xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ” รุมสับ “ทรราช” สุดฉาบฉวย-เมินสร้างค่านิยมที่ดีให้สังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“นักวิชาการ” รุมสับ “รัฐบาลฉาบฉวย” เมินสร้างค่านิยมที่พึงประสงค์ให้สังคมไทย ชี้ชัดต้องเร่งแก่ปัญหาวิกฤตความขัดแย้งในบ้านเมืองเป็นอันดับแรก ด้าน “นพ.ชูชัย” หนุน “การเมืองใหม่” ตามแนวคิดของ “พันธมิตรฯ” แจงเหตุเพราะสามารถช่วยออกแบบการเมืองของชาติ-ช่วยแก้โรคบกพร่องทางความคิดด้านนโยบายสาธารณะ

วานนี้ (3 ธ.ค.) ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาเรื่อง “นโยบายสาธารณะอันพึงปรารถนาเพื่ออนาคตสังคมไทย” ว่า นโยบายสาธารณะที่รัฐไทยพึงกระทำขณะนี้ ควรที่จะแก้ปัญหาวิกฤติความแตกแยกของสังคมไทยก่อนเป็นอันดับแรก ขณะที่นโยบายที่คนไทยต้องการในปัจจุบันนั้น น่าจะเป็นการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2552 แต่ก็ต้องดูว่าใครจะเป็นผู้เข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจในการกำหนดนโยบายให้เป็นผล

“ขณะเดียวกัน นโยบายที่รัฐบาลไทยไม่สนใจในการนำมาดำเนินการมาเป็นเวลายาวนานก็คือ นโยบายการเสริมสร้างค่านิยมที่พึงประสงค์ เพราะถ้ามองไปยังที่ประเทศที่พัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาเทียบเท่าประเทศในกลุ่มตะวันตก นอกจากนี้ยังมีค่านิยมในการทำงานหนัก ซึ่งคนญี่ปุ่น หรือประเทศเหล่านั้น ขยันที่จะทำงานหนักทั่วประเทศ แตกต่างกับคนไทยที่กลับต้องการทำงานที่ฉาบฉวย แต่ต้องการค่าตอบแทนสูง มีค่านิยมที่ต้องการเป็นเจ้าคนนายคน ส่วนที่ค่านิยมในการมีวินัยในตัวเองนั้น ประเทศดังกล่าวมีความแตกต่างกับประเทศไทยซึ่งมีความบกพร่อง เพราะไม่มีการปลูกฝังให้คนมีความตรงต่อเวลา และไม่มีค่านิยมต่อการใช้สินค้าไทย” อธิการมหาวิทยาลัย นิด้า กล่าว

อธิการมหาวิทยาลัย นิด้า กล่าวอีกว่า จะเห็นได้ว่ารัฐบาล หรือผู้ที่ตัดสินใจในการใช้นโยบายมีความล้มเหลว เพราะไม่ต้องการที่จะปลูกฝังจิตสำนึกที่จะรณรงค์ค่านิยมของชาติ ซึ่งไม่ใช่การปลูกฝังจนเป็นการคลั่งชาติ แต่นักการเมืองดังกล่าวกลับมีแต่ฉาบฉวยเท่านั้น เช่น นโยบายบัตร อีลิท การ์ด สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจทำจากข้อเสนอเท่านั้น ไม่มีการวิเคราะห์ให้มีความชัดเจน เป็นต้น ดังนั้นหากผู้ตัดสินใจใช้นโยบายสามารถทำให้เป็นนโยบายสาธารณะที่พึงประสงค์ได้ ทิศทางนโยบายสาธารณะของประเทศก็จะชัดเจนขึ้น

“ต้องมาช่วยกันจับตาดูว่า ผู้ที่จะมาเป็นผู้ตัดสินใจใช้นโยบายสาธารณะอันดับ 1 ของประเทศ จะเป็นใครต่อไป เพราะอีกไม่กี่วันก็จะมีผู้ที่มาตัดสินใจใช้นโยบาย โดยจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง หรือนายชัย ชิดชอบ” ศ.ดร.สมบัติ กล่าว

ด้าน นพ.ชูชัย ศุภวงษ์ ที่ปรึกษาระดับ 11 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า การเมืองใหม่ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสนอขึ้นมานั้น ถือว่าเป็นคุณูประการในการออกแบบการเมืองของไทย โดยเฉพาะนโยบายของประเทศ ที่ขณะนี้กำลังกลายเป็น “โรคพร่องนโยบายสาธารณะที่ดีอย่างแรง” ขณะที่สังคมไทยไม่มีโอกาสที่จะกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจนตามมาตรา 3 ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของคนในชาติของรัฐธรรมนูญปี 2550 รวมทั้งไม่มีโอกาสตามมาตรา 87 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“ความพร่องนโยบาย เกิดจากความบกพร่องความคิดทางนโยบาย แต่กลับไปกำหนดทิศทางด้านเทคนิค การวางยุทธศาสตร์จากองค์กร สถาบันของรัฐ หรือข้าราชการ เหมือนกับไปแย่งงานของฝ่ายบริหาร ขณะที่ภาคการศึกษากลับไม่มีความรู้ร้อน รู้หนาวกับสังคม เอาวิชาการมาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่มีการเรียนรู้นอกห้องเรียน ดังนั้นหากมีการเปิดเวทีสาธารณะ ซึ่งสามารถระดมภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และสื่อสารมวลชน รวมทั้งประชาชนเป็นผู้กำหนดนโยบายได้ด้วยตัวเอง ก็จะสามารถจำกัดผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจนโยบายได้เป็นอย่างดี” นพ.ชูชัย ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น