xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “ทรราช” ยัดข้อหา “กบฏ” ให้พันธมิตรฯ !?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช นายกฯ ประกาศหลังประชุม ครม.ที่กองบัญชาการกองทัพไทย(26 ส.ค.)จะใช้ กม.จัดการพันธมิตรฯ กระทั่งต่อมา ตร.ได้ตั้งข้อหา 9 แกนนำพันธมิตรฯ ว่าเป็นกบฏ
อมรรัตน์  ล้อถิรธร...รายงาน

ไม่ว่า รบ.นายสมัคร จะถูกมองว่าอัปลักษณ์บกพร่องทางคุณธรรม-จริยธรรมเพียงใด? (ทั้งนายกฯ และ รมต.หลายคนมีคดีในศาล) จะเป็นหุ่นเชิดที่จงรักภักดี “นายใหญ่” แค่ไหน? จะคิดคดทรยศขายชาติเพียงใด? (กรณีรีบยกอธิปไตยปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา) ก็ยังอยู่ในวิสัยที่คาดการณ์ได้ แต่สิ่งที่คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า รบ.นี้จะทำได้ลงคอ ก็คือ การ “ฆ่า” ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ...ฆ่าประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล ด้วยการใช้อำนาจรัฐในมือเล่นงาน-สาดโคลนให้ใครเป็น “กบฏ” ก็ได้ ดังเช่นที่ “9 แกนนำพันธมิตรฯ” กำลังถูกกระทำอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าการยัดข้อหากบฏให้พันธมิตรฯ ของรัฐ ตร.ยุคนี้ จะคิดออกมาสมองซีกเผด็จการของตัวเอง หรือทำตามใบสั่งของ รบ.ต้องถือว่าเป็นผลงาน “อัปยศ” ของทรราชเผด็จการโดยแท้

 
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ 

หลังกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมประชาชน ผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จากทั่วประเทศ ได้ร่วมกันชุมนุมขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดขายชาติของ นายสมัคร สุนทรเวช มาเป็นเวลากว่า 90 วัน โดยมีทั้งปักหลักอยู่กับที่เพื่อเปิดโปงพฤติกรรมที่มิชอบของนายสมัคร และ ครม.ทั้งดาวกระจายไปกดดันหน่วยงานต่างๆ เพื่อเร่งรัดคดีเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว ทั้งดาวกระจายไปให้กำลังใจบุคคล หรือองค์กรที่ถูกอำนาจรัฐ หรือรัฐบาลกลั่นแกล้ง และล่าสุด ได้ยกระดับการเคลื่อนไหวด้วยการบุกยึดส่วนราชการสำคัญๆ เพื่อให้เห็นภาพเป็นเชิงสัญลักษณ์ว่ารัฐบาลนี้หมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศนี้แล้ว เช่น ยึดทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของรัฐบาล, ยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ที่ไม่ทำหน้าที่สื่อของประชาชน แต่กลับให้รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือ และกระบอกเสียงโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่เลือกหน้า ไม่เว้นแม้กระทั่ง ป.ป.ช.และศาล นอกจากนี้ ยังยึดกระทรวงสำคัญๆ เช่น กระทรวงการคลัง, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกระทรวงที่มีความไม่ชอบพากลในการบริหารงาน เช่น กระทรวงการคลัง ที่มีข่าวว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีฯ พยายามบี้ให้กรมสรรพากรจี้ธนาคารไทยพาณิชย์ให้คืนเงินของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกอายัดไว้!

ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ อาจมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และหากส่วนใดเกินเลย ก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่สิ่งที่หลายฝ่ายในสังคมรับไม่ได้ และเห็นสอดคล้องกันว่าตำรวจยุครัฐบาลนอมินีทำเกินกว่าเหตุ ก็คือ การตั้งข้อหา 9 แกนนำพันธมิตรฯ ว่า เป็น “กบฏ”!!

โดย 4 ข้อหาที่ตำรวจ สน.สุทธิสาร ประเคนให้ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ประกอบด้วย 1.ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ถือว่ากระทำผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 2.สะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 114 3.มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมให้เลิก แล้วไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และ 216

ทันทีที่ตำรวจยัดข้อหากบฏให้ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ นักกฎหมาย และหลายภาคส่วนในสังคมเป็นเสียงเดียวกันว่า ตำรวจตั้งข้อหาเกินจริง

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และอาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกมาชี้ว่า การตั้งข้อหากบฏ ถือว่าเกินความเป็นจริงและรุนแรงเกินไป เพราะกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้กระทำการใดใดที่เข้าข่ายข้อหาดังกล่าวแม้แต่น้อย

ด้าน รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มองว่า นอกจากตำรวจจะตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินเหตุต่อแกนนำพันธมิตรฯ แล้ว ยังมีเจตนาแอบแฝงที่ไม่ต้องการให้มีการประกันตัวด้วย เพื่อจะได้หยุดการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งนี้ รศ.ดร.ประเสริฐ ชี้ว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ถือว่า เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่ถูกมองว่าบริหารงานผิดพลาด จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ไม่ใช่การล้มล้างรัฐบาลตามที่ตำรวจพยายามตั้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

ขณะที่ รศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เห็นเช่นกันว่า การตั้งข้อหาแกนนำพันธมิตรฯ ว่าเป็นกบฏนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินเหตุ พร้อมยืนยันว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เป็นการเคลื่อนไหวภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ด้าน รศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็พูดถึงกรณีที่ตำรวจตั้งข้อหาแกนนำพันธมิตรฯ ว่า เป็นกบฏ ว่า เป็นข้อหาที่รุนแรงมากและไม่มีเหตุผลรองรับ พร้อมยืนยันว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ถือเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบของประชาชนที่สามารถทำได้ และว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้ความรุนแรงใดๆ แม้จะมีเหตุกระทบกระทั่งกันบ้างขณะบุกยึดสถานที่ราชการบางแห่ง แต่ก็ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นใช้กำลังเข้าล้มล้างระบอบการปกครอง ที่รัฐบาลจะใช้เป็นเหตุตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏแต่อย่างใด

ด้านสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้ออกแถลงการณ์ (27 ส.ค.) โดยสนับสนุนภารกิจการชุมนุมกู้ชาติของกลุ่มพันธมิตรฯ พร้อมเรียกร้องให้นายกฯ และคณะรัฐบาลลาออก เพื่อแก้วิกฤตบ้านเมืองในขณะนี้ เพื่อทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฯ ให้เหตุผลที่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า เนื่องจากการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร ก่อให้เกิดความแตกแยก สูญเสียอธิปไตยกรณีปราสาทพระวิหาร เศรษฐกิจตกต่ำ การบริหารงานส่อไปในทางทุจริต คณะรัฐมนตรีหลายคนมีข้อกล่าวหาในคดีอาญา และขาดคุณธรรมจริยธรรม

ส่วนท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อกรณีที่ตำรวจตั้งข้อหาแกนนำพันธมิตรฯ ว่าเป็นกบฏนั้น เริ่มมี ส.ว.หลายคนออกมาแสดงท่าทีแล้ว เช่น นายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ชี้ว่า เป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินไปและสูงกว่าความเป็นจริง เพราะตามหลักการการจะตั้งข้อหากบฏได้นั้น ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องกระทำการในลักษณะล้มล้างอำนาจรัฐ และสถาบันหลักของประเทศ หรือทำให้อธิปไตยของรัฐต้องสูญเสีย แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มของพันธมิตรฯ ไม่เข้าข่ายดังกล่าว ดังนั้น ผู้ตั้งข้อกล่าวหาอาจถูกดำเนินคดีหรือฟ้องกลับในภายหลังได้

นอกจากปฏิกิริยาจากหลายๆ ฝ่ายที่ยกตัวอย่างมา ลองมาฟังมุมมองของอดีตนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ต่อกรณีที่ตำรวจตั้งข้อหาแกนนำพันธมิตรฯ ว่า เป็นกบฏกันบ้างว่าจะเป็นข้อหาที่รุนแรงเกินไปหรือไม่?

พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ชี้ว่า ข้อหากบฏเป็นข้อหาที่หนัก ทั้งที่พันธมิตรฯ ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด พล.อ.กิตติ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ถ้าเป็นรัฐบาลในต่างประเทศ ถูกเคลื่อนไหวขับไล่ขนาดนี้ คงลาออกไปแล้ว แต่รัฐบาลไทยยังด้อยพัฒนา ขนาดถูกศาลชี้ว่าผิด ก็ยังไม่ยอมลาออก

“ดูแล้ว (ข้อหากบฏ) ก็เป็นข้อกล่าวหาที่หนัก ค่อนข้างหนัก เมื่อเราดูพฤติกรรมของพันธมิตรฯ เขาทำงานเพื่ออะไร เราก็รู้กันอยู่ ชัดเจนมีการประกาศว่าทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และป้องกันประชาธิปไตย และป้องกัน รธน.มีความชัดเจนในภาระหน้าที่ของเขา ...ถ้าเป็นที่ (ประเทศ) อื่น (พันธมิตรฯ) ชนะไปแล้ว แต่ในเมืองไทย จิตใจคนมันไม่เหมือนกัน เรายังด้อยพัฒนามาก ที่อื่นเขาทำความผิดนิดหน่อย รัฐมนตรีรัฐมนโททั้งหลายลาออก แต่นี่ขนาดศาลว่าผิด ยังไม่ออก”

พล.อ.กิตติ ในฐานะผู้เขียน “คุณทหาร : Where are you and Who are you” ยังชี้ด้วยว่า ตราบใดที่ทหารยังไม่ยอมออกมายืนข้างประชาชน การต่อสู้ของภาคประชาชนย่อมชนะยาก เพราะรัฐบาลมีทั้งอำนาจรัฐและเงินอยู่ในมือ เมื่อถามว่า เหตุใดทหารในราชการขณะนี้จึงไม่กล้าออกมายืนข้างประชาชน พล.อ.กิตติ บอกว่า “เพราะทหารไม่ได้เรื่อง ทหารไม่รู้หน้าที่ของตัวเอง ไม่สำนึกว่าตัวเองควรทำอะไร ทั้งที่ทหารต้องดูแลชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน”

ด้าน พล.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ก็ชี้ว่า ตำรวจทำเกินไปที่ตั้งข้อหาแกนนำพันธมิตรฯ ว่าเป็นกบฏ ทั้งที่พันธมิตรฯ ในฐานะประชาชนผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง ย่อมมีสิทธิเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อสิ่งที่ดีต่อประเทศ แต่รัฐบาลกลับใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือ และตำรวจก็ยอมเป็นเครื่องมือ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะตามมา

“ผมคิดว่า ไอ้มาตราที่ใช้อันนี้ (มาตรา 113-114 ฐานกบฏและเตรียมก่อกบฏ) กับพันธมิตรฯ นั้น ผมว่าจะเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ค่อยรอบคอบเท่าไหร่ เพราะพันธมิตรฯ เนี่ยเขาเพียงแต่เห็นว่า การที่รัฐบาลได้มาเป็นรัฐบาลโดยที่ไม่ค่อยถูกต้องตามกฎกติกาของการเลือกตั้ง และเมื่อเข้ามาแล้ว เขาก็เห็นพฤติกรรมต่างๆ มันไม่ดีกับประเทศชาติ เขาก็ต้องมาเรียกร้อง เพราะเขาเป็นคนลงคะแนน เขามีสิทธิ์ เขาก็มาเรียกร้องบอกว่า ขืนคุณบริหารประเทศต่อไป ประเทศชาติจะเสียหาย เขาก็อยากจะขอปรับปรุงวิธีการเสียใหม่ ทีนี้มันก็อยู่ที่รัฐบาลว่า จะทำตามที่สังคมเขาต้องการมั้ย เพราะสังคมส่วนใหญ่เมื่อมองแล้วว่า รัฐบาลบริหารประเทศ ประเทศจะเสียหาย แต่เมื่อเขาเอามาตราอันนี้ (มาตรา 113-114 กบฏและเตรียมกบฏ) มาใช้ ผมว่ามันรุนแรงไป และส่วนตัวผม ถ้าผมมีหน้าที่ปฏิบัติและผมอยู่ในที่ประชุม ผมก็ต้องคัดค้าน และตอนนี้สังคมมองมากเลยว่า เอ๊ะ! ถ้าเป็นคดีของกลุ่มพันธมิตรฯ ตำรวจก็ทำงานเร็วเหลือเกิน แต่ถ้าเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาลเอง รัฐบาลก็ยังแทบจะไม่ค่อยทำความคืบหน้ากับสังคมเท่าไหร่ อันนี้เป็นจุดที่สุดท้ายเนี่ย ตำรวจก็ตกเป็นเครื่องมือ และจะเสียหาย ที่ฝ่ายการเมืองปฏิบัติแบบนี้”

พล.ต.ท.สมเกียรติ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐบาลนายสมัครไม่มีสำนึกประชาธิปไตยเหมือนสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เพราะ พล.อ.ชวลิต ถูกม็อบประท้วงแค่ 3 พันคน ซึ่งหาก พล.อ.ชวลิต ไม่ลาออก ก็สามารถอยู่ต่อไปได้ แต่ พล.อ.ชวลิต ก็ไม่อยากให้ประเทศเสียหาย จึงทำตามข้อเรียกร้องของม็อบ โดยขอร่างรัฐธรรมนูญและลาออก ผิดกับนายสมัครในขณะนี้ที่มีประชาชนออกมาขับไล่มากมายแค่ไหนก็ไม่ยอมลาออก อาจเป็นเพราะนายสมัครอายุมากแล้ว และไม่แคร์ว่าประเทศชาติจะเสียหายอย่างไรก็ช่าง จึงประกาศไม่ยอมถอยท่าเดียว

นอกจากท่าทีของอดีตนายทหาร และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกรณีตำรวจตั้งข้อหาแกนนำพันธมิตรฯ ว่าเป็นกบฏแล้ว ยังมีมุมมองเพิ่มเติมของนักวิชาการอีกหลายสำนักที่เห็นว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ ไม่เข้าข่ายกบฏเช่นกัน

รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันว่า การชุมนุมเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ไม่เข้าข่ายกบฏหรือเตรียมกบฏแน่นอน และว่า แม้พันธมิตรฯ จะยึดทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ไม่ถือว่าล้มล้างอำนาจบริหาร หรือทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ เพราะพันธมิตรฯ ไม่ได้ไปจับตัวนายกฯ และรัฐมนตรีไว้ รัฐบาลจึงยังสามารถบริหารประเทศได้ตามปกติ เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่ประชุมทำงานเท่านั้น

“(มาตรา) 113 เนี่ยไม่น่าเข้า เพราะว่าไม่ถึงขั้นที่จะล้มล้างอำนาจบริหาร ล้มล้างอำนาจบริหารหมายความว่าจะต้องให้เขาเนี่ย ใช้อำนาจบริหารไม่ได้ จับตัวรัฐมนตรีไป ไม่ให้ประชุมได้ และแบ่งแยกราชอาณาจักร อันนี้ไม่ใช่อยู่แล้ว ล้มล้างเปลี่ยนแปลง รธน.ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นไม่เข้า 113 เนี่ยไม่เข้า 114 ก็ไม่เข้า เพราะไม่ได้สะสมหรือซ่องสุมอาวุธเพื่อเป็นกบฏ”

ด้าน ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บอกว่า ส่วนตัวแล้วได้คุยกับ ส.ว.และนักวิชาการด้านกฎหมายหลายคน ก็เห็นตรงกันว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เข้าข่ายกบฏหรือเตรียมกบฏตามมาตรา 113-114 แต่อย่างใด

“มาตรานี้ (113) เขาออกมาเพื่อที่จะ การใช้กำลังแบบมีการเรียกว่าอาวุธร้ายแรง และเป็นกระบวนการที่ต้องการจะทำลายล้างรัฐบาลอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน การที่เป็นเพียง คือพื้นฐานของพันธมิตรฯ เขาทำโดยอาศัยพื้นฐานตาม รธน.และเขาประกาศอย่างเปิดเผย โดยลักษณะของการที่ต่อต้านรัฐบาลแบบไม่ใช้กำลัง เป็นการชุมนุมโดยสันติ เป็นการกระทำโดยพื้นฐานของ รธน.ซึ่งตรงนี้มันน่าจะอยู่เหนือกฎหมายอาญามาตรา 113, 114 ตรงนั้น ซึ่งตรงนี้ผมก็ได้คุยกับ ส.ว.คุณสมชาย แสวงการ ก็เห็นว่าไม่น่าจะเข้าข่าย ก็สอบถามไปหลายฝ่าย นักกฎหมายด้วย คนที่เขาจะตรวจสอบรัฐบาลด้วย เขาบอกเขาก็จะสอบถามรัฐบาลดูเหมือนกัน เขาอาจจะตั้งกระทู้ถามรัฐบาลว่าใช้อำนาจเกินเลยหรือเปล่าการตั้งข้อหากบฏกับพันธมิตรฯ ตรงนี้”

“(ถาม-รัฐบาลอาจจะบอกว่าไม่เกี่ยว เป็นหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี?) ไม่ได้สิ ก็คุณเป็นผู้สั่งการ นายกฯ ก็ประกาศชัดเจนในการแถลงต่อหน้าสื่อมวลชน (26 ส.ค.) ว่า จะใช้ความเด็ดขาดตรงนี้ รัฐบาลเป็นฝ่ายยั่วยุให้เกิดความรุนแรงด้วยซ้ำ ผมมองว่าจะต้องมองขั้นตอนก่อนว่ามันเริ่มจากอะไร ซึ่งอย่างที่ผมอธิบายว่า พันธมิตรฯ เขาเริ่มจากอ้าง รธน. และเขาก็ต่อสู้ตามกติกา เรื่องของการใช้กำลัง ถ้าเผื่อว่าตามหลักฐานที่ตำรวจไปให้ศาลออกหมายจับเนี่ย ว่ามีการซ่องสุมอาวุธ มีการซ่องสุมผู้คน เราไม่ได้ซ่องสุมผู้คน แต่ผู้คนมาร่วมชุมนุมกันตามสิทธิในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งตรงนี้ก็ไม่เข้าข่ายของการซ่องสุม มันมีข้อความรายละเอียดซึ่งสามารถเป็นข้อต่อสู้ได้ของฝ่ายพันธมิตรฯ”


ผศ.ทวี ยังยืนยันอีกครั้งว่า รัฐบาลและตำรวจใช้อำนาจเกินเลยที่ตั้งข้อหาแกนนำพันธมิตรฯ รุนแรงเกินจริง และว่า จะว่าไปแล้ว การบุกทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตรฯ ก็ไม่ต่างจากกรณีที่ม็อบเขื่อนปากมูนเคยปีนเข้าไปในทำเนียบ เท่าใดนัก โดยม็อบปากมูนเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบความทุกข์ร้อนของพวกเขา ขณะที่พันธมิตรฯ ก็เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก เพื่อรักษาประเทศไว้ ซึ่งครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินคดีม็อบปากมูน แต่สุดท้ายก็ได้รับการยกฟ้องในที่สุด ดังนั้น การบุกทำเนียบของพันธมิตรฯ ก็ไม่ควรผิดร้ายแรงอย่างที่ตำรวจกล่าวหา

ขณะที่ ผศ.ดร.สุรัตน์ โหราชัยกุล แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยืนยันเช่นกันว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ จะเรียกว่ากบฏไม่ได้ เพราะการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมนั้น เป็นสิทธิที่ทำได้ในระบอบประชาธิปไตย

“กรณีของพันธมิตรฯ นี้เรียกว่า กบฏไม่ได้ เพราะการประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่กระทำการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รบ.ที่บอกว่าเป็นนอมินีของ รัฐบาลที่มาจาก รัฐบาลทักษิณ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบฆ่าตัดตอน หรือแบบกรณีเรื่องของตากใบ กรณีที่เกี่ยวข้องกับคุณสมชาย นีละไพจิตร การหายตัวไปเนี่ย การต่อต้าน รัฐบาลแบบนี้ที่ละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือที่ใช้งบประมาณภาษีของประชาชนในการกระทำที่ไม่ชอบธรรมอย่างเช่น ใช้เอ็นบีทีเป็นเครื่องมือเป็นกระบอกเสียง ซึ่งหลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า เป็นสื่อของรัฐ ไม่ใช่เป็นสื่อของรัฐบาลนะ เป็นสื่อของประเทศ ประชาชนไทย การต่อต้าน รัฐบาลบนพื้นฐานเหล่านี้ จะมาบอกว่าเป็นกบฏ ฟังไม่ได้ ยกเว้นแต่ว่าจะไปมั่วเอา”

“(ถาม-คุณสมัคร บอกว่า ตั้งแต่เข้ามา เขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ตรงนี้จะเป็นเหตุผลให้เขาได้มั้ย?) ความผูกพันของรัฐบาลชุดนี้กับรัฐบาลเก่า เป็นประเด็นสำคัญมาก คุณสมัครเป็นคนพูดเองว่าเป็นนอมินี และพฤติกรรมหลายประการด้วยกันในการแอบเจรจาเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่ผ่านรัฐสภา พวกนี้สามารถกล่าวได้เลยว่า มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลเก่าอยู่พอสมควร รัฐบาลใหม่ชุดนี้ได้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปแล้ว เช่น การออกมาพูดวาจาในวันอาทิตย์ จะให้ฆ่าประชาชนบ้าง ถึงเวลาเอากลับบ้างในกรณีที่พันธมิตรฯ ถูกทำร้ายในต่างจังหวัด กลับกลายเป็นว่าพันธมิตรฯ ผู้ถูกทำร้ายโดนยัดข้อหาอีกต่างหากเนี่ย สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็น ผนวกกับการกระทำของรัฐมนตรีมหาดไทยในตอนนั้น (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) ที่โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับผู้นำที่ไปทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่อุดรฯ (ขวัญชัย ไพรพนา ปธ.ชมรมคนรักอุดรฯ) ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลหมดความชอบธรรมแล้ว การประท้วงรัฐบาลแบบนี้ถือว่าเป็นความชอบธรรมและสามารถกระทำได้ในระบอบประชาธิปไตย”

