ผู้จัดการออนไลน์ – “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หลาน “สุริยะ ณ ซีทีเอ็กซ์” ผู้อยู่เบื้องหลังนิตยสาร “ฟ้าเดียวกัน” เปิดหน้าชก พันธมิตรฯ ผ่านคอลัมน์ในกรุงเทพธุรกิจ ยกปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกบังหน้า ปลุกนักธุรกิจออกมาขับไล่พันธมิตรฯ ให้หยุดเคลื่อนไหว เชียร์ “รัฐบาลมือเปื้อนเลือด” ย่ำยีประเทศต่อ ขณะที่เว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน ที่หมิ่นสถาบันฯ สุดๆ ก็ยังคงเดินหน้าหมิ่นฯ ได้อย่างราบรื่น
วันนี้ (31 ต.ค.) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ส่วนทัศนะวิจารณ์ หน้าที่ 11 ได้เผยแพร่บทความของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท กลุ่มธุรกิจประกอบชิ้นส่วนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย โดยใช้ชื่อบทความว่า การรับมือวิกฤติเศรษฐกิจและความกล้าหาญทางการเมืองของธุรกิจไทย
บทความชิ้นดังกล่าว กล่าวถึงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน ที่เกิดมาจากความล้มเหลวของธุรกิจปล่อยสินเชื่อตราสารหนี้บ้านเกรดสอง หรือ ซับไพรม์ และ ความล่มสลายของวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของโลก โดย นายธนาธร แสดงความกังวลว่า ผลกระทบจากความล่มสลายของภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์กำลังจะขยายตัวและนำโลกเข้าสู่ภาวการณ์หดตัวของการบริโภคและภาคอุตสาหกรรม
“สิ่งที่จำเป็นต้องลุ้นกันต่อไป คือ ภาวะถดถอยที่จะเกิดขึ้นลึกและนานเท่าใด ในตลาดโลกราคาของสินแร่ต่างๆ เริ่มขยับลดลงรวมถึงการลดลงของค่าระวางเรือ ซึ่งสามารถตีความได้ว่า ความต้องการสินค้า (Demand) ในตลาดโลกเริ่มหดหาย ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต่อธุรกิจไทยมีให้เห็นบ้างแล้ว ถึงแม้จะคาดเดาความรุนแรงไม่ได้ อย่างน้อยในสัปดาห์ที่แล้ว ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โตโยต้าผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของประเทศไทย ได้ประกาศลดปริมาณการผลิตลงแล้วร้อยละ 20” ธนาธร กล่าว
บทความชิ้นดังกล่าวยัง พยายามโน้มน้าวต่ออีกว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกผูกมัดเข้าสู่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน และติดอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ของโลกไปแล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ ยานยนต์ โดยเขาแสดงความกังวลว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังลุกลามจะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะโคม่า
ทั้งนี้ นักธุรกิจหนุ่มคนนี้ได้เสนอแนะกลยุทธ์ 5 ประการต่อนักธุรกิจไทยในการหลีกเลี่ยงวิกฤตดังกล่าว ประกอบไปด้วย หนึ่ง จำกัดการลงทุนในช่วงปลายปีนี้และครึ่งแรกของปี 2552 ให้มากที่สุด สอง ลดหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยผูกพัน โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้น สาม วางแผนกำลังคนอย่างยืดหยุ่น โดยเขาสนับสนุนให้มีการรับพนักงานประเภทเหมาช่วง หรือในอีกความหมายหนึ่งคือ พนักงานชั่วคราว ที่บริษัทไม่ต้องจ่ายสวัสดิการ หรือ ค่าชดเชยต่างๆ เพื่อลดภาระต้นทุนของบริษัท สี่ กระจายข้อมูลความต้องการสินค้าและบริการให้รวดเร็วในห่วงโซ่อุปทาน
สำหรับข้อแนะนำทางกลยุทธ์ประการสุดท้าย ประการที่ห้า ที่ นายธนาธร แนะนำก็คือ ธุรกิจจำเป็นต้องเรียกร้องให้กลุ่มคู่ขัดแย้งทางการเมืองหยุดเคลื่อนไหว โดยระบุว่า นักธุรกิจต้องร่วมกันเรียกร้องให้ พันธมิตรฯ หยุดการเคลื่อนไหว เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขและรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ
“วิธีที่จะหยุดความขัดแย้งทางการเมืองได้ คือ ร่วมเรียกร้องให้พันธมิตรหยุดการเคลื่อนไหว เพื่อให้รัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรที่ไร้เป้าหมาย (หรือใครตอบได้ว่าเป้าหมายของพันธมิตรปัจจุบันคืออะไร?) ทำให้สังคมแบ่งแยกและสร้างแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการรัฐประหาร ความวุ่นวาย และ/หรือความรุนแรง ซึ่งไม่มีประโยชน์อย่างใดกับเศรษฐกิจเลย รัฐที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนควรได้รับโอกาสในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวที่เนิ่นนานของพันธมิตร จะยิ่งทำให้ความมุ่งมั่นและเวลาที่เหลืออยู่น้อยสำหรับรัฐบาลในการรับมือปัญหาเศรษฐกิจน้อยลงไปอีก นักธุรกิจอาจต้องมีส่วนร่วมในการเตือนสติสังคม ด้วยการบอกว่าการเคลื่อนไหวที่ไร้ความชอบธรรมทางการเมือง และไร้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจควรที่จะหยุดตัวเองได้แล้ว”
“ข้อเสนอสี่ข้อแรกจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการดำเนินธุรกิจ ความสามารถในการบริหารองค์กรและความเด็ดขาดในการตัดสินใจ ข้อเสนอข้อสุดท้ายไม่จำเป็นต้องใช้อะไรเลย นอกจากความกล้าหาญที่จะแสดงจุดยืนทางการเมือง” ธนาธร กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือ เอกปัจจุบันอายุ 30 ปี ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ที่มีมูลค่าธุรกิจหลายหมื่นล้านบาท เป็นบุตรชายคนโตของ นายพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ (ถึงแก่กรรม) และ นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยปัจจุบัน นางสมพร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งถือหุ้นอยู่ 26,669,000 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.19
