“ปธ.สภา” แนะรัฐบาลใช้อำนาจในมือ ออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อทำประชามติหาก จำเป็นเร่งด่วน เสียงแข็งอ้างเป็นเอกสิทธิ์ ส.ส.ห้ามถอนญัตติไม่ได้ เย้ยผู้ชุมนุมพันธมิตรฯไม่รู้อิโหน่อิเหน่
วันนี้ (23 พ.ค.) นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าที่ ส.ส.และส.ว.ยื่นญัตติ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2550ว่า ขณะนี้ทางสำนักงานสภาผู้แทนราษฎรกำลังตรวจสอบเอกสารการยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ทาง ส.ส.และ ส.ว.ได้ยื่นว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากผิดพลาด มีการปลอมลายเซ็นก็ต้องส่งคืนไปยังผู้เสนอญัตติ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มี ส.ว.ที่มาถอนรายชื่อที่ได้ลงญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว 6 คน แต่ยังสนับสนุนญัตติในเรื่องการทำประชามติอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส.ว.ที่มาถอนรายชื่อออกมาระบุว่าถูกหลอกให้เซ็นชื่อ นายชัย กล่าวว่า โตๆ กันแล้วจะถูกหลอกได้อย่างไร หากถูกหลอกจริงก็ให้ไปดำเนินคดีแล้วเอาเข้าคุกไปซิ เพราะถือว่าถูกหลอกแล้วทำให้เสียชื่อเสียง เมื่อถามว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯได้เสนอให้มีการประชามติก่อนว่าควรที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และระหว่างที่รอการทำประชามติก็ให้ประธานสภาฯระงับญัตติที่ ส.ส.และ ส.ว.เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน นายชัย กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบไม่รู้ว่าจะเสร็จวันไหน เพราะต้องตรวจสอบเอกสารและรายชื่อให้ชัดเจน ว่ามีการปลอมกันหรือประเด็นบกพร่องอะไรหรือไม่ และต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เสนอว่า มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาที่เสนอญัตติไปควรที่จะถอนรายชื่อ นายชัย กล่าวว่า เราไม่มีสิทธิ์ เพราะการลงชื่อสนับสนุนญัตติเป็นเรื่องเอกสิทธิ์ของสมาชิก แต่อย่างไรก็ตามการบรรจุระเบียบวาระการประชุมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรนั้นต้องกระทำให้เสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันยื่น แต่หากเป็นช่วงปิดสมัยการประชุมก็ให้นับตั้งแต่วันที่เปิดประชุมสภานับเป็นที่ 1 นับแต่วันยื่นญัตติ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่า นายกฯจะเสนอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่ ดังนั้น ประชาชนและฝ่ายค้านไม่ต้องเป็นกังวล เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันยากต้องใช้เวลา ไม่ใช่วัน 2 วันต้องใช้ระยะเวลา ไม่ใช่วันเดียวจะทำเสร็จเหมือนกับการหุงข้าวทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อถามว่า หากมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ แล้วมีการเสนอญัตติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการพิจารณาร่างร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งทางประธานสภา จะเสนอแนะไปยังรัฐบาลหรือไม่ นายชัย กล่าวว่า การเปิดประชุมสมัยวิสามัญรัฐบาลอาจเปิดเพียงแค่ 2-3 วันก็เป็นสิทธิ์ของรัฐบาล แต่เราไม่บังอาจเพราะเป็นเรื่องคนละส่วนกัน หากมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเราก็ต้องบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าไปตามกระบวนการ แต่หากปิดสมัยการประชุมก่อนเรื่องการยังคงค้างอยู่จนกว่าจะเปิดสมัยการประชุมจึงจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หากมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพียงแค่ 3 วันแล้ว มีการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปเพื่อให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเรื่องก็สามารถเดินไปได้ นายชัยกล่าวว่า ก็เป็นไปได้ เมื่อญัตติผ่านก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะออกมาชุมนุมต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชัย กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลเขามีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะทำได้ แต่ส่วนใหญ่คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็หลงเข้าไปร่วมในจุดนั้น ตนเห็นว่ามันเป็นการเปลืองสมอง เปลืองร่างกาย ซึ่งการแก้ไขจะเป็นอย่างไรให้เป็นไปตามกระบวนการ อย่าไปเชื่อทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ต้องพิจารณาเรื่องตามความชอบธรรมว่าอยู่ตรงไหน
เมื่อถามว่า กฎหมายประชามติยังไม่ได้ออกมาจะสามารถทำประชามติได้หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า ทำได้ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งฝ่ายบริหารสามารถทำได้ โดยให้กระทรวงหมาดไทยดำเนินการเพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือครบอยู่แล้ว หรือว่าจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาออกมาก็ได้ ไม่เห็นยากอะไร ใช้อำนาจของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวย้ำว่า ต้องเร่งรีบในการทำประชามติขนาดนั้นหรือ นายชัย กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่หากอยากเร่งก็ต้องเดินหน้าทำ ก็อยู่ที่รัฐบาล หากรัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนกระทบต่อปากท้องของประชาชนก็สามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ เมื่อถามต่อว่าแบบนี้ออกเป็นพระราชกำหนดว่าเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศได้หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของฝ่ายบริหาร