“ทิวา เงินยวง” ดักคอ นายกฯ คุยลูกพรรคให้ดีก่อนว่าจะให้ทำประชามติแน่นอนหรือไม่ ย้อนถามเร่งแก้ รธน.ทำเพื่อใคร ด้าน “ทวี สุระฤทธิกุล” เสนอร่างแก้ไข รธน. ก่อนแล้วค่อยทำประชามติ จะดีกว่าเพราะประชาชนจะได้มีข้อมูลมากพอ ในการตัดสินใจ
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ คมชัดลึก
ต่อกรณีที่วานนี้ (21 พ.ค.) สมาชิกรัฐสภา 150 คน ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาให้ข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จะจัดให้มีการทำประชามติถามความเห็นจากประชาชนก่อน ว่าจะแก้ รธน.หรือไม่
ต่อกรณีดังกล่าว นายนิสิต สินธุไพร กรรมการประชาสัมพันธ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคพลังประชาชนให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่น แชนนัล ดำเนินรายการโดย นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ถึงกรณีดังกล่าวว่า ตนคิดว่าการเสนอแก้ รธน.ในขณะนี้ ไม่น่าจะเป็นการทำให้บรรยากาศการเมืองตึงเครียดขึ้น และเรื่องของการเผชิญหน้าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะการแก้ รธน.ครั้งนี้ทำไปอย่างถูกต้องตามกติกากฎหมาย อีกทั้งตอนนี้ทางนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ก็มีแนวคิดที่จะทำประชามติ ถามความเห็นของประชาชนว่าควรจะแก้หรือไม่นั้น ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้เป็นการยุติปัญหาความขัดแย้งของคนสองฝ่ายที่มีความเห็นไม่ตรงกันได้ เพราะทางฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เป็นแกนนำเรียกร้องให้ทำประชามติก่อนแก้ รธน.ถึงตอนนี้ก็น่าจะพอใจแล้ว
นายนิสิต กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม รธน.ปี 50 ก็ต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจาก กฎหมายหลายมาตราของ รธน.ปี 50 โดยเฉพาะมาตรา 327 ที่ระบุให้สามารถยุบพรรคได้หาก กรรมการบริหารพรรคเพียงคนเดียวกระทำผิด ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และเป็นข้อกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น เราจึงต้องแก้ให้ รธน.เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและระยะเวลาในการแก้ รธน.นั้นไม่ถือว่าเร็วเกินไป เพราะในเมื่อ รธน. ทำให้การเมืองอ่อนแอ ส่งผลไปถึงปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม ก็ต้องทำการแก้ไขให้เร็วที่สุด
ขณะที่ นายสมยศ พฤกษาเกษม คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (คปพร.) กล่าวว่า ตอนนี้เมื่อทางนายกรัฐมนตรีเสนอให้ทำประชามติแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและทุกฝ่าย รวมถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ควรที่จะยอมรับอย่าขัดขวางการทำประชามติอีก เพราะเมื่อตอนมีแนวคิดที่จะแก้ รธน.ตั้งแต่แรก ฝ่ายพันธมิตรฯ เองเป็นคนเสนอให้ทำประชามติ ดังนั้นตอนนี้ก็ไม่ควรจะขัดขวางกระบวนการในการแก้ รธน.อีก และตนในฐานะคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยืนยันว่ากลุ่มของตนทำเพื่อทวง รธน.ปี 40 คืนมาเท่านั้น ไม่ได้มองว่าเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของใครทั้งสิ้น เพราะทางกลุ่มเราไม่เห็นว่า รธน.ปี 50 เป็น รธน.เพราะกฎหมายฉบับนี้เกิดมาจากการรัฐประหาร ซึ่งไม่มีความเป็นประชาธิปไตย