นอกจากนี้ ธนาธร ยังมีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายธนาธร จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท โดยเป็นเด็กเตรียมฯ รุ่นน้องของ “โอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร ในเวลาต่อมาได้เข้าศึกษาต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยในช่วงแรกของชีวิตในรั้วธรรมศาสตร์ ธนาธร เป็นเพื่อนเที่ยวก๊วนเดียวกันกับนายพานทองแท้ บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ จากนั้นในปี 2542 ธนาธร ที่หันมาสนใจเรื่องการเมืองในระดับนักศึกษาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และปีต่อมา 2543 เขาก็ได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ซึ่งทำให้เขาได้รู้จักและคุ้นเคยกับเครือข่ายของนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ
เมื่อเรียนจบจากเมืองนอกกลับมาถึงบ้าน ธนาธร เข้าทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ในกลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP) ได้พักหนึ่ง แต่เมื่อบิดาเสียชีวิตเขาก็ต้องเข้ามารับภาระธุรกิจของครอบครัว และเข้ามาเป็นผู้บริหารของบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังคงแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านสื่ออยู่เป็นระยะๆ ทั้งยังเปิดเผยด้วยว่า ตนเองมีความคิดที่จะเล่นการเมือง
“ผมคิดว่าผมเล่นถ้าจำเป็น ถ้ามีสถานการณ์ เพราะในท้ายที่สุดแล้วเราปฏิเสธการเมืองไม่ได้ คุณบอกว่าคุณจะสร้างประเทศสีเขียว สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองมันเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าคุณจะทำอะไรมันเกี่ยวข้องกับความเป็นรัฐเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งหมด คุณจะทำอะไรก็ตามในที่สุดมันก็โยงไปที่รัฐ มันต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ เพราะว่าเราอยู่ในสังคมประชาธิปไตยแบบตัวแทน แม้แต่คุณต่อสู้เรื่องโรคเอดส์คุณยังชุมนุมหน้ารัฐสภาเลย ผมจึงคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ถ้าถาม ณ วันนี้ผมยังไม่มีความคิดที่จะเล่นการเมือง แต่ก็ไม่ปฏิเสธ จริงๆ แล้วผมรู้สึกว่าเราสามารถแสดงความเชื่อหรือทำกิจกรรมทางการเมืองต่างกันได้ ถ้าผมจะทำกิจกรรมการเมืองอะไรสักอย่าง ผมคิดว่ามันมาจากจิตสำนึกและก็มาจากความเชื่อของตัวเองโดยบริสุทธิ์ โดยที่ปราศจากอิทธิพลของญาติพี่น้อง ปราศจากอิทธิพลของนักการเมืองใดๆ แต่จะทำไปด้วยความเชื่อและความศรัทธาที่ตัวเองมีอยู่ นั่นเป็นจุดยืนของผม” ธนาธร เคยกล่าวกับนิตยสารสารคดี
สมัยเป็นนักศึกษาธนาธร ได้รับการขนานนามว่าเป็น “แอ็กติวิสต์ซ้ายจัด” และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเขาเป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนการดำเนินการของนิตยสารรายสามเดือน ที่ชื่อ “ฟ้าเดียวกัน” ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเน้นการเผยแพร่เนื้อหาที่โจมตี และลดความน่าเชื่อถือของสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น การโจมตีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การโจมตีว่า พิธีพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ใช้เงินมากเกินไป ขณะที่นิตยสารเล่มนี้ก็มีนักวิชาการที่เป็นคอลัมนิสต์ประจำ เช่น นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จาก ม.ธรรมศาสตร์ นายธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดดิสัน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
สำหรับชื่อ “ฟ้าเดียวกัน” ในปัจจุบันนั้นถือว่าโด่งดังอย่างมาก เพราะ เว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เป็นเว็บไซต์ที่ทราบกันดีว่าเป็น เบอร์ 1 ของเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเฉพาะในส่วนเว็บบอร์ดที่มีข้อความด่าทอสถาบันตุลาการ องค์กรอิสระ และสถาบันสูงสุดด้วยถ้อยคำที่หยาบคายและข้อมูลอันเป็นเท็จจำนวนมาก รวมถึงมีการเผยแพร่ธงชาติใหม่ของ “สาธารณรัฐสยาม” ทว่า ไม่มีใครกล้า กล้าแตะต้อง หรือปิด แม้กระทั่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ที่ออกมาแสดงท่าทีขึงขังเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ถึงปัจจุบันเว็บไซต์แห่งนี้ก็ยังคงเผยแพร่เนื้อหาหมิ่นฯ ได้อย่างสะดวกราบรื่น
เพิ่มเติม :
- บทสัมภาษณ์ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในนิตยสารสารคดี ฉบับที่ 263 เดือนมกราคม 2550
- อ่านและชมรายการยามเฝ้าแผ่นดินประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2551ยามเฝ้าแผ่นดิน : ชี้วิกฤตชาติจ่อเสียดินแดน - สลดหนังสือหมิ่นฯ วางแผงได้