xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ออกมีอะไรมั้ย “อนุพงษ์”! “สมชาย” ลั่นรอมี รธน.ใหม่ค่อยยุบสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาย วงศ์สวัสดิ์
“สมชาย” ไม่สนแรงกดดัน ขอด้านนั่งเก้าอี้นายกฯให้นานที่สุด อ้างรักษาประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนมีความสุข รอให้ตั้ง ส.ส.ร.แล้วร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จแล้วค่อยยุบสภา พร้อมเตรียมหาทางยึดทำเนียบคืน ขณะเดียวกัน ยืนยันความสัมพันธ์กัมพูชายังดี

วันนี้ (16 ต.ค.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวคิดการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองเห็นชอบให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมมือด้วยนั้น ก็ต้องดูกันไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม ตนจะเดินหน้าตั้ง ส.ส.ร.ต่อไป เพราะคิดว่าเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายเห็นว่าดีที่สุด เพราะเมื่อสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบแล้ว ก็ถือว่าประชาชนเห็นชอบด้วย และขอยืนยันว่า เมื่อตั้ง ส.ส.ร.และร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย ตนก็ไม่มีปัญหาที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจทางการเมืองต่อไป เพราะไม่ยึดติดกับตำแหน่ง

“ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ เป็นหัวโขน ไม่ได้สวมไว้ตลอดชีวิต วันหนึ่งก็ต้องจากไป แต่จากไปแล้วทำให้ประชาชนสงบสุข ผมว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด ไม่ใช่จากไปแล้ว ยังมีการตะลุมบอนกันเหมือนเดิมก็ไม่มีประโยชน์ ผมบอกแล้วว่าไม่ยึดติด อยากให้ตั้ง ส.ส.ร.เสร็จวันนี้พรุ่งนี้เลย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่า แนวโน้มของความสำเร็จในการตั้ง ส.ส.ร.มีมากน้อยแค่ไหน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด อยู่ที่ทุกฝ่ายว่าจะเห็นทางออกร่วมกันหรือไม่ ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์เล่นเกมการเมืองมากเกินไปหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่อยากวิจารณ์คนอื่น เมื่อมาทำงานตรงจุดนี้ ไม่อยากเล่นการเมืองมากเกินไป

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายไปย่านถนนสีลมในวันพรุ่งนี้ (17 ต.ค.) ว่า ทางตำรวจจะเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ ซึ่งตนเคยบอกแล้วว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แต่การให้สิทธินั้น ต้องไม่ละเมิดกฎหมายและสิทธิของคนอื่น ส่วนการปฏิบัติของผู้ชุมนุมจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละบุคคล

เมื่อถามว่า ยังคงยืนยันที่จะขอทำเนียบรัฐบาลคืนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ต้องขอคืน เพราะสร้างด้วยภาษีของประชาชน การซ่อมแซมก็ต้องใช้เงินภาษีของประชาชน ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องดูแล หากกลุ่มพันธมิตรฯไม่ยอมจะใช้วิธีการทวงคืนอย่างไร นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนก็ต้องขอคืน ส่วนการชุมนุมจะไปชุมนุมที่ไหนก็เป็นสิทธิ แต่จะเข้าไปอยู่ในสถานที่ราชการนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

เมื่อถามอีกว่า นายกรัฐมนตรีจะรับมือกับสถานการณ์ทั้งภายนอกและภายในไหวหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องดูกันไป อย่างที่ตนบอก เมื่ออยู่ในตำแหน่งก็ต้องทำงานอย่างเต็มที่ จะหยุดทำงานไม่ได้ เมื่อรับอาสาประชาชนมา ตนบอกอย่างใจจริงว่า ต้องการทำงานให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น เรื่องของความรู้สึกทางใจจะเอามาปนกับการทำงานคงไม่ได้

นอกจากนี้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาว่า ทางผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ของทั้งสองประเทศได้มีการพูดคุยกันแล้ว ตนคิดว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะทหารในพื้นที่อยู่กันมานานเป็นเหมือนเพื่อนกัน แต่เวลาปฏิบัติภารกิจ มันเป็นหน้าที่ที่จะต้องดูแลเขตแดนของแต่ละฝ่าย การที่ได้พูดคุยกันถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งตอนนี้ไม่มีอะไรน่ากังวล ต่อไปอยากให้เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่พูดคุยกันให้มากขึ้น และเมื่อระดับเจ้าหน้าที่คุยกันได้ ก็สื่อสารขึ้นมาถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงพูดคุยกันต่อ ข้อมูลจะได้ตรงกัน

เมื่อถามว่า จะหาโอกาสพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กำลังหาโอกาสที่เหมาะสมอยู่ หากมีเวลาจะพูดคุยกัน มั่นใจว่า จะสามารถพูดคุยกันได้ทุกระดับ แต่ตอนนี้ขอให้ระดับปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ได้พูดคุยกันก่อน จะได้รู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร เพราะตนก็ต้องเดินทางไปเยือนกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ตอนนี้ต้องรอให้ผ่านเรื่องที่ยุ่งยากทั้งภายในประเทศและนอกประเทศก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่มีข่าวทหารไทยถูกจับกุมตัว มีข้อเท็จจริงอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สอบถามผู้บังคับบัญชาในหน่วยทหารแล้ว ไม่มีข่าวนี้ จึงไม่สามารถยืนยันได้ แต่คิดว่าการที่ตนจะลงพื้นที่ในช่วงเย็นพรุ่งนี้จนถึงวันเสาร์นั้นก็คงจะรู้ ซึ่งการเดินทางไปในพื้นที่ครั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาหรือวัตถุประสงค์ในเรื่องอื่น เป็นเพียงเรื่องของความห่วงใยกำลังพลและคนที่อยู่ในพื้นที่ ส่วนเรื่องอื่น ๆ ให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการที่จะเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชา

เมื่อถามว่า ความสัมพันธ์ทางการทูตและการทหารระหว่างไทย-กัมพูชา ยังเหมือนเดิมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรายังเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในพื้นที่อาจไม่ลงรอยกันบ้างก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ภาพรวมไม่น่าจะมีปัญหา

เมื่อถามว่า การเจรจาในส่วนของคณะกรรมการที่จะเจรจากับทางการกัมพูชา ต้องขอความเห็นจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องการเจรจาของคณะกรรมการที่ผูกพันก็ต้องมีกรอบ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า การเจรจาระดับคณะกรรมการฯคงต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาโดยเร็วที่สุด แต่รัฐสภาจะสามารถเปิดพิจารณาเรื่องนี้ได้เมื่อไหร่ก็ขึ้นกับประธานรัฐสภา
กำลังโหลดความคิดเห็น