“(ถาม-รัฐบาลอ้างได้มั้ยว่า ก็คุณพกอาวุธยึดเอ็นบีที และนี่ก็กำลังยึดทำเนียบฯ ด้วย?) การพกอาวุธ การใช้วิธีการยึดอย่างนี้เนี่ย ก็อาจจะมีการประณามได้ แสดงความคิดเห็นได้ว่าไม่เห็นด้วยหรือแบบไหน อย่างไร แต่ถามว่าแล้วจะให้เขากระทำอย่างไรล่ะ การที่บางครั้งเขาพกอาวุธเนี่ย ต้องเข้าใจบริบทของเขาด้วยว่า เขาถูกทำร้ายมาก่อน และถ้าเขาไม่สามารถจะพึ่งรัฐได้ การกระทำที่อุดรฯ นั้นที่เราเห็นชัดเจนเลยว่า ตำรวจยืนมอง และปล่อยให้อีกฝ่ายรุมกระทืบทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นการที่จะต้องพกอาวุธ หรือว่าการหาวิถีทางในการป้องกันตัวเอง มันก็เป็นเรื่องปกติ ส่วนการไปยึดเอ็นบีทีหรือทำเนียบรัฐบาลนั้น ก็ใครไม่พึงพอใจ ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นได้ มาพูดจาได้ คนที่ฝักใฝ่พันธมิตรฯ อาจจะไม่ชอบวิธีการนี้ก็พูดได้ คนที่ฝักใฝ่รัฐบาลจะแสดงความคิดเห็นก็ได้ แต่จะไปตั้งข้อหาว่าเขาเป็นกบฏ อย่างนี้มันไม่ได้”


ผศ.ดร.สุรัตน์ ยังเชื่อด้วยว่า ที่สุดแล้วรัฐบาลและตำรวจจะไม่สามารถใส่ร้ายพันธมิตรฯ เป็นกบฏได้ เพราะการจะเป็นกบฏนั้น ต้องเป็นกบฏต่อชาติและต่อระบอบโดยรวมด้วย ไม่ใช่แค่ต่อต้านรัฐบาลก็กลายเป็นกบฏแล้ว และว่า รัฐบาลไม่ควรคิดว่ารัฐบาลเท่านั้นที่เป็นประชาธิปไตย เพียงเพราะตัวเองมาจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลอาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมก็ได้ ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยสั่งยุบพรรคไทยรักไทย เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง

อ.สุรัตน์ ยังเตือนสติรัฐบาลให้รู้ว่าตัวเองเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยหรือรัฐบาลเผด็จการว่า “รัฐบาลที่รักประชาธิปไตย ต้องบูชาความคิดที่หลากหลาย โดยจะเคารพเอาขึ้นหิ้งไว้ว่า แต่ละคนแต่ละกลุ่มมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เมื่อไม่พึงพอใจย่อมประท้วงได้ แต่หากเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลทรราชแล้วละก็ นอกจากจะไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองผิดแล้ว ยังไม่ยอมฟังเสียงใคร แถมยังใช้อำนาจหรือว่าจ้างคนของตัวให้ไปจัดการกับฝ่ายตรงข้ามด้วย” …หวังว่า รัฐบาลนี้จะไม่โกหกตัวเองและกล้ายอมรับความจริงว่า ตัวเองเป็นรัฐบาลแบบไหนกันแน่!!
พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยัน ตร.ตั้งข้อหากบฏแก่ 9 แกนนำพันธมิตรฯ ไม่ได้รุนแรงเกินไป(28 ส.ค.)
กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย ม.ขอนแก่นประมาณ 20 คน ค้านการตั้งข้อหากบฏแก่แกนนำพันธมิตรฯ ชี้ เป็นข้อกล่าวหาที่เกินเลย ไม่ชอบธรรมและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง(28ส.ค.)
กลุ่มพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบรัฐบาลสำเร็จ(26 ส.ค.).
ถ้าแกนนำพันธมิตรฯ ถูกยัดข้อหากบฏ แล้วคลื่นมหาชนเหล่านี้ที่ต้องการให้ รบ.ลาออกเช่นกัน มิต้องโดนข้อหากบฏไปด้วยหรือ
อย่านึกว่ารัฐบาลมีอำนาจในมือ แล้วผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ จะกลัว
ตร.ทำร้ายผู้ชุมนุมที่ทำเนียบฯ ได้รับบาดเจ็บนับสิบราย ระหว่างพยายามเข้าสลายการชุมนุม แต่อ้างว่าแค่ต้องการเข้าไปสับเปลี่ยนกำลัง(27 ส.ค.เวลาประมาณตี 3 )
กำลังโหลดความคิดเห็น