“ผู้นำฝ่ายค้าน” ย้ำตำแหน่งประธานรัฐสภาต้องมีความเป็นกลาง เตือนรัฐบาลและพรรคพลังประชาชนอย่าคิดแต่งตั้งคนของตัวเองมาคุมเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุจะเกิดปัญหามากขึ้น ขณะเดียวกัน เตือนอย่ากระตุ้นให้สังคมเกิดการเผชิญหน้า และควรหาเวลาไปแก้ปัญหาค่าครองชีพของชาวบ้านบ้าง
วันนี้ (1 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งว่า เป็นเอกสิทธิ์ของนายยงยุทธ และที่ผ่านมานายยงยุทธก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ มุมมองของแต่ละฝ่ายในเรื่องนี้ก็แตกต่างกันเป็นธรรมดา โดยมีข้อสังเกตว่าเมื่อจะมีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันมีจังหวะพอเหมาะกับการลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเพื่อให้มีประธานคนใหม่ซึ่งคงมาจากพรรคพลังประชาชนทำหน้าที่ประธานที่ประชุมร่วม 2 สภา
“ผมไม่ทราบเจตนาที่แท้จริง แต่อยากย้ำว่าตำแหน่งประธานรัฐสภา รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองในการทำหน้าที่ และการพิจารณากฎหมายสูงสุดของประเทศ ถ้ายิ่งไปสร้างเงื่อนไขในลักษณะที่เอาประโยชน์กันทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาในสังคมมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น สมมติถ้าเป็นความพยายามจะควบคุมตรงนี้ ก็อยากเตือนเอาไว้ว่าคงไม่เป็นผลดี” ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าว
เมื่อถามว่า เริ่มมีความชัดเจนแล้วว่าฝ่ายรัฐบาลจะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้อขอดูญัตติว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้ายื่นเข้ามาแล้วไม่มีการพยายามแสวงหาจุดร่วมในสังคมและในหมู่สมาชิกรัฐสภาด้วยกัน น่าจะทำให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความลำบากและยืดเยื้อ
ถามต่อว่าพรรคจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าความประสงค์จริงๆเป็นการทบทวนทุกมาตรา พรรคก็สามารถใช้การแปรญัตติได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องยื่นร่างประกบ แต่ต้องดูอีกครั้ง เพราะที่จริงเราอยากใช้วิธีที่สภาฯ มาศึกษาร่วมกันแล้วกำหนดประเด็นจากนั้นจะได้เสนอร่างตามประเด็นที่ตกลงกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการชุมนุมด้านนอกรัฐสภาที่มากดดันในวันพิจารณาญัตติดังกล่าว ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า ถ้าแต่ละฝ่ายใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขต ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นของตัวเอง แต่อย่าไปก้าวก่ายหรือระรานฝ่ายอื่นจนเกิดปัญหาขึ้น อีกทั้งขอให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวใดๆที่นำไปสู่ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลต้องมีความจริงจังมากกว่านี้ในการทำให้ทุกอย่างอยู่ในความเรียบร้อย และเรื่องใดก็ตามที่เป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำในการคลี่คลายบรรยากาศของความขัดแย้ง ไม่ใช่ไปตอกย้ำความขัดแย้ง เพราะวิกฤตการณ์ทางการเมืองช่วงก่อนการรัฐประหารมาจากการไปส่งเสริมให้มีมวลชนมาปะทะกัน ซึ่งนี่เป็นเงื่อนไขสำคัญ จึงต้องหลีกเลี่ยงตรงนี้อย่างมาก
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลน่าจะเอาเวลาไปแก้ปัญหาต่างๆ ให้เป็นระบบ เช่น เรื่องค่าแรง ที่ควรได้รับการปรับขึ้นเพราะค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น แต่การจัดการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ก็ยังมีปัญหา ยังทำไม่ได้ หรือแม้กระทั่งปัญหาราคาอ้อยที่ขึ้นไปถึงตันละ 800 บาทนั้น เราก็เห็นด้วย แต่ง่ายเกินไปที่บอกว่าการขึ้นราคาอ้อย คือ การขึ้นราคาน้ำตาล เพราะถ้าดูทั้งระบบ จะมีช่องทางช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภค ซึ่งถ้ารัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาส่วนรวม ทุกคนก็พร้อมเอาใจช่วย
/0110