xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยวัฒน์” สู้ไม่ถอย! คัดค้านการฝากขัง ยันจับกุมมิชอบ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ตร.นางเลิ้ง นำตัว “ไชยวัฒน์” ฝากขังที่ศาลอาญาแล้ว ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง ระบุชัดการมิชอบ เพราะการเพิกถอนหมายจับอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

วันที่ (4 ต.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.00 น. พ.ต.ท.ภูเบศ เส้นขาว พนักงานสอบสวน (สบ.3) สน.นางเลิ้ง พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 30 นาย ควบคุมตัว นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อายุ 59 ปี แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาเลขที่ 2527/2551 ลงวันที่ 27 ส.ค.51 ในคดี สมคบกันเพื่อเป็นกบฏ และเป็นกบฏ ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มายื่นคำร้องฝากขังศาลครั้งแรก

ตามคำร้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.51 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ต้องหาที่ 1 ได้ร่วมกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ต้องหาที่ 2, นายพิภพ ธงไชย ผู้ต้องหาที่ 3, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ผู้ต้องหาที่ 4, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ผู้ต้องหาที่ 5 แกนนำกลุ่มพันมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน ผู้ต้องหาที่ 6, นายอมร อมรรัตนานนท์ ผู้ต้องหาที่ 8, นายเทิดภูมิ ใจดี ผู้ต้องหาที่ 9 และผู้ต้องหานี้ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ 7 ได้ร่วมกันชุมนุมที่บริเวณ เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. จนถึงวันที่ 29 ส.ค.51 เวลากลางวัน และกลางคืนต่อเนื่องกัน โดยร่วมกันชุมนุม กล่าวโจมตีขับไล่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

ต่อมาวันที่ 27 มิ.ย.51 นางวรรธนันท์ พรวนต้นไทร กับพวกรวม 10 คน ครูโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ผู้ต้องหาที่ 1-6 ต่อศาลแพ่ง ข้อหาละเมิดขับไล่ให้รื้อถอนเวทีการปราศรัยออกไป ตามคดีหมายเลขดำที่ 3604/2551 และ ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ่มครองชั่วคราว ซึ่งต่อมาศาลแพ่งไต่สวนฉุกเฉินและมีคำสั่งให้ ผู้ต้องหาที่ 1-6 และกลุ่มผู้ชุมนุมเปิดพื้นที่การจราจรบนพื้น ถ.พระราม 5 และ ถ.พิษณุโลก เพื่อให้โจทก์ทั้ง 10 รถยนต์สารธารณะ และ ประชาชนสามารถผ่านไปได้โดยสะดวก รวมทั้งไม่ให้ผู้ต้องหาที่ 1-6 กับพวกใช้เครื่องขยายเสียงในลักษณะเป็นการรบกวนการเรียน การสอนของโรงเรียนราชวินิตมัธยม ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ระหว่างเวลา 07.30-16.30 น.ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือ ศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ ศาลได้วินิจฉัยบทบัญญัติมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ..2550 ไว้ในกระบวนพิจารณาตอนหนึ่งว่า “การที่จำเลยทั้งหกกับพวกชุมนุมปิดถนน และตั้งเวทีปราศรัย ประท้วงขับไล่รัฐบาลดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า แม้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเป็นการกระทำให้ประชาชนเดือดร้อน และขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กล่าวมา กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะนำวิธีการชั่วคราวมาใช้บังคับเพื่อคุ้มครองความสะดวกของโจทก์ทั้งสิบ รถยนต์โดยสารสารธารณะ และประชาชนสามารถผ่านไปมาได้ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 63 วรรค 2”

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลแพ่งได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ผู้ต้องหาทั้งหกปฏิบัติ แต่ผู้ต้องหายังคงฝ่าฝืนคำสั่งของศาล จนโจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ออกหมายบังคับคดีในวันที่ 7 ก.ค. 51 กลุ่มผู้ต้องหาเห็นว่าไม่สามารถหลักเลี่ยงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งได้แล้ว จึงได้เคลื่อนย้ายเวทีเต็นท์ต่างๆไปปักหลักชุมนุมบน ถ.ราชดำเนินนอก โดยปิดการจราจรอย่างเด็จขาดถาวรจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ไปถึงสี่แยกสวนมิสกวัน ผู้ต้องหากับพวก ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้กระทำการปราศรัยในลักษณะยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาล สร้างความแตกแยกของคนในชาติ ใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นประมาทใส่ความผู้อื่น นำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จต่อประชาชน โดยถ่ายทอดแพร่ออกอากาศการปราศรัย ทางสถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี (ASTV) และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต นับตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 51 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาวันที่ 26 ส.ค.51 ผู้ต้องหากับพวกได้ร่วมกันดำเนินการตามแผนการที่วางไว้ โดยแบ่งหน้าที่กันทำโดยให้นายอมร ผู้ต้องหาที่ 8 พากลุ่มผู้ชุมนุมพักประตูรั้วสถานีวิทยุโทรทัศน์เอ็นบีทีโดยมีอาวุธ บังคับข่มขืนใจให้พนักงานหยุดปฏิบัติหน้าที่ในการออกอากาศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาระงับเหตุและจับกุมตัวผู้ก่อเหตุ”นักรบศรีวิชัย”ได้รวม 85 คน พร้อมของกลางหลายรายการแจ้งข้อหาดำเนินคดี และถูกศาลอาญาออกหมายขัง

