xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ยัน กม.สลายม็อบโดน สนช.ตีตกไปแล้ว-แฉ นปก.ยังต้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา
“คำนูณ” โต้ ส.ส.พปช. ยันร่าง กม.จัดระเบียบการชุมนุมฯ โดน สนช.ตีตกไปแล้ว หลังผู้เสนอจำนนด้วยเหตุผล ไม่ใช่องค์ประชุมไม่ครบตามที่อ้าง เผยแม้แต่ นปก.ยังยื่นหนังสือคัดค้าน จวก พปช.ชอบด่า สนช.เป็นเผด็จการ แต่กลับจะเอา กม.ที่แม้แต่สภาเผด็จการยังไม่ยอมรับขึ้นมาใช้ใหม่ ย้ำเป็น กม.ขัดหลักนิติรัฐ เลือกปฏิบัติ ห้าม “ม็อบทั่วไป” แต่ไม่ห้าม “ม็อบเชลียร์”

จากกรณีนายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน และคณะได้เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.... ซึ่งได้มีการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วนั้น

วันนี้ (5 ส.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นกฎหมายที่ขัดแย้งกับปรัชญาการปกครองด้วยนิติรัฐ และมีลักษณะที่ปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของประชาชนแล้ว เงื่อนเวลาของการเสนอยังเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองให้แก่รัฐบาลโดยตรง

“อันที่จริงน่าจะตั้งชื่อกฎหมายฉบับนี้เสียเลยว่า ร่าง พ.ร.บ.ห้ามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมทางการเมือง และห้าม ASTV ถ่ายทอดสดการชุมนุม ก็จะตรงกว่า”

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นร่างเดียวกับที่ พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตรอง ผบ.ตร.และ สนช.เป็นผู้เสนอเมื่อวันที่ 18 ก.ค.50 และได้มีการพิจารณาในที่ประชุม สนช.วาระแรก เมื่อวันที่ 15 ส.ค.50 ซึ่งสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายคัดค้าน เช่น นายโคทม อารียา นางเตือนใจ ดีเทศน์ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายสมชาย แสวงการ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รวมทั้งนายคำนูณ สิทธิสมาน และในที่สุด พล.ต.อ.อิสระพันธ์ ได้ขอถอนร่างออกไปโดยยังไม่มีการลงมติ

ดังนั้น การที่นายจุมพฏ บุญใหญ่ ให้สัมภาษณ์ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นร่างเดียวกับที่ สนช.เคยเสนอ แต่ที่ประชุม สนช.ไม่ได้พิจารณาเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบนั้นจึงไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะได้มีการพิจารณาแล้วแต่มีผู้คัดค้านจำนวนมาก และจำนนด้วยเหตุผลจนต้องถอนร่างฯ ออกไป

“ผมไม่เข้าใจว่าก่อนหน้านี้เวลาเอ่ยถึง สนช.พรรคพลังประชาชนมักพูดว่าเป็นสภาเผด็จการ แต่ทำไมในกรณีนี้ คุณกลับหยิบเอาร่างกฎหมายจากสภาที่คุณเรียกว่า สภาเผด็จการ มาใช้ และจริงๆ แล้วร่างกฎหมายนี้แม้แต่สภาที่พวกคุณเรียกว่าสภาเผด็จการก็ยังไม่รับ”

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ยังมีข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่อยากจะให้พรรคพลังประชาชนรับทราบว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ แม้แต่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) เองก็ยังคัดค้าน โดยได้เดินขบวนมายื่นหนังสือต่อ ประธาน สนช.เมื่อวันที่ 15 ส.ค.50 โดยผู้ที่นำมายื่นคือ นายเมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ ประธาน นปก.รุ่น 2 และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ไม่รู้ว่าวันนี้ อดีตแกนนำ นปก.ที่ได้ดิบได้ดีอยู่ในรัฐบาลนี้จะยังจำได้ และมีจุดยืนเดิมอยู่หรือเปล่า

นายคำนูณ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยเหตุด้วยผลของปรัชญาประชาธิปไตยอยู่มากมาย ซึ่งตนได้เคยอภิปรายไว้อย่างกว้างขวางแล้ว เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 50 (“คำนูณ” ค้าน กม.ชุมนุมฯ เปิดช่องใช้กำลังปราบม็อบ)

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ ร่างกฎหมายนี้มีการเลือกปฏิบัติ แบ่งการชุมนุมของประชาชนออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มที่หนึ่งเป็นประชาชนทั่วไป อยู่ในการบังคับของกฎหมาย จะชุมนุมในที่สาธารณะต้องขออนุญาต และได้รับอนุญาตเสียก่อน แต่กลับไปยกเว้นมิให้ใช้ปฏิบัติแก่ “การชุมนุมที่ทางราชการเป็นผู้จัด”

“ลักษณะการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ ขัดกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ พูดภาษาชาวบ้านง่ายๆ คือ ห้ามม็อบทั่วไป แต่ไม่ห้ามม็อบเชลียร์ที่ทางราชการเป็นผู้จัด” นายคำนูณกล่าว


ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ
พ.ศ. ....


มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ....”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“การชุมนุม” หมายความว่า การที่กลุ่มคนมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความคิดเห็นร่วมกันในลักษณะเป็นการเรียกร้อง การขอความเป็นธรรม การประท้วง การสนับสนุน การให้กำลังใจ การคัดค้าน การต่อต้าน หรือในลักษณะอื่นใด อันอาจจะส่งผลให้บุคคล คณะบุคคล องค์กร หน่วยงาน กระทำการหรือละเว้นการกระทำการใดๆ
“ที่สาธารณะ” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ประชาชนโดยทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงสถานที่ที่ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
“ผู้จัดให้มีการชุมนุม” หมายความว่า ผู้ยื่นขอคำอนุญาตชุมนุมรวมถึงบุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือผู้ร่วมเป็นตัวการหรือสนับสนุน
“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ
“หัวหน้าสถานีตำรวจ” หมายความว่า หัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ที่มีการชุมนุม
มาตรา 4 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
มาตรา 5 ห้ามมิให้ดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการมาตรา 8
(1) มีการใช้ช่องทางเดินรถหรือพื้นผิวการจราจร
(2) มีการตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน
(3) มีการใช้เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องมือใดๆ เพื่อถ่ายทอดการชุมนุม
(4) มีการใช้ยานพาหนะ
(5) มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุม

มาตรา 6 ภายใต้การบังคับตามมาตรา 5 มิให้ใช้บังคับแก่
(1) การชุมนุมที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้
(2) การชุมนุมที่ทางราชการเป็นผู้จัด
มาตรา 7 การยื่นขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะตามมาตรา 5 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะทุกจังหวัด ดังต่อไปนี้
(1) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ผู้แทนกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ และผู้บังคับการกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ
(2) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในจังหวัดอื่นๆ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นรองประธานกรรมการ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัด อัยการจังหวัด นายอำเภอที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุมเป็นกรรมการ และ ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา 9 ให้คณะกรรมการตามมาตรา 8 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมตามมาตรา 5 ที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 10 การขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะของคณะกรรมการตามมาตรา 8 จะมีผลเฉพาะภายในเขตจังหวัดนั้น หากมีการขยายหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมเข้าไปในเขตจังหวัดอื่น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา 8 (2)

มาตรา 11 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 8 ให้ถือเป็นที่สุด
มาตรา 12 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาตให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่ปราศรัย รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือสนับสนุน เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม
มาตรา 13 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้ขออนุญาตหรือมิได้ขออนุญาตก็ตาม ถ้าการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมแล้วแต่กรณี ประกาศยุติการชุมนุมแล้วรีบแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม และให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมดังกล่าวให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย เพื่อยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด
เมื่อหัวหน้าสถานีตำรวจได้รับแจ้งตามวรรค 1 ให้รีบรายงานประธานกรรมการพิจารณาสั่งตามมาตรา 14
มาตรา 14 ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งยุติการชุมนุมในที่สาธารณะในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีผู้จัดให้มีการชุมนุมอยู่ดูแลการชุมนุมนั้น
(2) การชุมนุมนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
(3) การชุมนุมที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้
การประกาศยุติการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยแจ้งด้วยวาจา หรือใช้การสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้ชุมนุมสามารถรับทราบได้ ณ บริเวณสถานที่ชุมนุม
เมื่อประธานกรรมการสั่งยุติการชุมนุมแล้วให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตและผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา 18
มาตรา 15 หากการชุมนุมในที่สาธารณะที่ได้มีการประกาศให้ยุติตามมาตรา 13 แล้วผู้ชุมนุมยังคงฝ่าฝืน ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสลายการชุมนุมได้

มาตรา 16 เจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้อำนาจสลายการชุมนุมตามมาตรา 15 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เกินกว่าเหตุหรือไม่เกินความจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
มาตรา 17 ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อบังคับของมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ แม้การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดฝ่าฝืนจัดชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 19 การชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้บังคับมาตรา 5 กรณีที่ขออนุญาตหรือไม่ขออนุญาตก็ตาม หากผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมดูแลการชุมนุมให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือปล่อยปละจนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำผิดทางแพ่งหรืออาญาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 20 นายกฯเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

กำลังโหลดความคิดเห็น