xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “ทรัพย์แม้ว 7.6 หมื่น ล.” ถ้าได้มาไม่ชอบ ก็ต้องยึดคืนแผ่นดิน!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัยการ ขนสำนวนเอกสารหลักฐานคดี พ.ต.ท.ทักษิณร่ำรวยผิดปกติกว่า 100 ลังยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ พร้อมขอให้ยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน (25 ส.ค.51)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร........รายงาน

พรุ่งนี้แล้ว (25 ธ.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้นัดพร้อมคู่ความคดี “ทักษิณร่ำรวยผิดปกติ” ที่อัยการขอให้ศาลฯ ยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้จากการขายหุ้น “ชินคอร์ป” ให้เทมาเส็ก ของสิงคโปร์ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากเป็นเงินที่ได้มาจากการใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯ เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนและพวกพ้อง ...เมื่อประตูแห่งการยึดทรัพย์เริ่มเปิดรับทักษิณแล้ว เราลองมาทำความรู้จักคดีนี้กันสักครั้ง แล้วจะรู้ว่า คนอย่างทักษิณ ที่อดีตเป็นนายกฯ แต่ปัจจุบันเป็นนักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก ได้ทำอะไรไว้บ้าง เพื่อให้ตัวเองมีทรัพย์สินหลายหมื่นล้าน จนนำมาสู่คดียึดทรัพย์

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

คดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ร่ำรวยผิดปกติ หรือที่หลายคนเรียกว่า “คดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน” นั้น เป็นคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทำการไต่สวนกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกฯ เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนและพวกพ้อง จนทำให้ตนมีฐานะร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งหลังจากไต่สวนจนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว คตส.จึงสรุปผลสอบส่งให้อัยการเพื่อยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมขอให้ศาลยึดทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มาโดยไม่สมควรจำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

โดยก่อนที่อัยการจะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2551 มีรายงานข่าวว่า รัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช พยายามช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณให้ได้เงิน 7.6 หมื่นล้านที่ถูก คตส.อายัดไว้คืน โดยสั่งให้กรมสรรพากรหาช่องยักย้ายถ่ายเทเงินดังกล่าวให้กลับมาอยู่ในมือตระกูลชินวัตรก่อนที่คดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน จะถึงมือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ซึ่งข่าวดังกล่าวสอดคล้องกับกรณีที่กรมสรรพากรได้ทำหนังสือจี้ให้ธนาคารไทยพาณิชย์ โอนเงิน 1.2 หมื่นล้านให้กรมฯ ภายในวันที่ 22 ส.ค.(ก่อนหน้าอัยการจะยื่นฟ้องคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านต่อศาลฎีกาฯ แค่ 3 วัน) โดยอ้างว่า กรมฯ ได้มีคำสั่งเรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ จากกรณีซื้อหุ้นจากบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ แต่จริงๆ แล้ว ข่าวแจ้งว่า นั่นเป็นเพียงแผนการที่กรมสรรพากรวางไว้ว่า เมื่อได้เงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ 1.2 หมื่นล้านแล้ว จะให้คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีที่ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทาจะยื่นอุทธรณ์ มีมติในภายหลังว่า บุคคลทั้งสองไม่ต้องเสียภาษี เมื่อนั้นกรมสรรพากรก็ต้องคืนเงิน 1.2 หมื่นล้าน ให้แก่บุคคลทั้งสองไป

