xs
xsm
sm
md
lg

สภาเส็งเคร็ง! อ้างมติเอกฉันท์ทุรังตั้ง ส.ส.ร. ลากสภาสูงร่วมเอี่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถก 4 ฝ่ายดันทุรังตั้ง ส.ส.ร.3 อ้างมติเอกฉันท์ ลากสภาสูงเอี่ยวสร้างความชอบธรรม ลั่นทุกฝ่ายต้องร่วมรับผิดชอบ เร่งชงเข้าสภาสัปดาห์หน้า ไม่หวั่นพันธมิตรฯ ชุมนุมต้าน ระบุเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับแก้วิกฤต

วันนี้ (20 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมร่วม 4 ฝ่าย ที่ห้องรับรอง 1 อาคารรัฐสภา โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี พร้อมตัวแทนพรรคการเมือง ประกอบด้วย นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย นายไชยยศ จิรเมธากร ตัวแทนพรรคเพื่อแผ่นดิน นายนิกร จำนง ตัวแทนพรรคชาติไทย พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรค นายประเสริฐ เจริญไทยสุข ตัวแทนพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ส่วนนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ได้ขอลา โดยมอบหมายให้นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา เข้าร่วมประชุมแทน โดยไม่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด

นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร.3 โดยเห็นชอบตามแนวทางของนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา เสนอให้มี ส.ส.ร.จำนวน 120 คน โดยมาจากตัวแทนจังหวัด 76 คน จาก 76 จังหวัด และจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และกฎหมายมหาชน อย่างละ 8 รวม 24 คน และตัวแทนกลุ่ม สาขาอาชีพ อีก 20 คน โดยทั้งหมดจะมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ซึ่งจะมีการเปิดรับสมัครและให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเองตามสัดส่วนที่กำหนด

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า สำหรับกรอบระยะเวลาการทำงานของ ส.ส.ร.ไม่เกิน 240 วัน โดยยึดหลักรอบครอบ ไม่รีบร้อน ให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉลับใหม่เพื่อส่งให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากเห็นชอบก็ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยต่อไป แต่หากไม่เห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติเพื่อถามความเห็นจากประชาชน ซึงการประชุม 4 ฝ่ายครั้งนี้ถือว่าเสร็จสิ้นจะไม่มีการประชุมอีก

นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ตนในฐานะประธานฯ จะได้ไปจัดทำยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพียงมาตราเดียว พร้อมทั้งรายละเอียด เพื่อเสนอต่อวุฒิสภา โดยจะให้มีสมาชิกรัฐสภาร่วมลงนามเสนอให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา โดยคาดว่าจะมีการเสนอให้ประธานรัฐสภาได้ในสัปดาห์หน้า โดยประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งขั้นตอนการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขั้นมาศึกษา โดยตามข้อบังคับต้องทำให้เสร็จภายใน 45-60 วัน แต่ถ้าเร่งจริงๆ ก็อาจเสร็จภายใน 30 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการกำหนดเงื่อนไขการยุบสภาเอาไว้เลยหรือไม่ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ให้เป็นอำนาจของ ส.ส.ร. คณะกรรมการไม่เกี่ยวข้อง แต่วันนี้นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจในการยุบสภาและลาออก ซึ่งหากมีการกำหนดเรื่องนี้ไว้ในร่างรัฐธรรนมนูญก็จะถือเป็นการบังคับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของ ส.ส.ร.จะพิจารณา อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขการตั้ง ส.ส.ร.ครั้งนี้ไม่ได้เป็นการยื้อเวลาหรือต่ออายุของนายกฯออกไปอีก 2 เดือน และมั่นใจว่าการทำงานของ ส.ส.ร.จะไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง โดยประธานสภาจะออกประกาศกำชับอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันการครอบงำ ให้ ส.ส.ร.มีอิสระในการทำงานอย่างแท้จริง

เมื่อถามว่า การเดินหน้าตั้ง ส.ส.ร.3 จะเป็นการสะสมปัญหาความขัดแย้งหรือไม่ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มองเรื่องนี้เหมือนกัน แต่เราคิดว่าไม่ใช่การสะสมปัญหา แต่เป็นการแก้ปัญหามากกว่า และไม่กลัวคำขู่ของเครือข่ายพันธมิตรฯที่ประชุมชุมนุมทุกที่ที่มีการประชุม ส.ส.ร. เพราะเป็นสิทธิ เราไม่สามารถขัดขวางได้ แต่มั่นใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นทางออกของวิกฤติที่ดีที่สุด และไม่ควรมองว่าพรรครัฐบาลจะได้ประโยชน์แต่คิดว่าการตั้ง ส.ส.ร.3 ประเทศจะได้ประโยชน์มากที่สุด ผู้สี่อข่าวถามว่า หากการตั้ง ส.ส.ร.นำสู่ความขัดแย้งขั้นรุนแรงใครจะรับผิดชอบ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงว่า ส.ส.ร.3 จะไปไม่รอดเพราะเป็นการผลักดันเพียงสองฝ่าย คือ รัฐบาล กับสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า มติที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เป็นเสียงส่วนใหญ่ แม้ว่าประธานวุฒิสภาจะไม่เข้าร่วมประชุม แต่ได้ส่งให้รองประธานวุฒิสภาเข้าประชุมแทน ซึ่งถือว่าเป็นมติส่วนใหญ่ของวุฒิสภาที่ให้เข้าร่วมประชุม ไม่จำเป็นต้องขอมติจากที่ประชุมวุฒิสภาอีก

เมื่อถามว่าพรรคพลังประชาชนจะมีนโยบายไม่ให้ผู้ใกล้ชิดของพรรคเข้าร่วมเป็น ส.ส.ร.3 เพื่อป้องกันคำครหาหรือไม่ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิที่ผู้มีสิทธิตามข้อกำหนดจะไปเป็นใคร เราไม่ได้บังคับ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะตัดสินคดีการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ตกเป็นจำเลยว่า ขอให้ทุกฝ่ายเคารพ คำตัดสินของศาล ส่วนที่กลุ่ม นปช.ประกาศจะไปชุมนุมหน้าศาลฎีกาเพื่อกดดันศาลนั้น ตนถือว่าการจะมีคนให้กำลังใจใครถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่อย่าทำอะไรที่นำไปสู่ความรุนแรง และไม่เชื่อว่าคำตัดสินของศาลในวันพรุ่งนี้จะเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรง หรือนำไปสู่ทฤษฎีการเมืองใหม่ดังที่พันธมิตรฯ ระบุ


เสนาะ เทียนทอง
กำลังโหลดความคิดเห็น