วิปฝ่ายค้านเชื่อ “หมัก” มีแผนปูดข่าวแก้ ม.63 หวังกลบเกลื่อนปัญหาภายในพรรค และคอร์รัปชันเมกะโปรเจกต์ ลั่นต้าน กม.ติดหนวดถึงที่สุด ชี้กระทบสิทธิขั้นพื้นฐานและขัด รธน.ปี 50
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แถลงข่าว
วันนี้ (5 ส.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังการประชุมว่า วิปฝ่ายค้านเห็นว่าขณะนี้เกิดความสับสนจากกรณีที่ทางวิปรัฐบาลระบุว่าจะมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 18 ส.ค. ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษารัฐธรรมนูญฯ พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว แต่ปรากฏว่าเมื่อทางวิปฝ่ายค้านเชิญทางคณะกรรมาธิการฯมาชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯกลับชี้แจงว่ายังมีอีกหลายคณะที่ยังไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ในวันที่ 18 ส.ค. ดังนั้น การที่วิปรัฐบาลระบุว่าจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าวจึงถือว่าเป็นความพยายามที่จะหาทางรวบรัดเพื่อให้สอดรับกับความตั้งใจของพรรคพลังประชาชน และเห็นว่าหากคณะกรรมาธิการฯ ยังศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ ทางวิปรัฐบาลไม่ควรออกมาแถลงท่าทีใดๆ โดยอ้างผลการศึกษาเพียงแค่บางส่วนหรือทั้งหมดของคณะกรรมาธิการฯ หรือแม้แต่การสร้างประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา ซึ่งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งทางด้านการเมืองให้ลุกลามบานปลาย
นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า เห็นได้ชัดจากกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาระบุว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมีการเคลื่อนไหวทันที ซึ่งหากวิปรัฐบาลยอมยุติการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และประกาศท่าทีให้ชัดเจนว่าจะรอผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ตนคิดว่าสถานการณ์การเมืองโดยรวมก็น่าจะดีขึ้น และรัฐบาลไม่ควรเติมประเด็นให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น โดยเฉพาะการที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ออกมาเปิดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธนั้น ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย
“แต่นายกฯ พยายามเปิดประเด็นต่อเนื่องถึง 2 ครั้ง ถือว่ามีความเคลือบแฝง คือ นายกฯ แถลงแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 63 สอดรับกับลูกพรรคเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งไม่ท่าทีว่าจะถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปเพราะต้องไปจัดการกับพันธมิตรฯ โดยตรง และต้องการสร้างกฎหมายหรือเครื่องมือขึ้นมาจัดการกับกลุ่มพันธมิตรฯ หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อจะก่อให้เกิดปัญหากับสิทธิขั้นพื้นฐานต่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเรียกร้องราคาหอม กระเทียม ปัญหาหนี้สิน ที่ดิน หรือแม้แต่นักเรียนที่ชุมนุมก็ต้องขออนุญาตก่อน ถ้าไม่ขออนุญาตก็จะมีความผิดตามกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่มีการแยกแยะ ซึ่งการเปิดประเด็นดังกล่าวก็เพื่อมุ่งจัดการกับพันธมิตรฯ และลึกๆ นายกฯ ต้องการสร้างประเด็นขึ้นมาเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายในพรรค” นายสาทิตย์ กล่าว
นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า อย่างเรื่องคนใกล้ชิดของนายกฯ มีการไปรับผลประโยชน์ทั้งในกรณีรถเมล์ ที่มีการไปคุยที่ฮ่องกง เรื่องเช็ค 10 ล้านบาท หรือเรื่องการฟอกเงินโดยผ่านเต็นท์รถ นอกจากนี้ วิปฝ่ายค้านยังจับตามองนายกฯ ในกรณีที่เปิดประเด็นเพื่อกลบเกลื่อนการที่นายกฯ ไปเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งฝ่ายค้านกำลังจับตามองในเรื่องนี้ว่า มีประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ 1.การแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการพีพีพีนั้น มีความน่าสงสัยมากว่านายกฯ ไปเป็นประธาน เพราะมีการตั้งนายธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกฯ ไปเป็นรองประธานฯ และล่าสุดมีการอนุมัติงบเมกกะโปรเจกต์กว่า 1 แสนล้านบาท และ 2.การตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือไม่ ซึ่งฝ่ายค้านกำลังศึกษาอยู่ จึงเห็นว่าการเปิดประเด็นของนายกฯ กรณีมาตรา 63 นั้นเป็นการตั้งใจเปิดประเด็นเพื่อกลบปัญหาภายในพรรค และการทุจริตคอร์รัปชันการเข้าไปจัดการเมกะโปรเจกต์ของตัวเอง และน่าสังเกตว่าสอดคล้องกับกรณีที่คนภายในพรรคพลังประชาชนกำลังหาทุนไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะต้องตรวจสอบอย่างจริงจัง
นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า หากพรรคพลังประชาชนยืนยันที่จะหยิบยกร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบจัดระเบียบชุมนุมในที่สาธารณะมาพิจารณา วิปฝ่ายค้านจึงมีมติ 2 ข้อ คือ 1.เราจะต่อสู้คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ถึงที่สุด ตั้งแต่ยืนร่างฯ และ 2.หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านโดยเสียงข้างมากฝ่ายค้านก็จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป สำหรับกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะนำเข้าที่ประชุมสภาในวันที 6 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลต่อทั้งกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์ ซึ่งร่างของรัฐบาลเสนอฯ เข้าสู่ที่สภาเรียบร้อยแล้ว มีข้อสังเกตว่ามีการสรรหาคณะกรรมการที่น่าจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะกรรมการดังกล่าวมีความอิสระ ซึ่งในชั้นของกระทรวงไอซีทีได้เสนอให้มีการสรรหาแล้วให้วุฒิสภาเป็นผู้เลือก แต่ ครม.เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ ครม.เป็นผู้เลือกตัวกรรมการ และที่ผ่านมาตนได้เรียกร้องทางกระทรวงไอซีทีถอนเรื่องกลับไปปรับปรุงใหม่ เนื่องจากองค์กรสื่อหลายองค์กรและเอ็นจีโอไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่ารัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซง การจัดสรรคลื่นความถี่ กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมทั้งหมด ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ
พ.ศ. .... มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ....” มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “การชุมนุม” หมายความว่า การที่กลุ่มคนมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความคิดเห็นร่วมกันในลักษณะเป็นการเรียกร้อง การขอความเป็นธรรม การประท้วง การสนับสนุน การให้กำลังใจ การคัดค้าน การต่อต้าน หรือในลักษณะอื่นใด อันอาจจะส่งผลให้บุคคล คณะบุคคล องค์กร หน่วยงาน กระทำการหรือละเว้นการกระทำการใดๆ “ที่สาธารณะ” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ประชาชนโดยทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงสถานที่ที่ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ “ผู้จัดให้มีการชุมนุม” หมายความว่า ผู้ยื่นขอคำอนุญาตชุมนุมรวมถึงบุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือผู้ร่วมเป็นตัวการหรือสนับสนุน “ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ “หัวหน้าสถานีตำรวจ” หมายความว่า หัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ที่มีการชุมนุม มาตรา 4 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ มาตรา 5 ห้ามมิให้ดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการมาตรา 8 (1) มีการใช้ช่องทางเดินรถหรือพื้นผิวการจราจร (2) มีการตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน (3) มีการใช้เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องมือใดๆ เพื่อถ่ายทอดการชุมนุม (4) มีการใช้ยานพาหนะ (5) มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุม มาตรา 6 ภายใต้การบังคับตามมาตรา 5 มิให้ใช้บังคับแก่ (1) การชุมนุมที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้ (2) การชุมนุมที่ทางราชการเป็นผู้จัด มาตรา 7 การยื่นขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะตามมาตรา 5 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะทุกจังหวัด ดังต่อไปนี้ (1) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ผู้แทนกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ และผู้บังคับการกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ (2) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในจังหวัดอื่นๆ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นรองประธานกรรมการ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัด อัยการจังหวัด นายอำเภอที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุมเป็นกรรมการ และ ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ มาตรา 9 ให้คณะกรรมการตามมาตรา 8 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมตามมาตรา 5 ที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา 10 การขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะของคณะกรรมการตามมาตรา 8 จะมีผลเฉพาะภายในเขตจังหวัดนั้น หากมีการขยายหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมเข้าไปในเขตจังหวัดอื่น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา 8 (2) มาตรา 11 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 8 ให้ถือเป็นที่สุด มาตรา 12 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาตให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่ปราศรัย รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือสนับสนุน เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม มาตรา 13 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้ขออนุญาตหรือมิได้ขออนุญาตก็ตาม ถ้าการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมแล้วแต่กรณี ประกาศยุติการชุมนุมแล้วรีบแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม และให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมดังกล่าวให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย เพื่อยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด เมื่อหัวหน้าสถานีตำรวจได้รับแจ้งตามวรรค 1 ให้รีบรายงานประธานกรรมการพิจารณาสั่งตามมาตรา 14 มาตรา 14 ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งยุติการชุมนุมในที่สาธารณะในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ไม่มีผู้จัดให้มีการชุมนุมอยู่ดูแลการชุมนุมนั้น (2) การชุมนุมนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย (3) การชุมนุมที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ การประกาศยุติการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยแจ้งด้วยวาจา หรือใช้การสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้ชุมนุมสามารถรับทราบได้ ณ บริเวณสถานที่ชุมนุม เมื่อประธานกรรมการสั่งยุติการชุมนุมแล้วให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตและผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา 18 มาตรา 15 หากการชุมนุมในที่สาธารณะที่ได้มีการประกาศให้ยุติตามมาตรา 13 แล้วผู้ชุมนุมยังคงฝ่าฝืน ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสลายการชุมนุมได้ มาตรา 16 เจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้อำนาจสลายการชุมนุมตามมาตรา 15 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เกินกว่าเหตุหรือไม่เกินความจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาตรา 17 ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อบังคับของมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ แม้การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดฝ่าฝืนจัดชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 19 การชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้บังคับมาตรา 5 กรณีที่ขออนุญาตหรือไม่ขออนุญาตก็ตาม หากผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมดูแลการชุมนุมให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือปล่อยปละจนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำผิดทางแพ่งหรืออาญาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 20 นายกฯเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ |