ศาลอุทธรณ์ พิพากษาเพิกถอนหมายจับ “ 9 พันธมิตร ฯ” ข้อกบฏ – สะสมกำลังพลและอาวุธ ป.อาญา มาตรา 113 , 114 , 216 ชี้ การตั้งข้อหายังเลื่อนลอย แต่ข้อหา ยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องจนเกิดความไม่สงบ -มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ยังมีเหตุออกหมายจับได้ สั่งออกหมายจับใหม่เฉพาะ 2 ข้อหา ขณะที่ทนาย ใช้ตำแหน่ง ส.ว.อโนทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ยื่นประกัน “ มหจำลอง – ไชยวัฒน์ ” ศาลอนุญาตตีประกันคนละแสน
วันนี้ (9 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ ที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายเทิดภูมิ ใจดี แนวร่วมพันธมิตรฯ ผู้ต้องหาที่ 1-9 ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนหมายจับ ข้อหาร่วมกันเป็นกบฎ สะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ และเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกไปแต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.113, 114,116,215 และ 216
โดยคดีนี้ศาลอาญาพิจารณาแล้วอนุมัติให้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 9 คน เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนหมายจับ
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 วรรคสาม บัญญัติว่า การจับกุมและการคุมขังบุคคลจะกระทำไม่ได้เว้นแต่จะมีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามประมวลกฎหมายวิธีความอาญา มาตรา 57 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 78 , 79 , 80 , 92 และ 94 แห่งประมวลกฎหมายนี้จะจับ ขัง จำคุก หรือค้นในที่ระโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของ ต้องมีหมายอาญาสำหรับการนั้น การที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลเป็นผู้พิจารณาออกหมายจับ ก็เพื่อให้ศาลกลั่นกรองความถูกต้องไม่ให้เจ้าพนักงานออกหมายจับประชาชนได้เองโดยง่าย ถือเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชน การที่ศาลจะออกหมายจับผู้ใดหรือไม่จึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและไม่จำเป็นต้องยึดถือเอาความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้ขออกหมายจับเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชนตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญในการพิจารณาออกหมายจับดังกล่าว แม้ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 บัญญัติว่า เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีโทษจำคุกเกิน 3 ปี หรือ ( 2 ) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น แต่ก็ไม่มีบทบังคับว่าเมื่อมีเหตุออกหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วซึ่งในการพิจารณาออกหมายจับบุคคลใดหรือไม่ ในเบื้องต้นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องว่ามีรายละเอียดแห่งการกระทำความผิดที่จะพอรับฟังได้พอสังเขปว่าน่าจะมีการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ถ้าข้อเท็จจริงตามคำร้องขอออกหมายจับไม่เข้าข่าย หรือไม่น่าจะมีการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ไม่มีเหตุที่จะไต่สวนคำร้องเพื่อออกหมายจับ ศาลสามารถยกคำร้องขอได้โดยไม่ต้องไต่สวน
เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดกระทำความผิดของผู้ต้องหาทั้งเก้าตามคำร้องขอออกหมายจับของผู้ร้อง ก็ได้ความแต่เพียงว่าผู้ต้องหาทั้งเก้าร่วมกันชักชวนปลุกระดมประชาชนจนมีผู้มาชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินนอกหลายหมื่นคน และกล่าวโจมตีขับไล่รัฐบาลวางแผนกำหนดวิธีการจัดการชุมนุมอย่างเป็นระบบ จัดตั้งกองกำลังรักษา “นักรบศรีวิชัย” ปิดถนนสาธารณะและเคลื่อนกำลังในลักษณะ “ดาวกระจาย” ใช้รถบรรทุกเป็นเวทีปราศรับเคลื่อนที่ไปกดดันสถานที่ราชการหลายแห่ง ชี้นำให้ประชาชนละเมิดกฎหมายด้วยการไม่เสียภาษี ไม่ชำระหนี้ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ปลุกระดมให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องไม่ยอมรับอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมมีความเกลียดชังรัฐบาลหน่วยงานของรัฐ โดยบิดเบือนข้อมูลใส่ร้ายป้ายสี ก่อให้เกิดความรู้สึกชิงชัง แตกแยกในหมู่ประชาชน เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จัดแบ่งกองกำลังผู้ชุมนุมตามแผนสงครามเก้าทัพ เคลื่อนกำลังออกจากแยกมัฆวานรังสรรค์ มุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยใช้กำลังผลักดันฝ่าแนวกั้นของเจ้าพนักงานตำรวจ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจได้รับบาดเจ็บ 33 คน เข้ายึดพื้นที่บนถนนพิษณุโลกและถนนพระราม 5 บางส่วน ปิดการจราจรจากสี่แยกนางเลิ้งถึงสี่แยกส่วนมิกสกวัน จากแยกวันเบญจมบพิตรถึงแยกพาณิชย์ กางเต็นท์ ปรุงอาหาร บนถนนพิษณุโลก ใช้ครีมตัดเหล็กขนาดใหญ่ตัดโซ่ที่เจ้าพนักงานตำรวจร้อยแผงเหล็กขึงกั้นบนสะพานมัฆวานรังสรรค์ขาดเสียหาย ตั้งเวทีบนสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ใช้เครื่องขยายเสียนงกล่าวโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรงก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนในบริเวณดังกล่าว
โดยเมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งให้ผู้ต้องหากับพวกเปิดพื้นที่การจราจรบนถนนพระราม 5 และถนนพิษณุโลกและห้ามมิให้ใช้เครื่องขยายเสียงในลักษณะที่เป็นการรบกวนการเรียนการสอนของโรงเรียนราชวินิตมัธยม ในระหว่างวันจันทร์-วันศุกร์เวลา 07.30 – 16.30 น. ผู้ต้องหาทั้งเก้าก็เคลื่อนย้ายเวที เต็นท์ ไปชุมนุมบนถนนราชดำเนินนอก โดยปิดการจราจรอย่างเด็ดขาดถาวรจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ถึงสี่แยกสวนมิกสกวัน ปราศรัยยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลสร้างความแตกแยกของคนในชาติ ใส่ร้ายป้ายสีหมิ่นประมาทใส่ความผู้อื่นด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จต่อประชาชน ถ่ายทอดการปราศรัยทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจนถึงปัจจุบัน ร่วมกันพังประตูรั้วสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที บุกรุกเข้าไปในอาคารอันเป็นห้องทำงานของพนักงานฝ่ายต่างๆ บังคับข่มขืนใจให้พนักงานหยุดปฏิบัติหน้าที่ ร่วมกันปิดล้อมประตูทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาลทุกด้าน เพื่อขัดขวงมิให้คระรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่เข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในเวลา 09.00 น. อันเป็นการขัดขวางราชการแผ่นดินทำให้คณะรัฐมนตรีต้องย้ายไปประชุมที่กองบัญชาการกองทัพไทย และร่วมกันปีนรั้วบุกรุกเข้าไปในกระทรวงการคลัง โดยมีวัตถุประสงค์ขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ของราชการ และประกาศว่าจะยึดพื้นที่ดังกล่าวไว้อีก 3 วัน จนกว่ารัฐบาลจะลาออก
แม้การกระทำดังกล่าวอาจเป็นความผิดต่อกฎหมาย และพนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้งเก้า กระทำผิดฐานเป็นกบฏ แต่ยังไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในความผิดดังกล่าวเพราะเป็นการตั้งข้ออกล่าวหาที่ค่อนข้างจะเลื่อนลอย ส่วนข้อหาที่เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตาม มาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก อันเป็นความผิดตาม มาตรา 216 ตามที่พนักงานสอบสวน