xs
xsm
sm
md
lg

“กฤษฎีกา” เตือน “หมัก” รับผิดตั้งที่ปรึกษาฯ เอี่ยวผลประโยชน์ทับซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คุณพรทิพย์ จาละ
“พรทิพย์” เตือนที่ปรึกษาเข้าร่วมประชุม ครม.ห้ามล้วงข้อมูลไปใช้ แต่ไม่ต้องลาออกจากเอกชน แนะ “หมัก” ฟังเสียงให้รอบด้าน และต้องรับผิดชอบหากมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้าน“ชูศักดิ์”เชื่อที่ปรึกษาฯ มีมารยาทพอที่จะไม่เอาข้อมูลความลับออกนอกห้อง

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นางพรทิพย์ จาละ ให้สัมภาษณ์ 

วันนี้ (5 ส.ค.) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการกฤษฎีกา กล่าวถึงการทำความเห็นตามกฎหมายในการเข้าทำหน้าที่และการเข้าร่วมประชุม ครม.ของคณะที่ปรึกษาของ ครม.ว่า ตนไม่มีความเห็นส่วนตัว แต่การเข้าประชุม ครม.เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีว่าจะอนุญาตให้ใครเข้าประชุมได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่หลายหน่วยที่เข้าประชุม

“ถ้า ครม.อนุญาตก็ไม่ได้มีปัญหาทางข้อกฎหมายอะไร แต่ผู้ที่อนุญาตต้องรับผิดชอบและผู้เข้าประชุมก็ต้องรับผิดชอบเหมือนกันว่าข้อมูลอันไหนจะเอาไปใช้ได้หรือไม่ได้อย่างไร อีกทั้งในระเบียบสำนักนายกฯ เรื่องการเข้าประชุมได้กำหนดไว้ว่า คณะรัฐมนตรีมีอำนาจที่อนุญาตให้ใครเข้าประชุมได้บ้าง ก็ไม่น่าจะมีปัญหา” คุณพรทิพย์ กล่าว

เมื่อถามว่า การเข้าประชุมจะขัดต่อกฎหมาย 7 ชั่วโคตร หรือกฎหมายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกา กล่าวว่า เท่าที่จำได้อันนั้นรู้สึกว่ากฎหมายดังกล่าวจะใช้กับรัฐมนตรี และส.ส.เท่านั้น ไม่ได้ขยายความไปถึงที่ปรึกษา เมื่อถามว่าก็แสดงว่าที่ปรึกษาที่ยังมีหุ้นอยู่ในบริษัทเอกชนก็ไม่จำเป็นต้องลาออกจากบริษัทนั้นๆ ใช่หรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ตรงนั้นดูจะไม่เกี่ยว เพราะเรื่องของกฎหมายจำกัดสิทธิในการเข้าประชุม ครม.ค่อนข้างจะจำกัดตัวบุคคลอยู่เหมือนกันว่า คนไหนเข้าข่ายบ้าง ดังนั้น ไม่น่าจะมีเรื่องของที่ปรึกษาหรือข้าราชการการเมืองอื่น

เมื่อถามว่า ถ้ามองจากการเป็นหน่วยงานด้านกฎหมาย ถือว่าเป็นการจงใจเลี่ยงกฎหมายที่ไม่แต่งตั้ง ดร.โกร่งและคณะที่ปรึกษาเป็นข้าราชการการเมือง คุณพรทิพย์ กล่าวว่า คิดว่าดูตามความเหมาะสม เพราะว่าแต่ละคนมีความจำเป็นไม่เหมือนกัน เมื่อถามว่าแต่การประชุม ครม.ก็เป็นการอินไซด์ข้อมูล เลขาธิการกฤษฎีกา กล่าวว่า ถ้าเอาไปใช้โดยไม่ชอบก็ต้องรับผิดชอบ คงไม่ได้ความว่าไปใช้โดยเสรี

“รับผิดชอบว่าจะไม่เอาอะไรที่ไม่เหมาะสมไปใช้ เพราะข้อมูลที่เป็นความลับใครก็เอาไปใช้ไม่ได้อยู่แล้ว ใครเอาข้อมูลไปใช้โดยเป็นข้อมูลลับไปใช้หาประโยชน์ก็เป็นความผิดอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องกฎหมาย 7 ชั่วโคตรที่ว่าอะไรนั่นหรอก ส่วนการที่เป็นนักธุรกิจที่ไปล่วงรู้ความลับใน ครม.อันนั้นเป็นเรื่องของความเหมาะสม ผู้ที่แต่งตั้ง ผู้ที่เข้าดำรงตำแหน่งต้องรับผิดชอบเอง” คุณพรทิพย์ กล่าว

เมื่อถามว่าทางกฤษฎีกาได้ท้วงติงอะไรหรือไม่ เพราะอาจจะมีการหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมือง คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ใครจะหยิบยกขึ้นมาก็ได้ แต่ถ้าดูตามข้อกฎหมายแล้วไม่ได้มีอะไรมาก แต่ก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้แต่งตั้งและผู้รับแต่งตั้งที่ต้องรับทราบฐานะหน้าที่ของตัวเอง

เมื่อถามว่าแล้วจะขัดต่อหลักธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวพร้อมหัวเราะว่า คิดเอาเอง เพราะตนไม่ทราบ คิดว่าผู้ตั้งคงดูแล้วว่าคงไม่มีปัญหาที่จะเกิดขึ้น เมื่อถามว่ากฤษฎีกาห่วงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ คุณพรทิพย์ กล่าวว่า ไม่ห่วงเพราะไม่ได้เป็นคนตั้ง แต่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมคงต้องรับฟังความเห็น เพราะอำนาจตัดสินใจเป็นของท่าน ถ้าท่านรับฟังโดยรอบแล้วจำเป็นที่จะต้องตั้งเพราะต้องอาศัยความรู้ความสามารถก็เป็นความรับผิดชอบของท่าน

ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียดต้องถามนายกรัฐมนตรีว่ามีนโยบายอย่างไร แต่ตนเข้าใจว่าทีมที่ปรึกษาคงจะไม่มาประชุมทุกเรื่อง คงจะประชุมเฉพาะประเด็นปัญหาหรือนโยบายเศรษฐกิจมากกว่า ส่วนที่มีคนเป็นห่วงในเรื่องของข้อมูลอาจจะหลุดออกไปจากห้องประชุมครม.นั้น เนื่องจากบางคนยังเป็นกรรมการที่ปรึกษาอยู่

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า อย่าไปมองภาพรวม ให้มองรายละเอียดเป็นเรื่อง ๆ ตนคิดว่าคนที่เข้าประชุมมีมารยาทเพียงพอที่จะพิจารณาได้ว่าเรื่องที่เขาเข้าประชุมแล้วมีผลกระทบหรือมีผลประโยชน์กับเรื่องนั้นคงจะคิดได้ว่าเขาควรเข้าหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นเรื่องในระยะยาว แต่ทั้งนี้ทองว่าเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีมองว่าให้คณะกรรมการชุดนี้มองในภาพรวม เช่น นโยบายจะขึ้นดอกเบี้ย หรือ มีความเห็นอย่างไรกับ 6 มาตรการ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น