xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “รบ.” ดันทุรัง (แก้ รธน.) ...ระวังจะ “หายนะ”!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช นายกฯ และ หน.พรรคพลังประชาชน เจ้าของวาทะ ยุบ 3 พรรครัฐบาล เท่ากับการฆ่าประเทศไทย จนเป็นที่มาของการเร่งแก้ รธน.
สังคมเริ่มเห็นธาตุแท้ของพรรคพลังประชาชนมากขึ้นทุกวันๆ ว่าต้องการอะไรแน่จากการแก้ รธน. โดยเฉพาะความพยายาม “ตัดแปะ รธน.” ด้วยการล้ม รธน.2550 แล้วเอา รธน.2540 มาสวมแทน โดยไม่สนใจว่า รธน.ปี 40 มีจุดอ่อนและก่อให้เกิดวิกฤตอย่างไรมาแล้ว หรือเป็นเพราะรัฐบาล พปช.ต้องการได้ประโยชน์จากจุดอ่อนของ รธน.ปี’40 ดังเช่นที่รัฐบาล ทรท.เคยได้รับ จึงดันทุรังที่จะกลับไปใช้ รธน.เดิมให้ได้ …ลำพังการเร่งแก้ รธน.เพื่อหนีคดียุบพรรค-ตัดตอนคดีอื่น-เช็คบิลองค์กรอิสระก็แย่พอแล้ว แต่นี่ พปช.และพรรคร่วม รบ.ที่ยอมร่วมหัวจมท้ายกับ พปช. กำลังจะรวมหัวกันแก้ รธน.-เปลี่ยน รธน.เพื่อให้ ปท.เดินกลับไปสู่วิกฤตอีกครั้ง ...ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ ยอมได้อย่างนั้นหรือ?

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

“...จะเอากันให้ตายกันตรงนี้ก็เอาสิ เอากันไหม เอากันให้ตายไปเลยไอ้พรรคการเมืองให้มันตายกันไป ไอ้พรรคการเมืองตายมันไม่เป็นไร แต่ประเทศชาติมันตาย กว่าจะล้มลุกคลุกคลาน กว่าจะเงยหัวขึ้นมาได้ พอเงยหน้าไปคบค้าสมาคมกับใครเขาได้ ก็จะกลับอย่างเดิม จะเอากันให้ตายอีก อย่างนี้พอใจหรือยัง”

หลายคนคงยังจำได้ว่า วาทะดังกล่าวหลุดจากปากผู้นำประเทศอย่างนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ระหว่างพบสื่อมวลชนประจำสัปดาห์เมื่อวันที่ 21 มี.ค. เมื่อบุคคลระดับหัวหน้าพรรคนอมินีออกมาอ้างว่า มีคนจ้องยุบพรรครัฐบาล 3 พรรค(พรรคชาติไทย-พรรคมัชฌิมาธิปไตย-พรรคพลังประชาชน) แถมเปรียบว่า ถ้ายุบทั้ง 3 พรรคจริง จะเท่ากับเป็นการฆ่าประเทศไทย พลันบุคคลอย่างเลขาธิการพรรคนอมินี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี จึงรีบออกมาส่งสัญญาณว่า ต้องเร่งแก้ รธน.มาตรา 237 เพื่อปลดล็อกไม่ให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคง่ายเกินไป โดยบอก ต้องรีบแก้มาตราดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ก่อนที่คดียุบพรรคจะถูกส่งถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ

แต่เมื่อหลายฝ่ายรู้ทันและออกมาวิพากษ์วิจารณ์พรรคพลังประชาชนว่าต้องการแก้ รธน.เพื่อหนีคดียุบพรรค ทั้งที่มาตรา 237 ของ รธน.2550 มีขึ้นเพื่อปรามการทุจริตซื้อเสียงของนักการเมือง แต่นักการเมืองกลับใช้วิธี ทำผิด แล้วมาแก้กฎหมายให้ตัวเองไม่ผิด แทนที่รัฐบาลจะสำนึกหรือยุติแนวคิดดังกล่าว นายสมัคร กลับออกมาสวนกลับคนที่วิพากษ์วิจารณ์การแก้ รธน.ว่าเป็นพวก “ดัดจริต”

