“ศ.อดุลย์” จับพิรุธ “นพดล” แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาจด “พระวิหาร”วิปริต เซ็นวันที่ 22 พ.ค. ตีวันที่ล่วงหน้า 18 มิ.ย. ด้านอดีตทูตฯ แฉ “ฮุนเซน” จับมือทักษิณโกงข้ามชาติ เสียดินแดนแลกขุดน้ำมันพื้นที่ทับซ้อน อ้างความสัมพันธ์บังหน้า “มล.วัลย์วิภา”ปูดอีกแถลงร่วมทำไทยเสียพื้นที่ใต้บันไดนาคแล้ว ด้านอดีตผู้ว่าฯ ศรีสะเกษปูดแผนเขมรฮุบช่องตาเฒ่าเชื่อมพระวิหาร-นครวัตเอื้อคอมเพล็กซ์บันเทิง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า วันนี้(1 ก.ค.) วุฒิสภาจัดงานสัมมนา “อธิปไตยและดินแดนปราสาทพระวิหาร... มรดกโลกหรือผลประโยชน์ใคร” โดยมีผู้ร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ส.ว.และตัวแทนภาควิชาการ ทั้งนี้ก่อนการสัมมนา ผู้จัดได้นำบันทึกภาพวีดีทัศน์ ของ ศ.ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ อดีตคณะกรรมการมรดกโลก ที่ให้สัมภาษณ์ไว้ช่วงค่ำวันที่ 30 มิ.ย. เปิดให้ผู้ร่วมสัมมนารับฟัง
ศ.ดร.อดุลย์กล่าวต่อว่าคำสั่งศาลปกครองที่ออกมาคุ้มครองชั่วคราว เป็นสิ่งที่ดี และแสดงให้เห็นว่าคนในประเทศ มีความเห็นแย้งและสะท้อนการประทำของรัฐบาลเป็นสิ่งเสียหาย แต่ไม่สามารถคุ้มครองไปที่การขึ้นมรดกโลกได้เพราะเป็นเรื่องภายในประเทศ และ ไม่ได้ยับยั้งไปถึงต่างประเทศ อีกทั้งเอกสารที่ ไทยและกัมพูชาลงนามไปแล้วสมบูรณ์แล้ว และกัมพูชาได้ส่งไปที่ เลขานุการมรดกโลก ที่ปารีส ฝรั่งเศส และจากนั้นเขาจะแจกเอกสารให้ผู้แทนมรดกโลก ที่จะประชุม แคนาดาในวันที่ 2-10 ก.ค. พร้อมกับมีคำขอขึ้นมรดกโลกของกัมพูชาด้วย ดังนั้นการประชุมครั้งนี้จะมีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้กัมพูชาแน่นอน เพราะเขาได้ทำตามเงื่อนไข ที่ค้างในการประชุมครั้งที่แล้ว ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ที่ให้ไทยและกัมพูชาไปตกลงเรื่องแผนการจัดการ และได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายไทย
ศ.ดร.อดุลย์กล่าวต่อว่า ตนเคยแสดงจุดยืน เรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ 2548 ว่า 2 ประเทศต้องขึ้นทะเบียนร่วมกัน และหากไม่เปลี่ยนจุดยืนเมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น สิ่งที่ไทยจะทำได้ขณะนี้ คือเสนอเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไป โดยอ้างว่าขณะนี้ยังไม่เกิดแผนจัดการในไทย ส่วนจะเสนอขึ้นทะเบียนร่วมกันในครั้งนี้ก็ทำไม่ได้เพราะไทยไม่มีเอกสารเพราะไม่ได้เตรียมพร้อม
“แถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชาเป็นสิ่งเสียหายและน่าเศร้า ขอย้ำให้เห็นความไม่ปกติของแถลงการณ์ร่วม ที่ นายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ ลงนามในวันที่ 22 พ.ค. ที่ปารีส ผมได้อ่าน แถลงการณ์ภาษาอังกฤษโดยมีแผนที่แนบท้าย ซึ่งมีการตกลงระหว่าง นายนพดล นายสก อาน รองนายกฯ กัมพูชา และผู้ช่วยฝ่ายวัฒนธรรมยูเนสโก แต่แถลงการณ์กลับทำกันล่วงหน้าเป็นวันที่ 18 มิ.ย. เป็นวันเดียวที่ลงนามที่ทำเนียบ และ สิ่งที่แปลก แผนที่แนบท้ายเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ประทับตรากัมพูชาฝ่ายเดียว ก็ลงนามในวันที่ 18 มิ.ย. แต่กลับอ้างเป็นการประชุม วันที่ 22 พ.ค. เรื่องทั้งหมดประหลาด และวิปริตในการลงนามทวิภาคีฉบับนี้”ศ.ดร.อดุลย์ตั้งข้อสังเกต
