หัวหน้าพรค ปชป.ห่วงสถานการณ์หลังจับกุม “พล.ต.จำลอง” พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงท่าทีชัดเจนให้เร็วที่สุด ยันจะสอบถาม “สมชาย” จะจับหรือเจรจากับพันธมิตรฯ กันแน่ ขณะเดียวกันเตือนรบ. อย่าปล่อยฟรีโหวตร่างรธน. “หมอเหวง” หวั่น กระทบตั้งส.ส.ร. ระบุยอมตกเป็นเครื่องมือ พวกมากลากไปแต่ไม่ร่วมสังฆกรรม หากมีวาระแอบแฝง เพื่อช่วย “แม้ว”
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (5 ต.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. ที่โรงเรียนสวัสดีวิทยา เขตเลือกตั้งที่ 4-6 แขวงคลองตันเหนือ และเขตเลือกตั้งที่ 10 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา มีประชาชนทยอยมาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างคึกคัก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสน.ทองหล่อมารักษาความปลอดภัยหลายนาย ทั้งนี้ เวลา 09.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนางพิมพ์เพ็ญ เวชชาชีวะ ภริยา และนายอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ บิดา มาลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งที่ 4 ด้วย
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกจับระหว่างการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ว่า ตนเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องมีท่าทีที่ชัดเจนโดยเร็วที่สุด พรุ่งนี้ (6 ต.ค.) จะเป็นวันที่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ นัดหารือ ซึ่งนายสมชายวงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ก็รับปากที่จะมาร่วมหารือด้วย ตนคิดว่าจะมีการพูดคุยในเรื่องนี้ด้วย เพราะตนได้บอกไปแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ท่าที่ที่ชัดเจนจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมีการสอบถามกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าจะมีความพยายามจะก่อให้เกิดเหตุรุนแรงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนจะถามนายกฯ ในวันที่ 6 ต.ค.ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในขณะที่เราก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ เวลาที่รัฐบาลพยายามที่จะหาทางสร้างความปรองดองแต่เมื่อมีเงื่อนไขใหม่ๆ เกิดขึ้นมา เราก็เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจน ต่อข้อถามว่าสภาพที่เกิดขึ้นเหมือนกับนายกฯ คุมเหตุการณ์ไม่ได้ แต่คนที่คุมอำนาจที่แท้จริงอาจไม่ใช่นายกฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้ถ้านายกฯ จะบอกว่าคุมสภาพอะไรไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็คงยากที่จะทำอะไรสำเร็จ ดังนั้น นายกฯ ต้องรับผิดชอบในเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น อย่างที่เรียนแล้วว่าการจับกุม เจ้าหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย แต่ความชัดเจนว่าท่าที่ของรัฐบาลกับเรื่องทั้งหมดเป็นอย่างไรก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
ส่วนที่มีการจับกุมแกนนำพันธมิตรฯ ในระหว่างที่รัฐบาลพยายามที่จะเจรจานั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นจุดที่เราตั้งข้อสังเกตและสอบถามไปเหมือนกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ประเด็นเกี่ยวกับร่างของนพ. เหวง โตจิราการ และคณะ ก็ยังไม่จบ และยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากพรรครัฐบาลเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงอยากให้นายกฯ ทำความชัดเเจนว่าทิศทางในการจัดการเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ประชาชนจะได้ทราบไม่อย่างนั้นจะเกิดความสับสน และที่สำคัญถ้าเรื่องจะใช้วิธีการเจรจาต้องเป็นการเจรจาบนพื้นฐานของการเชื่อถือซึ่งกันและกัน ถ้ามีเหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เชื่อถือก็ไม่มีทางเจรจาสำเร็จ
“ถ้าท่านจะไม่เจรจาก็ต้องพูดให้ชัดว่าไม่เจรจา จะใช้แนวทางการจับกุมไปตามกฎหมายหรืออะไรก็พูดให้ชัดไปเลย ดีกว่าไปสร้างเงื่อนไขใหม่ เช่น ไปทำทีทำท่าว่าเจรจาแต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการหารือกับทุกพรรคการเมืองในวันที่ 6 ต.ค.นี้ คิดว่าท่าทีจากฝ่ายการเมืองจะชัดหรือไม่ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ควรจะมีท่าทีที่ชัดเจน เพราะไม่คิดว่าในข้อสรุปรูปแบบส.ส.ร.ทั้งหมดจะทำได้ทันในวันที่ 6 ต.ค.และไม่คิดว่าสามารถทำได้ทันก่อนที่เรื่องนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ส่วนที่นายกฯ ในฐานะเสียงข้างมากระบุว่าจะให้มีการฟรีโหวตนั้น ตนได้เรียนนายกฯ ไปว่าหากปล่อยฟรีโหวตแล้วร่างของนพ.เหวงผ่านไป อย่างนั้นข้อเสนอเรื่องส.ส.ร.ก็ล้มหมด