แต่เผอิญเหตุการณ์ไม่เป็นไปตามแผน เพราะธนาคารไทยพาณิชย์ แบงก์ที่กำเงินก้อนใหญ่ของตระกูลชินวัตรไว้ประมาณ 3 หมื่นล้าน ไม่ยอมคายเงิน 1.2 หมื่นล้าน ให้กรมสรรพากร เนื่องจากมีคำสั่งของ คตส.ที่อายัดเงินดังกล่าวไว้ค้ำคออยู่ หากผลีผลามยักย้ายถ่ายเทเงินให้กรมสรรพากรไปง่ายๆ อาจถูกดำเนินคดีได้ ธนาคารไทยพาณิชย์จึงแก้ปัญหาด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้พิจารณาว่า กรมสรรพากรสามารถสั่งให้ธนาคารฯ โอนเงิน 1.2 หมื่นล้านที่ถูก คตส.อายัดไว้ให้ได้หรือไม่ พร้อมขอให้ศาลฯ คุ้มครองชั่วคราวด้วยการสั่งระงับการจ่ายเงินให้กรมสรรพากรไว้ก่อน จนกว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษา

ซึ่งในที่สุด ศาลปกครองก็ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว (20 พ.ย.2551 หลังคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านถึงมือศาลฎีกาฯ แล้ว) ด้วยการสั่งให้ธนาคารไทยพาณิชย์ระงับการจ่ายเงิน 1.2 หมื่นล้านให้กรมสรรพากร โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้คดี พ.ต.ท.ทักษิณ ร่ำรวยผิดปกติหรือคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฯ โดยยังไม่มีการเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินดังกล่าวของ คตส.ประกอบกับคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี ก็อยู่ระหว่างพิจารณาคำอุทธรณ์ของนายพานทองแท้และ น.ส.พิณทองทา ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงจำนวนภาษีและเบี้ยปรับได้ ดังนั้น หากให้ธนาคารไทยพาณิชย์ส่งเงิน 1.2 หมื่นล้านที่ถูก คตส.อายัดไว้ให้กรมสรรพากร แล้วถ้าภายหลังธนาคารไทยพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางธนาคารได้ ซึ่งยากแก่การเยียวยาในภายหลังเนื่องจากเป็นเงินจำนวนสูงมาก จึงให้ธนาคารระงับการส่งเงินดังกล่าวให้กรมสรรพากรไว้ก่อน จนกว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษา

ส่วนความคืบหน้าของคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 7.6 หมื่นล้าน ที่อัยการได้ขนอภิมหาเอกสารหลักฐานที่มีจำนวนมากกว่า 100 ลัง ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ส.ค.นั้น ปรากฏว่า ในเวลาต่อมา ทางศาลฯ ได้ประกาศลงในหนังสือพิมพ์ให้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล และห้างหุ้นส่วนต่างๆ ที่เป็นผู้มีชื่อครอบครองบัญชีในธนาคาร หรือทรัพย์สินตามคำร้องที่อัยการขอให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน เพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของและการได้มาซึ่งทรัพย์สิน นอกจากนี้ศาลฯ ยังได้นัดพร้อมคู่ความ รวมทั้งผู้ร้องคัดค้าน เพื่อยื่นบัญชีรายชื่อพยานและกำหนดประเด็นนำสืบในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ (10.00 น.)

ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ส่งทนายยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.เพื่อขออนุญาตขยายเวลาการยื่นคำคัดค้านในคดีนี้ โดยอ้างว่า ไม่สามารถยื่นคำคัดค้านได้ทัน เนื่องจากเอกสารพยานหลักฐานที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลฯ มีมากถึง 17,000 แผ่น

ทั้งนี้ ไม่เพียงทีมทนายต้องรับผิดชอบเตรียมคำคัดค้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ยังได้รับมอบหมายให้เตรียมคำคัดค้านของคุณหญิงพจมาน, นายพานทองแท้, น.ส.พิณทองทา, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งบุคคลและบริษัทซึ่งมีชื่อเป็นผู้ครอบครองบัญชีทรัพย์สินที่ถูก คตส.อายัดไว้รวม 6.9 หมื่นล้านด้วย

ด้านนายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดี พ.ต.ท.ทักษิณร่ำรวยผิดปกติ หรือคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน มีคำสั่งอนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณและบุคคลหรือบริษัทซึ่งมีชื่อเป็นผู้ครอบครองบัญชีทรัพย์สิน ขยายเวลายื่นคำคัดค้านออกไปอีก 30 วันนับจากวันที่ 4 ธ.ค.โดยให้ยื่นภายในวันที่ 4 ม.ค.2552 อย่างไรก็ตาม แม้ศาลฯ จะขยายเวลายื่นคำคัดค้านให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้เกี่ยวข้องแล้ว แต่การนัดพร้อมคู่ความในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ยังต้องมีขึ้นตามกำหนดเดิม

เมื่อประตูแห่งการยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน เริ่มเปิดรับ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ลองมาโฟกัสเหตุแห่งที่มาของคดีทุจริตเชิงนโยบายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯ ทำลายระบบกฎหมายและใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง จนทำให้ตนมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร จนเข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ทำอะไรไว้บ้าง โดยจะขอประมวลจากผลสรุปของ คตส.ที่ส่งสำนวนหลักฐานให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ มาให้ได้ทราบกัน

คตส.สรุปพฤติกรรมและความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดีร่ำรวยผิดปกติไว้ว่า ระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.2544 และสมัยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.2548 พ.ต.ท.ทักษิณ และคู่สมรส คือคุณหญิงพจมาน ยังคงถือหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป จำนวนกว่า 1,400 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่แจ้งให้ ป.ป.ช.ทราบ เมื่อมีการตรวจสอบขึ้นมา ก็อ้างว่า ได้ขายหุ้นดังกล่าวให้บุตรและเครือญาติแล้ว ประกอบด้วย นายพานทองแท้, น.ส.พิณทองทา, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ, นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน, บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด และบริษัท วินมาร์ค จำกัด

แต่จากการตรวจสอบของ คตส.พบว่า นอกจากคำอ้างของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ว่าขายหุ้นดังกล่าวให้บุตรและเครือญาติจะฟังไม่ขึ้นแล้ว ยังส่อว่า ได้มีการทำหลักฐานย้อนหลัง เพื่อยืนยันว่า ตนและคุณหญิงพจมานได้ขายหุ้นให้เครือญาติแล้วด้วย แต่ไม่เนียน เพราะ คตส.พบพิรุธว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินบางฉบับที่นายบรรณพจน์ให้ไว้แก่คุณหญิงพจมาน ซึ่งลงวันที่ 16 มี.ค.2542 โดยสัญญาว่าจะจ่ายเงินกว่า 100 ล้านให้แก่คุณหญิงพจมานนั้น มีการใช้คำนำหน้านามว่า “คุณหญิง” ทั้งๆ ที่ขณะนั้น คุณหญิงพจมานยังไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า จตุตถจุลจอมเกล้า จึงยังไม่ได้ใช้คำนำหน้านามว่าคุณหญิงแต่อย่างใด (ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ดังกล่าวในวันที่ 4 พ.ค.2542 ในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล 5 พ.ค.2542)

คตส.จึงสรุปว่า ตั๋วสัญญาใช้เงิน 5 ฉบับ ถูกจัดทำขึ้นในภายหลัง และไม่ได้จัดทำตามความจริง แต่ทำขึ้นเพื่อให้มีชื่อบุตรและเครือญาติถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน แต่ผู้ถือหุ้นตัวจริงยังคงเป็นบุคคลทั้งสอง

ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่า ได้ขายหุ้นชินคอร์ปในบริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ ให้นายพานทองแท้แล้วในราคา 1 เหรียญสหรัฐฯตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2543 นั้น จากการตรวจสอบของ คตส.ก็พบว่า ไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยัน ไม่ว่าจะเป็นบันทึกการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหรือจดแจ้งกับผู้ใดหรือหน่วยงานใด มีเพียงหนังสือของนายพานทองแท้ที่ยอมรับว่าได้รับซื้อและเข้าถือหุ้นดังกล่าวแทน พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น และน่าสังเกตว่า หนังสือดังกล่าวลงวันที่ 31 ม.ค.2549 หลังวันที่อ้างว่าเข้าถือหุ้นแทนแล้วถึง 5 ปีกว่า (1 ธ.ค.2543)