ผู้ร้องประสงค์ให้ออกหมายจับนั้นก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำร้องขอออกหมายจับว่า มีเจ้าพนักงานผู้ใดสั่งให้ผู้ต้องหาทั้งเก้าเลิกกระทำความผิดดังกล่าวตามมาตรา 215 แล้วผู้ต้องหาทั้งเก้าแล้วไม่เลิก จึงไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในความผิด มาตรา 216 เช่นเดียวกัน และเมื่อไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในความผิดฐานเป็นกบฏแล้ว จึงไม่สมควรออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าในข้อหาสะสมกำลังพล หรืออาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏด้วย
แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของผู้ต้องหาทั้งเก้าตามคำร้องของผู้ร้องพอรับฟังได้ว่าผู้ต้องทั้งเก้าน่าจะกระทำความผิดฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยผู้ต้องหาทั้งเก้าเป็นหัวหน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในหารกระทำความผิด อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และ ม.215 วรรค 3 ซึ่งผู้ต้องหาทั้งเก้าก็ยอมรับตามคำร้องขอเพิกถอนการออกหมายจับว่า การชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำเนินนอกก็ดี ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ก็ดีและการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลก็ดี เป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจนเป็นเหตุให้ประชาชนเดือดร้อน ทั้งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ออกหมายจับในข้อหาดังกล่าวก็ได้ทำการไต่สวนตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ.2548 โดยผู้ร้องแสดงหลักฐานได้ตามสมควรว่าผู้ต้องหาทั้งเก้าน่าจะได้กระทำความผิด คำสั่งของศาลชั้นต้นในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และ ม.215 วรรค 3 ส่วนนี้จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ต้องหาทั้งเก้าฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนที่ผู้ต้องหาทั้งเก้ายื่นคำร้องขอให้ระงับการบังคับตามหมายจับไว้ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์และอุทธรณ์คำสั่งเรื่องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ต้องหาทั้งเก้าเสร็จแล้ว คำร้องและอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของผู้ต้องหาทั้งเก้าจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนหมายจับผู้ต้องหาทั้งเก้าเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 , 114 , และ 216 นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น และให้ยกคำร้องที่ผู้ต้องหาทั้งเก้าขอให้ระงับการบังคับตามหมายจับและยกอุทธรณ์ผู้ต้องหาเรื่องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น
ต่อมาศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา ว่า ในส่วนผู้ต้องหาที่ 2-6 ,8 และ 9 ให้ออกหมายจับใหม่ในข้อหาตาม ป.อาญา มาตรา 116 และมาตรา 215
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์วันนี้ มีนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตร 1 ในผู้ต้องหาพร้อมกลุ่มพันธมิตรประมาณ 50 คน เดินทางมาร่วมฟังคำสั่งด้วย โดยเมื่อทราบผลคำสั่งศาลให้เพิกถอนหมายจับ แล้ว มีเสียงตบมือแสดงความดีใจ