นอกจากนี้ในวันที่ 26 ส.ค.51 เวลา 09.00 น.เศษกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 20,000 คนเศษได้ปิดล้อม และปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลเพื่อขัดขวางการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่จนต้องย้ายไปประชุมกองบัญชาการกองทัพไทยที่ ถ.แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จากนั้น พล.ต.จำลอง ผู้ต้องหาที่ 1 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ต้องหาที่ 2 และนายเทิดภูมิ ใจดี ผู้ต้องหาที่ 9 ได้ขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาล ส่วนนายสมศักดิ์ ผู้ต้องหาที่ 5 นำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกรุกกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรฯ และนายไชยวัฒน์ ผู้ต้องหาที่ 7 ได้พากลุ่มผู้ชุมนุมปิด ถ.มิตรภาพ จ.นครราชสีมา และในเวลา 11.30 น.วันที่ 26 ส.ค.นายสมเกียรติผู้ต้องหาที่ 4 นายพิภพ ผู้ต้องหาที่ 3 และนายสุริยะใส ผู้ต้องหาที่ 6 ได้พากลุ่มผู้ชุมนุมบุกหลายร้อยคนบุกเข้าไปในกระทรวงการคลัง และกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการและประกาศว่าจะยึดพื้นที่อีก 3 วัน จนกว่ารัฐบาลจะลาออก

พนักงานสอบสวนระบุในคำร้องอีกว่า พฤติการณ์ และการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานร่วมกันสะสมอาวุธ ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ และเป็นกบฎ,กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายใยบ้านเมิงโดยมีอาวุธโดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการและเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 113, 114, 116, 215 และ 216 ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.51 จนถึงปัจจุบัน

บัดนี้พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. และจะครบกำหนดอำนาจการควบคุม 48 ชั่วโมง ในวันที่ 5 ต.ค. แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เพราะต้องสอบพยานสำคัญอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถระบุจำนวนได้, รอผลการตรวจสอบประวัติลายพิมพ์นิ้วมือ และรอผลการตรวจสอบเหตุการณ์เกี่ยวกับการกระทำของกลุ่มผู้ต้องหา และแนวร่วมที่เกิดขึ้นในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ จึงขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหานี้ไว้ระหว่างสอบสวนเป็นเวลา 12 วัน จนถึงวันที่ 15 ต.ค.

ขณะเดียวกัน นายสุวัตร อภัยภักดิ์ และนายณฐพร โตประยูร ทนายความของนายไชยวัฒน์ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 โดยนายสุวัตร เปิดเผยว่า การพิจารณาเรื่องการเพิกถอนหมายจับ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ตนเห็นว่าการจับกุมนายไชยวัฒน์ ครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ที่ผ่านมากลุ่มพันธมิตรฯ ทำหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่ให้รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีเจตนาล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่ใช้สิทธิเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ทั้งนี้ ตนจะขอคัดค้านการฝากขังนายไชยวัฒน์ของพนักงานสอบสวน และขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัว ส่วนเรื่องการขอประกันตัวนั้นแม้ว่าทางพนักงานสอบสวนจะไม่คัดค้านการประกัน แต่นายไชยวัฒน์ ประสงค์จะไม่ยื่นประกันตัว เพราะเห็นว่าข้อหาที่ถูกดำเนินคดีนั้นไม่ชอบ หากประกันตัวออกไปก็เท่ากับว่ายอมรับในข้อกล่าวหา

ต่อมาเวลา 10.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 804 ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์ ทำการไต่สวนการฝากขัง โดยศาลได้อ่านคำร้องฝากขังให้นายไชยวัฒน์ ฟัง ก่อนที่นายไชยวัฒน์ จะให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอคัดค้านการฝากขัง โดยแถลงเหตุผลต่อศาลรวม 2 ประการ คือ 1 หมายจับในข้อหากบฏ ที่ร่วมกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับกับรวม 9 คน นั้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่าหมายจับดังกล่าวมีผลระงับไว้ชั่วคราว และ 2.การฝากขังเป็นเวลา 12 วัน เพื่อทำการสอบสวนเพิ่มเติมนั้น ในวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมาหลังจากถูกจับกุม ตนได้ให้การกับพนักงานสอบสวนจนครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีคำจำเป็นต้องกักขังตนเป็นเวลา 12 วัน

ด้าน พ.ต.ท.ภูเบศ เส้นขาว พนักงานสอบสวน แถลงต่อศาลว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บันทึกภาพการปราศรัยของผู้ต้องหาไว้จำนวนมาก รวมทั้งภาพ วีซีดี จึงต้องใช้เวลาในการถอดเทป มากถึง 200 แผ่น นอกจากนี้ยังต้องสอบปากคำพยานทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีกจำนวนมาก โดยไม่สามารถระบุได้ว่าจำนวนกี่คน เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.51 จนถึงปัจจุบัน พนักงานสอบสวน จึงมีความจำเป็นขอฝากขังผู้ต้องหา