ดังนั้น นายกฯ ต้องคิดว่าคำแถลงนโยบายสนับสนุนเรื่องส.ส.ร. ท่านก็มีหน้าที่ในฐานะหัวหน้าพรรคไปดูแลในการทำหน้าที่ของสมาชิกในสภาฯ ว่าจะสนับสนุนส.ส.ร.หรือไม่ ซึ่งการพยายามอ้างว่าเป็นเรื่องของสภาฯ นั้นไม่ใช่ เพราะการหารือของ 4 ฝ่ายได้พูดชัดว่านายกฯ สวมหมวก 2 ใบ ซึ่งในฝ่ายบริหารเราเข้าใจว่า คำว่าของสภาฯ หมายความว่าเวลาเสนอร่างหรืออะไร ไม่ใช่เสนอในนามคณะรัฐมนตรี รัฐบาลไม่เกี่ยว แต่ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งเราเป็นระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี ดังนั้น ระบบรัฐสภาเสียงข้างมากในสภาฯ โยงอยู่กับฝ่ายบริหาร ซึ่งนายกฯ ต้องดูแลว่าถ้ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะผลักดันเรื่องส.ส.ร.ก็ต้องไม่ให้การตัดสินใจของสมาชิกสภาฯ ไปกระทบกับการเรื่อการตั้งส.ส.ร. โดยเฉพาะในส่วนของท่านเอง
“ถ้าร่างกฎหมายของหมอเหวงผ่าน เรื่องส.ส.ร.ก็ล้ม ความขัดแย้งในสังคมก็คงจะเกิด ปัญหาก็คือฉบับของหมอเหวงกับคณะ แม้ว่าจะมีบางประเด็นซึ่งสังคมเห็นด้วย เพราะอาจจะนำเอาบางส่วนของรัฐธรรมนูญปี 40 ที่เราคิดว่าดีกว่าปี 50 เข้ามา แต่ขณะเดียวกันไปตรงกับสิ่งที่ประชาชนจำนวนหนึ่งเขาต่อต้านคือ การแก้แล้วช่วยคดีคน ซึ่งผมคิดว่าถ้าเราตกลงเดินหน้าเรื่องส.ส.ร.ร่วมกัน ก็ต้องดูแลว่าส.ส.ร.เดินหน้าได้ ถ้ารัฐบาลไปผ่านร่างนี้ก็แปลว่าไม่เอาเรื่องส.ส.ร. และเท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้มีความตั้งใจที่จะทำให้เกิดส.ส.ร.ขึ้นมา ถ้าอย่างนั้นก็ต้องถามความรับผิดชอบของรัฐบาลด้วย เพราะเขียนไว้ในนโยบาย” นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่า มองว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นประจวบเหมาะกับการพิจารณาคดีของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คิดว่ามีความพยายามที่จะช่วยเรื่องคดีหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนได้ยินมาตลอดและเชื่อว่ามีบางคนอยากให้เรื่องปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะกลัวเรื่องคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ แต่คนที่เป็นรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด ไม่มีสิทธิ์ไปคิดอย่างนั้นเลย ต่อข้อถามว่าการที่นายกฯ ยืนยันว่าจะรักษาความยุติธรรม คิดว่าควรจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องของคดีต้องว่าตรงไปตรงมา แต่เหตุการณ์อะไรก็ตามจะนำไปสู่การล้มคดี คิดว่านายกฯ ต้องดูแลไม่ให้เกิดขึ้น และเชื่อว่าคดียังต้องเดินต่อไป เพราะถ้าคดีต่างๆ ไม่เดินต่อบ้านเมืองก็เหมือนไม่มีกฎหมาย ในที่สุดก็จะยิ่งวุ่นวายสับสนไปอีก อย่างไรก็ตาม ก็คงจะมีคนที่มีความพยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะบางคนเขาไม่ยอมให้คดีเดินต่อ ดังนั้น เราก็ต้องช่วยกันว่าจะเอาบ้านเมืองหรือจะเอาผลประโยชน์ของคนๆ เดียว
ต่อข้อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ว่าการประชุมร่วมหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค และพรรคประชาธิปัตย์จะถูกดึงเข้าไปอยู่ในเกมด้วย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มี เพราะตนบอกแล้วว่าเรื่องส.ส.ร. ถ้าจะแก้ปัญหาได้ทุกพรรคต้องร่วมลงนาม และทุกพรรคจะร่วมลงนามก็ต่อเมื่อทุกพรรคมั่นใจว่าเป็นส.ส.ร.ที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง ถ้าคิดจะใช้เสียงข้างมากลาก ตนก็ไม่ร่วมด้วย เพราะตนไม่มีหน้าที่ไปเป็นเครื่องมือของใครที่จะมาบิดเบือนกระบวนการ ดังนั้น ถ้าไม่ฟังเสียงข้างน้อย ไม่ฟังเสียงวุฒิสภาเลยก็ทำไม่สำเร็จ ทั้งนี้ ตนให้เกียรติทุกคน เพราะถือว่าเมื่อประธานสภาฯ ยื่นมือเข้ามาขอความร่วมมือ ตนก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่กันแล้วเราก็ให้เกียรติกัน แต่ถ้าท่านไม่รักษาเกียรติของท่าน มีความคิดแอบแฝงเราก็ไม่ร่วมด้วยเท่านั้นเอง ไม่มีปัญหา ซึ่งการไม่ร่วมด้วยคือไม่ลงนามเสนอ เพราะถ้าหากออกแบบส.ส.ร.ชนิดที่เรียกว่ารัฐบาลจับวางคนในส.ส.ร.ได้ ตนก็ไม่เอา ซึ่งตนพูดไปแล้วในที่ประชุม 4 ฝ่าย