NBT เชิญ “พิภพ ธงไชย” แกนนำพันธมิตรฯ แจง “การเมืองใหม่” ชี้ เพราะรัฐสภาปัจจุบันแก้ปัญหาให้ ปชช.ไม่ได้ จึงหาแนวทางใหม่ให้เกิดประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่วายเชิญ “สุขุม นวสกุล” มาโต้ อ้าง เป็นแนวคิดที่ดี แต่คงทำจริงไม่ได้ เหน็บ “ขี้เกียจเขียนตำราใหม่” แถมก่อนเริ่มทำสกู๊ปดิสเครดิตล่วงหน้า
วานนี้ (3 ก.ค.) นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้รับเชิญไปออกรายการ ถามจริง-ตอบตรง ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ดำเนินรายการโดย นายจอม เพชรประดับ ถึงแนวคิดในการปฏิรูปการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ว่า แนวคิดดังกล่าว คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบรัฐสภาแบบเสียงข้างมากแบบที่ประเทศเราเป็นอยู่นั้นไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ และนักการเมืองเองก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนได้อย่างแท้จริง ทำให้การเมืองปัจจุบันเต็มไปด้วยการทุจริตเพื่อให้ได้เข้าไปเป็น ส.ส.เมื่อเป็นแล้วก็แสวงหาผลประโยชน์โดยการทุจริต คอร์รัปชัน
ดังนั้น พันธมิตรฯ จึงเสนอให้มีการเมืองรูปแบบใหม่ที่จะสร้างหลักประกัน ว่า ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกชนชั้นจะเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา กรรมกรผู้ใช้แรงงาน คนด้อยโอกาสทางสังคมโดยเสนอสูตรผสมของผู้เข้าสู่อำนาจในสัดส่วน 70:30 กล่าวคือเพิ่มกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น ร้อยละ 70 และลดที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งโดยวิธีการเลือกตั้งลงเหลือร้อยละ 30 ทั้งนี้ รายละเอียดหรือรูปแบบการสรรหาใน 70% นั้น ก็ต้องขอให้สังคมมาช่วยกันขบคิดว่าจะนำวิธีการใดมาใช้ในการสรรหา
ผู้ดำเนินรายการถามว่า สาเหตุที่พันธมิตรฯ หยิบประเด็นการเมืองใหม่ขึ้นมาในตอนนี้เป็นเพราะพันธมิตรฯ หาทางลงไม่ได้หรือไม่ นายพิภพ กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะพันธมิตรฯ ถือว่าประสบผลสำเร็จมาโดยตลอด ทั้งการหยุดยั้งการแก้ รธน.การท้วงติงกรณีเขาพระวิหาร ฯลฯ ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่การหาทางลง แต่เป็นเพราะเราต้องการทำการเมืองใหม่ที่จะส่งผลดีต่อประเทศชาติเท่านั้น
ด้าน นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงกล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวที่พันธมิตรฯ เสนอนั้นเป็นการจุดประกายใหม่ๆ ให้กับสังคม เรื่องดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการเมืองในอุดมคติ เป็นเรื่องที่ดี แต่ในทางปฏิบัติจริงคงทำไม่ได้ เพราะแค่เสนอออกมาก็ถูกต่อต้านทางนักการเมืองแล้ว และตนก็เชื่อว่าคนทั่วไปก็จะต่อต้านเช่นกัน เพราะประชาชนทุกวันนี้ก็มีความสุขดีกับการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าคนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากขึ้นทุกที หากมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาในตอนนี้ บอกตามตรงว่า “ขี้เกียจมาเขียนตำราใหม่” เพราะในประเทศของเราคุ้นชินกับระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ ตนมองว่า อย่างไรเสียการเมืองในทุกวันนี้ก็มีการเมืองภาคประชาชน คอยถ่วงดุลอำนาจบริหารทางการเมืองอยู่แล้ว เรื่องดังกล่าวจึงยังไม่จำเป็น ถึงแม้ตนจะยอมรับว่าระบบรัฐสภาในปัจจุบันจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง แต่วิธีการแก้ก็ควรหาวิธีอื่นที่ไม่ใช่วิธีนี้ เพราะตนมองว่าวิธีที่พันธมิตรฯ เสนอมานี้จะยิ่งทำให้การเมืองวุ่นวายยิ่งกว่าเดิม
