xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เปรียบนักชิม แนะสังกัดพรรคใหม่ หากถูกศาล รธน.ยุบทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุเมธ อุปนิสากร กกต.
“สุเมธ” สวนกลับ “บรรหาร” ป้ายสีใช้ 2 มาตรฐานพิจารณายุบพรรคเลื่อนชี้ชะตา พปช. ยัน กกต.มีความเป็นอิสระต่อกันใครจะชักจูงไม่ได้ เปรียบแค่นักชิมเมื่อถูกปรุงมาต้องลองชิม ชี้แม้ศาล รธน.ยุบพรรคทั้งหมดก็ไม่น่าจะกระทบต่อการบริหารประเทศ แนะพรรคถูกยุบก็แค่หาพรรคใหม่สังกัด

วันนี้ (20 ส.ค.) นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวตอบโต้นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย กรณีระบุว่า กกต.พิจารณายุบพรรคการเมืองแบบ 2 มาตรฐานว่า การที่ กกต.เลื่อนการพิจารณายุบพรรคพลังประชาชนออกไป 14 วัน ส่วนการพิจารณายุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย กกต.เลื่อนออกไปเพียง 7 วันก็เป็นเวลาที่แตกต่างกันเพียง 7 วันเท่านั้น ไว้เลื่อนออกไปเป็นเดือนค่อยมาตำหนิกัน เรื่องของระยะเวลาจึงไม่ค่อยมีข้อแตกต่างเท่าใด ดังนั้น ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้ทำงานเป็น 2 มาตรฐานอย่างที่นายบรรหารกล่าวหา เพราะมีการกำหนดวันพิจารณาลงมติที่แน่นอน

“ตอนที่ กกต.พิจารณาส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเสนอศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตยนั้น กกต.บางคนเสนอเป็นอย่างอื่น ให้ไปสอบสวนเพิ่มเติม จึงขยายเวลาออกไป 7 วัน ดังนั้น เพื่อตัดปัญหาไม่ให้มีการเลื่อนการพิจารณาอีก กกต.จึงกำหนดวันลงมติของพรรคพลังประชาชนที่แน่นนอนไปเลย คือวันที่ 2 ก.ย. ส่วนในวันที่ 26 ส.ค.ก็ให้อนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเข้ามาชี้แจงถึงเหตุผลเพื่อความชัดเจน เพราะตอนประชุมประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองส่งเอกสารสรุปความเห็นของอนุกรรมการฯ มาให้ กกต.เพียง 18 แผ่น ไม่มีเอกสารสอบพยานทั้งของหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคพลังประชาชน ซึ่ง กกต. ส่วนใหญ่ต้องการเอกสารทั้งหมดว่ามีเนื้อหาอะไรบ้าง เพื่อมาศึกษาประกอบการพิจารณาก่อนลงมติ”

นายสุเมธ ยังกล่าวอีกว่า ตอนที่ กกต.พิจารณาสำนวนยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตยนั้น กกต.ได้ดูเอกสารทั้งหมดที่อนุกรรมการฯใช้พิจารณาอย่างครบถ้วน และให้อนุฯเข้าชี้แจง ประกอบกับการพิจารณาในส่วนของพรรคชาติไทย กกต.เป็นผู้พิจารณาพยาน และหลักฐานเอง และลงมติโดย กกต. แต่พรรคพลังประชาชนนั้น ศาลฎีกาเป็นผู้สืบพยานเองใหม่ทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ว่าในการพิจารณาสำนวน หรือพิจารณาเสนอยุบพรรคอื่นก็จะมีการเสนอข้อมูลมาครบถ้วน มีทั้งเอกสารสอบพยานทุกปาก แต่ในส่วนของพรรคพลังประชาชน มีเพียงเนื้อหาการสรุปความเห็นของอนุฯ ไม่มีเอกสารการสอบพยานปากสำคัญ โดยขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ กกต.ได้ถ่ายสำเนาเอกสารทั้งหมดที่มีจำนวนมากให้ กกต.ทุกคนเรียบร้อยแล้ว กกต.แต่ละคนก็จะได้นำไปศึกษา รวมทั้งนำคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในกรณีนาย ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.สัดส่วนมาประกอบการพิจารณาด้วย