จากนั้นพรรคพลังประชาชนก็พลิกเกมใหม่ ด้วยการอ้างว่า ไม่ได้แก้แค่มาตรา 237 มาตราเดียว แต่จะแก้ 5 มาตรา ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ใน 5 มาตรานั้น มีมาตรา 309 รวมอยู่ด้วย ซึ่งพรรคพลังประชาชนต้องการตัดมาตราดังกล่าวทิ้ง ไม่ให้มีอยู่ใน รธน.อีกต่อไป แต่หลายฝ่ายในสังคมก็รู้ทันอีกว่า การที่พรรคพลังประชาชนต้องการยกเลิกมาตรานี้ก็เพื่อเช็คบิล คมช.และ คตส. ขณะเดียวกันก็เพื่อช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีต ครม. รวมถึงแกนนำในพรรคพลังประชาชนที่ถูกกล่าว คตส.กล่าวโทษในคดีต่างๆ สามารถพ้นผิดในชั้นศาล หรืออาจจะเป็นการตัดตอนคดีให้ไม่ต้องถึงมือศาลเลยด้วยซ้ำ!

ส่งผลให้กระแสต่อต้านการรีบเร่งแก้ รธน.เพื่อหนีคดียุบพรรคและตัดตอนคดีอื่นของรัฐบาลและ พ.ต.ท.ทักษิณยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น เช่น คณาจารย์สายนิติศาสตร์ 41 คน จาก 9 สถาบัน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยสยาม, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต, มหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล) ได้เปิดแถลง (2 เม.ย.) คัดค้านการแก้ รธน.มาตรา 237 โดยชี้ว่า หากรัฐบาลแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิดได้ กฎหมายอื่นๆ ก็จะมีปัญหาทั้งหมด ระบบกฎหมายของประเทศจะถูกท้าทายและพังทลายลง บ้านเมืองจะอยู่ไม่ได้ พร้อมชี้ หากรัฐบาลแก้มาตราดังกล่าวจะเข้าข่ายกระทำการขัด รธน.2550 มาตรา 122 ที่ระบุให้ ส.ส.และ ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของปวงชน โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนั้น หากรัฐบาลแก้ รธน.โดยที่ตัวเองมีผลประโยชน์ทับซ้อน แก้เพื่อประโยชน์ส่วนตน มิใช่ส่วนรวม สามารถถูกยื่นถอดถอนได้ตามมาตรา 270 ของ รธน.2550

ด้าน นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้เขียนบทความ (3 เม.ย.) ให้สติรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ รธน. โดยชี้ว่า มาตรา 237 คือยาแรงที่ผู้ร่าง รธน.2550 หวังว่าจะทำให้นักการเมืองเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าทำผิด ดังนั้นถ้าไม่ทำผิดเสียอย่าง บทลงโทษที่หนักก็ไม่มีปัญหา แต่ผู้ทำผิดกลับมองว่า รธน.ไม่ดี นพ.ประเวศ ยังเตือนด้วยว่า ถ้าทำผิดกฎหมายแล้ว แทนที่จะแก้ที่ตัวเอง กลับไปแก้กฎหมาย ตรรกะนี้ถ้านำไปใช้กันได้ ก็จะเกิดเรื่องน่าเกลียดน่ากลัวพิลึกพิลั่น และอาจถึงขั้นเกิดจลาจลในบ้านเมืองได้ ขณะที่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ให้แง่คิดเกี่ยวกับการแก้ รธน.เช่นกันว่า การแก้ไขหรือปรับปรุง รธน.นั้น รัฐบาลสามารถทำได้ แต่ประชาชนอาจเกิดคำถามว่า การแก้ รธน.นั้นทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติหรือผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไปหรือไม่?

แต่นายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชาชนอย่างนายสมัคร สุนทรเวช ก็มิได้นำพาเสียงเตือนของใครทั้งนั้น แถมยังออกมาสวนกลับนายอานันท์ ด้วยการอ้างว่า การแก้ รธน.ครั้งนี้ไม่ได้แก้เพื่อตนเอง แต่แก้เพื่อคนไทยในวันข้างหน้าที่จะต้องใช้ รธน.ฉบับนี้ และว่า ถ้าพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลมีโอกาสแก้ รธน.แล้วไม่แก้ ก็เสียของ!?!