ศ.ดร.อดุลย์ กล่าวว่า ปัญหาของการลงนามไทยกับกัมพูชา หลายคนมองไม่มีปัญหาเพราะขึ้นทะเบียนแค่ตัวปราสาท แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากนั้นจะต้องมีเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินบริเวณตัวปราสาท ที่บอบบางและแตกสลายง่าย มีเขตบัฟเฟอร์โซน หรือเขตกันชน และห้ามมีสิ่งก่อสร้างมิให้บดบังตัวปราสาท ซึ่งยอมรับว่าเรื่องนี้กระทบต่อเขตแดนไทย เพราะไม่สามารถเข้าไปบริหารพื้นที่ได้ นอกจากนี้ ส่วนหลายเรื่องการลงนามนี้ ซึ่งผูกพันแก่ดินแดนไทย เข้าข่ายมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ แม้จะอ้างว่าเป็นการลงนามไม่ใช่สนธิสัญญา แต่ข้อเท็จจริง การตกลงกัน 2 ประเทศ เพราะเข้าข่ายข้อการตกลง อนุสัญญามรดกโลกปี ค.ศ.1902 ที่ไทยเป็นสมาชิก
ศ.ดร.อดุลย์กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องผลประโยชน์ไปเกี่ยวข้องกับใครหรือไม่ ตนเพียงแต่ได้ยินมาว่า ใคร ไปเกี่ยวข้องและแลกกับพื้นที่เกาะกง โดย รมว.ต่างประเทศ รองนายกฯ ท่านหนึ่งไปที่นั้น และมีการเร่งรีบอย่างประหลาดเพราะมีการตรวจสอบแผนที่ 3 วัน จากนั้นนำเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคง วันรุ่งขึ้น นำเข้า ครม. และอีกวันลงนามกับกัมพูชา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเร่งรีบอย่างผิดสังเกต
“คำสั่งศาลปกครองกลางเป็นเรื่องที่มีผลในประเทศ ต่างประเทศคงไม่ได้มารับรู้เรื่องนี้ด้วย ทางออกที่พอจะทำได้ในเวลานี้ คือ การขอให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารออกไป เพื่อให้มีการถอน หรือทบทวนแถลงการณ์ร่วม” ศ.ดร.อดุลย์ กล่าว
** ส.ว.ติงอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ กลัวการเมืองเกินเหตุ
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า วันที่ตนไปยื่นฟ้องคดีเขาพระวิหารต่อศาลปกครองให้ระงับการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชานั้น ตนไปในฐานะเป็น ส.ว. และนาย สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. ก็ไปในฐานะประชาชนชาวศรีสะเกษ ซึ่งตอนแรกที่ไปยื่นเหมือนมวยยังไม่ชกแต่แพ้ เพราะน้ำหนักเกิน แต่อยากให้รู้ว่าการตรวจคำฟ้องคดีไม่มีแค่ทนายของตนเท่านั้น แต่ยังมีทนายความ และผู้ใหญ่ที่เป็นนักกฎหมายมหาชนของบ้านเมืองได้ให้การสนับสนุนในเรื่องนี้
ทั้งนี้ตนอยากตั้งข้อสังเกตอธิบดีกรมสนธิสัญญาว่าเป็นคนที่กลัวความผิด และกลัวแรงกดดันจากรัฐบาล ถ้าอธิบดีคนนี้ไปดำเนินการเกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศให้ประเทศไทยคงแพ้ทั้งหมด ซึ่งวันนี้ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศไทยเปลี่ยนไป ซึ่งไม่แน่ใจว่าในอนาคตเราจะกอบกู้ได้มากน้อยแค่ไหน
**อดีตทูตเชื่อ “แม้ว-ฮุนเซน”มีประโยชน์ทับซ้อน
นายกษิต ภิรมย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงข้าราชการกระทรวงต่างประเทศว่า กระทรวงต่างประเทศมีคนดีเป็นจำนวนมาก แต่คนดีไม่ได้อยู่ในกระทรวงฯ แต่อยู่นอกกระทรวง จะทำอย่างไรได้ที่จะไม่ให้ข้าราชการสนองความต้องการรัฐมนตรี ถ้าจะทำก็ต้องปฏิวัติที่ตัวรัฐมนตรีเอง จะไม่ให้ปกป้องรัฐมนตรีได้อย่างไร เพราะเป็นเพียงข้าราชการ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีแต่ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ แต่ข้าราชการทุกกระทรวงก็เป็นเช่นเดียวกัน
