“กมธ.สว.” บุกเยี่ยม กกต.จี้เร่งสรุปสำนวนยุบพรรคพลังแม้ว เชือดนักการเมืองอลัชชี ตัดปัญหาแก้ รธน.237 ด้านอภิชาติ ยัน 15 ส.ค.สำนวนถึงมือ ปิดช่อง “หุ่นเชิด” ยุบสภาหนีไม่กระทบคดีเหลือง-แดง แต่กลับพ่วงอาญาแถมท้าย
วันนี้ (4 ก.ค.) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อม กกต.ร่วมต้อนรับคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา นำโดยนายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯเพื่อเข้าศึกษาดูงาน กกต. โดยนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวตอนหนึ่งขณะมาศึกษาดูงานที่ กกต.ว่า ก่อนจะฝ่าวิกฤตมาได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฝากภาระให้ศาลแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่ง กกต.ได้ออกแบบให้เป็นศาลชั้นต้นมีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ตนถึงบอกว่าวันนี้เราต้องเร่งรัดที่จะอำนวยความยุติธรรมให้ได้บนพื้นฐานของความสุจริตเที่ยงธรรม หากวันนี้เราไม่สามารถเร่งรัดเรื่องการยุบพรรคการเมืองได้ สังคมก็จะเริ่มต้นไม่ได้ เราจึงเห็นว่าพวกนักการเมืองที่เป็นอลัชชี (ผู้ประพฤตินอกจารีต) คือไม่เคารพกฎหมายเป็นอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไรก็ยังไม่สน ถ้าวันนี้เราเร่งเรื่องการยุบพรรคได้ ตนคิดว่ามาตรา 237 จะไม่มีใครกล้าที่จะแก้ไข ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน และตนจะทำให้มาตรา 237 มีผลต่อไป
“ผมไม่อยากได้ยิน กกต.ปฏิเสธว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ดี เพราะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีตัวแทนกกต.ถึง 2 คนเข้าไปยกร่าง นอกจากนี้ สิ่งที่ผมห่วงใยมาตลอดโดยเฉพาะการปล่อยผีเข้าป่าช้า พอปล่อยไปแล้วมีอำนาจ การไปสอยภายหลังก็ทำให้ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกลั่นแกล้ง เพราะไม่ยอมไปให้ใบแดงตั้งแต่ต้น”
นายวรินทร์ กล่าวว่า ตนห่วงใย กกต. ต้องยอมรับว่า กกต.ชุดนี้มีความสามารถทางกฎหมาย แต่มีข้อหนึ่งที่ตนพูดมาตลอดว่าเราไม่ได้ทำงานกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราทำงานการเมืองบนผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ของประเทศชาติ แต่มันคือผลประโยชน์ของพรรคการเมืองและนักเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนต่อไป
ด้าน นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน กล่าวว่า หากมองในแง่การพัฒนาการเมือง วันนี้ส่วนใหญ่เรามักจะมองไปที่คนเป็นตัวตั้ง เช่น ไปมองว่าพรรคการเมืองนี้ใครเป็นกรรมการบริหาร เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แล้วมาตัดสินเอาว่าพรรคนั้นดีไม่ดีอย่างไร ซึ่งความจริงแล้วไม่ควรเป็นเช่นนั้น ตนคิดว่าตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคเป็นเพียงการเข้ามาบริหารงานชั่วคราว ซึ่งหากกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดก็ต้องเป็นความผิดส่วนบุคคล ไม่ควรจะยุบทิ้งทั้งพรรค เพราะจะไม่สามารถพัฒนาการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นตนไม่อยากให้มีการยุบพรรคกันง่ายๆ
นอกจากนี้ เห็นว่ามาตรา 237 มีเนื้อหาที่จำกัดจนเกินไป เพราะทำผิดแค่คนเดียว แต่จะไปเผาบ้านเขาทั้งหลังได้อย่างไร ทั้งนี้ ตนสนับสนุนให้จัดการกรรมการบริหารที่ทำผิดตามกระบวนการ แต่ไม่ใช่เขียนกฎหมายไว้แข็งเกินไป จนพัฒนาการเมืองไม่ได้ ดังนั้น อย่างไรเสียถ้าจะพัฒนาการเมืองจริงๆ จะต้องกำหนดให้พรรคการเมืองต้องยุบยาก
ทั้งนี้ กรรมาธิการยังได้สอบถามถึงความคิดเห็นของ กกต.ต่อผลสำรวจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายอภิชาต กล่าวว่า ตนขอยืนยันความเห็นเดิมที่ว่ายังเร็วเกินไปที่จะแก้ไข เพราะเปรียบไปเหมือนของใหม่ที่เราพึ่งจะได้มาใช้ ก็น่าจะลองใช้ไปก่อน รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้แก้ไขได้ แต่ต้องรอระยะเวลาที่เหมาะสมเสียหน่อย ทั้งนี้ อยู่ที่ความเห็นของประชาชน ตนไม่อยากออกความเห็นมาก เพราะทำหน้าที่ตรงนี้ถือว่ามีส่วนได้เสียอยู่ คงต้องปล่อยให้ว่ากันไปตามสถานการณ์ ส่วนถ้าจะมีการแก้ไขในมาตราที่เกี่ยวข้องกับกกต.นั้น พวกตนมาทำงานเพื่อชาติ จะให้ไปเมื่อไหร่ก็ไม่ได้สนใจอะไร
นายอภิชาต ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการที่กรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เดินทางมาดูงานในวันนี้ว่า ได้มีการหารือถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องร่วมมือกัน ทำให้ประชาชนเข้าถึงการเลือกตั้ง ซึ่งก็ถือเป็นหน้าที่ของประชาชน โดยจะให้เข้ามามีการตรวจสอบและสร้างความรู้ความเข้าใจให้ทั่วถึง โดยจะเป็นโครงการที่จะดำเนินการในระยะยาวไม่ใช่เฉพาะในช่วงของการเลือกตั้ง โดยจะเป็นความร่วมมือของ กกต.และรัฐสภา
