“พิภพ” ชี้ แนวคิดแก้รัฐธรรมนูญครั้งใหม่ของ “ออหมัก” ส่อความรุนแรงอย่างที่สุด เชื่อ หวังรื้อทุกมาตราปิดอำนาจองค์กรอิสระ และตุลาการ ซึ่งถือว่าเป็นความหวังสุดท้ายของประชาชนในการคานอำนาจ ย้ำ รธน.50 ไม่ใช่อุปสรรคในการบริหารประเทศ แต่คณะลูกกรอกมัวแต่งมกอบกู้สถานะนายใหญ่จนไม่สนใจปัญหาบ้านเมือง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายพิภพ ธงไชย ปราศรัย
วันนี้ (14 ก.ค.) เมื่อเวลา 20.38 น. นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวบนเวทีพันธมิตรฯ สะพานมัฆวานรังสรรค์ว่า ถ้าฟังการเคลื่อนไหวของนายกฯ ที่ออกมาพูดในรายการสนทนาประสาสมัคร เมื่อวานนี้ รวมทั้งการสัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ เห็นว่าจะมีความเข้มข้นและรุนแรงกว่าตอนเสนอแก้ครั้งแรกมากมหาศาล อันแรกที่เห็นคือมาตรา 309, 237 ก็ต้องแก้อยู่แล้ว แต่ตอนนี้จะพยายามลากพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมแก้ด้วย โดยบอกว่ามีข้อมูลว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจจะโดนใบแดงในกรรมการบริหารพรรค และอาจนำไปสู่การยุบพรรคด้วย พูดง่ายๆ จะเอาปัญหาการยุบพรรคการเมืองเข้ามาเป็นข้อแม้ต่อพรรคการเมืองแม้พรรคฝ่ายค้านว่าเรากำลังจะเรือล่มในหนอง ถ้าไม่ร่วมกันแก้ไขจะโดนเหมือนกันหมด
นายพิภพ กล่าวต่อว่า เขายังบอกว่าการบริหารประเทศชาติไปไม่ได้ ซึ่งไม่จริง เพราะรัฐธรรมนูญ มีกลไกกำหนดไว้แล้วว่า ในการตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในมาตรา 7 แต่ไม่ใช่เรื่องการเสนอรัฐบาลหรือนายกฯพระราชทาน แต่เป็นกลไกของรัฐธรรมนูญทุกประเทศเขาจะต้องมีไว้ ดูอย่างสหรัฐฯ มีว่า ถ้าประธานาธิบดีตายหรือบริหารประเทศไม่ได้โดยกรณีอะไรก็แล้วแต่ ก็ให้รองฯ ลำดับต่อๆไปทำหน้าที่แทน เป็นต้น ของเราก็มีในมาตรา 7 ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลพระราชทาน แต่ทีจริงตีความกันด้วยอารมณ์ความรู้สึกสมัยนั้น ก็ผ่านไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชวินิจฉัยว่ามาตรา 7 มีความหมายอย่างไร และรัฐธรรมนูญปี50 ก็ยังคงมาตรานี้ไว้
“ขอให้พี่น้องมั่นใจว่า ถึงรัฐบาลล้มไปในวันนี้ พรรคการเมืองถูกยุบพรรค มาตรา 7 ก็จะทำให้เกิดรัฐบาลตามกระบวนการประชาธิปไตยในสภาได้ต่อไป ให้มั่นใจเรื่องนี้ ฉะนั้นไม่ต้องไปสนใจ คำพูดของนักการเมือง” นายพิภพ กล่าว
นายพิภพ กล่าวว่า ที่บอกว่ารุนแรงกว่าการพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรก เพราะเขาจะเพิ่มมาตรา 190 ซึ่งมาตรานี้ เขาไปกล่าวหาว่าอำนาจตุลาการมากำหนดอำนาจฝ่ายบริหารถือว่าก้าวก่ายกัน ในขณะที่เขาปกครองประเทศระบบประชาธิไตยแบบมีการเลือกตั้งมาตลอด อำนาจสองด้านไม่เคยคานกันเลย อำนาจทั้งนิติบัญญํติและบริหารซูเอี๋ยกันมาตลอด กลายเป็นปัญหาสะสมของประเทศ แต่เขาไม่พูดถึงเรื่องนี้ พออำนาจตุลาการภิวัฒน์หรืออำนาจตุลาการถูกกระตุ้น โดยพระราชดำรัสชี้แนะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการคานอำนาจในสิ่งที่รัฐบาลหรือนิติบัญญัติทำผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ การคาดแบบนี้ไม่เรียกว่าก้าวก่าย เพราะถ้าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด อำนาจตุลาการจะไปทำอะไรได้
