“เจิมศักดิ์” รู้ทัน พปช.คิดนำ รธน.40 กลับมาใช้ใหม่ เพราะเป็น รธน.ที่ตายแล้ว เปิดช่องพรรคการเมืองเข้าแทรกแซงองค์กรอิสระ ตัดตอนกระบวนการยุติธรรมได้ ทวงสำนึก “ชาติไทย-เพื่อแผ่นดิน” โดนเบี้ยว 5 เงื่อนไขแล้วยังเฉย จวกธาตุแท้นักการเมือง เต็มไปด้วยตัณหา มุ่งใช้อำนาจข่มขู่ ปชช.เพื่อประโยชน์ของตัวเอง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อภิปราย “ทางออกประเทศไทย วิกฤตหรือโอกาส”
คลิก! ชม อภิปราย“ทางออกประเทศไทย วิกฤตหรือโอกาส” (1)(56K) |(256K)
คลิก! ชม อภิปราย“ทางออกประเทศไทย วิกฤตหรือโอกาส”(2)(56K) |(256K)
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวระหว่างการอภิปราย “ทางออกประเทศไทย วิกฤตหรือโอกาส” ในงานสัมมนา “ยามเฝ้าแผ่นดิน ภาคพิเศษ” ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันนี้ (25 เม.ย.) ว่า ในช่วงที่บ้านเมืองกำลังมีวิกฤติข้าวยากหมากแพง ภาคใต้มีการฆ่ากัน แต่คนที่มาปกครองประเทศกลับหวังแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองแล้วอ้างว่าแก้เพื่อประเทศชาติ
นายเจิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าดูให้ดี จะเห็นว่าความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องการตัดตอนกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 237 เพื่อให้พ้นจากการยุบพรรค มาตรา 309 ต้องการตัดตอนคดีทุจริตของรัฐบาลชุดเก่าและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สิ่งที่คืบคลานต่อไปอีกคือต้องการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองแทรกแซงองค์กรอิสระที่ขณะนี้เขาควบคุมไม่ได้ จึงคิดที่จะเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เข้ามาใช้แทน เพื่อจะเปลี่ยนระบบการสรรหาองค์กรอิสระให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่พรรคการเมืองใหญ่เข้าไปแทรกแซงได้
นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า ตนเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เคยตรวจสอบการแทรกแซงด้วยความเจ็บปวดมาโดยตลอด เมื่อมีโอกาสได้มาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จึงหวังจะอุดช่องว่างไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงได้ ตนเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือเรื่อง “รัฐธรรมนูญตายแล้ว” ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถูกบิดเบือน ละเว้น แก้ไข ชอนไช โดยศาลรัฐธรรมนูญชุดเดิมที่ไม่ได้เรื่อง เพราะฉะนั้นเขาจึงอยากกลับไปใช้รัฐธรรมนูญที่ตายแล้ว
นายเจิมศักดิ์ได้ตั้งคำถามกับ 2 พรรคร่วมรัฐบาล คือ พรราติไทยและเพื่อแผ่นดิน ซึ่งเคยตั้งเงื่อนไข 5 ข้อ ในการเข้าร่วมรัฐบาลคือ 1.ต้องจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.ต้องไม่ก้าวล่วงองคมนตรี 3.ต้องไม่ล้างแค้นทางการเมือง สร้างความปรองดอง 4.ต้องไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่กระทำผิด และ 5.คดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูท่าทีของทั้ง 2 พรรคในขณะนี้ สถานการณ์มันบอกแล้วว่า เรื่องความจงรักภักดีนั้นเขาจงรักภักดีเทิดทูนฯ มากน้อยแค่ไหน เรื่องการไม่ก้าวล่วงองคมนตรี แต่เมื่อเช้าปล่อยให้มีคนไปด่า พล.อ.เปรมที่หน้าบ้านพัก เรื่องการไม่ล้างแค้น เรากลับพบว่าการโยกย้ายข้าราชการหลายตำแหน่ง เรื่องไม่นิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำผิด แต่จะแก้มาตรา 237 และมาตรา 309 ซึ่งก็คือเป็นการนิรโทษ เรื่องคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณจะให้เป็นไปตามตามกระบวนการยุติธรรม แต่กลับจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม แต่พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 2 พรรค ก็ไม่เห็นว่าอย่างไร
ต่อมานายเจิมศักดิ์ ได้อ้างหนังสือของท่านหนังสือของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) เรื่อง “จุดหมายของงานการเมือง” ซึ่งได้อธิบายลักษณะของนักการเมืองว่าเป็นพวกที่มีแต่ความอยาก ตัณหา คิดแต่จะเอาประโยชน์เข้าตัวเอง โดยยกตัวอย่าง กรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช อ้างว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะจะมีการยุบพรรค ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้นักการเมืองยังคิดแต่จะให้ตัวเองยิ่งใหญ่ อยากได้อำนาจ โดยนำภาพเหตุการณ์ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ขึ้นไปอาละวาดด่าตำรวจและสื่อมวลชนบน สน.ทองหล่อ เมื่อเดือนตุลาคม 2543
นายเจิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บ้านเมืองกำลังเกิดอาเพศ เพราะมีคนทำให้เกิด อาจารย์บังคับให้นักศึกษาอม “นกเขา” ซึ่งพฤติการณ์แบบนี้ไม่ต่างจากนายจักรภพ เพ็ญแข รมต.สำนักนายกฯ เพราะ 1.อาจารย์มหาวิทยาลัยคิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือนักศึกษา ขณะที่นายจักรภพ ก็คิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือวิทยุชุมชน 2.อาจารย์คิดว่าตัวเองมีอำนาจข่มขู่เรียกสินบนเอาประโยชน์ใส่ตัว ถ้านักศึกษายินยอม นายจักรภพก็คิดว่าตัวเองมีอำนาจบีบให้วิทยุชุมชนเสนอข่าวรัฐบาลวันละ 2-3 ชั่วโมง แลกเปลี่ยนกับการไปเจรจาตำรวจไม่ให้จับกุม
นายเจิมศักดิ์ ย้ำว่า สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับที่ท่านประยุตบอกว่า การเมืองมีปัญหาเพราะนักการเมืองตกอยู่ภายใต้ตัณหา มานะทิฐิ ทั้งหมดต้องการใช้สถานะตำแหน่งของการมีอำนาจบังคับข่มขืนใจให้คนอื่นทำตามตัวเองให้บรรลุจุดสุดยอด ซึ่งวิธีการอย่างนี้ผู้ชายแท้ๆ หรือผู้หญิงแท้ๆ เขาไม่ทำกัน
สำหรับทางออกของปัญหานั้น นายเจิมศักดิ์ ได้อัญเชิญพระราชดำรัสของประบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่คณะตุลาการศาลปกครองและประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ที่ทรงขอร้องให้ศาลออกมาแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองขณะนั้น ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติที่สุดในโลก โดยพระองค์ทรงย้ำให้ประธานศาลฎีกาไปหารือกับศาลอื่นๆ จะทำอะไรต้องรีบทำ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะล่มจม