xs
xsm
sm
md
lg

‘อัมมาร’ อัด ‘รบ.หุ่นเชิด’ มัวแทรกคดีนาย ไม่แก้ ศก. นโยบายข้าวได้ F

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การอภิปรายเรื่อง“เศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยการประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล”จัดในวาระครบรอบ 59 ปี คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ในช่วงบ่ายวันนี้ (14 มิ.ย.) ณ โรงแรมปาร์คนาย เลิศ แรฟเฟิลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล
ผู้จัดการออนไลน์ – ศ.ดร.อัมมาร กล่าวอภิปรายในงาน 59 ปีเศรษฐศาสตร์ มธ. วิพากษ์รัฐบาลสมัครมัวแต่แก้ปัญหาให้นาย แทรกกระบวนการยุติธรรมจนขาดธงทาง ศก. ชี้แบงก์ชาติทำไม่รู้ไม่ชี้ ลอยตัวเรื่องแก้เงินเฟ้อ ให้คะแนนนโยบายน้ำมัน รบ.สอบผ่านเฉียดฉิว แต่นโยบายเรื่องข้าวได้เอฟ

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช 

วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่โรงแรมปาร์คนายเลิศ แรฟเฟิลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงาน วันคล้ายวันสถาปนาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 59 ขึ้นโดยมีการจัดเวทีอภิปรายเรื่อง “เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล” โดยมีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงเข้าร่วมประกอบไปด้วย ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

อัด ‘หุ่นเชิด’ มัวแทรกคดีนายใหญ่ไม่สน ศก.
ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา
ศ.ดร.อัมมาร เริ่มต้นการอภิปรายโดยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวชว่า เป็นรัฐบาลที่เข้ามาโดยมีเป้าหมายทางการเมืองของทั้ง ‘หุ่นเชิด’ และ ‘ผู้เชิด’ ที่พยายามซุกคดี และแทรกแซงหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม

“เป้าหมายแรกที่รัฐบาลนี้ตั้งแต่เข้ามาเป็นเป้าหมายที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นเป้าหมายของรัฐบาลทั้งของนอมินี และ นอมิเนเตอร์ด้วย คือ เป็นเป้าหมายทางการเมือง ทางด้านความพยายามซุกคดี ทั้งในสภา ทั้งในศาล ทั้งในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ที่ทำหน้าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน มีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน ตรงตัว และทุกคนร่วมสมัครสมานสามัคคีที่จะทำงานด้านนี้ด้วยวิธีการต่างๆ”

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า ด้วยเงื่อนไขข้างต้นเป็นเหตุผลส่งให้ ในช่วงแรกๆ รัฐบาลไม่ค่อยมีเวลาในการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้เท่าที่มีการประกาศออกมาในตอนต้นนั้นด้านหนึ่งก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อสานต่อนโยบายของพรรคไทยรักไทยเดิม ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อลบล้างสิ่งที่รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ทำไว้เดิม อย่างไรก็ตามถือว่ารัฐบาลนี้ไม่มีจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจอะไรที่ชัดเจน

ขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจที่รัฐบาลนายสมัครที่ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจที่มีความหนักหนาสาหัสมาก ทั้งนี้เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลนายสมัครนั้นได้แต่ดำเนินนโยบายเชิงรับ ไม่ได้ดำเนินนโยบายเชิงรุก

อัดแบงก์ชาติดูดายปัญหาเงินเฟ้อ

ต่อมา ศ.ดร.อัมมาร ได้กล่าวถึงปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยว่า ปัญหาเงินเฟ้อนั้นถือเป็นปัญหาระดับมหภาค แต่หน่วยงานที่เข้ามาแก้ปัญหานี้ในรัฐบาลนี้กลับเป็นกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นกระทรวงที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับจุลภาค ขณะที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อ อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับประพฤติตัวเป็นผู้พยากรณ์และผู้สังเกตการณ์

“ตอนที่เงินเฟ้อไม่เป็นปัญหาธนาคารชาติก็ตีฆ้องร้องป่าวว่า หน้าที่ดูแลเงินเฟ้อเป็นของเรา (แบงก์ชาติ) โดยเฉพาะ แต่มาปัจจุบันไม่ทราบแบงก์ชาติหายไปไหน เวลาออกมาสัมภาษณ์ก็ไม่ได้พูดถึงนโยบายเงินเฟ้อ แต่เป็นการพยากรณ์เงินเฟ้อมากกว่า เช่น บอกว่าปีหน้าเงินเฟ้อมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลัก ทั้งหมดนี้ทำให้ผมไม่เข้าใจ”

“ผมเข้าใจว่าปัญหาเงินเฟ้อในเวลานี้เป็นปัญหาที่มาจาก Cost Push (แรงผลักดันทางด้านต้นทุน) มาจากปัญหาราคาผลิตผล ราคาน้ำมันที่ขึ้นราคา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะต้องพูดกันว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อระดับราคาโดยทั่วไป สินค้าอื่นๆ ยกเว้นน้ำมันและผลิตผลการเกษตรบางอย่าง”

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ยังกล่าวด้วยว่า “เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ เป็นผลอันหนึ่งที่มาจากราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วคนทั่วโลกยกเว้นธนาคารกลางของจีน ญี่ปุ่น เกาหลี กำลังหนีออกจากเงินดอลลาร์ทั้งนั้น แม้แต่ธนาคารกลางเหล่านี้ (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ผมก็ไม่รู้ว่าแอบเอาเงินดอลลาร์ออกมาขายมากน้อยแค่ไหน ... เพราะฉะนั้น ส่วนหนึ่งที่เราจะต้องมองถึงก็คือ ท่าทีต่อเงินดอลลาร์ของเรา ท่าทีอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ธนาคารชาติจะต้องมี”

