ผู้จัดการออนไลน์ - ชมรมศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ฉบับ 2 ระบุ รัฐเถื่อนบงการคนก่อความรุนแรงเพื่อออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จี้ยกเลิก พ.ร.ก.ด่วน-ห้ามใช้ความรุนแรง-ลากคนบงการก่อความรุนแรงมาลงโทษ
สืบเนื่องจากการที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ลงนามในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วันนี้ (2 ก.ย.) ชมรมศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ฉบับที่สอง ระบุว่า รัฐบาลจนตรอกจนต้องใช้กลุ่มคนมาสร้างความรุนแรงในการชุมนุม เพื่อสร้างความชอบธรรมในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เรียกร้องรัฐบาลต้องไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นมาอีก และต้องไม่ยืดเยื้อ เพราะจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคม โดยยกเลิก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินทันที ต้องไม่ใช้กำลังปราบปราบชุมนุมที่ชุมนุมด้วยความสงบ และ รัฐต้องนำผู้ก่อให้เกิดความรุนแรงมาลงโทษอย่างเด็ดขาดตามตัวบทกฎหมาย
สำหรับเนื้อหาของแถลงการณ์มีดังนี้ คือ
แถลงการณ์ฉบับที่ ๒
จากเหตุการณ์ความรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๑ นั้น เราชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า
๑. ความขัดแย้งหลักของสถานการณ์ยังคงเป็นความขัดแย้งระหว่างอดีตผู้นำรัฐบาล และพรรคพวก กับขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพราะ พธม.เห็นว่าอดีตผู้นำคนดังกล่าวและพรรคพวกได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติมากมาย ทั้งการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส การโกงภาษีและการคอร์รัปชัน ซึ่งข้อกล่าวหาเหล่านี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม ในประเด็นความขัดแย้งหลักนี้ ประชาชนจำนวนมากเห็นด้วยกับ พธม. จึงทำให้ พธม.สามารถยืนหยัดการประท้วงได้ถึง ๑๐๐ กว่าวัน นับเป็นการประท้วงต่อเนื่องยาวนานมากที่สุดในประวัติศาสตร์การประท้วงของการเมืองไทย
๒. ภายใต้ความขัดแย้งนี้ อดีตผู้นำรัฐบาลและพรรคพวกกลายเป็นผู้ร้าย และได้รับความเจ็บปวด จึงต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดในทุกวิถีทาง ทางหนึ่งที่อดีตผู้นำและพวกนำมาใช้ คือ การสร้างสงครามตัวแทน โดยให้รัฐบาลปัจจุบันเป็นตัวแทนการต่อสู้ อดีตผู้นำรัฐบาลกับพวกจึงใช้กลยุทธ์ทุกชนิด เพื่อยกระดับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลปัจจุบันกับ พธม.ให้สูงเด่น และลดกระแสกดดันต่ออดีตผู้นำรัฐบาล เปลี่ยนกระแสกดดันไปยังรัฐบาลปัจจุบันแทน
๓. เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๑ เป็นปรากฏการณ์ที่เด่นชัดที่ทำให้เกิดภาพความขัดแย้งสูงเด่นระหว่างพธม.กับรัฐบาลปัจจุบัน และลดกระแสข่าวกดดันต่ออดีตผู้นำรัฐบาล เป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ก่อความรุนแรงนั้น เป็นกลุ่มคนที่เคยร่วมงานกับอดีตผู้นำรัฐบาลมาก่อน
๔. เหตุการณ์ความรุนแรงที่ถูกก่อขึ้นนั้น ทำให้ถูกมองได้ว่า เป็นความรุนแรงที่ต้องการให้นำมาตรการปราบปรามอย่างเด็ดขาดมาใช้ ซึ่งย่อมหมายถึงการควบคุมจัดการการชุมนุมของพธม. เป็นเป้าหมายหลัก
๕. ในที่สุดรัฐบาลก็ประกาศภาวะฉุกเฉินเขตกรุงเทพฯ เพื่อใช้ความเด็ดขาดทางกฎหมายจัดการปัญหา แต่การจัดการเด็ดขาดต้องใช้กำลังทหาร รัฐบาลจึงโอนอำนาจไปให้ ผบ.ทบ. แต่ ผบ.ทบ.เห็นว่าภาวะยังไม่ฉุกเฉินจริง ไม่อยากใช้อำนาจทหารเข้าจัดการ ยังต้องการแก้ปัญหาโดยการเจรจา พธม.จึงยังคงชุมนุมต่อไป
๖. เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นอย่างไร คำตอบจากเราเห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้ได้พัฒนาเป็นการต่อสู้ของสองฝ่ายที่แต่ละฝ่ายต่างดึงประชาชนจำนวนมากเข้าร่วม ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ผู้ที่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ และไม่สามารถบอกได้ว่า ผลแห่งการแพ้ชนะจะเกิดความสูญเสียหรือไม่อย่างไร และเท่าไร แต่สรุปได้ว่า การเกิดความรุนแรงก็จะก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง
ดังนั้นพวกเราจึงมีข้อเสนอว่า
ข้อ ๑ จะต้องไม่ให้เกิดความรุนแรงเช่นนี้ขึ้นมาอีก สถานการณ์เช่นนี้ต้องไม่ยืดเยื้อ เพราะความยืดเยื้อของสถานการณ์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อ ๒ เราเห็นว่าแนวทางระงับความรุนแรงคือ
๒.๑ ยกเลิก พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน
๒.๒ ผู้กุมอำนาจรัฐจะต้องไม่ใช้อำนาจรัฐ ทำการปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมอย่างสงบด้วยความรุนแรง
๒.๓ รัฐบาลจะต้องพิสูจน์ให้ได้อย่างรวดเร็วว่า ใครคือผู้ก่อให้เกิดความรุนแรง และจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายลงโทษผู้ก่อความรุนแรงนั้นอย่างเด็ดขาด
ชมรมศิษย์เศรษฐศาสตร์การเมือง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๑