมาจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ตกลงกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองให้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลโดยการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่รวบรวมรายชื่อได้ออกเสียงเห็นชอบให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จึงอาจถือได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
พรรคการเมืองถือเป็นสถาบันหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ย่อมต้องมีภาระหน้าที่ในการผดุงไว้ซึ่งหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือการที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศที่แสดงออกในการเลือกตั้ง แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับจะทำให้การเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 11 มกราคม 2552 เป็นเพียงแบบพิธีที่จะนำไปสู่การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศเท่านั้น ทั้งที่การเลือกตั้งนั้น เป็นช่วงจังหวะเวลาและเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มีความสำคัญยิ่งในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสอย่างกว้างขวางแก่ประชาชนในเขตเลือกตั้งที่จะได้ร่วมกันใช้สิทธิแสดงเจตจำนงและตกลงใจที่จะกำหนดทิศทางทางการเมือง และคัดสรรผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร การไม่ส่งผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ในเขตเลือกตั้งที่มีการตกลงกันไว้กับพรรคการเมืองอื่นหรือกลุ่มการเมืองอื่น แสดงให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์มิได้ให้ความสำคัญหรือเห็นคุณค่าของสิทธิเลือกตั้งของประชาชน อันเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
พรรคการเมืองควรต้องสร้างความยั่งยืนให้แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมั่นคงกับหลักการที่ว่า กฎหมายต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใด มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้คนในชาติมีความสุขทั่วหน้าดังที่ได้รณรงค์หาเสียงไว้ต่อประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่มุ่งประสงค์เพียงดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ นอกเหนือไปจากครรลองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศตลอดจนบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จนยากที่จะทำให้เกิดความมั่นใจแก่ประชาชนโดยรวมว่า เมื่อเป็นรัฐบาลมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จะดำเนินการปกครองโดยสุจริต ไม่ประพฤติมิชอบหรือบริหารราชการแผ่นดินโดยแอบแฝงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง พรรคการเมืองก็ไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองของประเทศโดยรวมได้อีกต่อไป
การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายถึงการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษรจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังจะต้องเป็นไปโดยสุจริต เพื่อก่อให้เกิดความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมืองนั้น ในทางตรงข้ามการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยการเลือกตั้งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นไปโดยไม่สุจริต ย่อมถือได้ว่า เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์โดยการหลีกเลี่ยงไม่ส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อหลีกทางให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่มาสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น ทำให้การเลือกตั้งดังกล่าวไม่เป็นไปตามครรลองของกฎหมายตามปกติ โดยสมคบร่วมกันกระทำเป็นขบวนการกับพรรคการเมืองอื่นหรือกลุ่มการเมืองอื่น เพียงเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลโดยเร็วยิ่งขึ้น พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวอาจเพียงพอให้เชื่อได้ว่าถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ยังอาจถือได้ว่า เป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่พรรคประชาธิปัตย์กระทำการอันอาจเข้าลักษณะแทรกแซงบิดผันกระบวนการเข้าสู่อำนาจในการปกครองโดยสร้างภาพว่ากระทำการตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่โดยเนื้อแท้อาจมิได้เป็นเช่นนั้น ย่อมจะส่งผลให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องสั่นคลอนไม่มั่นคง ทำให้ประชาชนที่รู้ข้อเท็จจริงเสื่อมศรัทธาต่อระบบการเมือง อาจนำไปสู่การต่อต้านการใช้อำนาจปกครองโดยไม่ชอบธรรมของพรรคการเมือง ประกอบกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เป็นบทบัญญัติที่เป็นนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์จึงอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอีกด้วย
การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็เพื่อมิให้ผู้บริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การที่นายสุเทพพานายอภิสิทธิ์กับผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์หลายคนไปติดต่อกับกลุ่มบุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหลายครั้งหลายคราวที่อาจจะมีจำนวนเกินกว่าสิบห้าคนขึ้นไป ย่อมทำให้การบังคับเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องตกเป็นอันไร้ผล ทั้งอาจจะเป็นการสนับสนุนให้พรรคกระทำการโดยวิธีการอันฉ้อฉล ซึ่งจะส่งผลต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงได้
การกระทำของนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ กับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ เข้าลักษณะเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อันเป็นวิธีการหนึ่งที่นักการเมืองใช้กันมานานจนเกิดความเคยชิน เข้าลักษณะเป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นการบ่อนทำลายไม่ให้ประชาธิปไตยพัฒนาเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ เนื่องจากนักการเมืองเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบ โดยไม่มีความละอาย เพื่อเตรียมไว้ใช้กับการเลือกตั้งต่อไป อันเป็นวงจรเลวร้ายไม่มีที่สิ้นสุด รัฐธรรมนูญจึงบัญญัติเพื่อป้องกันไว้อย่างเข้มงวด และเป็นการส่งเสริมนักการเมืองที่ตั้งมั่นในสุจริตเข้ามาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
เมื่อได้พิจารณาพฤติการณ์การกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศจากข่าวที่ปรากฏแล้วเห็นว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์อาจกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและมีผลให้การให้ความเห็นชอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ จึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
การกระทำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ย่อมมีผลผูกพัน พรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารพรรคเพราะมีบุคคลภายนอกที่มิใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วย จึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า พรรคประชาธิปัตย์และกรรมการบริหารพรรค กระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ หรือไม่ และเพื่อให้มีการพิจารณาวินิจฉัยว่าเมื่อนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ได้กระทำการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะสั่งให้มีการยุบพรรคประชาธิปัตย์และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค3 ด้วยหรือไม่
รวมทั้งเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อว่าสมควรจะต้องยุบพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้นเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสี่ หากมีการกระทำของหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคและมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ากรรมการบริหารมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยการกระทำนั้น หรือมิได้ยับยั้งให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 และบัญญัติอีกว่าหากศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองก็ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคมีกำหนดเวลาห้า ปีนับตั้งแต่ศาลมีคำสั่ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่เป็นองค์กรที่มีความสำคัญยิ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องเป็นตัวอย่างที่ถูกต้องชอบธรรมและสุจริต การได้มาซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ ควรได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ด้วยความนิยมในตัวนายอภิสิทธิ์และพรรคการเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่เพราะการตกลงทางผลประโยชน์ทางการเมืองกับกลุ่มบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือการแบ่งอำนาจการปกครองให้ตามสัดส่วนของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง ที่เป็นเหตุจูงใจให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนให้ความเห็นชอบ กรรมการบริหารพรรคทุกคนควรช่วยทำหน้าที่ควบคุมและดูแลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ตลอดจนกรรมการบริหารพรรคด้วยกันเอง ไม่ให้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกรรมการบริหารพรรคกลับใช้วิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ และหัวหน้าพรรคได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือว่าได้รับประโยชน์ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกรณีนี้ย่อมอาจถือเป็นเรื่องร้ายแรง
การกระทำที่ขัดต่อมาตรา 68 ยืนยันได้จากข่าวที่ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชชาชีวะในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือกรรมการบริหารพรรคคนอื่นมีส่วนรู้เห็นหรือทราบแล้ว จึงถือได้ว่ากรรมการบริหารพรรคได้ร่วมกระทำการด้วย ย่อมมีเจตนากระทำความผิดยิ่งกว่าเพียงผู้รู้เห็นเป็นใจกับผู้อื่นเสียอีก จึงย่อมไม่มีความจำเป็นต้องให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย หรือทราบแล้วไม่แก้ไข เพราะกรรมการบริหารพรรคอื่นที่ทราบการกระทำ ก็มีฐานะเป็นกรรมการบริหารพรรคขณะที่กระทำการ จึงเป็นกรณีที่ร้ายแรงกว่าบุคคลอื่นเป็นผู้กระทำ อันเป็นไปตามหลักกฎหมายที่ว่า เมื่อกฎหมายห้ามกระทำสิ่งที่ชั่วร้ายใดไว้ สิ่งที่ชั่วร้ายมากกว่านั้นย่อมถูกห้ามไปด้วย ซึ่งตรงกับสามัญสำนึกของสุจริตชนทั่วไป
พรรคการเมืองควรเป็นองค์กรที่เข้มแข็งที่มีคุณภาพมาตรฐานดำเนินกิจกรรมทางการเมืองด้วยความสุจริตตามวิธีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็งด้วยทางทุจริตไม่เป็นไปตามวิธีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการทำลายพรรคการเมืองที่สุจริต และเป็นการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้พรรคที่หย่อนคุณภาพมาตรฐานจะถูกยุบ แต่คนที่มีอุดมการณ์อันบริสุทธิ์ทางการเมืองตรงกัน ย่อมมีสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่เมื่อใดก็ได้ การยุบพรรคการเมืองที่กระทำผิดจึงเป็นการปลูกฝังการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้เป็นไปโดยสุจริต อันจะเป็นคุณประโยชน์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค เป็นส.ส.หลายสมัย มีบทบาทสำคัญจนได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคตามลำดับ จึงมีหน้าที่ต้องควบคุมและสอดส่องดูแลให้ตนเอง กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกสภาผู้แทนของพรรคที่ตนบริหารดำเนินการด้วยการสุจริต แต่กลับทำการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเสียเอง และเป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศ พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวจึงมีเหตุสมควรที่จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานพฤติกรรมทางการเมืองที่ดีงาม เพื่อให้เกิดผลในทางยับยั้งและป้องกันไม่ให้กระทำความผิดซ้ำ
กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องถูกพิจารณาว่าจะถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ ในเบื้องต้นเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสี่ บัญญัติว่าในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนด 5 ปีนับจากวันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค บทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้วจะต้องเพิกถอนสิทธิของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคที่อยู่ในขณะกระทำความผิดเป็นเวลาห้าปี ซึ่งเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีดุลพินิจจะสั่งเป็นอื่นได้
ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ทราบการกระทำข้างต้นของพรรคประชาธิปัตย์ กรรมการบริหารพรรค และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว และมีคำสั่งยุบพรรคดังกล่าว โดยมีประเด็นที่ขอให้ดำเนินการ ดังนี้
(1) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่
(2) มีเหตุสมควรให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่
(3) หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่
จึงเรียนมาเพื่อขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พรรคประชาธิปัตย์ และบุคคลหรือพรรคการเมืองใดที่เกี่ยวข้อง ให้เลิกการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นด้วย และขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสาม และมาตรา 68 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 237 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง
ขอแสดงความนับถือ
(นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ)