กกต.เอาผิด “หมัก” ชิมไปบ่นไป เสียงแตก 2 หน่อ “สมชัย-สดศรี” มองไม่มีอำนาจในการสอบสวน โยนกลับวุฒิฯ ส่งศาล รธน.ชี้ขาดได้เอง ขณะที่ “ประพันธ์-สุเมธ” ยังเสียงแข็งเขียนชัดให้อำนาจ กกต.สอยได้ รอ “อภิชาต” ชี้ขาด
วันนี้ (4 มิ.ย.) นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ร้องเรียนว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไปจัดรายการชิมไปบ่นไป เข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมไต่สวน ที่มี พล.อ.ยอดชาย เทพยสุวรรณ เป็นประธาน ยังไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า กกต.ไม่น่าจะมีอำนาจในการสอบสวนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคท้าย เพราะรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวกำหนดให้นำรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ 92 มาประกอบ ซึ่งกรณีนี้ผู้ร้องถือเป็นวุฒิสมาชิก ดังนั้น จึงควรดำเนินการตามมาตรา 91 ที่กฎหมายระบุให้ ส.ว.ต้องเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 เพื่อส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มาผ่าน กกต.
สำหรับกรณีคุณสมบัติของ นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลและส่งมาให้ กกต.ดำเนินการนั้น ที่ประชุมจะมีการพิจารณาลงมติในวันที่ 10 มิ.ย.โดยดูว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามที่ ป.ป.ช.เสนอมาหรือไม่ แต่จะไม่พิจารณากรณีไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินของภรรยาที่ถือครองหุ้นเกินร้อยละ 5 ในบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด ว่า ขัดต่อกฎหมายและขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมมาตรา 269 หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกต.จะไม่นำกรณีของ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ ที่ถูกชี้มูลในลักษณะเดียวกันมาพิจารณาพร้อมกับกรณีของ นายไชยา เนื่องจาก กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาพิจารณาคนละชุด
“ผมเห็นว่า การที่ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการส่งเรื่องนี้ให้วุฒิสภา และขณะนี้วุฒิสภาได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อวุฒิสภาส่งเรื่องไปแล้วก็ไม่รู้ว่ากกต.จะส่งไปซ้ำซ้อนทำไม” รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมกกต.เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา กกต.ได้มีการหยิบยกกรณีที่ พล.อ.ยอดชาย เทพยสุวรรณ ประธานอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหานายสมัคร ไปจัดรายการชิมไปบ่นไป เข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ที่ได้มีการสอบถามมายัง กกต.ว่า การสอบกรณีดังกล่าวนี้จะให้คณะอนุกรรการฯใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการสอบสวน เนื่องจากเกรงว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้ให้อำนาจไว้ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณามีความเห็นเป็น 2 แนวทางโดยนายสมชัย กับ นางสดศรี สัตยธรรม เห็นว่า อำนาจของ กกต.เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติมีเฉพาะช่วงเลือกตั้งที่ กกต.อยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่เมื่อเป็นรัฐมนตรีแล้วการตรวจสอบถอดถอนกรณีขาดคุณสมบัติต้องเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ดังนั้น เรื่องดังกล่าวจึงไม่เห็นว่า กกต.ที่จะไปดำเนินการถอดถอนนายสมัคร ส่วนอีก 2 เสียง คือ นายประพันธ์ นัยโกวิท และ นายสุเมธ อุปนิสากร ก็มองว่า กกต.มีอำนาจในการสอบสวน และเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 182 เขียนไว้ชัดเจน แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจาก นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ติดภารกิจไปต่างประเทศไม่ได้อยู่ร่วมประชุม จึงต้องเลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน