xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ขีดเส้นนัดยื่นบัญชีพยาน 3 พรรค ดีเดย์ 28 พ.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาล รธน.นัดตรวจพยานของ 3 พรรคการเมือง โดยศาลกำหนดนัดตรวจพยานในวันศุกร์ที่ 28 พ.ย.เวลา 09.30 น. หากไม่มาตามกำหนดนัดถือว่าไม่ติดใจ

วันนี้ (26 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (26 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพร้อม โดยให้คู่กรณีทั้งผู้ร้อง (อัยการสูงสุด) และผู้ถูกร้อง (พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย) ซึ่งนายยืนหยัด ใจสมุทร นายธนา เบญจาทิกุล ผู้ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินคดียุบพรรคของพรรคพลังประชาชน เดินทางมาเป็นพรรคแรก ตามมาด้วย นายนิกร จำนง นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย จากนั้นนางพรทิวา นาคาสัย เลขาธิการพรรค และพ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์ และรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ได้เดินทางมาตามที่ศาลได้กำหนดนัดไว้ ทางด้านของอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ในฐานะผู้รับผิดชอบคดียุบพรรคการเมืองมาเป็นผู้ดำเนินคดีแทน อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.พระราชวัง จำนวนหนึ่งมาคอยดูแลรักษาความปลอดภัย โดยรอบบริเวณศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อมาเมื่อเวลา 10.00 น. คณะตุลาการได้ออกนั่งบัลลังก์ โดยมีนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ได้แจ้งให้คู่กรณีได้รับทราบถึงกรอบการพิจารณาของศาลว่าจะมีประเด็นที่ต้องพิจารณามีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรค พลังประชาชน นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีตรองเลขาธิการพรรคชาติไทย และนายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาฯ ได้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 หรือไม่ 2.มีเหตุสมควรให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรคหรือไม่ และ 3. หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค จะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คู่กรณีได้รับฟังการกำหนดประเด็นในการพิจารณาแล้ว ศาลได้ให้ทางทั้ง 3 พรรคยื่นบัญชีพยาน โดยในส่วนของพรรคพรรคมัชฌิมาฯ ได้ขอสืบพยานบุคคลจำนวน 20 ปาก ส่วน อสส.ได้ขอให้สืบพยานบุคคลของฝ่ายผู้ร้องจำนวน 18 ปาก เช่น นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. นายสุพล ยุติธาดา ประธานอนุกรรมการพิจารณายุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นต้น

ทางด้านพรรคชาติไทย ได้ทำบัญชีของสืบพยานบุคคลจำนวน 42 ปาก พยานวัตถุที่เป็นเทปซีดีคำปราศรัยห้ามซื้อเสียง และพยานเอกสาร 33 รายการ นอกจากนี้ยังมีเอกสารที่ยื่นขอจาก กกต. แต่ยังจัดส่งมาไม่ครบถ้วน จึงขอให้ศาลได้อนุญาตส่งเอกสารดังกล่าวเพื่อนำสืบในภายหลังด้วย โดยศาลได้อนุญาต แต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลาที่ศาลได้นัดตรวจพยาน ทั้งนี้ พรรคชาติไทยยังได้ขอให้ศาลอนุญาตให้นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย มาแถลงเปิดคดีด้วยวาจา ซึ่งศาลได้ขอรับเรื่องไว้และจะใช้ดุลพินิจอีกครั้งว่าจะให้แถลงเปิดคดีมากน้อยเพียงไร ส่วนอัยการสูงสุดได้ยื่นขอให้ศาลสืบพยานบุคคล 19 ปาก

ส่วนพรรคพลังประชาชนได้ขอนำสืบพยานบุคคลในส่วนของพรรค 60 ปาก และกรรมการบริหารพรรคที่ไม่มีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย ส่วนอัยการสูงสุดได้ขอให้ศาลนำสืบพยาน 23 ปาก โดยเป็นพยานที่เกี่ยวกับการรับเงินจากนาย ยงยุทธ พยานผู้บันทึกภาพ และพยานจาก กกต. โดยศาลได้ให้ผู้ร้องทำสำเนาให้แก่ผู้ถูกร้องด้วย

อย่างไรก็ตาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังได้ติดใจในกรอบการพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับกรรมการบริหารพรรคไม่มีส่วนรู้เห็นในสำนวนนั้น และได้ถามไปยังอัยการสูงสุดในฐานะผู้ร้องว่ามีพยานหลักฐานใดที่ชี้ว่ากรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรคมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ โดย นายเศกสรรค์ กล่าวว่า จากหลักฐานที่ได้มาจาก กกต. ไม่ปรากฏว่ามีกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละให้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าว นอกจากนี้ยังมีหลักฐานบันทึกในส่วนกกต.ที่ไม่ได้ระบุว่ากรรมการบริหารพรรคคนอื่นมีส่วนรู้เห็นด้วย

ต่อมาเมื่อเวลา 14.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อีกครั้ง อ่านรายงานกระบวนการวิธีพิจารณาและนัดตรวจพยานของ 3 พรรคการเมือง โดยศาลกำหนดนัดตรวจพยานในวันศุกร์ที่ 28 พ.ย.เวลา 09.30 น. หากไม่มาตามกำหนดนัดถือว่าไม่ติดใจ ส่วนกรณีพรรคชาติไทยที่ยื่นคำร้องขอให้นายบรรหาร ได้มาแถลงเปิดคดีด้วยวาจานั้นศาลจะแถลงให้ทราบในวันดังกล่าว ส่วนพรรคพลังประชาชน ที่มีกรรมการบริหารบางรายได้ยื่นขอเป็นคู่ความฝ่ายที่สามนั้น ศาลได้รับไว้เป็นคำชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้อง และการอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวให้ถือว่าเป็นพยานของฝ่ายผู้ถูกร้อง

นายยืนหยัด กล่าภายหลังว่า มั่นใจว่าจะสามรถต่อสู่คดีได้ โดยข้อกฎหมายสำคัญ คือ มาตรา 237 ที่กำหนดเงื่อนไขของการยุบพรรคว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำความผิดและกรรมการบริหารพรรครู้เห็นเป็นใจ แต่วันที่ 28 ต.ค.2550 ที่นายยงยุทธกระทำความผิด นายยงยุทะยังไม่ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่พึงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พ.ย.250 จึงถือว่าไม่เข้าข่ายความผิดมาตรา 237 และตนยังมีหลักฐานว่ากรรมการบริหารพรรคอื่นๆไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของนายยงยุทธ สำหรับพยานเตรียมมามีประมาณเกือบ 100 คนโดยพยานจะเป็นกรรมการบริหารพรรคทุกคนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น