xs
xsm
sm
md
lg

“คณิน” อ้าง กกต.ไร้สิทธิตัดสิน “หมัก” ชี้ต้องส่งศาล รธน.ตีความ “ชิมไปบ่นไป”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีต ส.ส.ร.40 “คณิน บุญสุวรรณ” อ้าง กกต.ไม่มีสิทธิ์ตัดสินความผิด “หมัก” กรณีจัดรายการ ชิมไปบ่นไป เพราะถึงผิดจริงจะปลดออก ก็ต้องให้ ส.ส.รวบรวมรายชื่อส่งให้ศาล รธน.ตีความอยู่ดี “พรชัย เทพปัญญา” ชี้ นายกฯ จัดรายการออกทีวีเข้าข่ายช่วย บ.เอกชนหาประโยชน์

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ ตอบโจทย์

วานนี้ (20 พ.ค.) นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และนักวิชาการอิสระ ให้สัมภาษณ์ในรายการ ตอบโจทย์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ทีวีสาธารณะ ถึงกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จัดรายการ “ชิมไปบ่นไป” ว่า ในกรณีดังกล่าวหากตีความแล้วตาม มาตรา 267 ของ รธน.ไม่ได้ระบุถึงเพียงนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ที่ห้ามมีตำแหน่ง และห้ามเป็นลูกจ้าง ในนิติบุคคลใดๆ แต่ยังรวมไปถึง ส.ส.และ ส.ว.ด้วย ดังนั้น หากการกระทำดังกล่าวของนายสมัคร เป็นความผิด หาก ส.ส.หรือ ส.ว.คนใด ไปดำเนินรายการโทรทัศน์ หรือดำเนินรายการวิทยุอย่างนายสมัครก็ต้องถือว่ามีความผิดด้วยเพราะต้องถือเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน

ส่วนกรณีที่ นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า ใน รธน.มาตรา 267 ไม่ได้เขียนว่า ให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้น หากการกระทำดังกล่าวหากขัดต่อกฎหมายตามมาตรา 267 ตำแหน่งรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี จะสิ้นสุดลงทันที ซึ่ง กกต.สามารถวินิจฉัยได้เองโดยไม่ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามข้อใดข้อหนึ่งตามที่กำหนดไว้ใน รธน.ต้องให้ ส.ส.เข้าชื่อกันเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเท่านั้น ดังนั้น ถึง กกต.จะชี้ขาดในวันนี้ ว่า นายสมัคร ผิด แต่ก็ไม่สามารถปลดนายสมัครออกได้ ซึ่งในกรณีนี้ตนไม่คิดจะระบุว่าการกระทำของนายสมัคร ขัดต่อ รธน.หรือไม่ คงต้องเป็นเรื่องที่ต้องส่งให้ศาล รธน.ตัดสินโดยดูถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอื่นร่วมด้วยเช่นว่า นายสมัคร เป็นลูกจ้างของบริษัทนั้นๆ หรือไม่

“กกต.มีอำนาจวินิจฉัยเฉพาะกรณีที่มีการละเมิดกฎหมายประกอบ รธน.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ผิดไปจากนั้นเมื่อเขาเป็น ส.ส.แล้วเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ถ้าพบความผิดภายหลังว่ามีการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ต้องส่งศาลวินิจฉัยสถานเดียวเท่านั้น ไม่ใช่อยู่ๆ จะไปเอาเขาออก”

นายคณิน กล่าวด้วย ในเรื่องของความเหมาะสมนั้น ตนคิดว่าการที่นายสมัครไปจัดรายการดังกล่าวนั้นไม่เหมาะสม เพราะเมื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วก็ไม่น่าจะไปทำกิจกรรมเช่นนี้อีก ดังนั้นแนวทางแก้ไขต่อไปของเรื่องนี้ ตนอยากจะแนะนำว่าทางสมาคมวิชาชีพสื่อน่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญโดยกำหนดไว้เป็นจรรยาบรรณว่า ใครก็ตามที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว.ไม่ควรให้มาดำเนินรายการใด ๆ ในวงการสื่อสารมวลชนอีก

ด้าน นายพรชัย เทพปัญญา นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวนั้นเข้าข่ายในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน เห็นได้จากที่เมื่อนายสมัครเป็นผู้ดำเนินรายการแล้วก็ทำให้รายการนั้นๆ ได้ค่าเช่าโฆษณาในรายการสูงขึ้นทั้งที่หากเป็นคนอื่นเป็นผู้ดำเนินรายการอาจได้ค่าโฆษณาน้อยกว่านี้มาก จึงถือได้ว่าเรื่องนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทนั้นๆ อย่างเห็นได้ชัด

การที่ นายสมัคร กล่าวว่า สาเหตุที่ไม่เลิกจัดรายการทั้งที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เป็นเพราะได้ปรึกษานักกฎหมายแล้วว่าไม่ผิดจึงทำรายการต่อนั้น ตนมองว่า ถึงแม้จะมีการตัดสินออกมาว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิด แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่ความเหมาะสมมากกกว่า ว่าการที่ตัวเองเสนอตัวมาทำงานด้านการเมืองแล้วก็น่าจะทุ่มเททำงานให้เต็มที่ ไม่ใช่ไปเบียดบังเอาเวลาบริหารราชการไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ได้ผลประโยชน์เพิ่มเติมเข้ามา แม้นายสมัคร อ้างว่าไม่ผิดกฎหมายเพราะไม่ได้เป็นลูกจ้าง แต่เป็นการรับจ้าง แต่ทั้งสองอย่างก็ไม่ต่างกัน เพราะจะเป็นลูกจ้าง หรือการรับจ้างก็ได้ผลประโยชน์ตอบแทนอยู่ดี

กำลังโหลดความคิดเห็น