นายกษิต กล่าวต่อว่า เราต้องยืนยันในมาตรา 190 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ทุกอย่างกลับมาที่รัฐสภา และประเด็นนี้จะโยงกับสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ปี 1904 เรื่องการใช้สันปันน้ำในการแบ่งเขตแดน
นอกจากนี้ยังเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ที่ต้องเข้าไปดูมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2505 รวมทั้งแผนผังแผนที่และต้องไปตรวจสอบเอกสารของต่างประเทศเพราะอาจจะมีการบันทึกคำพูดที่ปฏิเสธว่าเราได้สละเขาพระวิหารแล้ว ทั้งนี้มติครม.ในอดีตที่ไม่สมบูรณ์ควรทำให้เป็นกฎหมายในสมัยปัจจุบัน เพื่อไม่ให้รัฐบาลในสมัยนี้ใช้ในทิศทางที่ผิด และอาจทำให้ฝ่ายเขมรมาย้อนหลังเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ควรกลับมาที่สภา
ในส่วนของคณะกรรมการมรดกโลกที่มี 21 ประเทศ ซึ่งเป็นคณะกรรมการของรัฐบาล เพราะฉะนั้นเป็นการเมือง ดังนั้น วันนี้หากวันนี้นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการมรดกโลกฝ่ายไทย จะบอกว่าตัวเองเป็นเพียงคณะกรรมการมรดกโลกเพียงอย่างเดียวและแยกออกจากการเมืองคงไม่ได้ ดังนั้น นายปองพลจะต้องทำตามความเห็นของคนไทยเป็นตัวตั้ง ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ต้องเอาผลประโยชน์เป็นตัวตั้งและเอาความสัมพันธ์เป็นตัวรอง อย่ากลับหัวกลับหางเป็นอันขาด
นายกษิต กล่าวต่อว่า ส่วนตัวอยากพูดถึงเรื่องหลักธรรมาภิบาล เพราะดูเหมือนว่าการลงนามแถลงการณ์ครั้งนี้มันไม่โปร่งใส รัฐบาลชี้แจงไม่ได้ มันมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่แน่นอน เพราะที่คู่ขนานกับการเสนอปราสาทพระวิหารอยู่ในขณะนี้คือการพัฒนาพื้นที่ร่วม และอย่าลืมว่า บริษัทอัปศรา เป็นของนายฮุนเซน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เลวร้ายและยอดโกงที่หนึ่งของโลกและมาร่วมกับขบวนการทักษิณอย่างสนุกสนานให้ประเทศกัมพูชาและไทยเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย และมันก็โยงกับเกาะกง และพื้นที่ทับซ้อนที่มีข่าวออกมาว่า ปตท.ได้ขอให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ขอไปทำสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นเขตของกัมพูชา เท่ากับว่าเราไปสละทิ้งอธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ขององค์กรมหาชนที่ข้างหลังมีผู้ถือหุ้นอยู่ในแวดวงทางการเมือง
**ตัวเก็งทูตกัมพูชา-น้องชายนักการเมืองเอี่ยว
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ไม่เป็นธรรมาภิบาลคือ นอกเหนือจากคณะที่เป็นทางการโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ และอธิบดีต่างๆ แล้ว ยังมีอีกคณะที่แฝงอยู่ข้างใน โดยเป็นข้าราชการอีกคนหนึ่งที่อาจจะเป็นไปทูตที่กัมพูชา และมีน้องชายของนักการเมืองอีกคนหนึ่งที่เจรจาในทางลับหรือปกปิดกับเขมรในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นที่ทราบกันในแวดวงข้าราชการประจำ รวมถึงสถานทูตที่พนมเปญก็รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะฉะนั้นมันไม่โปร่งใสและมีประโยชน์ทับซ้อน และคู่ต่อสู้คือ ฮุนเซน ที่โกงกินชาติอย่างที่เราทราบดีอยู่
