xs
xsm
sm
md
lg

“วีระ” ยื่น ป.ป.ช.เอาผิดกราวรูด “สมชาย” สั่งฆ่า ปชช.-ตร.นางเลิ้งกลั่นแกล้ง 9 แกนนำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วีระ สมความคิด” ยื่น ป.ป.ช.สอบเอาผิดกราวรูด “สมชาย-พัชรวาท-สุชาติ” และนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง ฐานสั่งใช้อาวุธสลายชุมนุมพันธมิตรฯ 7 ต.ค.เป็นเหตุให้มีคนตาย-บาดเจ็บจำนวนมาก พร้อมยื่นสอบตำรวจ สน.นางเลิ้ง ฐานยัดข้อหา 9 แกนนำเป็นกบฏ จงใจกลั่นแกล้งให้รับโทษสูงเกินจริง ซ้ำนำตัว “พล.ต.จำลอง-ไชยวัฒน์” ไปสอบสวนที่ ตชด.ปทุมธานี ทั้งที่ สน.นางเลิ้ง เป็นผู้รับผิดชอบคดี

วันนี้ (15 ต.ค.) นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับนักการเมืองและข้าราชการตำรวจใน 3 กรณีด้วยกัน คือ กรณีแรก ตามหนังสือของกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ กพส.038/2551 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 เรื่อง ขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีทั้งทางวินัยและทางอาญากับ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์กับพวกในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 257 และมาตรา 289(4)

หนังสือของ นายวีระ ระบุว่า ขอกล่าวหาร้องเรียน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจและกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และนายตำรวจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน กรณีเชื่อว่าเป็นผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่ไปชุมนุมที่บริเวณถนนหน้ารัฐสภาในตอนเช้า บริเวณสี่แยกการเรือนถนนราชวิถีตลอดเรื่อยมาจนถึงหน้ารัฐสภาในช่วงบ่าย และในช่วงค่ำที่บริเวณสี่แยกพระบรมรูปทรงม้ารัชกาลที่ 5 จนทำให้มีคนตาย บาดเจ็บสาหัส แขนขาด ขาขาด สูญเสียดวงตา และบาดเจ็บร่างกายส่วนอื่นๆ อีก เป็นจำนวนมาก ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 289(4)

กล่าวคือ นายนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจและกำกับดูแลสำนักงานตำตรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้วผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลและนายตำรวจคนอื่นๆ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน กรณีได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนด้วยอาวุธร้ายแรง เช่น ใช้ปืนยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ยังร่างกายของผู้ชุมนุม ปาระเบิดแก๊สน้ำตา ใช้ปืนลูกซองยาวยิงใส่ผู้ชุมนุม

การปราบปรามผู้ที่ชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักสากลปฏิบัติ การใช้อาวุธร้ายแรงเข่นฆ่าประชาชนบริเวณข้างรัฐสภา ถนนราชวิถีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลา 06.15 น.โดยไม่มีการเจรจา ไม่มีการประกาศเตือนให้ประชาชนทราบก่อนการใช้กำลังเข้าปราบปรามเข่นฆ่า ไม่มีการใช้กระบองยางและโล่ห์เข้าสลายการชุมนุมก่อน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ยังร่างกายของผู้ชุมนุมในทันที ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก มีทั้งขาขาดทันที ผิวหนังถูกไฟลวกและสูญเสียดวงตา ในเวลาประมาณ 14.00 น.มีการใช้ระเบิดไม่ทราบขนาด ดังกล่าวยิงไปยังรถจี๊ปเชอโรกีคันหนึ่งหน้าที่ทำการพรรคชาติไทย ทำให้ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี ตำรวจนอกราชการร่างกายแหลกเหลวเสียชีวิตทันที

เวลาประมาณ 15.30 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ทำการใช้อาวุธร้ายแรงดังกล่าวทำการเข่นฆ่าประชาชนที่บริเวณสี่แยกการเรือนถนนราชวิถีเรื่อยมาจนถึง บริเวณหน้ารัฐสภาซึ่งข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ในขณะนั้น ต่อมาเวลาประมาณ 19.02 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ภายในกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ทำการเข่นฆ่าประชาชนอีกโดยใช้อาวุธได้ยิงใส่ผู้ชุมนุมที่ยืนอยู่บริเวณสี่แยกพระบรมรูปทรงม้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตในทันทีอีก 1 คน คือ นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ (น้องโบว์) แพทย์ระบุว่า ปอดและหัวใจทะลุ เพราะถูกแรงระเบิดความแรงของระเบิดเหมือนคนตกตึก 3 ชั้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขาดเพิ่มอีก 4 คน และอีกหลายคนบาดเจ็บสาหัสทั้งมือขาดและ ใบหน้าหายไปทั้งแถบเพราะถูกสะเก็ดระเบิด

การชุมนุมของประชาชนบริเวณดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 63 ผู้สั่งการดังกล่าวและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลงมือใช้อาวุธร้ายแรงดังกล่าวทำการเข่นฆ่าประชาชน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงเกินกว่าที่กฎหมายจะให้กระทำได้ และเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตำรวจไม่มีสิทธิเข่นฆ่าประชาชนที่มาชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การอ้างว่า เป็นการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมต้องกระทำการให้ได้สัดส่วนตามหลักสากลปฏิบัติ เมื่อเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธและต้องกระทำการเป็นไปตามขั้นตอนตามลำดับ ซึ่งหลังเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์สังหารโหดดังกล่าวได้สรุปแนวทางดำเนินการกับฝูงชนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ปฏิบัติ คือ จะต้องดำเนินการตามหลักการดังต่อไปนี้ 1.จะต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อการนี้อย่างดีแล้วเท่านั้น 2.จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน ตามวิธีการจากเบาไปหาหนักโดยเคร่งครัด คือ 1.ใช้วิธีการเจรจาถ้าไม่สำเร็จจึงใช้วิธีที่ 2 คือ ใช้โล่หากไม่ได้ผลจึงใช้วิธีที่ 3 คือ ใช้โล่ และกระบองโดยต้องใช้เฉพาะกระบองยางเท่านั้น ถ้ายังไม่ได้ผลจึงใช้แก๊สน้ำตา โดยจะต้องใช้วิธียิงขึ้นที่สูงให้ตกลงมาระเบิดมิใช่ยิงเข้าใส่ฝูงชนโดยตรง

แต่ปรากฏจากหลักฐานชัดเจนว่าในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้กระทำการทั้ง 4 ประการดังกล่าว แต่ใช้วิธียิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ร่างกายของประชาชนโดยตรง ซึ่งเห็นได้ว่าไม่ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาอย่างเดียว มีการใช้ระเบิดสังหาร ใช้ปืนลูกซองยาว จึงสามารถทำให้มีคนตายในทันที ขาขาด แขนขาด นิ้วขาด ตาและเบ้าตาหายไปทั้งแถบได้ รวมทั้งทำให้ปอดและหัวใจของ นางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ทะลุได้

ดังนั้น การสั่งการและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการเข่นฆ่าประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ บุคคลดังกล่าวจึงมีเจตนาทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานความผิดสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่าประชาชนที่ชุมนุมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 257 และมาตรา 289(4) ประกอบมาตรา 84 ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลงมือกระทำการดังกล่าวก็มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 257 และ มาตรา 289(4)

จึงขอกล่าวหาร้องมาเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำการไต่สวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวทั้งหมด ทั้งทางวินัยและอาญา และขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็วด้วยเพราะเป็นกรณีร้ายแรงมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากเกือบห้าร้อยคนและเป็นเรื่องที่สังคมและสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ผลการดำเนินการเป็นประการใด ได้โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบโดยเร็วด้วย

ยื่นเอาผิด ตร.นางเลิ้ง กลั่นแกล้ง 9 แกนนำให้รับโทษหนัก

เรื่องที่ 2 นายวีระ ได้ยื่นหนังสือเลขที่ กพส.039/2551 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ถึง คณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่อง ขอให้ไต่สวนดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาพนักงานสอบสวนในความผิดตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 200 วรรค 2 และมาตรา 257 โดยได้กล่าวหาร้องเรียนพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ว่าเป็นพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวน กระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ ด้วยเจตนากลั่นแกล้งให้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล, พลตรีจำลอง ศรีเมือง, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายอมร อมรรัตนานนท์, นายไชยวัฒน์ สินสุวงค์ และนายเทิดภูมิ ใจดี ต้องรับโทษ หรือรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 วรรคสอง และมาตรา 157

ซึ่งเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมและกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามลำดับ กล่าวคือ ตามที่ 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกอบโดย พลตรีจำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ และ นายพิภพ ธงไชย และ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร นายอมร อมรรัตนานนท์, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ นายเทิดภูมิ ใจดี รวม 9 คน ได้ร่วมกันชุมนุมเพื่อไม่ให้รัฐบาลหรือพรรคพลังประชาชน ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองและพวกพ้องและโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ยึดหลักคุณธรรมเพื่อตัดตอนคดีความของพวกตนในระบอบทักษิณไม่ให้ถึงการพิจารณาในชั้นศาล ตามประกาศแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 6/2551

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เริ่มชุมนุมกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เขตดุสิต กทม. หลังจากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปที่สะพานมัฆวานและสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ต่อมาก็ได้เคลื่อนขบวนมาที่สะพานมัฆวานอีก จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศให้เป็นวันชุมนุมใหญ่ และมีการไปดาวกระจายที่ 5 หน่วยงานรัฐ โดยการชุมชนโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 63 ให้ยึดมั่นในสันติวิธีไม่ทำลายทรัพย์สินทางราชการโดยเด็ดขาด ตามเจตนารมณ์ของประกาศพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฉบับที่ 12/2551 วันรุ่งขึ้นวันที่ 27 สิงหาคม 2551 พนักงานสอบสวนได้มีการตั้งข้อหาและยื่นศาลอาญาขอออกหมายจับบุคคลทั้ง 9 ดังกล่าว โดย พ.ต.ท.มานะ เพาะช่วย พนักงานสอบสวน สน.สุทธิสาร พร้อมคณะ ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติออกหมายจับบุคคลทั้ง 9 ดังกล่าว ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 114, 215 และ 216

