หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แจงผ่าน NBT เหตุบอกว่าพร้อมเป็นนายกฯ เพราะเป็นหน้าที่ที่หัวหน้าพรรคการเมืองต้องพร้อมรับ หวังโหวตเลือกนายกฯ จะได้คนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง เพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างแท้จริง - เหน็บ NBT เปิดโอกาสให้มีรายการบิดเบือน โจมตีพรรคประชาธิปัตย์ สนุกปากอยู่ทุกคืน
วันนี้ (11 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการถามจริง-ตอบตรง ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ดำเนินรายการโดย นายจอม เพชรประดับ ถึงกรณีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันพรุ่งนี้ โดยผู้ดำเนินรายการถามว่าหากที่ประชุมสภาในวันพรุ่งนี้ 6 พรรคร่วมรัฐบาลโหวตเลือก นายสมัคร สุนทรเวช กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีจริง นายอภิสิทธิ์ จะว่าอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ว่าสภาจะโหวตใครมาเป็นนายกฯ ตนก็จะมีคำถามหลัก 1 ข้อที่ต้องการถามนั่นคือ เมื่อมาเป็นนายกฯแล้ว จากนี้จะทำอะไร ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนหน้านี้ เพื่อที่จะหลักประกันให้ประชาชนได้รู้ว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะมีท่าทีเปลี่ยนไปในการที่จะพยายาม แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ดีกว่าเดิมหรือไม่
ผู้ดำเนินรายการถามว่า เหตุใดก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ จึงกล่าวว่า สนับสนุนให้เกิดรัฐบาลแห่งชาติ และพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วจนถึงตอนนี้หากรัฐบาลแห่งชาติไม่เกิดขึ้นจะรู้สึกอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า หัวหน้าพรรคทุกคนก็ต้องพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี และก็พร้อมมาตั้งแต่ลงสมัคร รับเลือกตั้งแล้วด้วย ดังนั้น ตนจึงไม่อยากให้แปลความหมายผิดว่าไปว่าตนต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะหากถามใจจริงแล้วตนคงไม่อยากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในยามที่บ้านเมืองมีปัญหาหนักอย่างนี้แน่ แต่ที่ตนต้องพร้อม ก็เพราะสิ่งนี้มันเป็นหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมืองทุกคน ที่ต้องพร้อมช่วยเหลือประเทศชาติตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าพอมีปัญหาแล้วก็ปฎิเสธที่จะเป็นหัวหน้าในการแก้ไขปัญหา กล่าวคือ เมื่อตนเป็นนักการเมืองไม่ว่าสภา จะให้อยู่ตรงไหนก็ต้องอยู่ให้ได้ และแม้รัฐบาลแห่งชาติจะไม่เกิด แล้วให้ตนเป็นฝ่ายค้าน ตนก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อบ้านเมือง
ต่อคำถามว่า มองทางออกของปัญหาบ้านเมืองในตอนนี้ว่าควรทำอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลังจากได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล และพันธมิตรฯ ก็ควรจะปรับท่าที มุ่งสู่กระบวนการเจรจา เพื่อหาทองออกให้บ้านเมือง เช่น ในส่วนของพันธมิตรฯ ก็ควรถอยโดยการยอมรับ ผลของรัฐสภาระดับหนึ่ง คือ ก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาลมาตามกระบวนการ การเลือกตั้ง คือต้องยอมรับตรงส่วนนี้ด้วย ส่วนเรื่องของการเมืองใหม่ ซึ่งในขณะนี้ก็เห็นได้ชัดว่าสังคมยังยอมรับไม่ค่อยได้ กับกระบวนการสรรหาที่ ไม่ได้มาจากการเรื่องตั้ง ดังนั้น เรื่องนี้ก็ควรถอดออกไปก่อนเมื่อ เพื่อลดชนวนความขัดแย้งในขณะนี้ หรือการกระทำอารยะขัดขืนที่พันธมิตรฯ ดำเนินการอยู่ ท้ายที่สุดแล้วกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ต้องยอมรับผลทางการกฎหมาย ของการกระทำดังกล่าวด้วย
ส่วนทางรัฐบาลก็ควรตระหนัก ว่า ถึงแม้ตัวเองจะมาจากกระบวนการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเข้ามาแล้วจะทำอะไรก็ได้ ควรจะตระหนักถึงความถูกต้อง ความรู้สึกของประชาชน ไม่ใช่พยายามทำทุกสิ่งที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เช่น การแก้ รธน. เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง ซึ่งตนเชื่อว่าหากเป็นเช่นนั้นความขัดแย้งก็ไม่มีทางจบ
ส่วนคำถามที่ว่าใครควรจะเป็นเป็นฝ่ายถอยนั้น ตนมองว่า ถือเป็นเรื่องลำบากที่จะบอกให้ทุกคนถอยพร้อมกัน ดังนั้น โดยส่วนตัวแล้วตนเชื่อว่า คนที่มีอำนาจ คนที่เป็นผู้นำควรจะเป็นฝ่ายริเริ่มในการถอย เพราะหากรัฐบาลถอยแล้วแต่ฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่ถอย ตนก็เชื่อว่า จะมีคนสนับสนุนพันธมิตรฯ น้อยลงไปเอง แต่ไม่ใช่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจไม่ยอมถอย แล้วรอแต่จะให้พันธมิตรฯ ถอยอันนั้นคงเป็นไปได้ยาก “ในใจผม ถ้าเราเป็นผู้นำ ถ้าเราเป็นผู้มีอำนาจ เราควรจะเป็นฝ่ายเริ่มต้น”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับทางออกของปัญหาเฉพาะหน้า ที่ตนมองว่าควรจะทำ ก็คือ เมื่อได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ก็ควรมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อน เป็นอันดับแรกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ในสายตาต่างชาติ จากนั้นจึงค่อยหาวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างจริงจังเป็นขั้นต่อไป
ในช่วงท้ายรายการผู้ดำเนินรายการ ถามว่า ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่โดนสังคมมองมาตลอดว่าอยู่เบื้องหลังการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ คิดว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อสลัดภาพเหล่านี้ออกไปเสีย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วตนก็พูดไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังมีคนคอยกล่าวหาอยู่ตลอด แต่ตนก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่คู่แข่งทางการเมืองต้องหาเรื่องมาโจมตีอยู่ตลอด
เมื่อกล่าวถึงช่วงนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวกับผู้ดำเนินรายการว่า ก็ขอฝากถึงสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีด้วยว่า มีอยู่รายการหนึ่งที่กล่าวโจมตีตน และพรรคประชาธิปัตย์อยู่ตลอดเวลา ก็ต้องขอฝากให้ช่วยพิจารณาด้วย “ก็ต้องขอความกรุณาเอ็นบีทีด้วยครับ เพราะมีอยู่รายการหนึ่ง ที่ยัดเยียดข้อหาให้ผมตลอดเวลา”