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสต่อต้านการแก้ รธน.มาตรา 237 และ 309 เริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ขู่พร้อมจะเคลื่อนไหวชุมนุมใหญ่ถ้ารัฐบาลยังดันทุรังแก้ รธน.เพื่อฟอกผิดให้ตัวเอง ส่งผลให้พรรคพลังประชาชนออกมาพลิกเกมอีกครั้ง ด้วยการอ้างว่า ไม่ได้แก้แค่บางมาตรา แต่จะแก้ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์)โดยจะยึด รธน.ปี 2540 เป็นหลัก และอาจคงบางส่วนที่ดีๆ ของปี 2550 ไว้ เช่น การเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบแก่ประชาชน เป็นต้น

แต่นั่นเป็นเพียงแนวคิด เพราะในที่สุด พรรคพลังประชาชนก็มีมติ “ตัดแปะ รธน.” หรือ “ล้ม รธน.2550” นั่นเอง โดยจะยก รธน.2540 มาใช้ทั้งหมด ไม่นำส่วนที่ดีของ รธน.2550 มาใส่แต่อย่างใด โดยมีข่าวว่า เหตุที่พรรคพลังประชาชนตัดสินใจไม่นำบางส่วนของ รธน. 2550 มาใส่ใน รธน.ฉบับแก้ไขเลย เพราะกลัวอธิบายประชาชนไม่ได้ เนื่องจากตัวเองพยายามอ้างกับประชาชนว่า รธน.2550 เป็นกฎหมายเผด็จการ

การที่พรรคพลังประชาชนจะนำ รธน.2540 กลับมาใช้ทั้งดุ้น สะท้อนชัดเจนว่า พรรคพลังประชาชนต้องการแทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ อีกครั้งดังเช่นสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล พรรคพลังประชาชนจึงต้องเดินเกมแก้ รธน.ด้วยการใส่บทเฉพาะกาลในส่วนขององค์กรอิสระ โดยลดอายุกรรมการในองค์กรอิสระบางองค์กรลง เช่น ให้มีการสรรหา กกต.-ป.ป.ช.และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ชุดใหม่ภายใน 180 วันหลัง รธน.ฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว ขณะที่กรรมการในองค์กรอิสระบางองค์กร เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน(ที่พรรคพลังประชาชนจะให้กลับมาใช้ชื่อเดิม คือ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา) จะให้ทำงานต่อไปได้ ยังไม่ต้องสรรหาใหม่ ซึ่งการทำเช่นนี้ นอกจากเป็นการ “เลือกปฏิบัติ” ต่อองค์กรอิสระว่าจะได้อยู่ต่อไปหรือถูกยเลิกแล้ว ยังสะท้อนว่า พรรคพลังประชาชนต้องการเช็กบิล กกต.-ป.ป.ช.ด้วย

ไม่เท่านั้น รธน.ฉบับพรรคพลังประชาชน ยังเปลี่ยนวิธีสรรหากรรมการในองค์กรอิสระให้เอื้อต่อการที่พรรคจะเข้าไปแทรกแซงด้วย โดยกำหนดให้กลับไปใช้วิธีสรรหากรรมการองค์กรอิสระตาม รธน.2540 ที่ “เปิดช่อง” ให้พรรคการเมืองเข้ามาร่วมสรรหาซึ่งนำไปสู่การแทรกแซงกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระได้อีกครั้ง ทั้งที่ รธน.2550 ได้พยายามปิดช่องตรงนี้

การแก้ รธน.ของพรรคพลังประชาชน ไม่เพียงสะท้อนถึงความต้องการแทรกแซงองค์กรอิสระเท่านั้น แต่ยังต้องการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมด้วย โดยจะดึง “สำนักงานอัยการสูงสุด” ให้กลับมาอยู่ใต้สังกัดฝ่ายบริหารอีกครั้ง ทั้งที่ รธน.2550 กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นองค์กรที่มีอิสระในการพิจารณาคดี!