ทั้งนี้ ก่อนรายการดังกล่าวจะออกอากาศ ข่าวภาคค่ำ ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ก็ได้มีการนำเสนอสกู๊ปพิเศษ “เส้นทางชีวิต พิภพ ธงไชย” ออกมาอุ่นเครื่องโจมตีแนวทางการทำงานของนายพิภพ และพันธมิตรฯ ก่อน โดยรายงานดังกล่าว กล่าวถึงประวัติการทำงานด้านการเมืองภาคประชาชนของนายพิภพ ว่าดำเนินมาอย่างยาวนานและได้รับการยอมรับจากสังคมเรื่อยมา ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ขององค์กรการเมืองภาคประชาชน โดยเคยมีตำแหน่งเป็นประธานสำนักงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) อีกด้วย จนกระทั่งมาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรฯ ก็เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ และทวงถามจุดยืน จากเพื่อนพ้องน้องพี่ที่อยู่ในเครือข่ายการเมืองภาคประชาชนว่าสิ่งที่นายพิภพ กำลังทำอยู่ขณะนี้ ยังเรียกได้ว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนจริงหรือ โดยเฉพาะการหยิบยกเรื่อง แนวทางการปฏิรูปการเมืองเมืองใหม่ที่พันธมิตรฯ ทำอยู่นั้นได้มีการรับฟังเสียงของประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่
โดยรายงานดังกล่าวได้นำคำสัมภาษณ์ของ นายพงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท.ที่กล่าวว่า สิ่งที่ นายพิภพ กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้คงเรียกว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนไม่ได้ เพราะการเมืองภาคประชาชนนั้นต้องรับฟังความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ด้วย ไม่ใช่เอาแต่เสียงของกลุ่มตนเพียงกลุ่มเดียวมาเป็นข้อเรียกร้อง
“คนพวกนี้ชอบอ้างว่าตัวเองทำงานกับการเมืองภาคประชาชน แต่มันพิสูจน์ได้ชัดเมื่อก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย.ที่เขาขอนายกฯ พระราชทาน ก็ทำให้เห็นว่าคนพวกนี้พยายามเอาอำนาจออกนอกระบบมาโดยตลอด อย่างสิ่งที่คุณพิภพกำลังทำอยู่ในตอนนี้ ถ้าเป็นการเมืองภาคประชาชนจริง ก็ควรจะมองเสียงของคนส่วนใหญ่ด้วย” นายพงษ์สุวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับ สนนท.ชุดปัจจุบัน ก็ถูกตั้งคำถามเช่นกันว่ามีแนวทางการเคลื่อนไหวที่ๆม่ๆด้เข้าหามวลชนที่แท้จริง เพราะเข้าข้างรัฐบาลพรรคพลังประชาชนมาตลอด ซึ่งตรงกันข้ามกับ สนนท.ช่วงก่อนหน้านี้ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ เช่น เมื่อวันที่ 9 เม.ย.51 ในช่วงที่พรรคพลังประชาชนเริ่มเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 237 เพื่อหนีความผิดกรณียุบพรรค นายพงษ์สุวรรณ สิทธิเสนา พร้อมตัวแทน 5 คน ได้เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องขอให้สภาผู้แทนราษฎรยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ที่เคยเป็นอดีตแกนนำ นปก.
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2551 ช่วงที่รัฐบาลกำลังหาทางสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ นายพงษ์สุวรรณ นำพรรคพวกไปวางพวงหรีดที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. เพื่อขอให้พันธมิตรฯ และ ครป.รวมทั้ง นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรทบทวนท่าทีการชุมนุม โดยอ้างว่าเป็นการสร้างความสับสนแก่ประชาชน สร้างเงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหาร นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลแก้วิกฤตทางการเมือง ด้วยการนำรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นร่างก่อนทำประชามติโดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งเหตุผลดังกล่าวล้วนแต่เป็นเหตุผลเดียวกับพรรคพลังประชาชน
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2551 นายพงษ์สุวรรณ ได้แถลงว่า เครือข่าย สนนท.มีจุดยืนที่จะไม่เข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตร ในวันที่ 28 มี.ค.ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่าเงื่อนไขที่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหว เป็นการต่อสู้ของฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน พร้อมเห็นว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพิ่งเข้ามาทำหน้าที่ ควรให้โอกาสรัฐบาลบริหารประเทศก่อน