มท.1 ยอมรับไม่ผ่านมาตรฐานการสอบภาษาอังกฤษ (โทเฟล) ตามคำท้าทายของ “สนธิ” แต่ยังอ้างน้ำขุ่นๆ หลักสูตรด็อกเตอร์ทางกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องสอบ เล่นลิ้นให้พันธมิตรฯ ยึดแบบอย่าง ส.ว.เปิดอภิปรายในสภา
วันนี้ (10 มิ.ย.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวขอบคุณสมาชิกวุฒิสภาที่ยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล เพราะถือเป็นแบบอย่างที่ดีในระบอบประชาธิปไตยที่ควรนำไปเป็นบรรทัดฐาน ขณะเดียวกันได้แนะให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดูเป็นตัวอย่างเก็บไปสอนลูกสอนหลาน และหากพันธมิตรฯ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก็ควรจะนำไปให้ ส.ว.หรือ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการอภิปราย โดยหากรัฐบาลทุจริตตามที่พันธมิตรฯ กล่าวหา ไม่สามารถตอบชี้แจงได้ ประชาชนก็จะหมดศรัทธา และรัฐบาลก็จะอยู่ไม่ได้
รัฐมนตรีมหาดไทย ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ได้กล่าวท้าบนเวทีสะพานมัฆวานฯ ว่า ให้เปิดเผยผลการสอบ TOEFL ในการทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าได้ถึง 550 คะแนน ตามเกณฑ์หรือไม่ โดย ร.ต.อ.เฉลิมอ้างว่า หลักสูตรปริญญาเอกนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ศึกษาไม่ได้บังคับให้ต้องสอบคะแนน TOEFL แต่มีเงื่อนไขต้องจบปริญญาตรี และปริญญาโททางด้านกฎหมาย เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.5
ร.ต.อ.เฉลิม ทำดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง ปัญหาการบังคับใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา : ศึกษากรณีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ประจำรังสรรค์ แสงสุข เป็นประธาน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.มัลลิกา พินิจจันทร์ รองศาสตราจารย์พูนศักดิ์ วรรณพงษ์
ทั้งนี้เมื่อทีมงานผู้จัดการออนไลน์ดำเนินการสอบถามเจ้าหน้าที่โครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิต ด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็พบว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าศึกษาระดับ โครงการดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่า ผู้สมัครต้องมีความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ ได้ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 550 หรือ ต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษจากสถาบันภาษา ม.รามคำแหงโดยได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 กรณีไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องเข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษตามเงื่อนไขที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด หรือ ต้องสอบผ่านความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา
นอกจากนั้น ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2548 ในหัวข้อ 13.3 คือ "สอบผ่านภาษาต่างประเทศอย่างน้อย 1 ภาษาตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสถาบันอุดมศึกษากำหนด" และปฏิบัติตามเงื่อนไขตามข้อ 13.3.2 ที่กำหนดว่า ผลงานวิทยานิพนธ์ต้องได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร หรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการที่กรรมการภายนอกมาร่วมกลั่นกรอง(Peer Review) ก่อนการตีพิมพ์และเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น
ซึ่งจะเห็นได้ว่า เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2548 ในหัวข้อ 13.3 ระบุไว้ชัดว่า "สอบผ่านภาษาต่างประเทศอย่างน้อย 1 ภาษา" ดังนั้นการเข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษตามเงื่อนไขมหาวิทยาลัยรามคำแหงกำหนดในข้อ 2 จึงขัดกับหลักเกณฑ์ของกระทรวงด้วย
ทั้งนี้ นายสนธิได้ปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ เมื่อคืนที่ผ่านมา ในเชิงท้าทายไปถึง ร.ต.อ.เฉลิม 2 เรื่อง คือ 1.ให้เปิดเผยเรื่องที่พูดจาข่มขู่เรื่องที่อุดรธานี และ 2.เรื่องมาตรฐานการสอบภาษาอังกฤษ (โทเฟล) ในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ว่าทำคะแนนได้ถึง 550 ตามมาตรฐานหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ว่าทำได้จะเอาอะไรก็ได้ แต่ตนเองไม่เชื่อว่า ร.ต.อ.เฉลิมจะสอบด้วยตัวเอง พร้อมกันนี้ยังท้าให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ใช่พูดภาษาอังกฤษ ได้แค่ เยส, โน-โอเค และโคคา-โคล่า
โครงการดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คุณสมบัติของผู้สมัคร 1.ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจากสถาบันอุดมศึกษาที่ทบวงมหาวิทยาลัยรับรองและมหาวิทยาลัยรามคำแหงให้ความเชื่อถือภายใต้เงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ปริญญาตรีตรงสาขาและปริญญาโทตรงสาขา เคยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทมาก่อน (2) ปริญญาตรีตรงสาขาและปริญญาโทตรงสาขา ไม่เคยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทมาก่อน (3) ปริญญาตรีไม่ตรงสาขาแต่ปริญญาโทตรงสาขาและเคยทำวิทยานิพนธ์ (4) สาขาวิชาที่มีความหลากหลาย เช่น สังคมวิทยาพิจารณาจากพื้นฐานการศึกษาและหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ที่ผู้สมัครสนใจเข้าศึกษา (5) คุณสมบัติพิเศษอื่นที่คณะกรรมการบริหารให้ความเห็นชอบ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด หมายเหตุ: สำหรับสาขาวิชานิติศาสตร์จะรับตามเงื่อนไข (1) และ (2) 2. ผู้สมัครต้องมีความรู้ทางด้านภาษอังกฤษ ได้ TOEFL ไม่ต่ำกว่า 550 หรือ ต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษจากสถาบันภาษา ม.รามคำแหงโดยได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80% กรณีไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องเข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษตามเงื่อนไขที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด หรือ ต้องสอบผ่านความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา นักศึกษาจะต้องปฏิบัติดังนี้ หลักสูตรแบบ 1 (1) สอบผ่านภาษาอังกฤษ หรือสถิติ หรือคอมพิวเตอร์ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยกำหนด (2) ผ่านการสอบประเมินคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เพื่อเป็นผู้มีสิทธิขอทำดุษฎีนิพนธ์ (3) เสนอดุษฎีนิพนธ์ (4) สอบผ่านการสอบปากเปล่าป้องกันดุษฎีนิพนธ์ โดยคณะกรรมการ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายใน และ ภายนอกมหาวิทยาลัย (5) ผลงานดุษฎีนิพนธ์ ต้องผ่านการเสนิต่อที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการ และได้รับการตีพิมพ์ หรืออย่างน้อยดำเนิการให้ผลงานหรือส่วนหนึ่งของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้น จึงจะถือว่าสำเร็จการศึกษา หลักสูตรแบบ 2 (1) ศึกษารายวิชาครบถ้วนตามที่กำหนดในหลักสูตร โดยต้องได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 จากระบบ 4 แต้มระบบคะแนนหรือเทียบเท่า (2) สอบผ่านภาษาอังกฤษ หรือสถิติ หรือคอมพิวเตอร์ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยกำหนด (3) ผ่านการสอบประเมินคุณสมบัติ (Qualifying Examination) เพื่อเป็นผู้มีสิทธิขอทำดุษฎีนิพนธ์ (4) เสนอดุษฎีนิพนธ์ (5) สอบผ่านการสอบปากเปล่าป้องกันดุษฎีนิพนธ์ โดยคณะกรรมการ ซึ่งจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายในและตายนอกมหาวิทยาลัย (6) ผลงานดุษฎีนิพนธ์ต้องผ่านการเสนอต่อที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการ และได้รับการตีพิมพ์หรืออย่างน้อยดำเนินการให้ผลงานหรือส่วนของผลงานได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชานั้นก่อน จึงจะถือว่าสำเร็จการศึกษา |