นายสุเมธ ยังเห็นว่า ไม่จำเป็นที่ กกต.จะต้องเชิญหัวหน้าพรรคพลังประชาชนมาชี้แจงต่อที่ประชุม กกต.อีก คาดว่าคำชี้แจงเป็นเอกสารของหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่ยื่นต่ออนุกรรมการฯคงมีความครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่า กกต.คนอื่นๆ จะเห็นอย่างไร แต่สำหรับตน ไม่กดดัน และไม่ห่วงว่า กกต.จะมีมติอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้ในส่วนเสนอยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย กกต.ก็มีมติ 3 ต่อ 2 ส่วนการลงมติของพรรคพลังประชาชน ก็แล้วแต่ กกต.แต่ละคนว่าจะมีมาตรฐานอย่างไร ซึ่งตรงนี้จะแสดงให้เห็นว่า กกต.แต่ละคนมีความเห็นเป็นอย่างไร ส่วนตัวเราก็จะไม่ก้าวก่ายกัน และเชื่อว่า ไม่มีใครสามารถมาชักจูงให้ กกต.ไปในทิศทางไหนได้ เพราะ กกต.ทั้ง 5 ท่านมีความคิดเป็นของตนเอง

สำหรับความคืบหน้ากรณีการพิจารณาสำนวนร้องคัดค้านการทุจริตเลือกตั้งของนายวิฑูรย์ นามบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสรุปสำนวนของอนุฯ ที่มีนาย สุธน แสงสายัณห์ เป็นประธานและทราบว่าทางอนุฯ จะทำความเห็นเสนอต่อประธาน กกต.ในวันที่ 20 ส.ค.นี้ โดย กกต.ก็ติดตามสอบถามอยู่เป็นระยะเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ ไม่ใช่ไปกดดัน ซึ่งยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวนั้น กกต.ไม่มีการยื้ออย่างแน่นอน

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคทั้งหมดที่กรรมการบริหารพรรคถูกร้องทุจริตเลือกตั้งจะกระทบต่อการบริหารประเทศหรือไม่ นายสุเมธ กล่าวว่า ตนเป็นเพียงผู้ชิมอาหาร เขาชงอาหารเข้ามาเราก็กินไปตามนั้น เหมือนกันเขาร้องคัดค้านมา เราก็ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง หากไม่มีคนร้อง เราไปตั้งเรื่องเพื่อพิจารณาเองไม่ได้ ทำอย่างนั้นก็ถูกฟ้อง แต่นี่เขาส่งเรื่องพิจารณายุบพรรคชาติไทย มัชฌิมาธิปไตยมา เราก็พิจารณาไปตามนั้น

“แต่การยุบพรรคจะกระทบต่อการบริหารประเทศหรือไม่นั้น ผมว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน เพราะพ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 98 ระบุชัดว่า หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองใด และปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หัวหน้าพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใดมีส่วนร่วม รู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือไม่ยับยั้ง แก้ไขการกระทำดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคมีกำหนด 5 ปี แต่ถ้าหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคไม่มีส่วนรู้เห็น เกี่ยวข้องก็ไม่น่าจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอยู่แล้ว ฝ่ายบริหารก็ทำงานต่อไปได้ เพียงแต่พรรคถูกยุบก็หาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน” นายสุเมธ กล่าว และว่า แต่ทั้งนี้ หาก กกต.พิจารณาแล้วเชื่อได้ว่า เห็นได้ว่าฟังได้ว่าหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นก็อาจจะทำความเห็นเสนอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคไปด้วย ต้องขึ้นอยู่กับทางอัยการสูงสุด และสุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น