xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ถลกหนัง “ชาย” ค้านจุดพลุนิรโทษกรรม “แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคปชป.
“อภิสิทธิ์” เตือนสติรัฐบาลเขยแม้วชะลอแก้ รธน.ม.291 หวั่นดันทุรังเดินหน้ามีแต่จุดชนวนความขัดแย้งเพิ่ม เตือนสติ “สมชาย” ทำเพื่อชาติก่อนบ้านเมืองวิกฤต เดินหน้าค้าน พปช.จุดพลุนิรโทษกรรม “แม้ว” ชี้ ไม่ใช่คดีการเมืองแต่เป็นเรื่องอาญาแผ่นดิน

วันนี้ (4 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ รัฐบาลจะผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในสัปดาห์หน้า ว่า ถ้ารัฐบาลต้องการเห็นทุกอย่างสงบเรียบร้อยไม่ควรทำเรื่องนี้ ถ้าทำก็เท่ากับเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นมาอีกครั้ง จึงอยากให้ไปทบทวน เพราะถ้าหากมีการปิดล้อมสภาเกิดขึ้นอีกครั้ง ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลจึงอยากให้รัฐบาลไปสดับตรับฟังให้ดี

“ผมยังหวังว่า จะไม่มีเหตุการณ์อะไร และคิดว่า คุณสมชายต้องจำได้ว่าตอนที่มีการประชุมสี่ฝ่ายมีการพูดกันชัดเจนว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดนักตั้งแต่แรก แต่อย่างน้อยก็เป็นความพยายามที่จะเอาทุกฝ่ายมาพูดคุยกัน แต่พูดตรงกันทุกฝ่ายเช่นเดียวกันว่า ถ้าความเห็นพ้องในการทำเรื่องนี้ไม่มีก็ไม่น่าทำ ไม่ควรทำ ท่านนายกฯเองวันนั้นยังบอกเลยว่าทุกพรรคต้องเซ็น ไม่งั้นก็ไม่น่าทำ ทำไมวันนี้ถึงได้เปลี่ยนแปลงไปจากหลักการนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลเองควรชะลอหรือพักเรื่องนี้ไว้ ซึ่งในส่วนของกลุ่มสานเสวนาก็พยายามสร้างกระบวนการในการพูดคุยกัน ก็ต้องปลดเงื่อนไขพวกนี้ออกไปก่อน ถ้าหากพักเรื่องนี้ได้ ผมคิดว่าการพูดคุยกันก็ยังมีช่องทางที่จะหาทางออกให้กับประเทศ แต่ถ้าจะเดินหน้าโดยที่ไม่สามารถตอบได้ว่าความจำเป็นเร่งด่วนคืออะไร มีแต่จะสร้างความขัดแย้ง รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งต่างๆ ที่จะตามมา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้าน ยังกล่าวถึงบทบาทของพรรคร่วมรัฐบาลต่อกรณีดังกล่าวด้วย ว่า ทุกคนเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเหมือนกัน ต้องตั้งคำถามว่าเหตุผลอะไรที่จะต้องเร่งรัดในสภาวะที่มีความขัดแย้งอย่างนี้ ที่จริงควรเอารายงานของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของสภามาดูก่อนก็ได้ ว่า ความจำเป็นเร่งด่วนมีหรือไม่ อย่างไร ซึ่งตนยืนยันว่า หากยังมีการผลักดันเรื่องนี้ต่อไปพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย แต่ยังไม่ได้พูดถึงขนาดว่าจะไม่เข้าร่วมประชุม เพียงแต่ไม่อยากให้รัฐบาลเอาเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งของสังคม อยากให้รัฐบาลเดินหน้าในการแสดงความรับผิดชอบ หรือหาทางออกให้กับเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งขณะนี้ล่วงเลยเวลาที่นายกฯเคยกำหนดกรอบเวลาให้กรรมการสอบภายใน 15 วันไปแล้ว และยังมีปัญหาอื่นๆ ที่ประชาชนรอความช่วยเหลืออีกมากมาย ทำไมจึงมาเพิ่มความขัดแย้งในช่วงนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความหวังมากน้อยแค่ไหนว่า นายกฯจะฟังและยอมชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่า นายกฯสมชาย มีความเป็นอิสระในการทำอะไรแค่ไหน เพราะตนสังเกตดู คือ เวลาที่พูดกับบุคลภายนอกอาจพูดคิดไปตามส่วนของท่าน แต่เวลาที่ตัดสินใจเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งยิ่งตอกย้ำความคลางแคลงใจของผู้คนเข้าไปใหญ่ ตนคิดว่าการปลดชนวนความขัดแย้งจะยิ่งยากขึ้น ถ้าเดินหน้าเรื่องนี้ ยกเว้นพักเอาไว้ แล้วมาพูดถึงกรอบที่ชัดเจนเสียก่อน

