ในที่สุด...ความจริงก็หนีความจริงไปไม่พ้น เมื่อคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรม กำลังรับผลจากการกระทำของตัวเองที่ออกอุบายหลอกลวงเพื่อเลี่ยงภาษีจากการโอนหุ้นให้กัน แม้ในแง่เม็ดเงินภาษี รัฐจะไม่สามารถตามคืนจากบุคคลทั้งสองได้ เนื่องจากกฎหมายการเรียกเก็บภาษีขาดอายุความแล้ว (เกิน 5 ปี) แต่ในแง่ความผิดอาญา ทั้งสองก็ไม่สามารถสลัดพ้น “บ่วงอุบาย” ที่ตัวเองสร้างขึ้นเองกับมือได้
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
สำหรับผู้ที่ติดตามคดีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โอนหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น ให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรม โดยใช้กลอุบายหลอกลวงและแจ้งเท็จเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีแล้ว คงไม่รู้สึกเหนือความคาดหมายที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุกนายบรรณพจน์-คุณหญิงพจมาน (จำเลยที่ 1-2) คนละ 3 ปี(ส่วนนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 3 ถูกสั่งจำคุก 2 ปี) เพราะเมื่อดูพฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยแล้ว จะเห็นถึงเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของพี่น้องคู่นี้ได้อย่างดี ...ไม่เชื่อ ลองมาย้อนเหตุการณ์กันอีกสักครั้ง!
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 คุณหญิงพจมาน ได้โอนหุ้นบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น ที่ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ตระกูลชินวัตร ถือแทนคุณหญิงพจมาน ให้นายบรรณพจน์ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น โดยทำทีว่า นายบรรณพจน์ซื้อหุ้นดังกล่าวจาก น.ส.ดวงตา ในราคาหุ้นละ 164 บาท มูลค่า 738 ล้านบาท และแสร้งว่าเป็นการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษี เพียงเสียค่าธรรมเนียมแก่นายหน้า (โบรกเกอร์) เท่านั้น โดยคุณหญิงพจมานเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวไปเป็นเงินแค่ 7.38 ล้านบาท(ซึ่งหากนายบรรณพจน์ยอมเสียภาษีจากการได้รับหุ้นดังกล่าว จะต้องเสียเป็นจำนวนถึง 273 ล้านบาท)
โดยเรื่องแดงขึ้นมาเมื่อมีการตรวจสอบพบว่า การซื้อขายหุ้นดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะผู้ที่จ่ายเงินค่าหุ้น แทนที่จะเป็นนายบรรณพจน์ กลับเป็นคุณหญิงพจมาน ที่ทำทีสั่งจ่ายเช็คกว่า 700 ล้านให้ น.ส.ดวงตา แต่สุดท้ายก็โอนเงินดังกล่าวกลับมาเข้าบัญชีตัวเอง (คุณหญิงพจมาน)ตามเดิม
เมื่ออุบายที่ต้องการเลี่ยงภาษีดังกล่าวถูกจับได้ นายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน ก็เปลี่ยนอุบายใหม่เพื่อให้ไม่ต้องเสียภาษีจากการโอนหุ้นดังกล่าวอีก โดยอ้างว่า การโอนหุ้นนั้นเป็นการให้ในลักษณะอุปการะ ให้โดยเสน่หาตามขนบธรรมเนียมประเพณีในโอกาสที่นายบรรณพจน์แต่งงานและมีบุตร
แต่ดูเหมือนคำอ้างจะไม่แนบเนียน เพราะช่วงเวลาไม่สอดคล้องกับคำอ้าง กล่าวคือ นายบรรณพจน์แต่งงานเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2539 และมีบุตรเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2539 แต่คุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้นายบรรณพจน์เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากนายบรรณพจน์แต่งงานแล้วถึง 2 ปี และหลังจากนายบรรณพจน์มีบุตรแล้วถึง 1 ปี!?!
เมื่อคำอ้างถูกรู้ทัน ทั้งนายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมานก็อ้างใหม่ว่า การโอนหุ้นดังกล่าวมีขึ้นในโอกาสที่นายบรรณพจน์มีบุตรอายุครบ 1 ปี โดยนายบรรณพจน์ เล่าเป็นฉากๆ ว่า ตนเป็นพี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน และช่วยเหลือกิจการของคุณหญิงพจมานจนมีความเจริญก้าวหน้า กระทั่งปี 2538 คุณหญิงพจมาน สนับสนุนให้ตนมีครอบครัว และดำริจะมอบของขวัญให้แก่บุตรของตนซึ่งมีอายุครบ 1 ปีในปลายปี 2540 ด้วยการมอบหุ้นให้ 4.5 ล้านหุ้น ตนจึงเข้าใจโดยสุจริตว่า เป็นการให้โดยเสน่หาตามธรรมเนียมประเพณีและธรรมจรรยาของสังคมไทย!?!