ขณะที่องค์กรอิสระบางองค์กรที่มีการสรรหากรรมการใหม่เรียบร้อยแล้วตาม รธน.2550 เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่สรรหาครบแล้ว 9 คนเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่า รายชื่อผู้ได้รับเลือกไม่เป็นที่พอใจของพรรคพลังประชาชนหรืออย่างไรไม่ทราบ จึงจะแก้ไข รธน.ให้มีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มอีก 6 คนหลัง รธน.ใหม่บังคับใช้

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การแก้ รธน.2550 โดยให้ยึด รธน.2540 เป็นหลัก จะส่งผลให้การตรวจสอบรัฐบาลทำได้ยากขึ้น เพราะ รธน.2540 กำหนดว่า การที่ ส.ส.จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ได้ จะต้องเข้าชื่อ 2 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ขณะที่ รธน.2550 กำหนดว่า ส.ส.เข้าชื่อแค่ 1 ใน 5 ก็เปิดอภิปรายฯ นายกฯ ได้แล้ว ส่วนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน รธน.2540 กำหนดว่า ประชาชนต้องเข้าชื่อ 5 หมื่น ถึงจะเสนอกฎหมายได้ ขณะที่ รธน.2550 กำหนดว่า ประชาชนเข้าชื่อแค่ 1 หมื่น ก็เสนอกฎหมายได้แล้ว ส่วนการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อยื่นถอดถอนรัฐมนตรี รธน.2540 กำหนดว่าต้องเข้าชื่อ 5 หมื่น ขณะที่ รธน.2550 กำหนดว่า ประชาชนเข้าชื่อแค่ 2 หมื่นก็สามารถยื่นถอดถอนรัฐมนตรีได้แล้ว

นี่ยังไม่รวมกรณีที่จะมีการแก้ รธน.เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา-เลขานุการรัฐมนตรีได้ ทั้งที่ รธน.2550 ระบุห้าม เนื่องจากต้องการให้ ส.ส.เอาเวลาไปดูแลความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่มากกว่า ไม่ใช่เอาเวลามาเดินตามรัฐมนตรี

และแม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะบอกว่า รธน.ใหม่จะยึด รธน.2540 ทั้งหมด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า บางส่วนของ รธน.ใหม่ที่ว่า เป็นสิ่งที่แย่กว่า รธน.ปี 2540 ด้วยซ้ำ เช่น รธน.ปี 2540 กำหนดให้นายกฯ และรัฐมนตรีต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.ภายใน 30 วันหลังเข้ารับตำแหน่ง แต่ รธน.ฉบับใหม่ของพรรคพลังประชาชน กลับระบุว่า นายกฯ และรัฐมนตรีไม่ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.!?!

เท่าที่ยกตัวอย่างมา น่าจะสะท้อนถึงเจตนาในการแก้ รธน.ของพรรคพลังประชาชนได้อย่างดีแล้ว ว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือส่วนตนกันแน่ และแม้แกนนำพรรคพลังประชาชนจะพยายามอ้างว่า การแก้ รธน.ครั้งนี้เพื่อให้ได้ รธน.ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่พฤติกรรมกลับสวนทาง เพราะขณะที่หลายฝ่ายชี้ว่า การจะแก้ รธน.ทั้งฉบับ ควรเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ด้วยการตั้งสมาชิกสภาร่าง รธน.(ส.ส.ร.) จากทุกภาคส่วนในสังคมให้เป็นผู้ยกร่าง รธน. แต่พรรคพลังประชาชนก็ไม่สน ยังคงดึงดันจะใช้วิธีเสนอญัตติแก้ไข รธน.ผ่านสภา เพราะเชื่อว่า จะใช้เวลาในการแก้ รธน.น้อยกว่าการตั้ง ส.ส.ร. พร้อมขีดเส้น ภายใน 5 เดือน น่าจะได้ รธน.ฉบับใหม่

ในสถานการณ์การเมืองเรื่องแก้ รธน.ที่กำลังอึมครึมว่าจะจบลงอย่างไร? พรรคร่วมรัฐบาลจะเอาด้วยกับพรรคพลังประชาชนหรือไม่? ท่ามกลางกระแสต่อต้านที่คุกรุ่นอยู่ เราลองมาฟังนักวิชาการทั้งด้านกฎหมาย-การเมืองการปกครอง และอดีต ส.ส.ร.ดูว่า มองเกมของพรรคพลังประชาชนอย่างไร? และเกมนี้จะจบลงอย่างไร?

