xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” เปิดใจผ่าน NBT จวก “ครม.หมัก 4” ขี้เหร่เหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เปิดใจผ่าน NBT ผิดหวัง ครม.“หมัก 4” ชี้ สร้างความเชื่อถือให้ ปชช.ไม่ได้ แนะ “โกร่ง” ลาออกจาก บ.เอกชน แล้วค่อยมาเป็นที่ปรึกษา รบ.ส่วน “โกวิท” ควรเอาเหตุการณ์ก่อน 19 ก.ย.เป็นอุทาหรณ์ว่า หาก มท.1 ไร้ประสิทธิภาพบ้านเมืองวุ่นวายแค่ไหน-จวก รบ.ไม่เร่งเอาผิด “ม็อบถ่อยอุดรฯ” ปล่อยให้ลอยหน้าท้าทายกฎหมาย

วานนี้ (4 ส.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ ถามจริง-ตอบตรง ทางสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที ดำเนินรายการโดย นายจอม เพชรประดับ ถึงกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี ว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนรู้สึกค่อนข้างผิดหวัง เพราะการปรับ ครม.ออกมาในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกับ การตั้ง นายเตช บุนนาค มาเป็น รมว.ต่างประเทศ เพราะตัวนายเตช นั้น ถือเป็นคนที่มีความสามารถที่บอกชื่อแล้วประชาชนเชื่อมั่นได้ แต่กับรัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนนั้น เมื่อมองเป็นตัวบุคคลแล้วไม่มีตำแหน่งไหนเลยที่พอเอ่ยชื่อแล้ว ประชาชนจะเชื่อมั่น ศรัทธา หรือเคยสร้างผลงานจนเป็นที่ปรากฏชัดมาก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการแต่งตั้งมาแล้ว ก็คงต้องรอดูผลงานการแก้ไขปัญหากันต่อไป เพราะอย่างไรเสียตนก็ไม่คิดว่าปัญหาการบริหารงานไม่สำเร็จของรัฐบาล ไม่ได้อยู่แค่ตัวบุคคลที่มาเป็นรัฐมนตรี แต่อยู่ที่ภาพรวมของนโยบายรัฐบาลมากกว่า ว่าจะสามารถวางนโยบายแก้ปัญหาไว้อย่างไร และมีการจัดการบริหารจัดการเพื่อให้ประสบผลตามที่วางไว้หรือไม่

ผู้ดำเนินรายการถามถึง ทัศนะที่มีต่อ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.กลาโหม และ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ว่า สำหรับ พล.ต.อ.โกวิท นั้น ตนมองว่า ถ้ากล่าวถึงผลงานที่ผ่านมาแล้ว พล.ต.อ.โกวิท ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบันได้ เพราะหากเทียบแล้วเหตุการณ์ตอนนี้ก็เหมือนกับก่อนการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.คือ บ้านเมืองเริ่มวุ่นวาย และ รมว.มหาดไทย ในขณะนั้นก็ไม่สามารถดูแล หรือควบคุมมวลชนที่ขัดแย้งกันได้ ซึ่งการดูแลปัญหาดังกล่าวก็ต้องใช้ความสามารถ และจริงจังในการแก้ปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า หาก พล.ต.อ.โกวิท นำประสบการณ์เมื่อครั้งก่อน 19 ก.ย.มาเป็นตัวอย่าง แล้วคอยระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องดังกล่าวซ้ำขึ้นมาอีก ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้สามารถบริหารงานในกระทรวงมหาดไทยได้อย่างมีทิศทาง

ส่วนกรณี นายวีรพงษ์ นั้น ตนมองว่า หาก นายวีรพงษ์ มานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีเลย ก็อาจไม่เป็นปัญหาเช่นนี้ แต่เมื่อ นายวีรพงษ์ เป็นปรึกษา ที่สามารถเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี และล่วงรู้ข้อมูลได้ ในขณะที่ยังมีตำแหน่งในบริษัทเอกชนต่างๆ อยู่ ก็ถือเป็นเรื่องที่ผิดต่อหลักธรรมาภิบาล เนื่องจากตนเชื่อว่า คนที่คิดจะมาทำงานให้รัฐบาล ทำงานเพื่อประเทศชาติแล้ว ก็ควรรจะมีการเสียสละโดยการลาออก เพื่อไม่ให้ถูกมองได้ว่ามีผลปรโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจะสร้างความครางแครงใจให้กับประชาชนเสียเปล่าๆ

