xs
xsm
sm
md
lg

ตร.คุมตัว “มหาจำลอง” ฝากขัง-ไม่ค้านประกัน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ตำรวจนางเลิ้ง คุมตัวมหาจำลองฝากขังคดีกบฏ ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านฝากขัง และคำร้องให้ปล่อยตัวทันที ศาลอาญาเริ่มไต่สวนแล้ว

วันนี้ (6 ต.ค.) เมื่อเวลา 08.20 น.ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.ท.ภูเบศ เส้นขาว พนักงานสอบสวน (สบ.3) สน.นางเลิ้ง พร้อมกำลังได้นำตัว พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ต้องหาที่ 1 คดีกบฏ ที่ถูกจับกุมได้ขณะเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.มาขออำนาจศาลฝากขังครั้งแรก ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการพิเศษจำนวน 100 นาย ที่คอยดูแลกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มาให้กำลังใจ พล.ต.จำลอง ราว 200 คน โดยเจ้าหน้าที่กันให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่บริเวณด้านหน้าศาลอาญา โดยคำร้องสรุปว่า

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.51 เวลา 08.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สามเสน จับกุมตัว พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ต้องหาที่ 1 ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 2521/2551 ลงวันที่ 27 ส.ค.51 กล่าวหาว่า ร่วมกันสะสมอาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบเพื่อเป็นกบฏและเป็นกบฏ กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือสั่งการ และเจ้าพนักงานสั่งการให้เลิกแต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 113, 114, 116, 215 และ 216 ชั้นจับกุม และสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

คำร้องระบุอีกว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 51 พล.ต.จำลอง ได้ร่วมกับ นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายเทิดภูมิ ใจดี ผู้ต้องหาที่ 2-9 ซึ่งเป็นแกนนำที่เรียกชื่อว่า “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ร่วมกันชุมนุมที่บริเวณเชิงสะพานมัฆวานรงสรรค์ สะพานชมัยมรุเชฐ และทำเนียบรัฐบาล ต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบัน โดยโจมตีขับไล่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย โดยระหว่างวันและเวลาดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้ง 9 ได้ร่วมกันวางแผนกำหนดวิธีการบริหารการชุมนุม อย่างเป็นระบอบ โดยจัดตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยเรียกว่า “นักรบศรีวิชัย” เป็นชายฉกรรจ์ลักษณะท่าทางดุดัน แต่งการใส่เสื้อสีดำ โพกศีรษะด้วยผ้าสีดำ มีธงพื้นสีดำ รูปหนุมานอยู่บนผืนธง มีผู้คนมารวมตัวกันตามที่กลุ่มผู้ต้องหาปลุกระดม ชักชวน หลายหมื่นคน และกระทำการปิดถนนสาธารณะ ดำเนินการเคลื่อนกำลังในลักษณะที่เรียกว่าดาวกระจายไปตามสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ และกลุ่มผู้ต้องหายังได้ปราศรัยปลุกระดม ให้ประชาชนละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน เช่นการไม่เสียภาษี การไม่ชำระหนี้ค่าน้ำประปา โทรศัพท์ เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โรงเรียนสถานศึกษา ที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณที่ชุมนุมต้องหยุดการเรียนการสอนหลายครั้ง เนื่องจากเกรงปัญหาเรื่องความปลอดภัย ทั้งนี้ กลุ่มผู้ต้องหายังได้ปลุกระดมให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องไม่ยอมรับอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยปราศรัยปลุกเร้าให้กลุ่มผู้ชุมนุมมีความเกลียดชังรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ ซึ่งข้อมูลที่ไม่ได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยชอบธรรม ก่อให้เกิดความรู้สึกชิงชังแตกแยกในหมู่ประชาชน กระทบต่อโครงสร้างทางสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง

ต่อมาวันที่ 18 มิ.ย.51 ผู้ต้องหากับพวกได้ปราศรัยกับผู้ชุมนุมว่า ในวันที่ 20 มิ.ย.51 จะเคลื่อนกำลังไปบุกยึดทำเนียบรัฐบาลให้จงได้ โดย พล.ต.จำลอง ได้ประกาศวิธีบุกยึดทำเนียบรัฐบาล โดยจัดกำลังเป็นรูปแบบสงคราม 9 ทัพ และนายสนธิ ผู้ต้องหาที่ 2 ได้ประกาศว่า “เราจะทุบหม้อข้าวเราแล้ว ไปตั้งโรงทานที่หน้าทำเนียบรัฐบาล” เพื่อบุกยึดทำเนียบรัฐบาลเหมือนสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงประกาศทุบหม้อข้าวเพื่อยึดเมืองจันทบุรี ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง กระทั่งวันที่ 20 มิ.ย.51 เวลา 13.00 น. ผู้ต้องหากับพวกและกลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้จัดกำลังแบ่งกันเป็นส่วนๆ ตามแผนสงคราม 9 ทัพ และเคลื่อนกำลังออกจากแยกมัฆวานรังสรรค์ มุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล โดยมีการใช้กำลังผลักดันฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายจุด ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ 33 ราย จากนั้นผู้ต้องหากับพวกและกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ายึดพื้นที่ ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่สี่แยกนางเลิ้ง ถึงสวนมิกสกวัน และถนนพระราม 5 แยกวัดเบญจมบพิตร ถึงแยกพาณิชย์บางส่วน ตั้งเวทีเครื่องขยายเสียงโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง

โดยวันดังกล่าวกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้คีมตัดเหล็กขนาดใหญ่ตัดโซ่ที่ร้อยกับแผงเหล็กขึงกั้นไว้ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์จนขาดเสียหาย โดยมีพฤติการณ์ในลักษณะยั่วยุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุม หลังจากที่ผู้ต้องหากับพวกและผู้ชุมนุมบุกยึดและปิดการจราจรถนนพิษณุโลก ถนนพระราม 5 นับตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.51 และตั้งเวทีปราศรัยเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ หันหน้าไปยังเวทีทำเนียบรัฐบาล กางเต็นท์ปรุงอาหารบนถนนพิษณุโลก ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยก่อความเดือดร้อนให้ผู้คนในบริเวณดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 27 มิ.ย.51 นางวรรธนันท์ พรวนต้นไทร กับพวกรวม 10 คน ครูโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ต้องหาที่ 1-6 ต่อศาลแพ่งในข้อหาละเมิด ขับไล่ให้รื้อถอนเวทีการปราศรัยออกไป ตามคดีหมายเลขดำที่ 3604/2551 และขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเรื่องคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งในวันที่ 30 มิ.ย.51 ศาลแพ่งได้ไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งให้ผู้ต้องหาที่ 1-6 และกลุ่มผู้ชุมนุม เปิดพื้นทีการจราจรบนถนนพระราม 5 และถนนพิษณุโลก เพื่อให้โจทก์ทั้ง 10 รถยนต์สาธารณะ และประชาชนผ่านไปมาได้โดยสะดวก และห้ามใช้เครื่องขยายเสียงในลักษณะรบกวน การเรียน การสอนของโรงเรียนราชวินิตมัธยม วันจันทร์-ศุกร์ ระหว่างเวลา 07.30-16.30 น. ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น อย่างไรก็ตามแม้ศาลแพ่งจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ผู้ต้องหากับพวกยังฝ่าฝืนคำสั่งของศาล โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดี ศาลแพ่งนัดไต่สวนผู้ต้องหายื่นคำร้องคัดค้าน ศาลทำการไต่สวนแล้วยืนยันคำสั่งให้ผู้ต้องหาเปิดการจราจร เมื่อผู้ต้องหากับพวกเห็นว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งได้ ในเวลา 18.00 น.

วันเดียวกัน ผู้ต้องหากับพวกได้เคลื่อนการชุมนุมกลับไปที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ปักหลักชุมนุม โดยปิดการจราจรอย่างเด็ดขาดถาวร จากสะพานมัฆวานรังสรรค์ถึงแยกสวนมิกสกวัน ผู้ต้องหากับพวกที่เป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ปราศรัยในลักษณะยุยงให้ประชาชนนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล สร้างความแตกแยกให้คนในชาติ ใส่ร้ายป้ายสีหมิ่นประมาทผู้อื่น นำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จต่อประชาชน และได้ถ่ายทอดการปราศรับทางโทรทัศน์ ASTV และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.51 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาวันที่ 26 ส.ค.51 ผู้ต้องหากับพวกได้ร่วมกันดำเนินการโดยแบ่งหน้าที่กัน พากลุ่มผู้ชุมนุมบุกไปยังสถานที่ต่างๆ โยให้นายอมร อมรรัตนานนท์ ผู้ต้องหาที่ 8 เป็นผู้นำพากลุ่มผู้ชุนนุมไปพังประตูรั้วสถานีโทรทัศน์ NBT ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีอาวุธ และบุกรุกอาคารอันเป็นห้องทำงานของฝ่ายต่างๆ ใช้กำลังบังคับข่มขืนใจ ให้พนักงานหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการออกอากาศ เจ้าหน้าที่เข้ามาระงับเหตุและจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 85 คน พร้อมของกลางหลายรายการ เช่นอาวุธปืน มีด พืชกระท่อม ดำเนินคดีในข้อหา มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธ กระทำการอันเป็นซ่องโจร และอื่นๆ ซึ่งศาลอาญาได้ออกหมายขังผู้ต้องหาดังกล่าวไว้แล้ว วันเดียวกันเวลา 09.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 20,000 คน ได้ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และปีนรั้วบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของขณะรัฐมนตรีที่จะต้องประชุมตามปกติที่ทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นการขัดขวางการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ซึ่งมีผลให้คณะรับมนตรีไม่สามารถเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลเพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีได้ ต้องย้ายไปประชุมกันที่กองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จากนั้นจำเลยกับพวก ได้แบ่งหน้าที่กันพากลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น กระทรวงการคลัง กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของข้าราชการ และยังประกาศอีกว่าจะยึดพื้นที่ดังกล่าวอีก 3 วัน จนกว่ารัฐบาลจะลาออก สุดท้ายแล้วผู้ต้องหากับพวก ที่ร่วมกับผู้ชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาลไว้แล้ว ได้มารวมตัวกันยึดทำเนียบรัฐบาลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

พฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหานี้ เป็นความผิดตามที่กล่าวมาข้างต้น พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.51 เวลา 11.00 น. แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องสอบสวนพยานที่สำคัญในคดีจำนวนมาก รอผลตรวจพิสูจน์แผ่นบันทึกภาพและเสียง และผลการตรวจสอบประวัติพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา รวมทั้งผลการตรวจสอบเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับการกระทำของผู้ต้องหา และแนวร่วมของผู้ต้องหาที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดทั่วประเทศ จึงขอความกรุณาต่อศาลฝากขังผู้ต้องหานี้ไว้มีกำหนด 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 6-17 ต.ค.51

ขณะเดียวกัน นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของ พล.ต.จำลอง ได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง และคำร้องขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง โดยอ้างว่าเป็นการจับกุมที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เช่นเดียวกับกรณีของนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ผู้ต้องหาที่ 7 ในคดีเดียวกัน ซึ่งศาลนัดฟังคำสั่ง เวลา 14.00 น.

ต่อมาที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่อไต่สวนคำร้องฝากขัง และไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัว พล.ต.จำลอง

ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลไต่สวนคำร้องฝากขัง และคำคัดค้าน โดยฝ่ายพนักงานสอบสวนผู้ร้อง มี พ.ต.ท.ภูเบศ เส้นขาว พนักงานสอบสวน (สบ 3) สน.นางเลิ้ง เบิกความสรุปพฤติการณ์ผู้ต้องหาตามคำร้องฝากขัง ขณะที่ฝ่ายผู้ต้องหา มีนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ เบิกความเป็นปากแรก สรุปเหตุการณ์ที่ทำให้กลุ่มพันธมิตร ฯ ต้องออกมาเคลื่อนไหว ตั้งแต่เรื่องที่ กกต. มีมติว่านายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนอมินี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี , การที่รัฐบาลพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เข้าสู่การพิจารณาของ คตส. รวม 18 คดี , กรณีที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ ได้ลงนามแถลงการณ์ร่วมประเทศกัมพูชากรณีขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร โดยยืนยันว่าการชุมนุมของพันธมิตร ฯ เป็นไปตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ.2550 โดยปราศจากอาวุธ เพื่อปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ใช่การล้มล้างรัฐธรรมนูญ จึงคัดค้านการฝากขังเนื่องจาก 1. การตั้งข้อหาโดยเฉพาะความผิดฐานเป็นกบฏนั้นเป็นการตั้งข้อหาเกินความจริงซึ่งไม่เคยมีการกระทำเกิดขึ้นแต่อย่างใด 2.การชุมนุมก็มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องหากเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่ามีการกระทำผิดก็สามารถจับกุมได้ทันทีเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้า ไม่มีเหตุต้องขอออกหมายจับ 3.คดีนี้พนักงานสอบสวนระบุในคำร้องฝากขังว่า ยังสอบสวนพยานไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่มีการชุมนุมวันที่ 25 พ.ค. กระทั่งศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับวันที่ 27 ส.ค. จนถึงวันนี้เป็นเวลานาน 134 วันแต่ยังไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานและยังไม่ชัดเจนว่าจะรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จเมื่อใด แล้วกลับมายื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหาอีก 12 วันทั้งที่ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธในชั้นจับกุมและสอบสวนแล้ว จึงเป็นการขัดต่อ