นายกษิต กล่าวต่อว่า ที่มากกว่าไปกว่านั้น รัฐบาลชุดปัจจุบันก็เป็นเพียงรัฐบาลนอมินี เมื่อทำอะไรขึ้นมาคนก็สงสัยในความไม่โปร่งใจและไม่สามารถชี้แจงได้ ขณะที่การทำแถลงการณ์นี้จะผ่านแค่กรมแผนที่ทหารและสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)คงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเชิงเทคนิค แต่มันมีผู้ที่มีส่วนได้เสียตามรัฐธรรมนูญไทยอีกมากมาย ดังนั้น ต้องนำเรื่องนี้มาที่รัฐสภาและต้องบีบให้รัฐบาลเอาเรื่องนี้มาในสภาให้ได้ ถ้าไม่ได้ประชาชนต้องกดดันและต้องมีมาตรการภายในรัฐสภา ถ้าไม่เล่นกันตามกติกาแล้วเอาเรื่องผิดๆ มายกมือ 300 กว่าเสียง คงไม่ได้ มันผิดทั้งศีลธรรมและหลักประชาธิปไตย ถ้ายังไม่เคารพกติกาตรงนี้ ประเทศไทยก็คงจบแค่นี้
** “มล.วัลย์วิภา”ชี้นักวิชาการขายตัวทำไทยเสียดินแดน
มล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์นักวิจัย 9 สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการดูแถลงการณ์ร่วมไทยเสียดินแดนให้แก่กัมพูชาไปแล้ว โดยเฉพาะ ตั้งแต่บริเวณบันไดนาคลงมา 20 เมตร. ซึ่งรับรองว่าเป็นของไทยโดยมติ ครม. พ.ศ. 2505
ดังนั้นเราไม่ต้องดูไปถึงพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่เรื่องนี้อาจจะเป็นบรรทัดฐานในการตกลงข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับประเทศเพื่อนบ้านปฏิบัติกับเราต่อไป นอกจากนี้ผู้ที่มีส่วนสำคัญทำให้ไทยเสียดินแดนคือ นักวิชาการขายตัว อยากให้นักวิชาการคิดให้ดีว่าการรักชาติและขายชาติเป็นอย่างไร
**อดีตผู้ว่าฯ แฉกัมพูชาผุดคอมเพล็กซ์จ่อชายแดน
นายถนอม ส่งเสริม ส.ว.อุบลราชธานี อดีตผู้ว่าราชการ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าจังหวัดศรีสะเกษในช่วงปี ก.ย.46-30 ก.ย.48 โดยช่วงเดือนมกราคม 2548 นั้นทางกัมพูชาได้ขอให้ทางการไทยเปิดช่องเขาเฒ่า ซึ่งเป็นช่องเขาระหว่างเขาพระวิหารกับเขาสัตตะโสม ที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนว่าเป็นของฝ่ายใดระหว่างนั้นตนก็ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลไทยว่าได้รับคำร้องขอจากกัมพูชาให้เปิดช่องเขาเฒ่า แต่ยังไม่ทันเปิดตามคำสั่งของรัฐบาล นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นก็โทรศัพท์แจ้งว่า ขอให้ระงับไว้ก่อนอย่าเพิ่งเปิด ถือเป็นโชคดีของตนที่ยังไม่ได้สั่งเปิด
บริเวณพื้นที่ช่องตาเฒ่านั้นเป็นเส้นทางที่ทำให้กัมพูชาผ่านมายังประสาทพระวิหารได้ง่าย เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยเคยให้งบประมาณแบบฟรีๆ จำนวน 90 ล้านบาทเพื่อทำเส้นทางจากช่องเขาเฒ่าไปยังช่องสะงำ จ.อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา โดยเส้นทางนี้จะเชื่อมต่อไปถึงยัง จ.เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชาได้ ที่ถือว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ลัดที่สุด
“ในช่วงที่เป็นผู้ว่าจังหวัดศรีสะเกษอยู่นั้น ผมได้เดินทางไปพนมเปญและได้เห็นแผนพัฒนาการก่อสร้างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในพื้นที่กัมพูชาถัดจากช่องตาเฒ่าอย่างชัดเจน ถ้ากัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตัวปราสาทพระวิหารแล้ว ต่อไปเขาก็รุกในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่มีการปักปันเขตแดนต่อทันที”อดีตผู้ว่า จ.ศรีสะเกษ กล่าว