นายสมยศ กล่าวด้วยว่า การแก้ รธน.ครั้งนี้ แท้จริงแล้วไม่ควรจะแก้ แต่ควรจะนำ รธน.ปี 40 ทั้งฉบับมาใช้เลยดีกว่า และหากจะแก้มาตราใดใน รธน.ปี 40 ค่อยมาแก้กันทีหลัง น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า การเอา รธน.ปี50 มาปรับแก้แต่ละมาตรา
ด้าน ผศ.ทวี สุระฤทธิกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่าโดยส่วนตัวแล้วตนเห็นด้วยหากแก้ รธน.แล้วก่อให้เกิดผลที่ดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาการออกมาบอกว่าจะแก้ รธน.นั้น ได้ระบุไว้ว่า จะแก้ในบางมาตรา เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มของผู้แก้เอง หรือแก้ รธน.เพื่อล้มล้างหรือทำลายองค์กรใดๆ เพื่อให้เกิดผลดีกับพวกพ้อง ตนจึงคิดว่ากรณีนี้เองที่น่าเป็นห่วงว่าเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง
นายทวี ยังกล่าวด้วยว่า ตนอยากเสนอว่า ในเรื่องของการทำประชามตินั้นควรจะร่าง รธน. ฉบับแก้ไขออกมาก่อน แล้วค่อยให้ลงประชามติน่าจะดีกว่า เพราะจะได้ให้ประชาชนได้พิจารณาเปรียบเทียบ รธน.ทั้งของปี 50 และของใหม่ที่แก้ไขแล้ว ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้ประชาชนจะได้มีเวลาคิดและรับรู้ข้อมูลได้มากกว่า
ขณะที่ ดร.ทิวา เงินยวง ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถึงแม้เรื่องการเสนอแก้ รธน. ในตอนนี้จะเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ ส.ส.สามารถทำได้ แต่ต้องถามว่าหากแก้ตอนนี้แล้วจะได้ประโยชน์อะไรต่อประชาชนมากกว่า หากแก้แล้วประชาธิปไตยพัฒนาขึ้นการเมืองดีขึ้น ตรงนั้นก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี แต่ถ้าแก้แล้วยังตอบคำถามไม่ได้ว่าแก้เพื่อใคร ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าจะนำมาซึ่งความขัดแย้ง และตนมองว่าการที่จะตัดสินว่า รธน.ปี 50 ดีหรือไม่ ควรจะแก้ไขหรือไม่ ควรมองที่ตัวเนื้อหาของ รธน. มากกว่า ว่ามีเนื้อหาอย่างไร ไม่อยากให้มองว่า หากเป็น รธน.ที่เกิดมาจากคณะรัฐประหารแล้วจะไม่ดีไปเสียทุกอย่าง
ส่วนกรณีที่ นายสมัคร ออกมาระบุว่า จะจัดให้ทำประชามตินั้น ตนคิดคงไม่ราบรื่นนัก เพราะขณะที่นายสมัคร บอกว่าจะให้ทำประชามติก่อนจึงค่อยเสนอให้แก้ รธน.แต่วันนี้ ส.ส.และ ส.ว.กลับรวบรวมรายชื่อไปยื่นร่างแก้ไข รธน.กันแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ นายสมัคร คงต้องไปคุยกับลูกพรรค และประธานสภาฯ ให้รู้เรื่องก่อน และกระบวนการในการทำประชามติก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องถกเถียงทางด้านข้อกฎหมายกันอีกว่าจะทำได้หรือไม่ในตอนนี้ อีกทั้งการทำประชามติต้องใช้เงินกว่า 2,000 ล้านนั้น เหมาะสมหรือไม่ เพราะปัจจุบันบ้านเมืองของเรามีปัญหาเยอะ เงินจำนวนมากขนาดนี้น่าจะเอามาสร้างประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่นเอามาช่วยเหลือเด็กยากจนที่ไม่มีเงินเรียน จะดีกว่าหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้เราก็ต้องยอมรับ และทำตามกระบวนการต่อไป เพียงแต่ควรจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไร วิธีไหนเพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดของทุกฝ่าย
“ตอนนี้อย่างไรก็ต้องทำตามกระบวนการ เพราะเค้ายื่นไปแล้ว เพียงแต่ว่าในระยะนี้ ควรจะอธิบายให้ชัดว่า การลงประชามติก่อนแก้ รธน. หรือ ลงประชามติหลังแก้ รธน. มีผลดีหรือผลเสียอย่างไรตรงนี้ต้องอธิบายให้ชัด และให้ประชาชนได้รับข่าวสารข้อมูลที่ชัดเจน ในกระบวนการจัดทำจะเกิดอะไรขึ้นสำหรับความมีส่วนร่วมของประชาชน ถ้าอธิบายได้ ผมว่านั่นคือทางออกของประเทศไทย” นายทิวา กล่าว