“องอาจ” สับผลงานรัฐบาลหุ่นเชิดสอบตก มุ่งแก้ รธน.มากกว่าปัญหาปากท้อง เตือน “หมัก” อย่าก่อวิกฤต เลิกท้าตีท้าต่อย หนุนแนวคิดองคมนตรีหยุดดึงสถาบันมายุ่งการเมือง จี้นายกฯ ต้องจัดการ “เจ๊เพ็ญ” ไม่ต้องมาชี้แนะ
วันนี้ (19 ก.พ.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลตลอด 3 เดือนว่า สอบตก มุ่งแก้รัฐธรรมนูญมากกว่าแก้ปัญหาประชาชน โดยสาเหตุของการสอบตกส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอก แต่รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าสาเหตุมาจากปัจจัยภายใน มีดังนี้ คือ 1.ไร้ทิศทาง นับตั้งแต่ตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งซึ่งเป็นไปตามโควตาทำให้การตั้งรัฐมนตรีเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง ไม่ได้รัฐมนตรีอย่างที่ต้องการจนนายกฯ ออกมาตำหนิว่ารัฐมนตรีขี้เหร่ นอกจากนี้ยังมีสภาพการทำงานต่างคนต่างทำ พวกใครพวกมัน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งรองนายกฯ ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจก็ทำงานไม่ลงรอยกัน 2.สร้างปัญหาโดยรัฐบาล คือ ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลบริหารจนเรื่องข้าวมีปัญหาข้าวเปลือกถูก ข้าวสารราคาแพง ชัดเจนว่ารัฐบาลสร้างปัญหา ทำให้โอกาสกลายเป็นวิกฤต 3.สร้างปัญหาทางสังคมอย่างต่อเนื่อง 4.สร้างปัญหาทางการเมืองด้วยการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองจนคนคัดค้านหนาตาขึ้นเรื่อยๆ และอาจนำไปสู่วิกฤตการเมืองได้
นายองอาจ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอีกหลายประการด้วยกัน คือ 1.ท้าตีท้าต่อย ด้วยการที่รัฐบาลตำหนินักวิชาการที่วิจารณ์รัฐบาลด้วยถ้อยคำที่รุนแรง เช่น นายธีรยุทธ บุญมี และการที่นายกฯ ออกมาด่าเอแบคโพลล์ว่าเป็นโพลเฮงซวย รวมทั้งยังด่าสื่อออกอากาศในรายการสนทนาประสาสมัคร และไม่ยอมแถลงข่าวตามปกติ มักใช้คำพูดว่า หอก เลว เฮงซวย อยู่บ่อยๆ ถือเป็นพฤติกรรมท้าตีท้าต่อย 2.ปล่อยข่าวทำลายผู้อื่น เช่น อ้างเรื่องแผนการปฏิวัติถึง 2 ครั้ง แต่มีการจัดการกับคนที่จะจัดการปฏิวัติแต่อย่างใด นอกจากนี้ นายกฯ พูดถึงแบงก์เจ๊ง ซึ่งไม่แน่ชัดว่าต้องการปล่อยข่าวหรือไม่ แต่ส่งผลกระทบในแวดวงการเงินการคลัง อีกทั้งนายกฯ ยังกล่าวถึงไอ้หัวเถิกถึง 2 ครั้ง ในรายการสนทนาประสาสมัคร ว่าเป็นผู้สร้างปัญหาในการทำงานของรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้จัดการกับคนที่สร้างปัญหานี้แต่อย่างใด
3.มีพฤติกรรมรื่นไหลไปเรื่อยๆ เช่น นายกฯ บอกจะแก้รัฐธรรมนูญ 3 เดือนหลังหมดวาระ แต่พอถูกกดดันก็เร่งแก้รัฐธรรมนูญ ถือว่าผิดคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชน นอกจากนี้ ที่ประชุม 6 พรรคร่วมรัฐบาลสังคมรับรู้ว่าจะคุยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับมาบอกว่าไม่ได้คุยแต่คุยเรื่องปากท้องชาวบ้าน พร้อมกับโยนเรื่องรัฐธรรมนูญให้สภา และยังมีการแก้ปัญหาเรื่องข้าวที่มีนโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด จนถูกนักวิชาการวิจารณ์ว่าเฮงซวย
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า นับแต่รัฐบาลแถลงนโยบาย 18 ก.พ.เป็นต้นมา พบว่าพฤติกรรมของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ตอบสนองการแก้ปัญหาให้ประชาชนเหมือนดั่งคำที่แถลงไว้มากเท่าที่ควรจะเป็น จึงทำให้ประชาชนไม่พอใจ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เข้าใจดีว่า 3 เดือนไม่ใช่เวลาที่จะรู้ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว แต่สามารถสร้างความมั่นใจว่าจะนำพาให้พ้นวิกฤตสังคม เศรษฐกิจ การเมืองได้หรือไม่ จึงเห็นว่าพฤติกรรมที่ผ่านมารัฐบาลติดกับดักตัวเอง เป็นกับดักที่รัฐบาลร้างขึ้นมาจนก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เชื่อว่าถ้ารัฐบาลพยายามมองเห็นปัญหาเหล่านี้และหาทางออกจากกับดักนี้ รัฐบาลจะมีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถมาบริหารประเทศ มากกว่าบริหารการเมืองเพื่อแก้ปัญหาในพรรคในพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น หวังรัฐเปิดใจกว้างออกจากกับดักชองตัวเอง แต่ถ้ายังติดกับดักของตัวเองเป็นเรื่องน่าเศร้าของประเทศที่ปัญหาจะได้รับการแก้ไขต่อไป
