xs
xsm
sm
md
lg

“องอาจ” เฉ่ง “หมัก” บิดเบือน อ้างเวลาน้อยหนีญัตติอภิปราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
โฆษก ปชป.แถลงยังไม่ถึงเวลาใช้ ม.129 เข้าชื่อ 1 ใน 3 ของ 2 สภา บังคับรัฐบาลเปิดสภาวิสามัญ อัดนายกฯ บิดเบือนการอภิปรายเจตจำนงต่างกัน อย่าอ้างไม่มีเวลา ปัดจับมือพันธมิตรฯ ป่วนในสภา ชี้ “แม้ว” ต่างหากที่ก่อกวนบ้านเมือง หวังแก้รธน.เพื่อหนีคดี


วันนี้ (15 มิ.ย.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณีที่มีการเสนอว่าให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 129 โดยสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 เข้าชื่อเพื่อขอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญอีกครั้ง หากรัฐบาลไม่ขยายเวลาการประชุมสภาสมัยวิสามัญนั้น จำนวน 1 ใน 3 ของ 2 สภา คือ 210 คน พรรคมี ส.ส.164 คน ขาดอีก 46 คน ซึ่งก็มี ส.ว.บางคนเสนอให้ใช้ช่องนี้

อย่างไรก็ดี ช่องทางดังกล่าวขึ้นกับปัจจัยสถานการณ์บ้านเมืองว่ามีปัญหามากแค่ไหน และรัฐบาลไม่ยอมขยายเวลา ทั้งนี้ ปกติรัฐบาลสามารถขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญกี่ครั้งก็ได้ เพราะไม่มีข้อห้ามไว้ และจะเปิดประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องอะไรก็ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะใช้มาตรา 129 เพราะยังอยู่ในช่วงเปิดประชุมสมัยวิสามัญอยู่ ทั้งนี้การจะปิดสมัยประชุมอยู่ที่ ครม.จะปิดเมื่อใดก็ได้ทั้งนั้น

นายองอาจ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ชี้แจงในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” เรื่องการไม่เปิดอภิปราย 2 สภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 โดยอ้างว่า การประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 สามารถอภิปรายปัญหาต่างๆ ได้อยู่แล้ว และไม่มีเวลาเพียงพอนั้น พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจดีว่า มาตรา 179 เป็นอำนาจของนายกฯ แต่ที่นายกฯ อ้างมานั้นบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิดให้สาธารณะ เพราะการอภิปรายทั่วไป กับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เป็นการอภิปรายความเป็นไปได้ในการจัดค่าใช้จ่าย ส่วนการอภิปรายทั่วไป เป็นการระดมความเห็นของสมาชิกรัฐสภาเสนอแนะเพื่อให้ ครม.นำไปปฏิบัติ

นอกจากนี้ การอภิปรายทั่วไปยังต่างกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแยกอยู่ต่างหาก และประเด็นการอภิปรายคือเน้นการชี้ให้เห็นการบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ขัดกฎหมาย ส่อทุจริต ไม่สมควรไว้วางใจให้ทำงานต่อ แต่ไม่มีการเสนอแนะ ดังนั้น ที่นายกฯ ชี้แจง จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะคนละสาระคนละเจตจำนง

นายองอาจ กล่าวต่อว่า ส่วนที่นายกฯ อ้างว่า สภาไม่มีเวลา เพราะต้องพิจารณากฎหมายที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ และวันที่ 25-27 มิถุนายน ต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะสภาไม่จำเป็นต้องประชุมแค่วันพุธ หรือ พฤหัส แต่วันอื่นแม้แต่วันเสาร์ อาทิตย์ ก็ประชุมได้ แต่ที่นายกฯอ้าง เป็นการจงใจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ส่วนที่หาว่าฝ่ายค้าน หรือ ส.ว.กระเหี้ยนกระหือรือ รีบร้อน อภิปรายนั้น ฝ่ายค้านไม่ได้รีบร้อน แต่ทำอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่เกมการเมือง หรือ มุ่งทำลายรัฐบาล ทั้งนี้ ฝ่ายค้านมีช่องการเปิอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เห็นว่าหากมีการเปิดอภิปราย 2 สภา จะเกิดประโยชน์มากกว่า เพราะระดมความเห็นจาก ส.ส.ทุกคน และส.ว.เสนอต่อรัฐบาลได้ แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่เห็นเจตนาดี