นายเดโช สวนานนท์ อดีตรองประธานสภาร่าง รธน.2550 และเคยเป็นอดีต ส.ส.ร. 2540 ด้วย บอกว่า การจะแก้ รธน.นั้น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า แก้ช่วงไหนเร็วไปหรือไม่ แต่อยู่ที่สิ่งที่จะแก้ มีความจำเป็นต้องแก้จริงหรือไม่ และการเร่งแก้ไขให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งไม่สมควร เพราะการแก้ รธน.ต้องใช้เวลาและถกเถียงกันด้วยเหตุและผล นายเดโช ยังชี้ด้วยว่า เจตนาของพรรคพลังประชาชนในการแก้ รธน.ก็เพื่อหนีคดียุบพรรค และว่า หากพรรคพลังประชาชนต้องการจะแก้ รธน.ทั้งฉบับแบบนี้ ก็ต้องมีการตั้ง ส.ส.ร.มาเป็นผู้ยกร่าง รธน.เหมือน รธน.ปี 2540 และ 2550 เพราะเจตนารมณ์ในการแก้ไข รธน.ไม่ต้องการให้ ส.ส.-ส.ว.หรือนักการเมือง ซึ่งมีผลประโยชน์ทับซ้อนมาร่าง รธน.เพื่อประโยชน์ของตัวเอง

นายเดโช ในฐานะผู้รู้จัก รธน.ทั้งฉบับ 2540 และ 2550 ดี เพราะเป็นอดีต ส.ส.ร.ทั้ง 2 ชุด ยังกล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชนจะแก้ รธน. ด้วยการนำ รธน.2540 มาใช้แทนทั้งฉบับ โดยอ้างว่า รธน.2550 มาจากคณะรัฐประหารว่า ก่อนหน้าจะเกิดการยึดอำนาจ ก็เคยมีการศึกษาวิจัยแล้วว่า รธน.2540 มีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข จึงได้มีการแก้ไขเป็น รธน.2550 ดังนั้นหากจะแก้ให้กลับไปใช้ รธน.2540 อีกครั้ง ก็เท่ากับปัญหาที่เกิดจาก รธน.2540 ก็จะกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง

“อย่าลืมว่า (รธน.)2540 ก็ได้มีศึกษาว่าควรจะแก้ไข ไม่ใช่เพราะเหตุปฏิวัติอย่างเดียวนะ ก่อนหน้าปฏิวัติจำได้มั้ยว่า เขาเถียงกันว่า ควรต้องแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการสรรหาองค์กรอิสระ เพราะไม่แฟร์ไม่ยุติธรรมในการให้พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งคือ 4 คน เข้าไปสรรหาองค์กรอิสระ ทำให้มีการแทรกแซงได้ เพราะพรรคฝ่ายค้านไม่มีโอกาสเลย เพราะพรรครัฐบาลเสียงเขามากกว่า เขาเอาพวกเขาทั้งหมด 3 คน 4 คน ไปบล็อกโหวต เพราะฉะนั้นต้องแก้(รธน.2540) ไม่แก้ไม่ได้ 2540 ถ้าหันกลับไปใช้ (รธน.)2540 ก็กำลังบล็อกโหวตอีกแล้วสิ และตัวนั้นคือตัวปัญหาที่เกิดขึ้นมา ทำให้เกิด 2550 ส่วนหนึ่งนะ ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นปัญหาของ 2540 ถ้าบอกว่า เราไม่เคยคิดจะแก้ (รธน.2540) เลยเนี่ย มันเป็นไปไม่ได้ คิดแก้ก่อนแล้ว ก่อนปฏิวัติแน่นอน และมีการศึกษาวิจัยกันนะ ผมเรียนยืนยัน เช่น เรื่องให้มีศาลเลือกตั้ง มีการศึกษาวิจัย และออกมาว่า ควรจะมีศาลเลือกตั้งมากกว่าจะให้ออกใบแดงโดย กกต.โดยเด็ดขาด นี่คือเรื่องที่มีการศึกษากันมาก่อนว่า 2540 ก็ต้องแก้ ไม่ใช่ไม่แก้”

ด้าน รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ชี้ว่า จริงๆ แล้ว การแก้ รธน.นั้นสามารถทำได้ แต่ไม่ควรรีบเร่งแก้และทำโจ๋งครึ่งแบบนี้ว่าต้องการหนีคดียุบพรรค และว่า รธน.2550 พยายามแก้ปัญหาของ รธน.2540 เช่น การทำให้รัฐบาลอ่อนลง ไม่ใช่แข็งเกินไปจนไม่ฟังใครเลย และการป้องกันไม่ให้องค์กรอิสระถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง การที่พรรคประชาชนจะแก้ รธน.โดยลดอายุ กกต.และ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันเพื่อสรรหาใหม่ จึงสะท้อนว่า ต้องการระบบที่เอื้อให้ตนสามารถซื้อคนหรือซื้อกระบวนการยุติธรรมได้

