xs
xsm
sm
md
lg

“หุ่นเชิด” หน้าแหก สภาฯยอมถอนร่างจัดคลื่นความถี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เครือข่าย คปส.-สมาคมนักข่าววิทยุ-โทรทัศน์” ยื่นหนังสือค้านร่าง พร.บ.จัดคลื่นความถี่ ชี้ หมกเม็ด ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ด้าน “รองประธานสภาฯ” รับลูกยอมชะลอรอความเห็นประชามติ

วันนี้ (6 ส.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) นำโดย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ และตัวแทนจากสมาคมนักข่าววิทยุ โทรทัศน์แห่งประเทศไทย มายื่นหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ… ฉบับรัฐบาล ต่อ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาคนที่ 2 และ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 47 ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาจัดสรรคลื่นความถี่ จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลทำการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม นำเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติในวันที่ 6 สิงหาคมนั้น คปส.และเครือข่ายภาคประชาชนได้ติดตามการปฏิรูปสื่อมาตลอด เห็นว่า กระบวนการจัดทำร่างกฎหมายเป็นไปอย่างไม่เปิดเผย ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง และทั่วถึงไม่เพียงพอ อีกทั้งมีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาเกินสมควรและมิได้คงสาระสำคัญของกฎหมายฉบับเดิมไว้ โดยเฉพาะประเด็นการยกเลิกกำหนดสัดส่วนที่รองรับสิทธิในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ของภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 การยกเลิกกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระโดยให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจคัดเลือก ยกเลิกบทบัญญัติที่ป้องกันมิให้มีการพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ และออกใบอนุยาติเพิ่มเติมในระหว่างที่ยังไม่มีองค์กรอิสระ ทั้งยังให้อภิสิทธิ์แก่รัฐวิสาหกิจในการประกอบกิจการ

“คปส.และเครือข่ายฯ จึงเสนอให้สภาผู้แทนฯยุติการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ โดยให้รัฐบาลถอนร่างพระราชบัญญัติองค์กรณ์จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ...ออกจากวาระการพิจารณา และจัดให้มีกระบวนการปรับปรุงร่างกฎหมายโดยเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง” นางสาวสุภิญญา กล่าว

นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคม สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า สิ่งที่เครือข่ายเรียกร้องคือต้องการให้รัฐบาลถอนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ออกจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะหลายประเด็นขัดกับเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ น่าเสียดายที่รัฐบาลกลับทำได้เพียงยอมชะลอไม่นำเข้าสู่สภาฯในสมัยประชุมที่แล้วชั่วคราว ก่อนที่จะบรรจุเป็นวาระพิจารณาในสัปดาห์นี้ เครือข่ายคัดค้านจึงได้ไปจัดเวทีรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในภาคต่างๆเพื่อประมวลข้อมูล ประกอบการเสนอแก้ไขสาระสำคัญ

“เราไม่สามารถยอมรับและปล่อยให้ร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีการแก้ไขใดๆ ได้ เพราะหลายประเด็นมีปัญหาอย่างมากรวมไปถึงการเร่งรัดเสนอกฎหมายโดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เครือข่ายจึงตัดสินใจจัดเวทีรับฟังความเห็นตามภูมิภาค แล้วประมวลประเด็นสำคัญเพื่อเสนอให้สภาฯได้นำไปพิจารณาประกอบการแก้ไขกฎหมาย”นายก่อเขตกล่าว

ด้านนางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้แทนเครือข่ายวิทยุเพื่อการศึกษา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ไปร่วมรับฟังความเห็นจากเวทีต่างๆ พบว่าส่วนใหญ่ ผู้เข้าร่วมเวที ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งอำนาจและที่มาขององค์กรอิสระที่ไม่ปลอดจากอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง เนื่องจากถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีแทนการสรรหาจากวุฒิสภา การรับประกันสิทธิการเข้าถึงและใช้คลื่นความถี่ของภาคประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 การให้วิทยุชุมชนมีโฆษณาได้และยึดโยงอำนาจไปที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การกำหนดบทลงโทษ ที่ไม่ได้พิจารณาความเหมาะสมตามขนาดการประกอบธุรกิจ รวมไปถึงการล้มล้างเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ

“แม้ความเห็นที่ได้รวบรวมมาจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่ก็เป็นประโยชน์มาก ตอนนี้เครือข่ายเรากำลังประมวลข้อมูลทั้งหมด โดยมีที่ปรึกษาด้านวิชาการ และภาคประชาชนรวมทั้งผู้ประกอบกิจการแขนงต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายฉบับนี้ทั้งสิ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นสัปดาห์หน้า ดังนั้น วันนี้ เราจึงได้นำความเห็นที่ไปจัดเวทีรับฟังมายื่นให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวิปฝ่ายค้าน เพื่อจะได้นำประเด็นต่างๆ ไปอภิปรายในสภาฯ และเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายนี้”

ส่วนนายสุรสิทธิ์ วิทยารัฐ รองประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.) เรียกร้องให้ประชาชนและทุกภาคส่วน จับตาการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริงหรือไม่

“ร่างกฎหมายนี้ เป็นฉบับที่ต้องแก้ไขจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2543 เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ ปี 50 ที่กำหนดจำนวนองค์กรอิสระเหลือเพียงองค์กรเดียว จากรัฐธรรมนูญปี 40 กำหนดให้มีสององค์กร เท่านั้น แต่ปรากฏว่า เมื่อแก้จริงๆ หลายประเด็นถูกเปลี่ยนแปลงไปไม่เหลือเค้าเดิม ดังนั้น เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการฯที่จะต้องแก้ไขเพื่อความสง่างามของสภาฯและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชน หากยังดึงดันให้ผ่านการพิจารณาโดยมีมาตราที่เป็นปัญหา เครือข่ายคัดค้านก็จำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรม เพื่อยับยั้งกฎหมายที่มิชอบดังกล่าว”

ก่อนหน้านี้ เครือข่ายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ได้พบปะและเจรจากับดร.มั่น พัทธโนทัย รมว.ไอซีทีเพื่อชี้แจงประเด็นที่เป็นปัญหา ทำให้ รมว.ไอซีที ยอมชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในสมัยประชุมที่แล้ว แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ถอนการพิจารณากฎหมายจากสภาฯ พร้อมเปิดการรับฟังความเห็นใน กทม.หนึ่งครั้ง เครือข่ายคัดค้านฯ จึงได้ไปดำเนินกระบวนการและจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนในต่างจังหวัดกันเอง รวม 4 ครั้ง และสรุปสาระสำคัญเพื่อมายื่นหนังสือคัดค้านพร้อมส่งมอบความเห็นต่างๆ ให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวิปฝ่ายค้าน เพื่อให้ใช้กลไกในสภาฯ ผลักดันให้มีการแก้ไขสาระสำคัญที่เป็นปัญหาต่อไป

ส่วนร่างกฎหมายฉบับประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลข้อมูลในขั้นสุดท้าย คาดว่าจะนำเสนอให้กรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายฯ นี้ ได้ในสัปดาห์หน้า

ด้าน พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 กำหนดว่า รัฐจะต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นมา เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งหากจะจัดสรรคลื่นความถี่จะต้องมีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทางสภาฯก็มีข้อห่วงใยในเรื่องนี้เช่นกัน ทั้งนี้ตนได้ประสานไปยังรัฐบาล และ นายมั่น พัธโนทัย รมว.ไอซีที แล้ว ซึ่ง นายมั่น ก็ได้บอกว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และทางรัฐบาลก็บอกว่าได้บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่วาระที่ 2 เป็นวาระเร่งด่วน โดยจะชะลอพิจารณาเรื่องนี้ไว้ก่อน จนกว่าผลประชามติของประชาชนจะออกมา และจะทำการแปรญัติโดยเร็ว แต่ตนก็มีข้อคิดเห็นว่าจะต้องพิจาณารัฐธรรมนูญมาตรา 305(1) ซึ่งระบุว่าจะทำให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนรูปแบบจะเนอย่างไรต้องไปถาม รมว.ไอซีที

ขณะที่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า พรรคเคยเรียกร้องให้รัฐมนตรีถอนร่าง แต่ก็ไม่มีการถอน อย่างไรก็ดี พรรคได้ทำร่างขึ้นมาประกบ โดยสาระสำคัญแตกต่างจากร่างของรัฐบาลหลายประการ อาทิ ที่มาของคณะกรรมการ จะมาจากการสรรหา มีองค์ประกอบหลากหลาย และให้วุฒิสภาเลือก การให้ภาคประชาชนเข้าถึงและใช้คลื่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 การตรวจสอบจากภาคประชาชนเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ หากมีการพิจารณาผ่านวาระ 1 และตั้ง กมธ.พรรคจะให้นักวิชาการ และภาคประชาชนเข้ามาในส่วนนี้ด้วย

รายชื่อ 18 องค์กรเครือข่ายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

1. สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

2. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

3. สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

4. สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย (วทท.)

5. สมาคมนักบริหารสถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา

6. สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา

7. สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.)

8. ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ

9. สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน

10. เครือข่ายสื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว

11. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

12. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

13. เครือข่ายวิทยุเด็กและครอบครัว

14. เครือข่ายเพื่อสื่อสาธารณะ

15. เครือข่ายอาสาสมัครนักสื่อสารชุมชน

16. สมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง

17. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD)

18. สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

กำลังโหลดความคิดเห็น