นายอภิชาต กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนยุบพรรคพลังประชาชนว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดให้คณะอนุกรรมการเร่งสอบสวนอยู่ซึ่งทราบว่าคณะกรรมการจะเชิญปากสุดท้ายคือ นายสมัคร สุนทรเวช และนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มาปากคำในวันที่ 9 ส.ค.นี้ เพราะฉะนั้น ในวันที่ 15 ส.ค.น่าจะสามารถสรุปเรื่องส่งให้ กกต.พิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม กรณีการให้ปากคำของนายสมัคร และนายสุรพงษ์ นั้นหากไม่มาด้วยตนเองก็สามารถที่จะชี้แจงเป็นเอกสารได้เช่นเดียวกับกรณีอื่น
“เรื่องการสอบสวนยุบพรรคพลังประชาชนนั้น กกต.ได้เร่งรัดกรรมการสอบแล้ว ซึ่งทุกอย่างก็มีกรอบเวลาในการสอบซึ่งวันที่ 9 ส.ค .เมื่อสอบพยานปากสุดท้ายแล้ว วันที่ 15 ส.ค. กกต.น่าจะพิจารณามีความเห็นในเรื่องนี้ได้เลย เพราะ กกต.ยืนยันว่าไม่มีถ่วงเวลา ทุกอย่างไปตามกฎหมาย รวมทั้งสำนวนของรายอื่นๆ ที่ กกต.ได้มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาฯแผนกคดีเลือกตั้งพิจารณาสั่งให้เลือกตั้งใหม่หรือสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ที่ได้เร่งรัดให้เร่งเขียนสำนวนให้อยู่ในกรอบเวลาที่ กกต.ให้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ยืนยันว่าไม่มีการถ่วงเวลา รวมทั้งสำนวนของนายนพดล พลซื่อ ส.ส.เขต 3 จ.ร้อยเอ็ด ซึ่ง กกต.มีมติส่งให้ศาลฎีกาฯ พิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเร่งรัดเขียนสำนวนอยู่”
เมื่อถามว่าตามที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลอาจจะยุบพรรคหลังเดือนกันยายนเมื่อพิจารณางบประมาณและโยกย้ายเสร็จจะกระทบกับสำนวนใบเหลืองใบแดงหรือการยุบพรรคหรือไม่ นายอภิชาต กล่าวว่า ประธาน กกต.กล่าวว่า ไม่อยากสมมติ แต่ในคดีเลือกตั้ง มีเรื่องที่เป็นความผิดอาญาอยู่ด้วย หากเรื่องที่เป็นความผิดทางอาญา คงไม่สามารถยุติเรื่องได้ นอกจากจะขาดอายุความ
ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณี กกต.มีมติให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณียุบพรรคพลังประชาชาชนขยายเวลาไปอีก 15 วัน ว่า เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ ยังทำสำนวนไม่แล้วเสร็จ เพราะต้องการให้โอกาสนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค และนายสุพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน มาชี้แจง เพราะนายสมัครอาจมีข้อเท็จจริงว่าการกระทำผิดของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.สัดส่วน จนถูกเพิกถอนสิทธินั้น เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคก็ได้ เพื่อความเป็นธรรม และเป็นไปตามขั้นตอนเหมือนกับพรรคมัชฌิมาธิปไตยและพรรคชาติไทย
“เวลาที่เหลือคงจะต้องรีบดำเนินการ เพราะที่ กกต.กำหนด 15 วัน ช่วงแรกนั้นคณะอนุกรรมการฯ รวบรวมได้เพียงเอกสารเท่านั้น ยังไม่ได้เชิญพยานมาชี้แจง ทั้งนี้ เราไม่ได้มีการประวิงเวลา หรือต้องการโยกโย้อะไร เพราะเราจะต้องส่งเอกสาร พยาน หลักฐานและคำชี้แจงทั้งหมด ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ หากทั้ง 2 คนมาไม่ได้ก็สามารถยื่นเป็นเอกสารมาได้ ถ้ามาเองก็จะมีโอกาสชี้แจงได้มากกว่า แต่หากไม่มาจริงๆ ก็ต้องให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาว่าจะต้องขอขยายเวลาเพิ่มหรือไม่”
นายประพันธ์ ยังกล่าวถึงการเลือก ส.ส.ตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างในเขต 3 จ.เชียงราย ว่า โดยในส่วนของ กกต.มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งแล้วทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการการแต่งตั้ง กกต.เขต และชุดสืบสวนสอบสวนที่จะเข้าไปดูแล ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่รุนแรง
ส่วนกรณีที่ นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ต้องการให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น กกต. ป.ป.ช.ต่อสาธารณชนเหมือน ครม. ส.ว. และ ส.ส.เพื่อจะได้เป็นการตรวจสอบด้วยนั้น ไม่มีปัญหา ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ก็แก้ได้ เรื่องบัญชีทรัพย์สิน กกต.ก็แสดงอยู่แล้วตามกฎหมาย โดยเฉพาะ กกต.ชุดนี้โดยที่มีการสรรหาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และทางวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมการธิการตรวจสอบเรื่องนี้อยู่แล้ว