“แก้เราไม่ว่าอยู่แล้วไง แต่มันควรจะใช้ไปสักพักหนึ่งก่อน ค่อยแก้ นี่มันโจ๋งครึ่มเกินไปว่า พอมีเรื่องยุบพรรค ถึงได้แก้ เพราะถ้าเราคิดตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเนี่ย เราก็ตอบได้ว่า ถึงยุบพรรคไปแล้ว มันก็มีพรรคอื่นที่เขาไม่ได้ทำผิด ขึ้นมาแทนได้ นี่ตัวไม่อยากทำ เท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าจับคนเข้าคุกแล้ว โอ๊ย! ไม่มีใครดีแล้ว มันก็มีคนที่เขาไม่เข้าคุก ทำได้อยู่ไง (ถาม-อันหนึ่งที่ชัดคือ เขาจะแก้ให้กลับไปใช้การสรรหาองค์กรอิสระแบบเดิมตาม รธน.ปี’40?) อันนี้ชัดเลยไง ชัดเลยว่าการสรรหาแบบเดิมเนี่ย องค์กรอิสระเนี่ย เขาซื้อได้ไง แต่จริงๆ แล้วถ้าเกิดว่าปล่อยให้องค์กรอิสระนี้ครบเทอมไป เขาก็สามารถเลือกใหม่ด้วยวิธีการของเขาเอง เขาก็ซื้อได้ ทีนี้มันรอจนครบไม่ได้ (กกต.) ชุดนี้ผมก็ชื่นชมอยู่นะว่า เออ! เขาก็ตรงไปตรงมาดี เขาก็ทั้งโดนบีบ โดนอัด แต่ก็ยังทนอยู่ได้ ผมก็ถือว่าสปิริตเขาแรงทีเดียว ทั้ง คตส. กกต. และ ปปช. ทีนี้ถ้าเขา(รัฐบาลพรรคพลังประชาชน)ต้องการให้เชื่อฟัง เขาก็ต้องเปลี่ยน ที่จริงแล้วมันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ก็อยู่ให้ครบไป ทีนี้สังเกตมั้ยคราวที่แล้วเนี่ย กกต.รุ่นแรกเนี่ย คุณยุวรัตน์ (กมลเวชช)เขาก็ทำหน้าที่ดีตลอด แต่พอ รัฐบาลได้ตั้งใหม่(กกต.ชุด พล.ต.อ.วาสนา) ก็เป็นคนที่เขาซื้อได้ เพราะฉะนั้นเขาก็พอใจที่จะซื้อคนได้มากกว่า จริงๆ แล้วเขาวางแผนไม่ได้ซื้อแค่นี้หรอก ซื้อหมดแหละ กระบวนการยุติธรรมก็ซื้อหมด ผู้พิพากษาก็ซื้อหมด และยิ่งแฉออกมามีเงินเป็นหมื่นๆ ล้านเนี่ย ใครๆ ก็ตาโตทั้งนั้นว่า เอ๊ย! อย่างนี้ไม่จนแน่ ยังไงคบเขาไว้ก็ดีแน่ มันก็ไม่เหลือแหละ ถ้ายอมให้เขาแก้ได้”

อ.ทวีเกียรติ ยังเชื่อว่า หากพรรคพลังประชาชนหรือรัฐบาลเดินหน้าแก้ รธน.โดยไม่สนกระแสต้านในขณะนี้ จะเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแน่นอน และส่วนตัวแล้วคิดว่า คงไม่มีทหารออกมาปฏิวัติอีก เพราะถ้าปฏิวัติแล้วเหมือน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ยังปล่อยให้มีใบปลิวโจมตีอยู่ได้ ก็อย่าปฏิวัติเลย ดังนั้นเชื่อว่า หากบ้านเมืองวุ่นวาย นายกฯ คงประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่มากกว่า

ด้าน ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันหนักแน่นว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ รธน.2550 ในขณะนี้ เพราะยังไม่เห็นว่า รธน.นี้ได้ทำให้การดำเนินนโยบายหรือการบริหารงานของรัฐบาลติดขัดตรงไหน และรัฐบาลก็ตอบไม่ได้ว่าจะแก้ทำไม ดังนั้น ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า หากรัฐบาลยังเดินหน้าจะแก้ รธน.ให้ได้ จะเกิดการเผชิญหน้าและวุ่นวายอย่างแน่นอน ซึ่งอาจเป็นการปูทางให้เกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีกครั้งได้