ขณะที่คุณหญิงพจมาน ก็บอกว่า นายบรรณพจน์เป็นบุตรบุญธรรมของบิดาตน ได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจของครอบครัวตนจนมีความมั่นคงและมีทรัพย์สินจำนวนมาก เมื่อตนเห็นว่านายบรรณพจน์ควรมีครอบครัว จึงสนับสนุนให้แต่งงานกับ น.ส.บุษบา วันสุนิล เมื่อต้นปี 2539 และให้ปลูกสร้างเรือนหอในที่ดินของครอบครัวตน(ดามาพงศ์) นอกจากนี้ยังตั้งใจจะมอบหุ้นให้ในวันแต่งงาน เพื่อให้พี่น้องมีฐานะทัดเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม คุณหญิงพจมานอ้างว่า ตอนนั้นให้หุ้นไม่ทัน เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมเข้าทำงานการเมือง จึงต้องจัดการเรื่องบริหารงานให้เสร็จก่อน กระทั่งบุตรชายนายบรรณพจน์ ซึ่งเกิดวันที่ 4 ธ.ค.2539 จะมีอายุครบ 1 ปี และการจัดการด้านบริหารงานของตนเสร็จสิ้นพอดี จึงยกหุ้นให้นายบรรณพจน์ 4.5 ล้านหุ้นในวันที่ 7 พ.ย.2540 เพื่อเป็นของขวัญ
แต่ คตส.และอัยการไม่หลงคารมของบุคคลทั้งสอง โดยเห็นว่า การกระทำของคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ ที่ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จดังกล่าว เป็นเพียง“ข้ออ้าง”เพื่อให้เจ้าหน้าที่สรรพากรเชื่อว่า การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือการให้โดยเสน่หา เนื่องในโอกาสตามขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษี การกระทำของนายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมาน จึงเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีโดยแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จหรือตอบคำถามด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และมีลักษณะใช้อุบายหรือฉ้อโกง ถือว่าเข้าข่ายความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 37 (1) และ (2) ประกอบมาตรา 83 และ 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเหตุให้รัฐเสียหายต้องขาดรายได้เงินภาษีอากรและเบี้ยปรับกว่า 546 ล้านบาท(2 เท่าของยอดเงินที่ต้องเสียภาษี คือ 273 ล้าน)!
ซึ่งก่อนหน้านี้ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง เมื่อครั้งยังเป็นโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เคยบอกว่า ความผิดดังกล่าวมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน-7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท และว่า หากศาลพิพากษาว่าผิดจริงและลงโทษเต็มอัตรา คุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์จะต้องได้รับโทษ 2 เท่า คือจำคุกสูงสุด 14 ปี และปรับสูงสุด 4 แสนบาท
แม้วันนี้ (31 ก.ค.) คุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ จะถูกศาลสั่งจำคุกคนละ 3 ปี ซึ่งอาจจะไม่ใช่โทษที่มากมายนักเมื่อเทียบกับอัตราโทษสูงสุด แต่ก็ถือได้ว่า เป็นการลงโทษสถานหนัก เพราะสั่งจำคุกโดยไม่รอลงอาญา!
บทสรุปของคดีนี้(แม้จะเพิ่งศาลชั้นต้น) แต่ก็น่าจะเป็นอุทาหรณ์และบทเรียนได้อย่างดีว่า เมื่อมีรายได้ที่พึงเสียภาษี ก็ควรเสียภาษีแก่รัฐแก่แผ่นดินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มิใช่คิดแต่จะ “เอาเปรียบ” แผ่นดินทุกวิถีทางด้วยวิธีที่ฉ้อฉลเพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้ของตน
หลังจากวันนี้ คำพิพากษาของศาลคงจะดังกังวานอยู่ในโสตประสาทของ “คุณหญิงพจมาน” (จำเลยที่ 2) ไปอีกนาน โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “...จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีชื่อเสียงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเป็นถึงภริยาของผู้นำประเทศ ควรทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี แต่จำเลยกลับหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่เป็นธรรมต่อสังคม”!!