นายอภิสิทธิ์ ยังได้กล่าวถึงผลงานของรัฐบาลในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาด้วยว่า ผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมมีเพียงโครงการเดียว คือ 6 มาตรการ 6 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม ตนอยากฝากไปยังรัฐบาลด้วยว่า เมื่อพ้น 6 เดือนไปแล้ว รัฐบาลก็ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่มีฐานะยากจนในระยะยาว ซึ่งพรรคฝ่ายค้านก็ยังเสนอให้มีการหยิบนโยบายคูปองคนจน มาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาให้คนจนได้ในระยะยาว ส่วนปัญหาอื่น ๆ นั้น ตนก็มองว่ารัฐบาลควรเร่งแก้ไขเช่นกัน เช่นโครงการเมกกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่ยังไม่มีความคืบหน้า รวมไปถึงการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ยังไม่แนวทางแก้ไขออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ตนมองว่า ปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลจะต้องแก้ไขจากนี้มีอีกมาก จึงควรเร่งแก้ไขในทุกๆ ด้าน แต่ที่ไม่ควรจะแก้ หรือเข้าไปยุ่งในตอนนี้ก็คือเรื่องของการแก้ไข รธน. ซึ่งเรื่องนี้เคยก่อปัญหาให้รัฐบาลมาแล้วเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้นตนก็เคยช่วยแก้ชนวนปัญหาไปแล้วครั้งหนึ่งโดยการเสนอให้มีการตั้งกรรมการวิสามัญขึ้นมาศึกษาแก้ไข รธน.ซึ่งสถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ตอนนี้รัฐบาลก็หยิบเรื่องการแก้ไข รธน.ขึ้นมาอีก ถือเป็นการจุดชนวนปัญหามาอีกครั้ง ทั้งที่จริงรัฐบาลไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะเมื่อให้กรรมการวิสามัญศึกษาแล้ว ก็ควรให้คณะกรรมการศึกษากันไป ไม่ควรเปลี่ยนแปลงโดยการรีบเร่งแก้ไข รธน.ขึ้นมาอีกในตอนนี้

นายอภิสิทธิ์ ยังได้กล่าวถึง การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วยว่า การชุมนุมโดยสงบโดยปราศจากอาวุธนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ ส่วนกรณีที่เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มต่อต้านพันธมิตรฯ นั้นตนมองว่า การที่คนเรามีความคิดเห็นแตกต่างกันนั้น เป็นสิ่งที่ที่สามารถทำได้ แต่ต้องแสดงออกอย่างถูกต้อง เช่นเมื่อฝ่ายพันธมิตรฯ ชุมนุมได้ ฝ่ายต่อต้านก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ต้องไม่ไปเกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่ว่าเมื่อเห็นไม่ตรงกันแล้วก็เอาไม้ไปไล่ตีฝ่ายที่คิดไม่เหมือนตนเอง

เช่น กรณีการชุมนุมต่อต้านพันธมิตรฯ ที่ จ.อุดรธานี นั้นถือเป็นสิ่งไม่ถูกต้องอย่างยิ่งที่มีการบุกไปใช้ความรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลต้องเพิ่มความเฉียบขาดในการแก้ปัญหา โดยเมื่อมีการกระทำความผิดก็ต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าปล่อยให้มีการทำร้ายกันโดยไม่ป้องกันดูแลอย่างเต็มที่ มิหนำซ้ำ แกนนำที่พาคนไปกระทำความผิดยังมากล่าวอย่างลอยหน้าลอยตาได้ว่า ถ้ากลุ่มพันธมิตรฯ ไป จ.อุดรฯ อีกก็จะพาพวกไปต่อต้านอีก อย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น