“คำถามแรกคือ แก้ทำไม อันนี้คือประเด็นสำคัญ ถ้าตรงนี้ตอบไม่ได้มันก็จบแล้ว ถ้าจะแก้เพราะบอกว่า แก้ทำให้ตนพ้นโทษ ก็ไม่กล้าพูดนี่ จะแก้เพื่อจะช่วยใครบางคนก็ไม่บอกมาตรงๆ ก็ไม่พูดออกมา จะแก้เพราะว่า รธน.ไม่ดี ไม่เหมาะสมยังไง ผมก็ยังเห็นว่ามีการดำเนินการอะไรที่มันติดขัดทางนโยบายเลย (ถาม-เพราะฉะนั้นคิดว่าจะแก้สำเร็จมั้ย?) จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ประเด็นก็คือ ก่อนที่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จเนี่ย มันก็คงเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ดีทางการเมืองน่ะ ก็ฝั่งหนึ่งเขาก็บอกแล้วว่า แก้ไม่ได้ เขาก็มีเหตุมีผลของเขาอยู่ อีกฝั่งหนึ่งก็ยืนยันเพื่อที่จะแก้ให้ได้ ไม่รู้จะเอาวิธีไหนก็ตามแต่เนี่ย สุดท้ายก็จะเผชิญหน้ากันขึ้นมา หรือไม่งั้นก็จะไปปูทางให้มีการทำรัฐประหารหรือเปล่า หรืออะไรต่าง มันก็เป็นสิ่งที่พวกเราไม่พึงปรารถนา ก็อยากจะให้การเมืองเป็นไปตามระบบประชาธิปไตยที่ดีที่สุด แต่ผู้ใช้อำนาจก็ต้องมีจริยธรรมด้วยว่า นี่คือกติกาที่นำมาสู่การเลือกตั้ง และนำมาสู่รัฐบาลในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจะไปแก้เพื่ออะไรล่ะ อันนี้ไม่ชัดเจนเลย แก้เพื่อที่จะทำให้ดำรงสถานภาพของตนเองได้ หรือทำให้คนบางคนพ้นผิดเนี่ย มันไม่ใช่”

อ.สุรัตน์ ยังชี้ด้วยว่า คงไม่มี รธน.ฉบับไหนที่สมบูรณ์ 100% แม้ รธน.2540 จะเป็น รธน.ที่สวยงาม แต่ถามว่า สวยแล้วใช้ได้จริงมั้ย? ซึ่งทุกคนได้เห็นแล้วว่า รธน.2540 ส่งผลต่อองค์กรอิสระอย่างไร จึงได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วใน รธน.2550 การที่พรรคพลังประชาชนจะแก้ รธน.โดยให้กลับไปใช้ รธน.2540 เหมือนเดิม แถมลดอายุองค์กรอิสระอย่าง กกต.และ ป.ป.ช.ลงเพื่อสรรหาใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง

“มันไม่มีความชอบธรรมที่จะไปทำแบบนั้น นี่คือกำลังจะจัดการเพื่ออำนาจของตัวเอง 2.ต้องยอมรับข้อเท็จจริงนะ กกต.ชุดนี้ ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่พรรคพลังประชาชนได้เสียงคะแนนมากที่สุดนะ และอยู่ๆ คุณจะมาแก้เพราะเหตุผลอันใด เพราะเหตุผลที่ว่าพรรคใดพรรคหนึ่งไม่สามารถจะเป็นเสียงข้างมากพรรคเดียวหรือ ใช่มั้ย หรือมีอะไรมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นการที่ กกต.จะทำสำนวนยื่นเรื่องการยุบพรรคอะไรต่างๆ เหล่านี้ มันก็ทำให้เราไปเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าหากันหมดน่ะ มันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญน่ะ เพราะฉะนั้นจะไปทำลายองค์กรอิสระแล้ว ซึ่งองค์กรอิสระให้อิสระแล้ว แล้วไปทำลายเขาขึ้นมาเนี่ย สุดท้ายก็กลับมาอีหร็อบเดิมอีก”