**จวก “นพเหล่”อ่อนวัฒนธรรม-หลงกลเขมร
ด้านนางตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยเคยต่อต้านไม่ให้กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา แต่ท้ายสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็หลงกลที่ยอมลงนามให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท ซึ่งโดยหลักการแล้วเมื่อได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในตัวปราสาทแล้วต่อไปก็จะกินอาณาเขตไปยังเขตอนุรักษ์โดยรอบที่เป็นพื้นที่ของไทยของไทยด้วย ถ้าหากนายนพดล เข้าใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมสักนิดเรื่องคงไม่เป็นอย่างนี้ ซึ่งสิ่งเดียวที่เราสามารถทำได้ขณะนี้คือขอภาวนาว่า คณะกรรมการมรดกโลกที่กำลังจะนำเรื่องปราสาทพระวิหารเข้าพิจารณาวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ อย่าเพิ่งอนุมัติให้เป็นมรดกโลก
**อดีตทนาย “พระวิหาร”ยันแถลงร่วมเป็นสนธิสัญญา
ศ.สมปอง สุจริตกุล รักษาการคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต และหนึ่งในทนาย ของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ผู้ว่าความในคดีประสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 กล่าวว่า ช่วงที่ศาลโลกตัดสินว่ากัมพูชามีอำนาจอธิปไตยเหนือตัวปราสาทพระวิหารนั้น ได้มีผู้พิพากษา 3 คน เห็นแย้งและหลังจากนั้นทางไทยก็ได้ตั้งข้อสงวนไว้ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้ประกาศทั้งน้ำตาว่า ชาตินี้และชาติหน้าจะไม่มีวันท้อถอย เพราะมีความหวังว่าเราจะได้ปราสาทพระวิหารกลับคืนมา และหลังจากนั้นหนึ่งปี นายถนัด คอมันตร์ รมว.ต่างประเทศขณะนั้นก็ได้มอบหมายให้ตนไปชี้แจงยังที่ประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ซึ่งตนก็ได้นำเอกสารจำนวน 40 หน้าไปชี้แจงคัดค้านว่า ศาลโลกตัดสินผิดตรงไหน พร้อมกับได้ยกความเห็นแย้งของผู้พิพากษาทั้ง 3 และยืนยันข้อสงวนของประเทศไทย
“หลังจากที่ศาลโลกตัดสินไปเมื่อปี 2505 แล้ว ไม่ใช่ว่าเราไม่ทำอะไรเลย แต่เราได้ชี้แจงต่อสมัชชายูเอ็นและได้เสนอข้อสงวนอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทด้วย ซึ่งครั้งนั้นก็ไม่มีตัวแทนกัมพูชาร่วมประชุมเลย ทั้งนี้เราก็ยืนยันว่า พื้นที่ทับซ้อนมีเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น แต่พื้นที่อื่นนั้นได้ยึดเส้นสันปันน้ำที่รู้กันในระดับสากล ศาลไม่ได้ชี้ขาดในเรื่องเขตแดน ปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นเขตแดนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีข้อความบางประการที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งต้องพิจารณาต่อไปในศาลปกครอง”
ศ.สมปอง กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ยังเห็นว่า แถลงการณ์ร่วมที่นายนพดลลงนามนี้ถือเป็นสนธิสัญญา ไม่ว่าจะเรียกเป็นภาษาไทยว่าเป็นแถลงการณ์ร่วม แต่ในความหมายของกฎหมายนั้นผูกพันประเทศไทยอย่างแน่นอน
**อดีตทูตเชื่อแถลงการณ์เอื้อประโยชน์บางกล่ม-จวก“หุ่นเชิด”อ้างความสัมพันธ์บังหน้า
นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำหลายประเทศ และรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวว่า เราต้องเข้าใจว่า เรื่องเขาพระวิหารที่จะเป็นประเด็นขัดแย้งอยู่นี้ ไม่ได้อยู่ที่การขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร แต่อยู่ที่ว่าเราต้องการให้มีการขึ้นทะเบียนร่วมกัน ทั้งตัวปราสาทและพื้นที่เขาพระวิหาร รวมถึงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้คนไทยไม่ได้มีปัญหากับคนกัมพูชา แต่ปัญหา คือ ภาคประชาชนและฝ่ายค้านที่มีปัญหากับการดำเนินการของรัฐบาล