จากนั้นศาลได้ทำการไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง โดยนายสุวัตร นำพยานเข้าเบิกความรวม 4 ปาก คือ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายณฐพร โตประยู และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ขึ้นเบิกความ โดยนายสุวัตร เบิกความสรุปว่า หมายจับผู้ต้องหาทั้ง 9 ในคดีกบฏ อยู่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ว่าจะเพิกถอนหมายจับหรือไม่ และการจับกุมนายไชยวัฒน์ จับกุมในท้องที่ สน.ประเวศ แต่ไม่มี พนักงานสอบสวน สน.ประเวศ ร่วมสอบสวนด้วย รวมทั้งนำตัวนายไชยวัฒน์ ไปสอบปากคำที่ บก.ตชด.ภ.1จ.ปทุมธานี แทนที่จะไปสอบสวนที่ สน.นางเลิ้ง ซึ่งผู้ร้องขอหมายจับในคดีนี้ นายไชยวัฒน์ ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ขอให้ศาลเพิกถอนการจับกุมนายไชยวัฒน์

ส่วนนายไชยวัฒน์ เบิกความว่า ตนเป็นสมาชิกสมัชชาประชาชน เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่มีเจตนารมณ์ช่วงชิงอำนาจของรัฐ แต่มีบทบาทในการคัดค้านกลุ่มบุคคลไม่ให้ใช้อำนาจบริหาร และนิติบัญญัติ เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง จึงเข้าเป็นแนวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ส่วนการตั้งข้อหากบฏ ต่อผู้ที่ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยนั้น ต่อไปจะไม่มีประชาชนมาร่วมปกป้องประชาธิปไตย หมายจับดังกล่าวจึงไม่ชอบ เพราะเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งศาลอุทธรณ์กำลังพิจารณา เรื่องเพิกถอนหมายจับอยู่ หลังถูกจับกุม พนักงานสอบสวนไม่ได้พาไปสอบสวนที่ สน.นางเลิ้ง แต่กลับเปลี่ยนเส้นทางบนทางด่วน ก่อนนำตัวไปสอบสวนที่ บก.ตชด.ภ.1 จึงขอความเมตตาศาลกรุณาระงับหมายจับและเพิกถอนหมาย เพราะการจับกุมซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งสาระสำคัญในการออกหมายจับเกิดจากเมื่อวันที่ 26 ส.ค ที่มีการบุกทำเนียบรัฐบาล ขณะนั้นตนอยู่ที่จ.นครราชสีมา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯเลย

ด้าน พ.ต.ท.ภูเบศ เบิกความว่า พนักงานสอบสวนพบพยานหลักฐานว่า นายไชยวัฒน์ ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.51 ซึ่งทางคดีมีหลักฐานเป็นวีซีดีบันทึกการปราศรัยโจมตีรัฐบาล การเคลื่อนไหวไปยังสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อกดดันรัฐบาล ส่วนเหตุการณ์ในวันที่ 26 ส.ค.51 นั้น นายไชยวัฒน์ ได้พากลุ่มผู้ชุมนุมไปปิดถนนมิตรภาพ จ.นครราชสีมา พร้อมกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ในกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นว่ามีการแบ่งหน้าที่กันทำ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงขอหมายจับกุม หลังจับกุมนายไชยวัฒน์ ได้นั้นเบื้องต้นชุดจับกุมจะนำตัวผู้ต้องหาไปสอบสวนที่ สน.นางเลิ้ง แต่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่า สน.นางเลิ้ง ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมอยู่ เกรงว่าจะถูกปิดล้อม เพราะในอดีต สน.นางเลิ้ง เคยถูกเผามาแล้ว เพื่อความปลอดภัยจึงต้องนำตัวนายไชยวัฒน์ ไปสอบสอนที่ ตชด.ภ.1จ.ปทุมธานี ทั้งนี้ บช.น. ได้ตั้งชุดพนักงานสอบสวนขึ้นมาทำคดีนี้โดยเฉพาะ ฉะนั้นพนักงานสอบสวน สน.ประเวศ จึงไม่มีความจำเป็นต้องร่วมทำการสอบสวน

ภายหลังทำการไต่สวนเสร็จศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังหรือไม่ในเวลา 14.00 น. ส่วนที่ผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังนั้น ศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 6 ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงเช้าได้มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งเดินทางไปให้กำลังใจนายไชยวัฒน์ ที่ศาลอาญาขณะที่มีกำลังตำรวจจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ 191 และหน่วยอรินทราช 1 กองร้อย คอยตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าศาลอาญา
นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์โบกมือทักทายประชาชนที่มาให้กำลังใจ


เจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
บรรดาพี่น้องพันธมิตรฯมาให้กำลังใจนายไชยวัฒน์

นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทีมทนายความพันธมิตรฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น