เจตนารมณ์กฎหมายในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของพนักสอบสวนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรค 6 ที่บัญญัติว่า ในความผิดอาญาที่มีอัตราโทษสูงเกิน 10 ปี พนักงานสอบสวนมีเวลาขอให้ศาลฝากขังได้ 84 วัน ซึ่งเท่ากับพนักงานสอบสวนมีเวลารวบรวมพยานหลักฐาน 84 วัน หากไม่เสร็จต้องปล่อยตัว รวมทั้งรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 40 (7) บัญญัติว่าในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาที่ถูกต้องรวดเร็ว และเป็นธรรมได้รับโอกาสต่อสู้คดีอย่างเพียงพอรวมทั้งการตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร และการได้รับการตัวชั่วคราว ดังนั้นเมื่อผู้ต้องหาให้การปฏิเสธแล้วจึงควรได้รับการปล่อยตัวโดยทันที อีกทั้งในสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานสอบสวนยังไม่สามารถรวบรวมหลักฐานได้เพียงพอที่พิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาได้ แต่กลับมาจับกุมแล้วไปแสวงหาพยานหลักฐานมาสอบสวนในภายหลัง จึงขัดต่อเจตนารมณ์ การสอบสวนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ด้วย ขณะที่เรื่องของหมายจับนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์เพิกถอนหมายจับของศาลอุทธรณ์

จากนั้นเวลา 12.20 น. พล.ต.จำลอง ขึ้นเบิกความยืนยันว่า ไม่ได้กบฏตามที่ถูกตั้งข้อหา การตั้งข้อหากบฏเป็นข้อหาเลื่อนลอย ปราศจากเหตุผล และข้อมูลสนับสนุน กับทั้งเป็นการสวนทางกับการปฏิบัติจริงของผู้ต้องหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะที่การชุมนามของกลุ่มพันธมิตรฯมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง มิใช่เพื่อประเทศชาติ อีกทั้งเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมลาออก เนื่องการการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศหลายกรณี การต่อสู้ของพันธมิตรฯที่ผ่านมาไม่มีเจตนาหรือปรากฏว่าใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญแต่อย่างใด ข้อหากบฏจึงปราศจากความจริง

ต่อมานายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนสภาทนายความ เบิกความสรุปว่า ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.51 จนปัจจุบัน กระทั่งมีการขอออกหมายจับในวันที่ 27 ส.ค.51 เท่าที่พิจารณาเหตุผลการขอหมายจับขัดต่อข้อเท็จจริงหลายประการ ทั้งเรื่องการสะสมอาวุธที่จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฏหลักฐานใดๆชัดเจนว่ากลุ่มพันธมิตรฯ มีการสะสมอาวุธ ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการล้มล้างรัฐธรรมนูญก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริง อีกทั้งการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯยังมีเป้าหมายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องของรัฐบาล ซึ่งสรุปได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯเป็นไปเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มีการตั้งข้อหากบฏ กลุ่มพันธมิตรฯไม่เคยประกาศตัวว่าจะแย่งชิงอำนาจการบริหารปกครองประเทศจากรัฐบาลแต่อย่างใด แต่เป็นการออกมาปฏิเสธการบริหารงานของรัฐบาลซึ่งไม่ได้ดำเนินการตามหลักนิติรัฐ และเป็นการเคลื่อนไหวปกป้องแผ่นดินไทยจากกรณีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร

ทั้งยังไม่ปรากฏว่ามีการแบ่งแยกราชอาณาจักรแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าการตั้งข้อหากบฏกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯมีเจตนามุ่งสลายการชุมนุมเป็นหลัก ซึ่งหากพบว่ากลุ่มพันธมิตรฯเป็นกบฏจริง ย่อมต้องเข้าสลายการชุมนุมทันที นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏมีหน่วยงานด้านความมั่นคงใด ระบุว่ากลุ่มพันธมิตรฯมีการกระทำที่เป็นกบฏ ดังนั้นการอาศัยหมายจับเพื่อเข้าจับกุมผู้ต้องหาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ด้านพนักงานสอบสวนได้แถลงโต้แย้งว่า การที่ทนายความผู้ต้องหาแย้งว่าการขอออกหมายจับและการจับกุมผู้ต้องหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้ต้องหาได้ยื่นอุทธรณ์เพิกถอนหมายจับไปยังศาลอุทธรณ์ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำความเห็นแย้งแล้วนั้น ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งถอนหรือระงับหมายจับแต่อย่างใด ทำให้หมายจับยังมีผลอยู่ เมื่อพนักงานสอบสวนพบตัวผู้ต้องหาซึ่งหน้าจึงต้องเข้าดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนที่แย้งว่าการสอบสวนไม่ได้ดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนสน.สามเสน เจ้าของพื้นที่การจับกุม ก็เนื่องจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งชุดพนักงานสอบสวนในคดีนี้ไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. ซึ่งมีการอนุมัติหมายจับผู้ต้องหา

ภายหลังไต่สวนพยานเสร็จสิ้นแล้วทั้ง 2 ฝ่าย ศาลได้นัดฟังว่าจะอนุญาตฝากขัง พล.ต.จำลอง ผู้ต้องหาหรือไม่ ในเวลา 17.00 น.
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ
ภาพ พล.ต.จำลอง ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวขึ้นรถไปสอบสวน









ทนายนิติธร ล้ำเหลือ และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น