นายพิภพ กล่าวต่อว่า ต้องระวัง วิธีการนำเสนอของนายกฯ จะทำให้คนฟังไขว้เขวว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินนโยบายที่ประกาศไว้กับประชาชนไม่ได้ ซึ่งไม่จริง ถ้าไม่ใช่นโยบายผิดกฎหมายหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่มีคอร์รัปชัน ทำได้ตลอด เพียงแต่เลือกนายกฯให้มีความสามารถในการรทำตามนโยบายที่ตัวเองประกาศไว้ แล้วเมื่อตัวเองเป็นรัฐบาลร่วมก็ต้องมีการพูดหรือมีการประชุมกันเพื่อให้นโยบายแต่ละพรรคการเมืองที่อาจจะแต่งต่างกัน จะเป็นนโยบายของรัฐบาลโดยรวมได้อย่างไร
“ถามหน่อยว่าวันนี้ดูนโยบายโดยรวมแล้ว รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานใช่หรือเปล่า เพียงแต่รัฐบาลไม่สนใจดำเนินตามนโยบาย 4 เดือนที่ผานมาพยายามจะทำเรื่องช่วยเหลืออดีตนายกฯ พยายามช่วยเหลือ 111 คน ที่ถูกยุบพรรคไป แล้วอย่างนี้จะโทษว่ารัฐธรรมนูญและตุลาการที่ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศได้อย่างไร ไม่ใช่แน่นอน” นายพิภพ กล่าว
นายพิภพ กล่าวต่อว่า ตัวเองเลือก รมต. ตามที่ รมต.สามารถซื้อสิทธิขายเสียงเอา ส.ส.เข้ามาได้มากน้อยแค่ไหน ไม่นึกถึงความสามารถ คนที่เป็นแกนนำของพรรคที่พา ส.ส.เข้ามาได้ ไม่ดูว่าสุจริตหรือทุจริต พวกแกนนำเหล่านั้นไม่สามารถจะบริหารประเทศได้ อย่างเช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ไม่มีความสามารถ นี่ตัวอย่างชัดเจนหรืออย่าง นายไชยา สะสมทรัพย์ ไม่มีความสามารถ มาถึงก็จะมายกเลิกซีแอลยา ชี้ให้เห็นว่า รมต.หลายคนซึ่งสมัครเองก็บอกว่าขี้เหล่ แล้วจะโทษ รธน.ได้ยังไง
นายพิภพ กล่าวอีกว่า พอ ครม.คุณสมัครทำผิดกฎหมายเลือกตั้งผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไปประกาศร่วมก็ไม่คำนึงถึงมาตรา 190 และไม่มีการปรึกษาหารือเลยกับองค์กรอิสระ ว่าการประกาศร่วมจะขัดมาตรา 190 หรือไม่ และไม่สนคำทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ แล้วก็ทำผิด ผิดแล้วก็จะมาโทษรัฐธรรมนูญไม่เอื้อต่อฝ่ายบริหาร แล้วเราก็รู้ว่าการประกาศนั้นมีเบื้องหน้าเบื้องหลังหนุนการทำธุรกิจของอดีตนายกฯ แล้วทำลับๆล่อๆแบบเร่งรีบ ถ้าไม่เร่งรีบ ลับๆ ล่อๆ แล้วทำให้ประชาชนเชื่อใจว่าไม่ไปสนับสนุนอดีตนักการเมืองที่ทำธุรกิจในเขมร และไม่ไปสนับสนุนฮุนเซ็นชนะการเลือกตั้งในเขมร อย่างนี้ก็ทำให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจ และเมื่อนำศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ไปกล่าวหาว่ามาตรา 190 มีอุปสรรค
“ไปกล่าวหาว่าตุลาการก้าวล้ำการบริหารประเทศ ถามว่าตุลาการเขาก้าวล้ำจริงหรือ ถ้าตนเองไม่ทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญและคำสั่งปกครอง ใช่หรือเปล่า พอศาลปกครองวินิจฉัยว่าต้องชะลอคำประกาศ รัฐบาลโดยทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง วันนี้ก็ยังไม่มีมติครม.ส่งไปยังยูเนสโก ว่าคำประกาศที่ออกไปแล้วผิดกฎหมาย ใช้ไม่ได้ รัฐบาลไทยของถอน รัฐบาลนี้ไม่ทำเลย” นายพิภพ กล่าว
นายพิภพ กล่าวต่อว่า คุณสมัครก็โจมตีตุลาการ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้กำลังจะโจมตี ป.ป.ช.อีก เพราะรู้ว่า ป.ป.ช.ชุดนี้จะทำจริงตามกฎหมาย ตามที่เรายื่นให้ตรวจสอบครม.ว่ากระทำผิดต้องออกทั้งคณะ คุณสมัครจึงเดือดร้อน นี่ล่ะ ถึงได้บอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้รุนแรงกว่าครั้งที่เขาขึ้นมาเป็นรัฐบาล และจะรื้อระบบตุลาการภิวัฒน์ที่มีในรัฐธรรมนูญออกทั้งหมด แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ตุลาการก็จะไปทำหน้าที่แบบเดิมๆ แบบอดีต เรื่องคดีอาญา คดีแพ่ง แต่คดีการเมืองจะเข้ามามีบทบาทน้อย แล้วการเมืองก็จะกลับไปเป็นแบบเก่า
