ทีมเศรษฐกิจ ปชป.ตั้งกระทู้สับ “หมัก” ปากโป้งปูดข่าว 2 แบงก์เจ๊ง ส่งผลประชาชนแห่ถอนเงินจ้าละหวั่น จี้ผู้ว่าฯ ธปท.ใช้ พ.ร.บ.แบงก์ชาติจัดการ ฐานผิด ม.75 ปูดข้อมูลลับ ด้าน “หมัก” ปากสั่นไม่เคยพูด “เจ๊ง” แค่บอก “ชอบกล” อ้างแค่ต้องการให้คนรับผิดชอบออกมาชี้แจง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง สมัคร สุนทรเวช ตอบกระทู้ กร จาติกวณิช ในสภา
วันนี้ (8 พ.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามสด นายสมัคร สนุทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการถามจริงตอบตรง สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ว่าการตอบคำถามนักธุรกิจต่างชาติถึงนโยบายการขายหุ้นของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง ซึ่งชี้แจงว่าไม่เคยรับทราบมาก่อน และบอกว่าสถาบันการเงินเหล่านนั้นมีปัญหา “เจ๊งแล้ว” อย่างไรก็ตาม นโยบายขายหุ้นของกองทุนฟื้นฟูที่ถืออยู่ในสถาบันการเงินไม่ใช่นโยบายใหม่ เป็นนโยบายต่อเนื่องหลายรัฐบาล
นายกรณ์ กล่าวว่า การที่นายกฯ ออกอาการกับนักลงทุนต่างชาติและบอกกับประชาชนทั้งประเทศว่าสถาบันการเงินภายใต้การกับดูแลของกองทุนฟื้นฟู หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติมีสถานะเจ๊งแล้วก่อให้เกิดความเสียหายปรากฏทันที แม้จะไม่บอกว่าเป็นธนาคารไหน แต่กองทุนฟื้นฟูถือหุ้นใน 2 ธนาคารขนาดเล็ก คือ ไทธนาคาร และธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งหุ้นของทั้ง 2 ธนาคารลดลงทันที รวมถึงหุ้นของธนาคารอื่นๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนที่จะซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟู
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่พึ่งพาทั้ง 2 ธนาคารเป็นแหล่งเงินกู้ ขาดความมั่นใจว่าวงเงินกู้ของพวกเขาจะได้รับผลกระทบขาดสภาพคล่องเหมือนที่เคยประสบมาเมื่อ 10 ปีก่อนหรือไม่ แต่ผลกระทบที่สำคัญที่สุดคือประชาชนซึ่งมีบัญชีเงินฝากเหล่านี้ หรือสถาบันการเงินอื่น แห่ไปถอนเงินหลังจากได้ยินข่าวการให้สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี ความสับสนที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยไม่จำเป็น จึงอยากถามว่าที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์นั้นจะสร้างประโยชน์อะไร และสร้างประโยชน์ให้แก่ใคร
นายสมัครชี้แจงว่า ที่พูดเพราะเจตนาเพื่อให้คนที่รับผิดชอบแถลงสวนมาทันทีว่าจริงหรือไม่จริง หากมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำอยู่ก็ต้องแถลงว่าไม่จริง ทุกอย่างก็จบ นายกฯ ก็จะเสียหน้าไป แต่ถ้าไม่บอกอย่างนี้ แต่เป็นรัฐบาล 3 เดือน จะมีการขายหุ้นที่กองทุนฟื้นฟูถืออยู่จะเข้าใจได้อย่างไร รัฐบาลจะเดือดร้อนแน่นอน ไปสั่งกองทุนฟื้นฟูก็ไม่ได้ จึงต้องการให้กองทุนฟื้นฟูตอบว่าไม่จริง แต่ไม่ตอบ และตนไม่เคยบอกว่าธนาคารเจ๊ง แต่บอกว่าธนาคารมีปัญหา เอาเงิน 8 พันล้านใส่เข้าไปแล้วจะขาย อย่างนี้ชอบกล ถ้าจะขายก็ไม่ควรเอาเงินใส่ลงไป ซึ่งต้องการให้ชี้แจงว่าจริง และยินดีที่จะเสียหน้าถ้าข่าวที่ตนได้มาไม่เป็นความจริง
ด้าน นายกรณ์ ถามต่อว่า ตนไม่คิดว่าจะได้คำตอบจากนายกฯ ที่ระบุว่าให้สัมภาษณ์เพียงเพื่อให้ผู้รับผิดชอบยืนยันว่าไม่เจ๊ง เพราะการให้สัมภาษณ์นายกฯ สร้างเสียหาย แต่นายกฯ ให้สัมภาษณ์ต่อไปว่ากลัวที่จะตกเป็นแพะหากมีการขาย จึงต้องนำเรื่องนี้ออกมาแฉ ทั้งที่ไม่ทราบว่าเจ๊งจริงหรือไม่ ถือเป็นการให้สัมภาษณ์ที่ขาดความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 สถาบันมีสัดส่วนทุนต่อทรัพย์สินในระดับที่ไม่ใกล้เคียงคำว่าเจ๊งได้ โดยเฉพาะหลังจากเพิ่มทุนมีสถานะเข้มแข็ง แต่คำถามคาใจในเรื่องสถานการเงินจะเป็นตัวบั่นทอนต่อสถานการเงินไทยในอนาคต และหากเกิดปัญหาในอนาคต คือมีการถอนเงินต่อเนื่องจนสถานบันการเงินเจ๊งจริง หรือ กองทุนฟื้นฟูขายหุ้นไม่ได้หรือได้ต่ำกกว่าที่ควรได้รับ นายกรัฐมนตรีจะรับผิดชอบอย่างไร