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวและข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนเห็นได้ว่าผู้ต้องหาทั้ง 9 ดังกล่าวได้เรียกร้องให้ประชาชนมาชุมนุมกัน เพื่อไม่ให้รัฐบาลหรือพรรคพลังประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองหรือพวกพ้อง รายละเอียดตามที่กล่าวมาแล้ว และการชุมนุมก็เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 63 และการเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะไม่สามารถเข้าไปประชุมในทำเนียบรัฐบาลได้ แต่คณะรัฐมนตรีก็สามารถไปประชุมที่อื่นได้ ซึ่งก็ได้มีการใช้กองบัญชาการกองทัพไทย ต่อมาก็ไปที่บริเวณสนามบินดอนเมืองเป็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

การกระทำดังกล่าวของผู้ต้องหาทั้ง 9 จึงไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หรือ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้แต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ไม่มีการสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิด ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 114 ไม่ได้กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ไม่มีการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 แต่อย่างใด (มาตรา 216 กำหนดว่าเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิกต้องระวางโทษฯ)

การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งท้องที่ ซึ่งอ้างว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตนได้มีการแจ้งข้อหาดังกล่าวแก่ผู้ต้องหาที่ 1-9 ดังกล่าว จึงเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวน กระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบมีเจตนากลั่นแกล้งให้บุคคลที่ 1-9 ดังกล่าวต้องรับโทษ หรือรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคสอง และมาตรา 157 ซึ่งต่อมาผู้ต้องหาที่ 1-9 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนหมายจับดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงได้พิจารณาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 9 กระทำความผิดฐานเป็นกบฏแต่ยังไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 9 ในความผิดดังกล่าว เพราะเป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่ค่อนข้างจะเลื่อนลอย ส่วนข้อกล่าวหาที่เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งผู้ที่มั่วสุม เพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก อันเป็นความผิดมาตรา 216 ตามที่พนักงานสอบสวนผู้ต้องประสงค์ให้ออกหมายจับนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำร้องขอออกหมายจับว่า มีเจ้าพนักงานผู้ใดสั่งให้ผู้ต้องหาทั้ง 9 เลิกกระทำความผิดดังกล่าวตามมาตรา 215 แล้วผู้ต้องหาไม่เลิกจึงไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้า ในความผิดตามมาตรา 216 เช่นเดียวกัน และเมื่อไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 9 ในความผิดฐานเป็นกบฏแล้ว จึงไม่สมควรหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้า ในข้อหาสะสมกำลังพล หรืออาวะ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏด้วย

ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นอย่างแน่ชัดโดยปราศจากข้อสงสัยแล้วว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งมีความผิดอย่างแน่นอน ฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนกระทำการในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งให้ผู้ต้องหาที่ 1-9 ดังกล่าว ต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคสองและมาตรา 157

จึงกล่าวหาร้องเรียนพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งว่า กระทำความผิดดังกล่าว ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำการไต่สวนและดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาแก่ผู้สั่งการรวมถึงผู้กระทำความผิดผู้ร่วมกระทำความผิดทุกคน ขอให้ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยด่วน กรุณาอย่าช้าเหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา ผลการดำเนินการเป็นประการใด โปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบโดยเร็วด้วย

ยื่นฟัน ตร.นางเลิ้งอีกดอก กลั่นแกล้ง “จำลอง-ไชยวัฒน์”

นอกจากนี้ นายวีระ ได้ยื่นหนังสือ ที่ กพส. 037/2551 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง ขอให้ไต่สวนและดำเนินคดีทั้งทางวินัยและทางอาญากับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยได้กล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จับกุมตัวนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2551 นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว แทนที่จะนำตัวไปที่ทำการของพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบคือสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีมาตรา 83 และมาตรา 84 แต่กลับนำตัวไปคุมขังไว้ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี และกรณี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2551 ก็เช่นกัน ได้นำตัวไปคุมขังไว้ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนดังกล่าว ดังนั้นการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมดังกล่าวจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

จึงขอกล่าวหาร้องเรียนมา เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำการไต่สวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีทั้งทางวินัยและทางอาญาแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กระทำความผิดดังกล่าว และขอให้รีบดำเนินการโดยเร็ว

หนังสือจากนายวีระ สมความคิด ถึง ป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์และพวกฐานเข่นฆ่าประชาชน


หนังสือจากนายวีระ สมความคิด ถึง ป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิดตำรวจสน.นางเลิ้ง ฐานกลั่นแกล้ง 9 แกนนำให้ได้รับโทษหนักขึ้นด้วยการยัดข้อหากบฏ
หนังสือจากนายวีระ สมความคิด ถึง ป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิดตำรวจสน.นางเลิ้ง ฐานกลั่นแกล้ง พล.จำลอง ศรีเมือง และนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ด้วยการนำตัวไปสอบสวนและคุมขังที่ ตชด.ปทุมธานี
วีระ สมความคิด
กำลังโหลดความคิดเห็น