นายพิภพ กล่าวอีกว่า ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นการทำลายอำนาจตุลาการและแทรกแซงองค์กรอิสระ เหมือนที่ทักษิณเคยทำ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะไม่ใช่แค่สามมาตรา จะลามปามไปถึงอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระ ฉะนั้น ตุลาการภิวัฒน์จะล้มเหลว ถ้าปล่อยให้แก้รัฐธรรมนูญตามแนวของนายสมัคร ถ้าเขาทำสำเร็จ บ้านเมืองก็จะกลับไปสู่วิกฤตเหมือนสมัยรัฐบาลไทยรักไทยอีก ความรุนแรงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ เกินกว่าที่จะคาดคิด แล้วจะมีการแทรกแซงองค์กรอิสระทุกอย่าง จนองค์กรอิสระและตุลาการทำงานไม่ได้ นี่เป็นเรื่องใหญ่มากที่เราจะต้องมาช่วยกับครุ่นคิดหาวิธีการต่อต้านไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นผลสำเร็จ เพราะถ้าประสบความสำเร็จ เขาจะยึดครองประเทศไทยเลย
นายพิภพ ยังกล่าวย้ำแนวทางที่พันธมิตรฯ เสนอทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ด้วยว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 ได้มาโดยการลงประชามติ ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญก็จะต้องมีการลงประชามติด้วยเช่นกัน
“เราบอกว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องถามประชาชนก่อนว่าจะแก้หรือไม่ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญลงประชามติ ถ้าประชาชนเห็นควร พันธมิตรฯก็บอกจะยอม แล้วค่อยไปเถียงกันว่าจะแก้เนื้อหาไหน มาตราไหนอีกทีหนึ่ง แต่นี่จะมัดมือชกเลย ไม่กลับไปถามประชาชน จะแก้ให้รุนแรงมากกว่าตอนแรกอีก จะไปทำลายอำนาจตุลาการซึ่งเป็นความหวังเดียวของเราที่จะจัดการความผิดความถูกตามกระบวนการยุติธรรม” นายพิภพ กล่าว
นอกจากนั้น นายพิภพยังกล่าวถึงเรื่องทหารกับบทบาทการแสดงความคิดเห็นการเมืองในที่สาธารณะได้โดยอิสระ ซึ่งรวมทั้งข้าราชการพลเรือน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ก็จะต้องได้รับความคุ้มครองในการแสดงความคิดเห็นทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ไมว่าความเห็นนั้น จะสอดคล้องกับรัฐบาลหรือไม่ สังคมประชาธิปไตยจะต้องเดินไปอย่างนี้ให้ได้ ไม่ใช่ไปเก็บเขาไว้
อย่างไรก็ตาม นายพิภพได้ยกตัวอย่างเวทีเสวนาของนายทหารเรื่องประชุมระดมความคิดเห็นกรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส.เป็นประธาน โดยนายพิภพได้แสดงความชื่นชมกับบทบาทใหม่ดังกล่าวของนายทหาร พร้อมทั้ง ระบุว่า นี่เป็นรอยต่อของการเมืองใหม่ ที่ไปกดโดยนักการเมืองที่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง จนข้าราชการประจำโงหัวไม่ขึ้น จนกลายเป็นรัฐประหาร ฉะนั้นเราจะต้องสนับสนุนบทบาทใหม่ของข้าราชการทหารและพลเรือน
นายพิภพ ยังระบุด้วยว่า เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน มีผู้นำทางตุลาการหลายศาลคิดออกมาว่าจะพูดในที่สาธารณะพร้อมๆ กันว่ามีความเห็นต่อรัฐบาลอย่างไร โดยเฉพาะความเห็นในบทบาทตุลาการเริ่มคิดกันแล้ว แต่ไปพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะตุลาการสามารถใช้อำนาจวินิจฉัยได้ในขณะที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ ฉะนั้น ตุลาการเหล่านั้นจึงหยุดไว้ก่อน แสดงว่าการเมืองเริ่มขยับ ตุลาการที่อยู่ในที่มืดเริ่มขยับมาในที่สว่าง เริ่มแสดงว่าอะไรถูกไม่ถูก เพื่อประชาชนที่เชื่อมั่นในตุลาการได้นำไปคิดวินิจฉัยให้ถูกต้อง ซึ่งถือว่าเป็นบทบาทที่ดีของตุลาการ ต้องปรบมือให้ เพราะถ้ากล้าคิดก็ถือว่ากล้าแล้ว