ส่วนกรณีที่ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ องคมนตรี เรียกร้องไม่อยากให้มีการแอบอิงสถาบัน หรือนำสถาบันไปทำให้เกิดความเสียหาย นายองอาจ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าเป็นคำชี้แนะที่ถูกต้อง เพราะไม่ว่าใครก็ไม่ควรนำสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันก็ไม่ควรเกิดขึ้นกับคนไทย เพราะฉะนั้น ตนคิดว่าจำเป็นที่พวกเราต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ป้องกันไม่ปัญหาที่กระทบกระเทือนหรือหมิ่นเหม่ต่อสถาบันเกิดขึ้น ใครที่มีหน้าที่ป้องกันต้องทำอย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้บานปลายออกไป
นายองอาจ กล่าวด้วยว่า ในส่วนการดำเนินการกับนายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ทางรัฐบาลบอกว่า หากคิดว่านายจักรภพหมิ่นเบื้องสูงให้แจ้งความ หรือถอดถอนนั้น กรณีนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เป็นคนละประเด็นกับการยื่นถอดถอน ซึ่งในส่วนนี้ได้ยื่นรายละเอียดให้นายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการ ปชป.รู้ว่าเรื่องไหนควรดำเนินการอย่างไรจึงจะเหมาะสม เราเห็นว่าเรื่องนี้ควรแจ้งให้นายกฯจัดการตามวิถีทางทางการเมือง ส่วนการยื่นถอดถอนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ขัดกฎหมาย หรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริตเชิงนโยบาย และเห็นว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกมาท้าทายให้ประชาธิปัตย์ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่รัฐบาลควรไปจัดการคนของตัวเองตามวิธีการที่เหมาะสมจะดีกว่ามาท้าทายพรรคประชาธิปัตย์
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ยึดมั่นต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่น่าจะไปสู่การปฏิวัติ เหมือนอย่างที่มีหลายฝ่ายออกมาวิเคราะห์ พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันขจัดปัญหาที่จะนำไปสู่การปฏิวัติ ใครที่สร้างเงื่อนไขควรยุติหรือละเว้นในการสร้างเงื่อนไขเหล่านั้น โดยเฉพาะรัฐบาลควรเข้ามาจัดการกับบุคคลที่มีความประสงค์ทำการปฏิวัติ ถ้ารัฐบาลรู้ก็ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น มากกว่าที่จะออกมาโพนทะนาถึงเรื่องปฏิวัติแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ยังปฏิเสธข้อกล่าวหาของพรรคพลังประชาชนที่ระบุประชาธิปัตย์ประสานพันธมิตรฯ และมือที่มองไม่เห็นซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริงบงการด้วยว่า ไม่เป็นความจริง เพราะพรรคทำงานประสานกับบุคลในองค์กรต่างๆ ประสานกับความถูกต้องชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม แม้แต่กับรัฐบาลก็พร้อมประสานถ้าทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม แต่ถ้าทำในสิ่งที่ชั่วร้ายก็ไม่สามารถประสานงานกันได้
“ที่บอกว่ามือที่มองไม่เห็นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตัวจริงนั้นไม่เป็นความจริง เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคคนเดียว คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนพรรคที่ไม่แน่ใจว่าหัวหน้าเป็นตัวจริงหรือปลอมคือพลังประชาชนว่า ระหว่างนายสมัคร สุนทรเวช กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใครเป็นตัวจริงกันแน่ ดังนั้น ก่อนกล่าวหาพรรคอื่นอยากให้พรรคพลังประชาชนไปหาตัวหัวน้าพรรคที่แท้จริงของตัวเองน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า และยืนยันว่าไม่มีใครอยู่เหนือหัวหน้าพรรค หรือพรรคประชาธิปัตย์