xs
xsm
sm
md
lg

“หมัก” ขนลุกลูกจ้างชิมไปบ่นไป ขีดเส้น 15 วัน เข้าข่ายตกเก้าอี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี
กกต.ตั้งอนุกรรมการสอบ “หมัก” จัดรายการชิมไปบ่นไป เข้าข่ายสัญญาลูกจ้างหรือไม่ ขีดเส้น 15 วัน ย้ำกรณีนี้แม้หยุดผลิตรายการแล้วก็ไม่มีผล ตำแหน่งนายกฯต้องสิ้นสุดลงทันที ชี้รธน.ไม่ระบุให้ กกต.ยื่นเรื่องต่อศาล รธน.วินิจฉัย

วันนี้ (20 พ.ค.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง เปิดเผยถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จัดรายการชิมไปบ่นไป อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ นายสมัคร ยังไม่มีการประสานหรือส่งเจ้าหน้าที่มาชี้แจงกกต.ถึงกรณีการจัดรายการในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังมีผู้ร้องเรียนว่า การกระทำของ นายสมัคร ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 267 โดยมีผู้ร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.ว่า นายกรัฐมนตรีได้จัดรายการชิมไปบ่นไป ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะเคร่งครัดต่อนักการเมืองมาก คือ ให้นักการเมืองต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมาตรา 267 ห้ามนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี มีตำแหน่งในนิติบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งห้ามเป็นลูกจ้างของบุคคลใด ซึ่งคำว่า “ลูกจ้างของบุคคลใด” ต้องดูว่าเข้าข่ายตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ หรือเข้าข่ายในลักษณะที่เป็นการจ้างทำ

โดยขณะนี้ กกต.ได้ลงมติให้คณะอนุกรรมการที่ 14 ที่มี พล.อ.ยอดชาย เทพยสุวรรณ เป็นประธานสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นางสดศรี กล่าวด้วยว่า หลังจากคณะอนุกรรมการสอบสวนแล้วเสร็จสรุปเสนอต่อ กกต.จะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ กกต.โดยสิ่งที่จะต้องนำมาเป็นหลักในการวินิจฉัย คือ การดูเรื่องสัญญาการว่าจ้าง ว่า เป็นสัญญาอะไร แต่หากไม่มีสัญญา กกต.ต้องเชิญเจ้าของบริษัท หรือกรรมการบริษัทมาสอบปากคำ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจของคณะอนุกรรมการสอบสวนอยู่แล้วว่า จะดำเนินการอย่างไร หลังจากครบ 15 วันแล้ว ก็คงส่งผลวินิจฉัยมาให้หรือถ้าไม่สามารถสอบสวนให้เสร็จภายใน 15 วัน ก็สามารถขอขยายเวลาการสอบต่อได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ นายสมัคร ระบุว่า ได้ยุติบทบาทการจัดรายการแล้วจะมีผลต่อการสอบสวนหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า การที่มีตำแหน่งในนิติบุคคลเมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีหรือนายกฯ แล้วจะต้องลาออกภายใน 30 วัน ตามมาตรา 268 แต่หากเป็นกรณีที่มีการดำรงตำแหน่งแล้วไม่ลาออก ถือว่า นายสมัคร ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 268 การที่นายสมัคร ยุติบทบาทขณะนี้ ก็ถือว่าไม่มีผล เมื่อถามว่า ความชัดเจนของ เรื่องนี้ กกต.จะสามารถลงมติวินิจฉัยได้ หรือต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาข้อกฎหมาย นางสดศรี กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 267 และ มาตรา 268 ไม่ได้เขียนว่า ให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าหากขัดตามมาตรา 268 ความสิ้นสุดลงของตำแหน่งรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงทันที กกต.สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจน และผู้ร้องไม่ได้ระบุไว้ชัดว่า ต้องการให้ กกต.ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ “เรื่องนี้ นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภา พูดแล้วว่าอาจจะไม่เข้าข่าย แต่ กกต.จะดูอีกที และ กกต.อาจจะต้องประสานไปที่กระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอข้อมูลที่เป็นสัญญาการว่าจ้าง มาใช้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมด้วย” นางสดศรี กล่าว

สำหรับรายละเอียดมาตรา 267 ภายใต้เรื่อง การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีดังนี้
มาตรา 267 ให้นำบทบัญญัติมาตรา 265 มาใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือ องค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น