“สุริยใส” แจงศาลปกครองรับคำร้องกรณีเขาพระวิหาร พร้อมนัดไต่สวนวันพฤหัสฯ นี้ ถือเป็นชัยชนะเบื้องต้น ชี้รัฐบาลพยายามบิดเบือนประเด็นถือว่าอำนาจรัฐเป็นสูญญากาศ ส่วนกรณีเรื่องการชุมนุมรบกวนสถานศึกษานั้น ได้มีการปิดลำโพงบางส่วนในช่วงกลางวัน ย้ำยังยืนยันจุดยืนเดิมคือนายกฯต้องลาออกเท่านั้น
วันนี้ (24 มิ.ย.) เมื่อเวลา 18.30 น. บริเวณหลังเวทีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุว่า วันนี้หลังจากที่ตนเดินทางไปฟ้องศาลปกครอง กรณีที่ ครม.เห็นชอบการลงนามร่วมไทย-กัมพูชา ให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ศาลได้มีการรับคำร้องและได้นัดไต่สวนในวันพฤหัสนี้ ถือได้ว่าเป็นชัยชนะเบื้องต้นของพันธมิตร เนื่องจากศาลได้กำชับให้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาในวันนัดไต่สวนด้วย โดยเฉพาะแผนที่ที่ระบุถึงพื้นที่ที่จะขึ้นทะเบียนมรดกโลก ได้แก่ N1 N2 และ N3 ซึ่งไม่ได้มีการเปิดเผยมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเป็นแผนที่ที่คนไทยทั้งประเทศ ยังไม่ได้เห็น ซึ่งสร้างความกังขาว่า การขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารนั้นจะมีพื้นที่ครอบคลุมแค่ไหน ในวันนั้นฝ่ายผู้ร้องคงจะได้เห็นแผนที่
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงในสภาวันนี้ กรณีของเขาพระวิหาร ตนเห็นว่าฝ่ายรัฐบาล มีความพยาพยามบิดเบือนเรื่องราว ทำให้เป็นเรื่องยาก ตนอยากให้ประชาชนตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ถ้าหากว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของเขมรมาตั้งนานแล้ว ตามที่นายกรัฐมนตรีและะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่าเหตุใดทางการกัมพูชาจึงต้องมาขออนุมัติจากรัฐบาลไทยด้วย ทำไมไม่นำเรื่องยื่นต่อยูเนสโกเลย
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าคำฟ้องที่ยื่นศาลปกครองในวันนี้ มีความรัดกุมมาก คาดว่าผลสุดท้ายจะซ้ำรอยกรณีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อเดือนมีนาคมปี 2549 ในระหว่างที่พันธมิตรปักหลักชุมนุม ศาลปกครองได้มีคำสั่งระงับการกระจายหุ้นของ กฟผ. และต่อมาได้มีคำสั่งให้มติ ครม.ว่าด้วยการแปรรูป กฟผ.ด้วยกฎหมาย ตนเชื่อมั่นว่าในกรณีเขาพระวิหาร ศาลจะเห็นพ้องกับผู้ร้องด้วย
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายกฯ ชี้แจงในสภา ว่าการเคลื่อนไหวกรณีเขาพระวิหารของพันธมิตรฯ จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชานั้น ตนเห็นว่าเป็นการบิดเบือนประเด็น เพราะว่ากรณีนี้น่าจะเป็นการกระทบต่อผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวิตร อดีตนายกฯ และสมเด็จฯ ฮุนเซน เสียมากกว่า ไม่ใช่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ ขณะนี้ตนเห็นว่ารัฐบาลเป็นโมฆะโดยพฤตินัยไปแล้ว เพราะว่าอำนาจรัฐเป็นสูญญากาศ เหมือนร่างกายที่หยุดทำงานไปแล้ว มีลมหายใจก็แผ่วเบา
ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า วันนี้แกนนำทั้งห้าจะขึ้นปราศรัยในเวลา 20.30 น. ส่วนการแสดงที่เป็นไฮไลต์ค่ำคืนนี้ จะมีศิลปินเพื่อชีวิต “พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ” มาขึ้นเวที ส่วนประเด็นการหารือกับสถาบันศึกษาในระแวกใกล้เคียงกับผู้ชุมนุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ทางพันธมิตรฯ จะปิดลำโพงบางส่วนในช่วงกลางวัน ส่วนการเรียนการสอนในภาคค่ำนั้น ทางพันธมิตรจะต้องสื่อสารกับผู้บริหารสถาบันนั้นๆ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น ว่าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่การชุมนุมในครั้งนี้กระทำเพื่อปรพะโยชน์ส่วนรวม เพราะช่วงเวลา 18.00-22.00น. เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เป็นไฮไลต์การปราศรัยประจำวัน เชื่อว่าทางผู้บริหารจะเข้าใจ ไม่น่ามีปัญหา ส่วนเรื่องการจราจรตนจะนำเรื่องเข้าหารือกับ 5 แกนนำพันธมิตรอีกครั้ง ว่าจะหลบหลีกได้หรือไม่ในที่ประชุมคืนนี้
นายสุริยะใส กล่าวถึงข้อเสนอการปฏิรูปการเมืองใหม่ของแกนนำพันธมิตรฯ ว่า ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่ในเบื้องต้นเรามีการเรียกร้องให้มีการปรับที่ มาของสมาชิกรัฐสภาในสูตร 70-30 โดย 30 หมายถึงสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วน 70 มาจากการสรรหาที่มาจากตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน, นักธุรกิจ หรือแม้แต่สตรีและผู้พิการ โดยมีการระบุสัดส่วนอย่างชัดเจน นัยของข้อเสนอนี้คือการสร้างการเมืองใหม่ที่ลดความสำคัญของการเลือกตั้ง แต่ให้น้ำหนักกับการมีส่วนร่วม ของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ โดยเห็นว่าการเมืองแบบเก่าที่นักการเมืองได้รับเลือกตั้งมา ไม่ได้แก้ปัญหาของประเทศ ยืนยันว่าไม่มีนัยที่จะให้ทหารมายึดอำนาจ แต่เราต้องเปลี่ยนทัศนะคติของทหารใหม่ โดยอาจจะต้องดึงทหารมาเป็นส่วนหนึ่งของหารปฏิรูปทางการเมืองด้วย ต้องยอมรับความจริงว่า ทหารเป็นสถาบันหนึ่งในสังคมไทย
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 26-27 มิ.ย.นี้ ที่จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีของสภา พันธมิตรฯ จะไม่มีการเคลื่อนไหวไปที่สภาแต่อย่างใด ยังคงยืนยันจุดยืนของพันธมิตรว่า นายกฯต้องลาออก เพราะเราไม่มีความไว้วางใจต่อรัฐบาลชุดนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลาออกหรือยุบสภาถือเป็นทางออกของสังคมในช่วงเวลานี้