ซึ่ง นายสมัคร กล่าวว่า ไม่อยากขยายความให้เรื่องกว้างขวาง แต่ผู้สนใจโปรดตรวจสอบว่าที่ผ่านมาใครเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติในอดีตที่ตัดสินใจเอาเงินไปอุดหนุน 8 พันล้านแล้วขาย แต่ตนไม่ต้องการให้ตนเองเข้ามาบริหารงานได้ 3 เดือนแล้วธนาคารเสียหาย และยืนยันว่าไม่เคยใช้คำว่าเจ๊ง
ขณะที่ นายกรณ์ กระทู้ถามต่อว่า กองทุนฟื้นฟูฯ ได้เยียวยารักษาสถาบันการเงินที่มีปัญหาและจะส่งต่อไปให้เอกชน แต่ตอนนี้มีปัญหามาสะดุด ส่วนหนึ่งเพราะคำสัมภาษณ์นายกฯ แต่ความเชื่อมั่นประชาชนต่อระบบ แห่ไปถอนเงิน แม้แต่ ส.ส.เองยังไม่มั่นใจที่นายกฯ พูดกับ ที่แบงก์ชาติปฏิเสธว่าใครพูดจริงจนต้องมาถามข้อเท็จจริงจากตน ทั้งนี้ อยากถามว่านายกฯ จะยืนยันกับประชาชนหรือไม่ว่ารัฐบาลยังจะค้ำประกันเงินฝากร้อยละ 100 ต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกันเงินฝากในเดือน ส.ค.นี้
นายสมัคร กล่าวว่า ตามสภาพจะค้ำประกันร้อยละ 100 ไปจนถึงเดือน ส.ค.ที่จะมี พ.ร.บ.ใหม่ ออกมา แต่ปัญหาที่ออกมาพูดเรื่องนี้เพราะต้องการให้กองทุนปฏิเสธว่าที่ตนพูดไม่เป็นความจริง ต้องการให้ประชาชนรู้ว่าใครเป็นคนที่ดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ มาก่อน ใครเป็นเจ้าหน้าที่ ใครเป็นคนนำเงิน 8 พันล้านบาทใส่เข้าไป ตรงนี้ต้องการประจานให้รู้ว่าทำกันอย่างไร หากินกันอย่างไร และให้รัฐบาลที่เข้ามาใหม่ต้องเดือดร้อน
ต่อมา นายกรณ์ได้แถลงเรียกร้องให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการทางกฎหมายต่อนายสมัคร ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับล่าสุดที่ประกาศเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2551 ในมาตรา 74 และ 75
ทั้งนี้ ในมาตรา 74 ได้บัญญัติว่า ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างใดล่วงรู้กิจการของ ธปท. อันเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่ได้บัญญัติไว้ อันเป็นกิจการตามปกติวิสัยพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 75 บัญญัติว่าผู้ใดนอกจากบุคคลตามมาตรา 74 รู้ความลับเกี่ยวกับการดำเนินการกินของ ธปท.ด้วยการกระทำใดๆ ให้ผู้อื่นรู้ความลับดังกล่าวซึ่งไม่ใช่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ
“ในฐานะที่ผู้ว่าฯ ธปท.เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยตรง จะต้องดำเนินวินิจฉัยว่า สิ่งที่นายกฯ ให้สัมภาษณ์เข้าข่ายความผิดตามมาตราดังกล่าวนี้หรือไม่ หากไม่เข้าข่ายก็ต้องชี้แจงเหตุผลให้ชัดเจนว่าเพราะอะไร และเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้ ธปท.ไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้ให้ประโยชน์กับใคร และยังสร้างความสับสนวุ่นวายเสียหายในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ การออกมาชิงพูดก่อนเพื่อปกป้องตัวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งปกติสถาบันการเงินจะอยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่น แต่มักจะเกิดปัญหาเมื่อระดับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองออกมาพูด ดังนั้น สิ่งนี้ถือว่าได้สะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะการเป็นผู้นำได้อย่างหนึ่ง” นายกรณ์กล่าว