ส่วนบริษัท วินมาร์ค จำกัด ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่า ตนขายหุ้นชินคอร์ปให้ไปแล้วเช่นกันนั้น จากการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และกำกับหลักทรัพย์(กลต.)ก็ชัดเจนว่า วินมาร์คเป็นนอมินีหรือเป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณเช่นกัน

ทั้งนี้ ไม่เพียง พ.ต.ท.ทักษิณ จะซุกหุ้นชินคอร์ประหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่เขายังได้กระทำการที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ที่ห้ามนายกฯ หรือรัฐมนตรีถือหุ้นในบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ โดยบริษัท ชินคอร์ป ที่ พ.ต.ท.ทักษิณถือหุ้นอยู่ 48% นั้น เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมจากรัฐโดยตรง นอกจากนี้ ชินคอร์ป ยังถือหุ้นอยู่ในอีกหลายบริษัทย่อยที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นกัน เช่น บริษัท เอไอเอส (42.90%) ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐ (องค์การโทรศัพท์ฯ หรือทีโอที) ให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แถมเอไอเอส ยังถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ดิจิตอลโฟน (98.55%) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐ(การสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ กสท โทรคมนาคม)ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่เท่านั้นชินคอร์ปยังถือหุ้นในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ (51.48%) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานจากรัฐอีกเช่นกันในการดำเนินกิจการดาวเทียม ดังนั้นการถือหุ้นชินคอร์ปของ พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากจะเป็นการฝ่าฝืน รธน.แล้ว ยังผิดต่อ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 และกฎหมาย ป.ป.ช.พ.ศ.2542 ด้วย

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้ใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯ สั่งการ มอบนโยบาย หรือกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้บังคับบัญชาให้กระทำการที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของหุ้นชินคอร์ป และบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก เช่น แก้กฎหมายให้มีการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ซึ่งนอกจากจะเอื้อประโยชน์แก่บริษัท เอไอเอส แล้ว ยังเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกีดกันคู่แข่งหรือผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ แถมยังทำให้บริษัท ทีโอที และบริษัท กสท ของรัฐอ่อนแอลงด้วย , แก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่บริษัท เอไอเอส ต้องจ่ายให้รัฐ จากเดิมที่กำหนดไว้อัตราก้าวหน้า 25% และต้องเพิ่มอัตราขึ้นเรื่อยๆ ตามช่วงเวลาที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน เปลี่ยนเป็นอัตราคงที่ 20% ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้บริษัท เอไอเอส ได้รับประโยชน์กว่า 7 หมื่นล้าน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทำให้รัฐ (บริษัท ทศท) สูญเสียรายได้ที่ควรได้รับกว่า 7 หมื่นล้านนั่นเอง, แก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่อนุญาตให้บริษัท เอไอเอส เข้าไปใช้เครือข่ายร่วม(โรมมิ่ง)กับผู้ให้บริการรายอื่นได้ ส่งผลให้เอไอเอสได้รับประโยชน์เพราะไม่ต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ที่ควรจ่ายให้บริษัท ทศท และบริษัท กสท เป็นจำนวนเกือบ 1.9 หมื่นล้านบาท ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) อนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนให้รัฐบาลสหภาพพม่าวงเงิน 3 พันล้านบาท ซึ่งภายหลังยังได้สั่งการให้เพิ่มวงเงินกู้ให้พม่าอีก 1 พันล้าน รวมเป็น 4 พันล้าน เพื่อให้พม่านำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ ในเครือชินคอร์ปที่ พ.ต.ท.ทักษิณถือหุ้นอยู่

ยิ่งกว่านั้น ยังมีกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่อนุญาตให้บุคคลต่างด้าวสามารถถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมของไทยได้เพิ่มขึ้นจากไม่เกิน 25% เป็นไม่เกิน 50% โดยหลังจากกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ได้แค่ 2 วัน(23 ม.ค.2549) ครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณก็ขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็กของสิงคโปร์ทันที 48% ได้รับเงินจากการขายหุ้นเกือบ 7 หมื่นล้านบาท