ทั้งนี้ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้พยายามเลี่ยงที่จะตอบปัญหาข้อเท็จจริงต่างๆ แต่พยายามเน้นว่าหากมีการจดทะเบียนตามที่ได้จดทะเบียนแล้วจะเป็นประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว ทั้งที่รายได้จากการท่องเที่ยวตรงนี้มีตัวเลขน้อยมาก และรัฐบาลยังอ้างเรื่องการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลพยายามจะบอกว่าการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นคุ้มค่ากับการที่เราจะเสียดินแดนและอธิปไตยในอนาคต
นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่มีความโปร่งใส เพราะมาถึงวันนี้คนไทยยังไม่ได้เห็นรายละเอียดของแถลงการณ์ด้วยซ้ำ ว่ารัฐบาลไปตกลงอะไรกันมา โดยบอกว่าเราต้องเห็นด้วยเพราะหากไม่เห็นด้วยกัมพูชาก็ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้อยู่แล้วซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะข้อบัญญัติของยูเนสโกระบุชัดเจนว่า หากยังมีปัญหาระหว่าง 2 ประเทศต้องมีการเจรจาร่วมกันก่อน เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐมนตรีพูดจึงเป็นการเอาสีข้างเข้าถู โดยไม่รู้ว่าเราจะเสียหายอย่างไร
“รัฐบาลไม่เคยชี้แจงให้ประชาชนได้รู้ว่า ข้อดี ข้อเสีย มันคืออะไร หากมีการจดทะเบียนโดยให้เขาขึ้นฝ่ายเดียว ไม่มีคำตอบ เพียงแต่บอกว่า ไม่ต้องห่วง ไม่เสียดินแดน แต่ไม่เคยหักล้างแต่ละข้อของความสงสัย รัฐบาลพยายามพูดโน้มน้าวว่าไม่มีปัญหา และหากมีการขัดขวางมากจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือการเคารพอธิปไตยระหว่างประเทศและตัวชี้ขาดคือผลประโยชน์ว่าจะสอดคล้องกันหรือไม่ นี่คือความสัมพันธ์” นายสุรพงษ์ กล่าว
สำหรับเรื่องมิติการเมืองที่จะมีผลตามมาจากเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่า การรักชาติเป็นสิ่งที่ดี แต่ความรู้สึกชาตินิยมที่ขาดสติจะอันตราย เพราะมีหลายฝ่าย ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ ที่ต้องการใช้ประโยชน์ตรงนี้ไปในทางที่ล้างผลาญ เห็นได้จากการเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา เพราะมันง่ายที่จะให้คนเกลียดกัน แต่การที่จะปลุกให้คนรักกันเป็นเรื่องยากมาก
“ผมเชื่อว่ากลุ่มคนที่เห็นว่าการทำแถลงการณ์ครั้งนี้ไทยไม่เสียหายอะไรต้องเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้แน่นอน และคนพวกนี้จะทำการปลุกประชาชนให้ต่อต้านคนที่คัดค้านการทำแถลงการณ์ร่วม คนที่ไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์นี้ โดยอ้างว่าคนที่ต่อต้านทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาพังทลาย ทั้งนี้ทุกคนย่อมมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะที่ไหน อย่างไร แต่การเสี่ยงตรงนี้ต้องถามว่า การเสี่ยงครั้งนี้คุ้มกับที่ไทยต้องเสียดินแดนหรือไม่ หรือคุ้มกับผลประโยชน์ของคนบางพรรคพวกเท่านั้น”นายสุรพงษ์กล่าว