“(ถาม-เพราะฉะนั้นถ้าแก้ รธน.ได้ กระบวนการสรรหาองค์กรอิสระกลับไปใช้เหมือน รธน.ปี’40 ให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนสรรหา ตุลาการผู้พิพากษาไม่ต้องเข้ามา?) พรรคการเมืองจะพูดอะไรก็พูดไปนะ รธน.ปี’40 เป็น รธน.ที่สวยงามมากๆ นะ แต่ในทางปฏิบัติในเชิงวัฒนธรรมทางการเมืองอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราเห็นกันทุกคนแล้วว่า องค์กรอิสระไม่ได้ทำงานอย่างเป็นอิสระ นี่คือเหตุผลประการสำคัญที่ในที่สุดนำมาสู่ปัญหาต่างๆ นานา เพราะระบบไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเองแล้ว เมื่อองค์กรอิสระก็ไม่อิสระ เมื่อนักการเมืองหลายคนก็ไปใช้อำนาจของตนในการเข้าไปแทรกแซงด้วยวิธีการต่างๆ นานา เพราะฉะนั้นถามผมว่า รธน.ฉบับ 40 สวยมั้ย ผมก็บอกว่าสวย แต่ใช้ได้จริงๆ หรือเปล่า นี่คือตรรกะของ รธน.ปัจจุบัน ที่ต้องการเข้าไปแก้ว่าตรงไหนเนี่ย รธน.40 ไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้น รธน.50 กับ 40 มีความคล้ายกันอยู่ในหลายประเด็น และรธน. 50 ก็ไม่ใช่ว่า มันจะไม่ดีไปหมด ไม่ใช่นะ มันคงไม่มี รธน.ฉบับไหนสมบูรณ์ จะมาบอกว่า รธน.50 ก็ไม่ดีหมดเลย ผมก็ไม่เห็นด้วย ผมก็มองเห็นด้วยนะว่า สิทธิของประชาชน ในการมีบทบาทในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง(ใน รธน.2550)ก็มีเพิ่มขึ้นในหลายวรรคด้วยกัน”


อ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ยังเตือนสติพรรคพลังประชาชนด้วยว่า แค่คิดจะแก้ รธน.เพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ถือว่าทำลายประเทศชาติแล้ว เพราะ รธน.เป็นเรื่องของประเทศ ไม่ใช่เรื่อง “ครัวเรือน” ของใครบางคน พร้อมเตือนพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่า “อย่าแทงกั๊ก” หรือ “ต่อรอง” ผลประโยชน์อะไรกับพรรคพลังประชาชนอยู่ จะทำอะไร ต้องคำนึงถึงประเทศชาติเป็นสำคัญ และว่า หน้าที่ของรัฐบาลขณะนี้ มีปัญหารอการเร่งแก้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง เรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาโลกร้อน หากรัฐบาลรังแต่จะมุ่งแก้ รธน.ทั้งที่หลายฝ่ายก็มุ่งต่อต้าน สถานการณ์ย่อมปะทุและระอุเป็นความเป็นขัดแย้ง จนนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด!!
นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เคยเขียนบทความเตือนว่า การทำผิด แล้วแก้กฎหมายให้ตนพ้นผิดได้ อาจทำให้เกิดการจลาจลขึ้นในบ้านเมือง
อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ เคยให้แง่คิดเกี่ยวกับการแก้ รธน.ว่า ต้องทำเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนโดยรวม
ธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษก สนง.อัยการสูงสุด เคยออกมาตั้งคำถามว่า การจะแก้ รธน.โดยดึงอัยการกลับไปอยู่ใต้สังกัดฝ่ายบริหารอีกครั้ง เป็นการหวังผลต่อรองคดีที่อยู่ในมืออัยการหรือไม่
เดโช สวนานนท์ อดีตรอง ปธ.สภาร่าง รธน.2550 และอดีต ส.ส.ร.2540 ชี้ การจะแก้ รธน.ทั้งฉบับ ต้องตั้ง ส.ส.ร.มายกร่าง รธน.เพราะฝ่ายการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อน
รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ แห่งคณะนิติศาสตร์ มธ.เชื่อ จะเกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจากการเร่งแก้ รธน.แน่นอน
ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ การเร่งแก้ รธน.จะนำไปสู่การเผชิญหน้า และอาจปูทางไปสู่การรัฐประหารอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น