นโยบายราคาน้ำมันสอบผ่านเฉียดฉิว

ศ.ดร.อัมมารกล่าวถึงนโยบายราคาน้ำมันของรัฐบาลว่าพอใช้ได้ เพราะไม่ทำผิดซ้ำเดิมจากที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยเคยทำผิดมาแล้วด้วยการไม่อุดหนุนราคาน้ำมันจากกองทุนน้ำมัน กระนั้นท่าทีของรัฐบาลที่ขัดแย้งกันอยู่ก็ท่าทีที่รัฐบาลมีต่อ บริษัท ปตท. ที่รัฐบาลบอกให้ บริษัท ปตท.ลดราคาน้ำมัน ซึ่งแม้จะทำได้เพราะรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ก็ถือว่าเป็นการขูดรีดผู้ถือหุ้นรายย่อย

ทั้งยังกล่าวด้วยว่า ถ้าหากให้เป็นคะแนนสอบแล้ว นโยบายเรื่องราคาน้ำมันของรัฐบาลในสายตาของตนแล้วถือว่าได้คะแนนบีลบ (B-)

นโยบายข้าวได้ “เอฟ”

นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนโยบายข้าวกล่าวโจมตีนโยบายเกี่ยวกับข้าวของรัฐบาลนายสมัครและกระทรวงพาณิชย์ที่มีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นั่งเป็นรมว.ว่า เป็นเรื่องที่ล้มเหลว เนื่องจากมีความสับสนทางนโยบาย ไม่มีความแน่นอน และเน้นแต่การสร้างภาพทางการตลาดเท่านั้น

“สำหรับนโยบายข้าว คำว่านโยบายคืออุบายที่มีนัยยะ ทั้งหมดที่รัฐบาลทำไม่ใช่นโยบายแล้วก็ไม่มีนัย ... รู้สึกว่ารัฐบาลตื่นเช้ามาทุกวัน วันนี้ก็มีนโยบายอย่างนี้ จะช่วยเหลือเกษตรกร พรุ่งนี้มีนโยบายช่วยเหลือผู้บริโภคในเมือง เดี๋ยวจะขายข้าวธงฟ้า เดี๋ยวจะหยุดขายข้าวธงฟ้า ขายออกมาครั้งละแสนกระสอบ ตัวเลขใหญ่ดี ทางด้านมาร์เกตติง (การตลาด) เก่งมา แต่ตัวเลขแสนกระสอบนั้นเท่ากับห้าร้อยตัน เรามีสต็อกอยู่ในมือสองล้านกว่าตันก็ได้เครดิตทางด้านมาร์เกตติ้งไป”

“ที่สำคัญก็คือ นโยบายการค้าต่างประเทศของเราก็รู้สึกสับสน ทุกคนงงไปหมดว่าเราอยากจะขายหรือไม่ขายข้าว พ่อค้าส่งออกก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะมาไม้ไหนแน่ อยู่ดีๆ ก็ลุกขึ้นมาประกันราคาข้าวทั้งๆ ที่ราคาข้าวสูงขึ้นไปถึง 12,000-13,000 บาทต่อตัน เพียงแต่ว่ามันตกลงมาจากราคา 15,000 บาท แต่ 12,000 บาทนี่มันไม่ใช่ราคาต่ำนะครับ ถือว่าเป็นราคาค่อนข้างดี ... เพียงแต่รัฐบาลพอรู้สึกว่าราคาตกลงมาเล็กน้อยเมื่อมีคนโวยวายก็รีบเข้าไปแก้ปัญหา”

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวถึงประสบการณ์ในอดีตด้วยว่า “ในอดีต ทุกครั้งที่มีปัญหาอย่างนี้ สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลจะมีโควตาส่งออก หรือ เพิ่มภาษีส่งออก ที่เรียกกันว่าพรีเมียม มีนโยบายต่างๆ ออกมาเพียบ เพื่อกันไม่ให้ข้าวออกไปนอกประเทศ แต่รัฐบาลนี้ไม่มี ที่มีมาเมื่อสองวันก่อนก็คือรัฐบาลตัดสินใจที่จะไม่ขายข้าวให้กับฟิลิปปินส์ด้วยเหตุผลที่ไม่ประจักษ์ ซึ่งแสดงถึงความสับสนและความไม่เอาไหนของรัฐบาล”

“เราให้กระทรวงพาณิชย์มาแก้ปัญหาเงินเฟ้อ แต่เราก็หวังว่ากระทรวงพาณิชย์อย่างน้อยจะใช้ความคิดความอ่านอะไรบ้าง แต่ดูจากนโยบายข้าวแล้วหาไม่เจอจริงๆ สับสนอลหม่านไปหมด”

ศ.ดร.อัมมารกล่าวสรุปในตอนท้ายของการอภิปรายว่า นโยบายเงินเฟ้อไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล ขณะที่แบงก์ชาติซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อก็ไม่ได้ทำงานดังกล่าว ทั้งนี้ยังประเมินคะแนนด้วยว่า สำหรับนโยบายข้าวของรัฐบาลนั้นถือว่าได้เอฟ (F) หรือ สอบตก
กำลังโหลดความคิดเห็น