ภายหลัง นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ 9 แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า วันนี้ศาลได้อ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ โดยมีคำพิพากษายกข้อหากบฏและความมั่นคงทั้งหมด คงเหลือแต่มาตรา 116 คือการปลุกปั่นยุยงประชาชนให้กระด้างกระเดื่องมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และมาตรา 215 คือ มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ผู้ใดเป็นหัวหน้ามีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ดังนั้น เมื่อข้อหาอื่นที่มีโทษประหารชีวิตและโทษหลัก ที่เราต่อสู้กันมาตลอดนั้นเสร็จสิ้นไปหมด ซึ่งตนได้หารือ 5 แกนนำแล้วว่าจะยื่นประกันตัว พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ในวันนี้ ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือกำลังหารือว่าจะทำอย่างไร แต่ขณะนี้ชี้ให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 คือแจ้งข้อหาเกินจริง และศาลอุทธรณ์ชี้ชัด ส่วนจะฟ้องกลับหรือไม่จะต้องหารือกับแกนนำอีกที
นายสุวัตร กล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าแกนนำได้รับความเป็นธรรมพอสมควร ตามที่ได้ต่อสู้ จากนี้ก็ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณา โดยมอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ส่วนจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวน สุดท้ายต้องฟังเสียงของแกนนำว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้หากพนักงานสอบสวนยื่นฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ ทางพันธมิตรฯก็สามารถยื่นฎีกาได้
ด้านนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 1ในแกนนำพันธมิตรฯที่ถูกออกหมายจับ กล่าวว่า ตอนนี้มี 2 แนวทางคือต้องหารือหลายฝ่าย ทั้งทีมทนายและนักวิชาการที่ปรึกษากฎหมาย ว่าจะดำเนินคดีตำรวจที่กลั่นแกล้งแจ้งข้อหากบฏ ซึ่งถือว่าเป็นการจงใจต่อสิทธิเสรีภาพถูกขังฟรีไปทั้ง 2 คน และยังออกหมายจับทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงไปทั่วประเทศ ต่อมาตำรวจยังได้สังหารโหดประชาชนอีกเราไม่อาจจะยอมรับได้ จะต้องดำเนินการกับรัฐตำรวจอย่างถึงที่สุด แต่เพื่อความรอบคอบจะต้องหารือกันเพื่อมอบให้คณะทนายความไปดำเนินการ ส่วนแนวทางที่ 2 คือ เราจะให้ผู้ที่ถูกตำรวจตั้งข้อหากบฏชุด 2 ซึ่งมีหลายสิบคน ดำเนินคดีกับตำรวจที่ตั้งข้อหากบฏกลั่นแกล้ง นอกจากนี้จะเดินทางไปรับ พล.ต.จำลอง และนายไชยวัฒน์ โดยจะไม่ทำเอิกเกริก ไม่จำเป็นต้องขนคนไปจำนวนมาก คนที่ไปรับคงมีตนและทีมทนาย เพื่อให้แกนนำทั้ง2ไปร่วมดำเนินการภารกิจการต่อสู้เพื่อรักษาชาติ ต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมตามรธน.มาตรา 69 มาตรา 70 ซึ่งเป็นอำนาจของประชาชน ขณะเดียวกันเรายังยืนยันหนักแน่นว่าข้อหาที่ศาลยังไม่เพิกถอนเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะต่อสู้ต่อไป โดยเฉพาะมาตรา 215 เป็นการใช้รัฐธรรมนูญตามสิทธิเสรีภาพในการพูดการเขียนและการสื่อสาร ซึ่งอาจจะถึงศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า เราจะไม่อ่อนข้อให้กับรัฐตำรวจ เพราะมีคนตาย 2 คน บาดเจ็บ 400 กว่าคน เราจะมาทำละเลยเพื่ออ่อนข้อให้ไม่ได้ แต่ต้องขอบคุณกระบวนการยุติธรรมของชาติที่เพิกถอนข้อหากบฏ ซึ่งร้ายแรงมาก คนที่จะสู่ขั้นนี้ได้ต้องเคลื่อนกำลังยึดอำนาจเพื่อตัวเอง เป็นรัฐบาลเอง ล้มล้างรัฐธรรมนูญ วันนี้ถือว่าสวรรค์มีตาฟ้าศักดิ์สิทธิ์ถึงใครไม่เห็นแต่ศาลอุทธรณ์ก็เห็น ส่วนข้อหาอื่นจะต่อสู้กันต่อไป และยืนยันว่าจะไม่หนีศาลไปต่างประเทศเหมือนใครบางคนเด็ดขาด เราไม่ตาขาวต่อกระบวนการยุติธรรม และถ้าทนายเห็นว่าตนควรมอบตัวก็จะไม่ขอใช้เอกสิทธิ์ใดในความเป็นส.ส. หรือวิงวอนให้ส.ส.รัฐบาลโบกมือเพื่อคุ้มครองเอกสิทธิ์ตน เพราะตนเคยมอบตัวมาแล้วในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ต่อมา นายอโนทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ส.ว.สรรหา ได้ยืนคำร้องพร้อมใช้ตำแหน่ง ส.ว. ของตัวเอง ตีราคาได้ 1,043,300 บาท ขอประกันตัว พล.ต.จำลอง และนายไชยวัฒน์ ที่ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งสองยื่นประกันตัวไป โดยตีราคาประกันคนละ 100,000 บาท .