คตส.พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเงินที่ได้จากการขายหุ้นดังกล่าว บวกกับเงินที่ชินคอร์ปจ่ายเป็นค่าปันผลตั้งแต่ปี 2546-2548 กว่า 6,800 ล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 7.6 หมื่นล้าน เป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม เป็นเงินที่ได้มาจากการใช้อำนาจในตำแหน่งนายกฯ กระทำการที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร และเข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติ จึงขอให้ศาลฎีกาฯ สั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.พ.ศ.2542 มาตรา 80

หลังคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ร่ำรวยผิดปกติหรือคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านไปถึงมือศาลฎีกาฯ แล้ว ยังคงมีความพยายามจาก พ.ต.ท.ทักษิณที่จะไม่ให้ตนต้องถูกยึดทรัพย์ดังกล่าว โดยว่ากันว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานลุกขึ้นมาจดทะเบียนหย่าขาดจากกันที่สถานกงสุลไทยในฮ่องกงเมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา ก็เพราะหวังว่าจะสามารถแยกทรัพย์สินของคุณหญิงพจมานออกมาจากคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านได้บ้าง แต่คงไม่ง่ายอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณคิด เพราะอัยการยืนยันแล้วว่า การหย่าร้างของบุคคลทั้งสองจะไม่กระทบต่อคดียึดทรัพย์แต่อย่างใด

โดยนายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 8 ในฐานะคณะทำงานที่รับผิดชอบคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน บอกเหตุผลที่การหย่าร้างของทั้งคู่ไม่ส่งผลต่อคดียึดทรัพย์(เมื่อ 17 พ.ย.)ว่า เนื่องจากคดีนี้อัยการยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นจำเลยเพียงคนเดียว ไม่ได้ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมานด้วย และว่า คุณหญิงพจมานไม่สามารถนำประเด็นการหย่ามายื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้ศาลฎีกาฯ สั่งแยกทรัพย์สินในส่วนของตัวเองออกจากส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ เพราะทั้งสองเคยให้การกับ ป.ป.ช.ว่า ได้โอนขาดหรือโอนพราง หรือขายให้โดยมีค่าตอบแทนไปแล้ว

ต้องติดตามว่า ที่สุดแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ จะสามารถยื้อยุดฉุดทรัพย์สิน 7.6 หมื่นล้านไว้เป็นของตัวเองได้สำเร็จหรือไม่? แต่เชื่อเถอะว่า ทรัพย์สินใดก็ตาม ถ้าได้มาโดยไม่ชอบ ได้มาจากการคอร์รัปชั่นทางนโยบายหรือใช้อำนาจทางการเมืองระดับสูง หรือได้มาจากการทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนแล้ว ต่อให้เงินนั้นได้มาโดยง่ายหรือมีจำนวนมากมายมหาศาลเพียงใด ก็อาจไม่มีโอกาสได้ใช้เงินนั้น เพราะทุกบาททุกสตางค์ที่โกงชาติและประชาชนมา สมควรถูกยึดกลับคืนเป็นของแผ่นดิน!!
พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่า ได้ขายหุ้นชินคอร์ปให้ลูกและเครือญาติไปแล้ว แต่ คตส.ตรวจพบว่าซุกหุ้นและทำหลักฐานย้อนหลัง
บริษัทในเครือชินคอร์ปที่ พ.ต.ท.ทักษิณถือหุ้นอยู่ และได้รับสัมปทานจากรัฐ
ครอบครัวชินวัตรขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก 48% หลังแก้ กม.เปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นกิจการโทรคมนาคมของไทยได้จากไม่เกิน 25% เป็นไม่เกิน 50%
สมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดี พ.ต.ท.ทักษิณร่ำรวยผิดปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น