ส่วนกรณีที่ นายเจริญจิตต์ ณ สงขลา ลาออกจากการเป็นกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ของรัฐบาลนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบเหตุผลว่าเป็นเพราะอะไร เต่เคยตั้งข้อสังเกตแล้วว่า คณะกรรมการชุดนี้แทบไม่อยู่ในฐานะที่จะเอาฝ่ายนโยบายมารับผิดชอบเลย เพราะเป็นกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยฝ่ายบริหารเอง ความจริงตนอยากให้หน่วนยงานที่เป็นองค์กรอิสระเร่งรัดผลสอบออกมาจะได้มีความชัดเจน ซึ่งตนคิดว่าคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริงน่าจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคณะกรรมการของรัฐบาล และกระบวนการตรวจสอบ รวมทั้งการรักษามาตรฐานทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ การที่เราไปใช้วิธีการตั้งกรรมการที่ไม่เป็นอิสระขึ้นมา และจำกัดอำนาจเขาไม่น่าจะเป็นคำตอบให้กับสังคมได้ เพราะสุดท้ายก็จะสาวไม่ถึงต้นตอของปัญหา ซึ่งเรายังไม่เคยได้ยินข่าวว่า กรรมการชุดนี้ได้เรียกผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือผู้รับผิดชอบเบื้องต้นไปสอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า สุดท้ายแล้วคิดว่าจะได้เห็นความรับผิดชอบทางการเมืองจากรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บ้านเมืองและการเมืองไทยทุกครั้งที่เดินเข้าสู่วิกฤตก็คือการไม่แสดงความรับผิดชอบ จริงๆ แล้วถ้าทุกคนสละประโยชน์ส่วนตนแล้วทำให้ระบบเดินได้จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ประเทศเองก็บอบช้ำ และประชาชนก็เหนื่อยล้ามามากแล้ว ถ้ายังลากกันต่อไปหรือนำไปสู่ความขัดแย้ง หรือเพิ่มระดับความขัดแย้ง ความรุนแรงอีก ผลกระทบต่อความเป็นอยู่ต่อเศรษฐกิจจะยาว ตนไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น

“ผมคิดว่าโอกาสมีเสมอสำหรับคุณสมชายที่จะแก้ปัญหา แต่อยู่ที่ว่าจะมีความกล้าหาญหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นสัญญาณ ซึ่งผมก็เป็นห่วงกับสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้มีแต่ความเสี่ยง ความสูญเสียอยู่เป็นรายวัน ความรุนแรงยังมีอยู่ การปาระเบิด การปะทะกัน การไปล้อมกรอบ มีอยู่ตลอดเวลา ทุกคนถูกลากไปอยู่ในวังวนความขัดแย้งหมด อย่างสถานีโทรทัศน์ ทีพีบีเอส ก็ถูกลากลงมาด้วย ยังไม่นับกรณีของกระบวนการยุติธรรม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพออกมาระบุว่า คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ระบุว่าจะกลับประเทศได้ต้องอาศัยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้พระองค์อึดอัดนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กองทัพก็ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ดูแลความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยด้วย คงทำเท่าที่ทำได้

“ในประเทศประชาธิปไตยเวลาความอึดอัดทั้งหลายมันเกิดขึ้นในสังคม จากประชาชนบ้าง จากองค์กรต่างๆ นักการเมืองต้องเป็นผู้ตัดสินใจเพื่อปลดปล่อยไม่ให้เกิดความอึดอัดนั้น เขาทำกันอย่างนี้ทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มาจากการเลือกตั้ง เขาจะไม่เอาเรื่องของผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นตั้งปีหนึ่งแล้วมาอ้างเพียงเพื่อจะอยู่ต่อให้ครบวาระ ไม่มีที่ไหนเขาทำกันแบบนี้โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตย ผมคิดว่าสังคมผ่านอะไรมาเยอะ มีความอดทนสูง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำลายโอกาสของประเทศและประชาชนลงไปทุกวัน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

สำหรับข้อเสนอของนักวิชาการให้นิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยังคิดไม่ออก เพราะเวลาที่มีการนิรโทษกรรมก็จะเป็นการนิรโทษกรรมความผิดทั่วไปที่เกิดขึ้น จะไปเจาะจงไม่ได้ และคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ใช่คดีการเมือง เป็นคดีผลประโยชน์ขัดกันทำผิดกฎหมายทุจริตเป็นคดีอาญา ซึ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรมต้องเป็นความผิดที่เฉพาะเจาะจง หรือเป็นความผิดที่ต่อไปนี้จะไม่ให้เป็นความผิดแล้ว คำถามคือว่าเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน เรื่องการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่น เราจะยกเว้นหรือยกเลิกหรือ

นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง รักษาการณ์โฆษกพรรคพลังประชาชน ระบุว่า หากจะนิรโทษกรรมจะรวมอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนและแกนนำพันธมิตรฯด้วยว่า ตนยังสับสนว่าเป็นความผิดอะไรแน่ เพราะกลายเป็นว่าจะให้พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการนิรโทษกรรมจากคดีที่ดินรัชดา แล้วอยู่ดี ๆ บอกว่าจะนิรโทษกรรม 111 ตนก็ไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องอะไรกัน ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นความตั้งใจที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน โดยเอาความผิดที่ถูกตัดสินโดยกระบวนการยุติธรรมมาปะปนกับเรื่องการเมือง ซึ่งมันไม่ใช่

“ผมคิดว่ายิ่งจุดพลุเรื่องนี้ขึ้นมาก็ยิ่งทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นความพยายามที่จะทำเพื่อตัวเองเท่านั้น เพราะยิ่งทำให้เห็นว่ายังมีความพยายาม แผน 1 แผน 2 แผน 3 ไม่ได้ตรงนี้เอาตรงนั้นไม่ได้ตรงนั้นจะเอาตรงนี้ แต่ความจริงแล้วเป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาตัวเองทั้งสิ้น ไม่ได้มีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับประเทศและประชาชนซึ่งเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาลเลย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น