** “เทพมนตรี”แฉฮุนเซนฮุบประโยชน์พระวิหารยันเสียมเรียบ
นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ขอเสนอให้นาย ปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการมรดกโลกที่กำลังประชุมเรื่องนี้ที่ประเทศแคนนาดา ถอนตัวออกมาจากการประชุม หากคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารแต่ฝ่ายเดียวของกัมพูชาไม่สำเร็จ แต่ไม่ทราบว่านายปองพล จะกระทำหรือไม่เพราะเป็นอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยที่อยู่ในบ้านเลขที่ 111
นายเทพมนตรี กล่าวว่ากรรมการมรดกโลก 21 ประเทศเข้าข้างกัมพูชากว่าครึ่งหนึ่งแล้ว อาทิ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส กัมพูชา อินเดีย และที่สำคัญมีไทยด้วย เป็นต้น ขณะที่เข้าข้างฝ่ายไทย ให้จดทะเบียนร่วม อาทิ อียิปต์ คิวบา บราซิล ออสเตรเลีย ดังนั้นจึงเชื่อว่าหากคณะกรรมมรดกโลกกัมพูชาเสนอขึ้นจดทะเบียน โดยนายปองพลไม่คัดค้านจะไม่ยับยั้งอะไรได้ จึงอยากฝากไปถึงนายปองพล ให้ทำหน้าที่ของคนไทยไม่ใช่หน้าที่คณะกรรมการมรดกโลก
นายเทพมนตรี กล่าวว่าทุกอย่างขณะนี้พร้อมที่จะประกาศให้กัมพูชาเป็นมรดกโลกเรียบร้อย ซึ่งเรื่องนี้นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดในสภา ตนอยากบอกว่า เมื่อไรก็ตามองค์กรอัปสรายูนิตี้ บริษัทกฎหมายของสมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างแน่นอนเพราะจะเข้ามาดูแลกฎหมายฉบับนี้ ครอบคลุมถึง จ.เสียมเรียบ และครอบคลุมไปถึงเขาพระวิหาร เรื่องนี้น่าสนใจว่าเราไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งมรดกโลกของเขา เพราะเขตแดนของไทยจะหายทันที ส่วนกรณีนักวิชาการไทยขายตัวยอมรับว่ามีจริงยกตัวอย่าง เพราะที่ผ่านมาได้มีการนำวัตถุโบราณของไทยไปให้ต่างประเทศอยู่เสมอ
** “เทียนชัย”แนะตั้งองค์กรพิเศษดูแลกรณีพระวิหาร
นายเทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การที่อำนาจตุลาการซักค้านอำนาจฝ่ายบริหารยังไม่สิ้นสุดตามหลักประชาธิปไตย ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นประเด็นสาธารณะอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายกล่าวหาการคัดค้านแถลงการณ์ร่วมนี้เป็นพวกพันธมิตรฯ ที่ต้องการล้มรัฐบาลซึ่งเป็นความคิดที่คับแคบและจะถูกมองว่าเป็นคนส่วนน้อย เพราะฉะนั้นควรมีองค์กรพิเศษขึ้นมาดูเฉพาะเพื่อดูแลประเด็นนี้อย่างเป็นทางการและควรมีการระดมรายชื่อให้มากกว่า 3 หมื่นคน ซึ่งน้อยเกินไป แต่ควรระดมรายชื่อให้เป็นล้านๆ คนว่าไม่เห็นด้วยกับการเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งจะเป็นหลักของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเสนอให้ชาวศรีสะเกษ คัดค้านเรื่องนี้ ออกมาปกป้องและรักษาและนำเสนอว่าแผนจัดการเขาพระวิหารอย่างไรในแง่มรดกโลกร่วมกันยื่นไปยูเนสโก เพื่อให้ทันการพิจาณาที่เป็นประชุมแคนนาดา เพราะขณะนี้ทั่วโลกฟังเสียงชุมชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการสัมมนานั้น นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ผู้ดำเนินรายการ ได้รายงานต่อผู้สัมมนาว่า “นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่า แถลงการณ์ร่วมนั้นอาจจะมีปัญหา เพราะอาจจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แหมเพิ่งเข้าใจว่าขัดรัฐธรรมนูญ” ทำให้ผู้ร่วมประชุมถึงกับหัวเราะ