xs
xsm
sm
md
lg

"เรื่องไกร"ยื่นยุบ ปชป. ตั้งรัฐบาลโดยมิชอบ-ฮั้วเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เรืองไกร"ส่งหนังสือ ยุบ ปชป.ถึงอัยการสูงสุดเพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ระบุได้อำนาจการปกครองประเทศ มาโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย มั่นใจเหตุผลที่ยื่น แขวะกกต. อย่าทำงาน 2 มาตรฐาน ด้าน"จุรินทร์"ระบุการส่งเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้ส่งเพื่อแข่งกันอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติ ไม่เกี่ยวกับฮั้ว

เมื่อเวลา11.00 น.วานนี้ (5 ม.ค.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้ส่งจดหมายลงทะเบียน ถึงอัยการสูงสุด (อสส.) เรื่อง การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ มิได้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย เพื่อให้ อสส. ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคประชาธิปัตย์ เลิกการกระทำดังกล่าว และมีคำสั่งยุบพรรค

เมื่อถามว่า การยื่นเรื่องในครั้งนี้มั่นใจแค่ไหน นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนได้ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยยุบพรรคการเมืองไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นหากพิจารณาตามนี้ก็มั่นใจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ อสส.

นายเรืองไกรกล่าวด้วยว่า ความจริง การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่จะพิจารณา แต่ กกต.บางคนกลับออกมาพูดก่อนว่า ไม่ใช่หน้าที่ของกกต. ทั้งๆ ที่ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนออกมาให้ข่าว ดังนั้นอยากบอกว่าการทำงานของกกต.ควรจะมีมาตรฐานเดียว มิใช่ 2 มาตรฐาน

ต่อข้อถามถึงกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ไม่หนักใจเพราะ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของทุกรัฐบาล ที่จะไม่ส่งผู้สมัครแข่งกันเอง นายเรืองไกร กล่าวว่า ก็สามารถพูดได้ แต่อยากให้ดูเหตุผลที่ยื่นก่อน อีกทั้งต้องดูด้วยว่า สิ่งที่เคยทำกันมาในอดีต ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จึงอยากให้ไปอ่านรัฐธรรมนูญปี 2550 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จดหมายที่นายเรืองไกรส่ง ถึง อสส. ระบุว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พร้อมด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงต่อสาธารณะทำให้เข้าใจว่า ได้กระทำการร่วมกับพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยปรากฏข่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ร่วมทำการที่สำคัญ ด้วยการแถลงข่าวให้สัมภาษณ์ว่าได้ดำเนินการติดต่อกับพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคพลังประชาชนมาก่อน ที่พรรคพลังประชาชนจะถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.51

นายเรืองไกร ระบุด้วยว่า ข่าวที่ปรากฏต่อสาธารณะหลังจากวันที่ 2 ธ.ค. จนถึงวันที่มีการประชุมสภาฯ เพื่อให้ความเห็นชอบให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ทราบว่า การกระทำของนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้เดินทางพบกับบุคคลที่มิใช่ ส.ส. และบางคนเป็นผู้อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน นายอนุทิน ชาญวีรกุล นายเนวิน ชิดชอบ โดยเฉพาะการที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เดินทางไปพบกับนายเนวิน ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อแสดงให้สาธารณชนเข้าใจว่า นายเนวิน เป็นผู้ทีมีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ส. กลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งเคยเป็น ส.ส.ในพรรคพลังประชาชนเดิม ซึ่งมีจำนวนหลายสิบคน เพียงพอที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาล และจะเป็นผลให้นายอภิสิทธิ์ ได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี

นาย เรืองไกร ระบุอีกว่าในการสัมมนาพรรคประชาธิปัตย์ ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นายสุเทพ ยังกล่าวขอโทษเพื่อนสมาชิกพรรคทุกคน หากการจัดตั้งรัฐบาลคราวนี้ทำให้ผิดหวัง เพราะตำแหน่งที่ได้มาน้อยจริงๆ แต่เป้าหมายคือ ตั้งรัฐบาลให้ได้ เปลี่ยนขั้วทางการเมืองให้ได้ นำประเทศสู่แสงสว่าง คือเป้าหมาย ที่ต้องแลกทุกอย่าง แม้จะได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพียงเก้าอี้เดียวก็เอา

