xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ จวก “หุ่นเชิด” ออก กม.สลายพันธมิตรฯ ขัดเสรีภาพชุมนุมตาม รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ
“สุริยะใส” จวก รัฐบาลหุ่นเชิด ดันร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบชุมนุมหวังสลายพันธมิตรฯ ชี้ ขัดขวางเสรีภาพ ปชช.ตามรัฐธรรมนูญ มีประเทศเดียวในโลกที่ทำ เป็นเงื่อนไขคัดค้านแก้ รธน.มากขึ้น เตรียมยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.ให้งดจ่ายเงินเดือน 3 รมต.หวยบนดินที่ยังดื้อดึงปฏิบัติหน้าที่ พร้อมเอาผิด “หมัก” แทรกแซงสื่อ บีบคอ NBT จัดเวลาให้ “3 ไข่แม้ว” ด่าฝ่ายตรงข้าม

วันนี้ (5 ส.ค.) เมื่อเวลา 18.45 น.นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดแถลงข่าวระบุว่า ขณะนี้มีความชัดเจนว่าพรรคพลังประชาชนพยายามจะผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยมีการยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมี ส.ส.ลงชื่อ 20 กว่าคน ซึ่งเป็นของพรรคพลังประชาชนทั้งหมด

นายสุริยะใส กล่าวว่า สาระสำคัญของของมาตรา 14 ของกฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะสกัดกั้นการชุมนุมของประชาชนโดยเฉพาะพันธมิตรฯ ไม่มีลักษณะเกื้อหนุนให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ หากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้การชุมนุมจะทำได้ไม่ง่ายนัก ยกตัวอย่าง เช่น มาตรา 5 ห้ามการชุมนุมที่มีรูปแบบการปิดถนน ใช้เครื่องขยายเสียง ใช้ยานพาหนะ การถ่ายทอดสดและห้ามย้ายการชุมนุม ทั้งนี้ หากต้องการชุมนุมต้องขออนุญาตคณะกรรมการในระดับต่างๆ โดยมาตรา 7 ระบุด้วยว่าในการขออนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงต่างๆ กำหนด

ทั้งนี้ ตนเองเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ขัดขวางการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ของทั้งพันธมิตรฯและประชาชนทั้งประเทศ และเชื่อว่า เป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการกำหนดกฎหมายลักษณะนี้ ที่กำหนดจากอำนาจของรัฐบาล ซึ่งการเสนอกฎหมายเป็นการสกัดกั้นทางหนึ่ง และเป็นเงื่อนไขให้มีการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากขึ้น

ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า ในขณะนี้กำลังให้ทนายความรวบรวมเอกสารข้อเท็จจริง เพื่อเตรียมการยื่นต่อ ป.ป.ช.เพื่อเรียกร้องให้ระงับการจ่ายเงินเดือนให้แก่ 3 รัฐมนตรีได้แก่ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หลังจากที่ศาลฎีกาได้รับฟ้องคดีหวยบนดิน แต่ทั้ง 3 ยังไม่ยุติการทำหน้าที่ ซึ่งทางพันธมิตรเห็นว่า เป็นการจงใจใช้อำนาจโดยมิชอบละเว้นการทำหน้าที่ตามมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกรณีที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้มีรายการที่เป็นกระบอกเสียงโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หลังจากที่หลายวันก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีจะใช้ช่องดังกล่าวมาจัดรายการตอบโต้พันธมิตร ซึ่งในวันรุ่งขึ้นอธิบดีก็ตอบรับทันที โดยจัดให้มี 3 แกนนำ นปก.เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเข้าข่ายละเมิดมาตรา 64 ตามรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยการห้ามใช้อำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซงสื่อ อย่างไรก็ตามตัวแทนพันธมิตรในฐานะประชาชนและผู้บริโภค จะเข้ายื่นเรื่องดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.เพราะเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนกรณีการจัดงานเฉลิมฉลองในวันที่ 12 สิงหาคม และงาน 116 วัน จากวันแม่ถึงวันพ่อ ของรัฐบาล นายสุริยะใส กล่าวว่า ทางพันธมิตรฯจะจัดงานในวันที่ 12 สิงหาคมเช่นกัน โดยรูปแบบยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วนตนเองจะประสานกับทางกรุงเทพมหานครเพื่ออำนวยความสะดวก ส่วนจะยกเลิกการชุมนุมหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ

ร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ฉบับพลังประชาชน


สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ผู้ร่างระบุถึงหลักการไว้ดังนี้คือ เพื่อให้การชุมนุมในที่สาธารณะเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ขณะเดียวกัน ก็เพื่อป้องกันการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวไม่ให้ก่อความเดือดร้อนเสียหาย กับสาธารณะชนทั่วไป จึงต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อจัดระเบียบการชุมนุมดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้ โดย ร่าง พ.ร.บ. นี้มีจำนวน 20 มาตรา และมีสาระสำคัญดังนี้

มาตรา 2 ให้พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 3 นิยามคำว่า “ผู้จัดให้มีการชุมนุม” หมายถึง ผู้ยื่นคำขออนุญาตชุมนุม รวมถึงบุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือผู้ร่วมเป็นตัวการหรือสนับสนุน
มาตรา 4 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
มาตรา 5 ห้ามมิให้ดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะที่มีลักษณะเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ได้แก่ มีการใช้ช่องทางการเดินรถหรือพื้นผิวการจราจร มีการตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน มีการใช้เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องมือใดๆ เพื่อถ่ายทอดการชุมนุม มีการใช้ยานพาหนะ มีการเคลื่อนย้ายสถนที่ชุมนุม

มาตรา 6 ภายใต้การบังคับตามมาตรา 5 มิให้ใช้บังคับแก่ การชุมนุมที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้ การชุมนุมที่ทางราชการเป็นผู้จัด
มาตรา 7 การยื่นขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 8 คณะกรรมการผู้พิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะทุกจังหวัด โดย(1)ในส่วนกทม. ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาลที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานีที่ชุมนุม ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ผู้แทนกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ ผู้บังคับการกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นกรรมการและเลขา ส่วน(2)ในต่างจังหวัด มี ผู้ว่าฯเป็นประธาน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เป็นรองประธาน นายกอบจ. อัยการจังหวัด นายอำเภอที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบการชุมนุม เป็นกรรมการ ส่วนปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขา
มาตรา 9 คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาคำขอตามมาตรา 5 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 10 การขออนุญาต จะมีผลเฉพาะในเขตจังหวัดนั้น หากมีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมไปในเขตจังหวัดอื่น จะกระทำได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรมการตามมาตรา 8 (2)

มาตรา 11 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 8 ให้ถือเป็นที่สุด
มาตรา 12 -14 การชุมนุมที่เข้าเกณฑ์มาตรา 5 แต่ไม่มีการขออนุญาต หรือ ได้รับอนุญาตแล้วแต่การชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต ให้ถือว่า บุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือสนับสนุน เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องประกาศยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุดแล้วรีบแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบการชุมนุม โดยเมื่อได้รับแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจฯต้องรีบรายงานประธานกรรมการเพื่อให้สั่งยุติการชุมนุม
มาตรา 15 หากประธานกรรมการสั่งยุติการชุมนุมแล้ว ยังมีการฝ่าฝืน ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมได้

มาตรา 16 เจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้อำนาจสลายการชุมนุมตามมาตรา 15 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เกินกว่าเหตุหรือไม่เกินความจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
บทกำหนดโทษ มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้ข้อบังคับมาตรา 5 แต่มิได้ขออนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสอง ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง แล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสาม ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่งแล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ผู้ใดฝ่าฝืนจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ แม้การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสอง ผู้ใดจัดชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง แล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสาม ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง แล้วเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 19 การชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้บังคับมาตรา 5 กรณีที่ขออนุญาตหรือไม่ขออนุญาตก็ตาม หากผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมดูแล ปล่อยปละจนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมทำผิดทางแพ่งหรืออาญา ผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 20 นายกฯเป็นผู้รักษาการตามพ.ร.บ.นี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพ.ร.บ.นี้

กำลังโหลดความคิดเห็น