“ส่วนที่อ้างว่าทำงานมา 4 เดือน แล้วไม่มีปัญหา ผมขอถามว่าวันนี้หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทุกคอลัมน์ พาดหัวถึงวิกฤตของประเทศ หวั่นประเทศพังมาเดือนหนึ่งแล้ว ฝ่ายค้านหรือ ส.ว.จะขอเปิดอภิปรายก็เพราะเห็นปัญหา ยกเว้นนายกฯคนเดียวเท่านั้นบอกว่า ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ที่นายกฯถามว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลแล้วมีฝ่ายค้านขอให้เปิดอภิปราย 2 สภา พรรคจะทำหรือไม่นั้น ขอประกาศว่า ถ้าพรรคเป็นรัฐบาลแล้วบ้านเมืองมีปัญหามาก ก็ยินดีให้เปิด เราไม่ใจแคบฟังคนใน ครม.เพียง 30 กว่าคน หรือคนที่ประจบสอพลอใกล้ชิด หรือ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเพียงอย่างเดียว สรุปคือ ที่นายกฯ ออกมาชี้แจงโดยอ้างต่างๆ นานานั้น บิดเบือนอย่างสิ้นเชิง ผมจะเสนอที่ประชุมแกนนำพรรค 14.00 น.วันนี้ว่า คงต้องใช้การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นช่องทางที่เหลือทางเดียว เนื่องจากรัฐบาลปิดกั้น ซึ่งขึ้นกับที่ประชุมพรรคจะว่าอย่างไร”

นายองอาจ กล่าวอีกว่า ที่พรรคพลังประชาชนระบุว่ารัฐธรรมนูญเปิดช่องให้อภิปรายง่าย และพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวปัญหา จ้องอภิปรายรับลูกพันธมิตรฯ ก่อกวนควบคู่ทั้งในและนอกสภา ขอชี้แจงว่าพรรคไม่ได้เป็นปัญหาของประชาธิปไตย 60 กว่าปีที่ผ่านมา พรรคพิสูจน์ชัดว่าใช้ประชาธิปไตยแก้ปัญหา ขอให้พรรคพลังประชาชนไปดูตัวเองที่แปลงร่างมาจากพรรคไทยรักไทย ที่ใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือเข้าสู่อำนาจ อดีตผู้นำของพรรคนั้นก็เคยพูดไว้ แล้วก็เอาอำนาจไปแสวงประโยชน์โดยมิชอบ ส่อทุจริตเชิงนโยบาย ทั้งนี้ การอภิปรายง่ายไปใม่ใช่อุปสรรคของประชาธิปไตย แต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

“พรรคไม่เคยจ้องอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยกเว้นมีความจำเป็นจริงๆ สมัยรัฐบาลทักษิณเราก็ให้บริหารไปเป็นปีจึงขอเปิดอภิปราย และการอภิปรายก็ล้มรัฐบาลไม่ได้อยู่แล้วเพราะเสียงไม่พอ และขอปฏิเสธว่าไม่ได้รับลูกพันธมิตรฯ ก่อกวนในสภา คนที่ก่อกวนนั่นคือคนที่เร่ร่อนอยู่นอกประเทศ ก่อกวนเพื่อประโยชน์ตนเอง โดยสั่งการให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อหนีคดีทุจริต หนีคดียุบพรรค แทรกแซงข้าราชการ หนีกระบวนการยุติธรรม หรืออาจมีส่วนในการสั่งการหิ้วเงิน 2 ล้านบาท ให้เจ้าหน้าที่ศาลหรือไม่” นายองอาจ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น