xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.แฉ “พลังแม้ว” เจ้าเล่ห์ ดอดเสนอ กม.สลายม็อบ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การชุมนุมของปชช.ที่ใช้สิทธิถูกต้องตามกม.รธน.
“ประธานวิปค้าน” แฉ “พลังแม้ว” ลักไก่เสนอ กม.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง-อาญา อ้างข้างๆ คูๆ รธน.ม.63 ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เกินกว่า รธน.กำหนด ถือเป็นอันตราย เชื่อนำไปสู่ความรุนแรงแน่นอน เตือนถอนร่างออกก่อนปัญหาบานปลาย ลั่นหากดันทุรังไม่ยอมถอน เตรียมยื่นศาล รธน.วินิจฉัย

วันนี้ (4 ก.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ว่า ไม่รู้สึกแปลกใจกับท่าทีของนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า กลุ่มพันธมิตรฯ กลัวการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 63 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพการชุมนุม เพราะขณะนี้ ส.ส.พรรคพลังประชาชน 26 คน นำโดย นายจุมพฏ บุญใหญ่ ได้ยื่นญัตติร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน ที่ผ่านมา

โดยให้เหตุผลว่า แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 63 จะให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่การจะจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำได้โดยอาศัยกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นอันตราย เนื่องจากกำหนดว่า หากจะมีการชุมนุมต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการ โดยมีผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธาน ส่วนในต่างจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ เกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยุติการชุมนุมได้ หากมีการฝ่าฝืน โดยสามารถสลายการชุมนุมได้ โดยไม่ต้องรับผิดทางทั้งแพ่งและอาญา จึงเชื่อว่า กฎหมายฉบับนี้จะนำไปสู่ความรุนแรง นอกเหนือจากประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งทัศนคติของ ส.ส.พรรคพลังประชาชน ส่วนใหญ่ นิยมใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่พวกรัฐบาล จึงเรียกร้องให้ถอนร่างดังกล่าวออกไป ก่อนที่ปัญหาจะบานปลาย ซึ่งหากรัฐบาลไม่ทบทวน พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญความ แต่ต้องรอขั้นตอนให้กฎหมายแล้วเสร็จก่อนมีผลบังคับใช้ จึงจะสามารถยื่นเรื่องได้

ร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ฉบับพลังประชาชน


สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ผู้ร่างระบุถึงหลักการไว้ดังนี้คือ เพื่อให้การชุมนุมในที่สาธารณะเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ขณะเดียวกัน ก็เพื่อป้องกันการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวไม่ให้ก่อความเดือดร้อนเสียหาย กับสาธารณะชนทั่วไป จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อจัดระเบียบการชุมนุมดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้ โดย ร่าง พ.ร.บ. นี้มีจำนวน 20 มาตรา และมีสาระสำคัญดังนี้

มาตรา 2 ให้พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 3 นิยามคำว่า “ผู้จัดให้มีการชุมนุม” หมายถึง ผู้ยื่นคำขออนุญาตชุมนุม รวมถึงบุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือผู้ร่วมเป็นตัวการหรือสนับสนุน
มาตรา 4 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
มาตรา 5 ห้ามมิให้ดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะที่มีลักษณะเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ได้แก่ มีการใช้ช่องทางการเดินรถหรือพื้นผิวการจราจร มีการตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน มีการใช้เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องมือใดๆ เพื่อถ่ายทอดการชุมนุม มีการใช้ยานพาหนะ มีการเคลื่อนย้ายสถนที่ชุมนุม

มาตรา 6 ภายใต้การบังคับตามมาตรา 5 มิให้ใช้บังคับแก่ การชุมนุมที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้ การชุมนุมที่ทางราชการเป็นผู้จัด
มาตรา 7 การยื่นขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 8 คณะกรรมการผู้พิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะทุกจังหวัด โดย(1)ในส่วนกทม. ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาลที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานีที่ชุมนุม ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ผู้แทนกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ ผู้บังคับการกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นกรรมการและเลขา ส่วน(2)ในต่างจังหวัด มี ผู้ว่าฯเป็นประธาน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นรองประธาน นายกอบจ. อัยการจังหวัด นายอำเภอที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบการชุมนุม เป็นกรรมการ ส่วนปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขา
มาตรา 9 คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาคำขอตามมาตรา 5 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 10 การขออนุญาต จะมีผลเฉพาะในเขตจังหวัดนั้น หากมีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมไปในเขตจังหวัดอื่น จะกระทำได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรมการตามมาตรา 8 (2)

มาตรา 11 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 8 ให้ถือเป็นที่สุด
มาตรา 12 -14 การชุมนุมที่เข้าเกณฑ์มาตรา 5 แต่ไม่มีการขออนุญาต หรือ ได้รับอนุญาตแล้วแต่การชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต ให้ถือว่า บุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือสนับสนุน เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องประกาศยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุดแล้วรีบแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบการชุมนุม โดยเมื่อได้รับแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจฯต้องรีบรายงานประธานกรรมการเพื่อให้สั่งยุติการชุมนุม
มาตรา 15 หากประธานกรรมการสั่งยุติการชุมนุมแล้ว ยังมีการฝ่าฝืน ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมได้

มาตรา 16 เจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้อำนาจสลายการชุมนุมตามมาตรา 15 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เกินกว่าเหตุหรือไม่เกินความจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
บทกำหนดโทษ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้ข้อบังคับมาตรา 5 แต่มิได้ขออนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสอง ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง แล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสาม ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่งแล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ผู้ใดฝ่าฝืนจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ แม้การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสอง ผู้ใดจัดชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง แล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสาม ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง แล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 19 การชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้บังคับมาตรา 5 กรณีที่ขออนุญาตหรือไม่ขออนุญาตก็ตาม หากผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมดูแล ปล่อยปละจนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมทำผิดทางแพ่งหรืออาญา ผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 20 นายกฯเป็นผู้รักษาการตามพ.ร.บ.นี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพ.ร.บ.นี้

กำลังโหลดความคิดเห็น