นอกจากนี้ ข่าวจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 8 ธ.ค. 51 หน้า 15 หัวข้อข่าว ปชป.ซื้อใจพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ส่งคนชิงส.ส.พื้นที่ทับซ้อน โดยมีเนื้อข่าว นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าจากผลการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ส่งผลให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ใน 22 จังหวัด 26 เขตเลือกตั้ง จำนวน 29 คน

ทั้งนี้ จากการที่สถานการณ์การเมืองในขณะนี้เปลี่ยนไป พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครของพรรค จึงกำหนดแนวทางการคัดเลือกผู้สมัคร โดยเปิดโอกาสให้ที่นั่งแก่พรรคร่วมรัฐบาลที่เสียไปมีสิทธิ์ส่งผู้สมัครก่อน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครเพียง 9 คน สอดคล้องกับข่าวจาก หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 8 ธ.ค.51

" การกระทำโดยการหลีกเลี่ยงไม่ส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งดังกล่าวไม่เป็นไปตามครรลองของกฎหมายตามปกติ โดยสมคบร่วมกันกระทำเป็นขบวนการกับพรรคการเมืองอื่น หรือกลุ่มการเมืองอื่น เพียงเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลโดยเร็วยิ่งขึ้น พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวอาจเพียงพอให้เชื่อได้ว่า ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และยังอาจถือได้ว่า เป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

การที่พรรคประชาธิปัตย์กระทำการอันอาจเข้าลักษณะแทรกแซงบิดผันกระบวนการเข้าสู่อำนาจในการปกครองโดยสร้างภาพว่ากระทำการตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่โดยเนื้อแท้อาจมิได้เป็นเช่นนั้น ย่อมจะส่งผลให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องสั่นคลอนไม่มั่นคง ทำให้ประชาชนที่รู้ข้อเท็จจริงเสื่อมศรัทธาต่อระบบการเมือง อาจนำไปสู่การต่อต้านการใช้อำนาจปกครองโดยไม่ชอบธรรมของพรรคการเมือง" นายเรืองไกร ระบุ

นายเรืองไกร กล่าวว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ กับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ เข้าลักษณะเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อันเป็นวิธีการหนึ่งที่นักการเมืองใช้กันมานานจนเกิดความเคยชิน เข้าลักษณะเป็นความผิดที่ร้ายแรง และเป็นการบ่อนทำลายไม่ให้ประชาธิปไตยพัฒนาเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศ เนื่องจากนักการเมืองเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วก็มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ด้วยวิธีการที่ไม่ชอบ โดยไม่มีความละอาย เพื่อเตรียมไว้ใช้กับการเลือกตั้งต่อไป อันเป็นวงจรเลวร้ายไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อได้พิจารณาพฤติการณ์เห็นว่า มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ อาจกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและมีผลให้การให้ความเห็นชอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.51ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า 1. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

2. มีเหตุสมควรให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่

3.หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือไม่

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่เป็นไร ตนจะไม่วิจารณ์ อะไรที่คิดว่าสามารถที่จะยื่นเพื่อดำเนินการตรวจสอบ กระบวนการใดๆ ก็ตาม รัฐบาลไม่ไปขวางกั้น

อย่างไรก็ตาม การที่นาย เรืองไกร กล่าวหาว่าพรรคประชาธิปัตย์ฮั้วเลือกตั้งซ่อม กับพรรคร่วมรัฐบาล โดยส่งผู้สมัครแค่ 9 คนนั้น ความจริงเรื่องการส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม หลายรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้ส่งแข่งกันเองอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ หรือผิดปกติทางการเมือง ถือเป็นปรากฏการปกติธรรมดา เพราะรัฐบาลก่อนๆ ก็เป็นอย่างนี้ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่แข่งกัน อีกทั้งตามกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้ามไว้ และทุกพรรคการเมืองที่จดทะเบียนก็ไม่ได้ส่งผู้สมัครทั้งหมด

"คงไม่บอกว่าวิตกหรือไม่วิตก แต่ก็เคารพการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย แต่ละบุคคล ตนก็เคารพการทำหน้าที่ของนายเรืองไกร" นายจุรินทร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น