xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ไม่หวั่นอำนาจรัฐบีบ ขอทำงานจนนาทีสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กล้านรงค์ จันทิก
ป.ป.ช.เปิดใจไม่หวั่นอำนาจบีบ ผนึกกำลังทำงานจนนาทีสุดท้าย “วิชา” ลั่น ไม่ปรับการทำงานตามมาตรฐานใคร ยึดหลักทำงาน 7 ปี ไม่ใช่ 180 วัน 28 เมษาเดินหน้า หารือ คตส.รับลูกทำงานต่อ เผย ผลงานรอบ 1 ปี 6 เดือน ป.ช.ป.ชี้มูลความผิดไปแล้วหลายคดี แต่ยังมีคดีค้างเกือบ 5 พัน

วันนี้ (24 เม.ย.) เมื่อเวลา 15.00 น.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นายกล้านรงค์ จันทิก นายใจเด็ด พรไชยา นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายภักดี โพธิศิริศาสตร์ นายเมธี ครองแก้ว นายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล ร่วมกันแถลงผลงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในรอบ 1 ปี 6 เดือน (6 ตุลาคม 2549-24 เมษายน 2551)

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ มีเรื่องค้างการดำเนินการ ดังนี้ คือ 1.เรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอยู่ระหว่างดำเนินการ 11,459 เรื่อง 2.บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอยู่ระหว่างดำเนินการ 38,865 บัญชี

3.ตั้งแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้เข้ารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบัน มีเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการที่ร้องเรียนเข้ามาใหม่อีกจำนวน 4,479 เรื่อง นายปานเทพ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ได้เข้ามารับหน้าที่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2549 นับถึงวันนี้ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ รวม 133 ครั้ง

ปรากฏผลงานดังนี้ 1.ผลงานด้านการปราบปรามการทุจริต โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกว่า 380 คณะ โดยดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้วกว่า 100 คณะ คงอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงจำนวน 283 คณะ ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดทางวินัย อาญา ร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 106 เรื่อง ในจำนวนนี้มีเรื่องกล่าวหาที่สำคัญๆ เช่น เรื่องกล่าวหา นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กับพวก ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ บังคับ ข่มขืนใจ หรือจูงใจให้ราษฎรขายที่ดินให้เพื่อนำไปออกเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าวบริเวณตำบลคลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

เรื่องกล่าวหา อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ กับพวก อนุญาตให้ครอบครองและส่งออกสัตว์ป่า (เสือโคร่งเบงกอล) ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมิชอบ เรื่องกล่าวหาพันตำรวจเอก ฤทธิรงค์ เทพจันดา ผู้กำกับการกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 กรณีสั่งการให้ควบคุม หรือจับกุมกลุ่มประชาชนที่ร้องตะโกนต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรี โดยมิชอบ เรื่องกล่าวหา พลตำรวจตรี มานิต วงศ์สมบูรณ์ อดีตรองผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 6 กรณีจับกุมกลุ่มประชาชนที่ร้องตะโกนต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรี โดยมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ เรื่องกล่าวหา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 3 องค์กร ออกระเบียบขี้นค่าตอบแทนโดยมิชอบ

นายปานเทพ กล่าวว่า โดยในส่วนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้ชี้มูลความผิดทางวินัย จำนวน 49 เรื่อง ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาแล้วจำนวน 29 เรื่อง ในส่วนที่ชี้มูลความผิดทางอาญา จำนวน 76 เรื่อง อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วจำนวน 27 เรื่อง และในส่วนที่ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติจำนวน 1 เรื่องอัยการสูงสุดก็ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วเช่นกัน ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาเรื่องกล่าวหา แล้วมติให้ส่งเรื่องคืนพนักงานสอบสวนไม่รับ/ไม่ยกขึ้นพิจารณา หรือให้ข้อกล่าวหาตกไป หรือส่งเรื่องให้หน่วยงานอื่นดำเนินการดังนี้

ส่งเรื่องคืนพนักงานสอบสวน เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 604 เรื่อง, ไม่รับพิจารณา/ไม่ยกขึ้นพิจารณา จำนวน 685 เรื่อง, ให้ข้อกล่าวหาตกไป จำนวน 2,815 เรื่อง, ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาฯ จำนวน 5 เรื่อง, โอนเรื่องให้ คตส.ดำเนินการ จำนวน 8 เรื่อง, ส่งให้ต้นสังกัด/พนักงานสอบสวน ดำเนินการตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 31 ลว.30 ก.ย.49 ข้อ 6 จำนวน 6,523 เรื่อง รวมจำนวน 10,640 เรื่อง นายปานเทพ กล่าวว่า มีผลงานด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ก่อนเข้ารับหน้าที่มีบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ที่ค้างดำเนินการจำนวน 38,865 บัญชี

เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ได้เข้ารับหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ แล้วเสร็จ เป็นจำนวน 17,221 บัญชี แต่ขณะเดียวกันก็มีบัญชีที่รับเข้ามาใหม่ 8,769 บัญชี คงเหลือบัญชีที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 30,413 บัญชี ในจำนวนนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติว่า ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชี จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจำนวน 23 รายการ

นายปานเทพ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญๆ ที่จะต้องดำเนินการต่อไป คือ 1.การปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยประธานกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ได้นำเรื่องปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เข้าหารือต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้นำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปัองกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ.. ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว แต่ตกไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 141 วรรคสองข้างต้น เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณา

โดยให้เพิ่มเติมเรื่องกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด เป็นหมวดหนึ่งในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ.. ฉบับนี้ด้วย นายปานเทพ กล่าวว่า ภารกิจที่สอง คือ เรื่องการรับมอบสำนวนที่ค้างดำเนินการจาก คตส. ตามที่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช . 2549 พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้ คตส.ส่งมอบสำนวนเรือ่งที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปนั้น

และมีบางเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการ และหาก คตส.ดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายใน 30มิถุนายน 2551 ป.ป.ช.จะต้องรับสำนวนเรื่องที่ค้างดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยจะมีการประชุมกันระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช.กับ คตส.เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการรับมอบสำนวน คตส.ดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2551 เวลา 09.30 น.ณ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้สื่อข่าวถามว่า จำนวนเรื่องกว่า 5 พันกว่าเรื่องที่เหลือและยุทธศาสตร์ 5 ปี ที่วางไว้และการถ่ายโอนงานจาก คตส. หากว่ารัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญตัดตอนการทำงานของ ป.ป.ช.จะได้เห็นผลงานหรือไม่และจะทำงานต่อไปอย่างไร

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ขอเรียนว่า ขณะนี้เราอยู่ในยุคปัจจุบัน ยังเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลมาตรา 239 เป็นการทำงานตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่อาจจะคาดล่วงหน้าไว้ว่าอะไรจะเป็นหรืออะไรจะเกิด คงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงคิดต่อไป เมื่อถามว่า หากว่ามีการแก้รัฐธรรมนูญ ก็พร้อมที่จะตัดตอนลดอายุในการทำงาน

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ไม่ต้องพร้อมโดนตัดตอน เพราะมันเป็นโดยกฎหมายขณะนี้เราก็อยู่ตามกฎหมาย ตามประกาศคณะปฎิรูปการปกครอง เราถือว่าเป็นกฎหมายตามนัยยะของคำพิพากษาศาลฎีกา แล้วก็มีการรองรับโดยรัฐธรรมนูญปี 2550 กฎหมายใหม่ออกมาอย่างไรก็เป็นหน้าที่ปฎิบัติตามกฎหมาย นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ในวันที่ 28 เมษายน นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะไปพบกับ คตส.เนื่องจากเราต้องมีส่วนเชื่อมโยงกัน ตระเตรียมงานเพื่อรองรับการทำงานของ คตส.ที่จะสิ้นสุด โดย ป.ป.ช.จะต้องรับผิดชอบในการใช้จ่ายต่างๆ ของ คตส. ที่ได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อพ้นจากตำแหน่ง และรับผิดชอบในเรื่องที่ คตส.ถูกฟ้องดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาหรือแพ่ง จะต้องโอนมาให้ ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ และงานใดก็ตามที่อยู่ในระหว่างการดำเนินของ คตส.หรือที่ คตส.ดำเนินการไปแล้ว มีสิ่งที่จะต้องต่อเนื่องผูกพันกัน

ยกตัวอย่างเรื่องการส่งอัยการสูงสุดดำเนินคดีไปแล้วก็ตาม แต่ถ้าหากมีคดีที่ต้องประสานกับอัยการสูงสุดในระหว่างการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นเมื่อ คตส.พ้นจากตำแหน่ง ป.ป.ช.ก็ต้องรับหน้าที่ต่อไป หรือเรื่องที่ส่งอัยการสูงสุดไปแล้วแต่ยังไม่ได้ฟ้องคดี มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เมื่อ คตส.หมดงานก็จะมีอยู่ที่ ป.ป.ช.ฉะนั้นการประสานระหว่างสององค์กรนี้ก็ต้องให้เรียบร้อยทั้งด้านเอกสาร ข้อมูล สำนวนต่างๆ วันที่ 28 เมษา นี้เราจึงจะไปประชุมร่วมเพื่อกำหนดแนวทางร่วมและตั้งคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งเอกสารทั้งหลายต้องมีการรับและเก็บกันมากมาย

ด้าน นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล ชี้แจงถึงเรื่องภาระหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในขณะนี้ที่กำลังจะหมดวาระไป ว่าจะรู้สึกอย่างไร เมื่อผู้มีอำนาจต้องการให้ไปก็ไป มันต้องไป แต่ขณะว่ากำลังจะไปไม่ไป ตามที่เป็นข่าว เรารู้สึกหวั่นไหวบ้างหรือไม่ ในการทำงาน ขอยืนยันจนถึงวันนี้ ว่า คณะกรรมการทุกคนไม่เคยหวั่นไหว ตราบใดที่เราดำรงตำแหน่งอยู่เราจะทำงานของเราตามตัวบทกฎหมายและเป็นไปโดยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมตลอดไปขอให้เชื่อมั่นได้ ในขณะที่ นายวิชา มหาคุณ กล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ปรับมาตรฐานตามใจใคร มีมาตรฐานเดียว คือ ยึดถือหลักการที่ได้รับความชอบธรรม ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรไม่อาจคาดเดาได้ เราต้องดูด้วยว่าเขาจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ไม่ได้หมายความงานของเราจะปรับเปลี่ยนตามว่าเหลืออีก 180 วันหรือเปล่า คงไม่ใช่อย่างนั้น เรายึดหลักที่เหลืออีก 7 ปีกว่า ตลอดเวลา

ผู้สื่อข่าวถามว่า อัยการสูงสุดออกมาแถลงว่าสาเหตุที่ทางฝ่ายบริหารจะตัดตอนอายุองค์กรอิสระเพื่อการต่อรองพิจารณาคดีของฝ่ายบริหาร ป.ป.ช.มองอย่างนี้ด้วยหรือไม่ นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ป.ป.ช.ไม่ได้มองในลักษณะอย่างนั้น นั้นเป็นเรื่องที่อัยการสูงสุดพิจารณาอย่างไร ไม่ก้าวล่วง เราทำงานหน้าที่ของเราจนหมดตามที่กฎหมายจนกระทั่งเสร็จ

เมื่อถามว่า มีการส่งสัญญาณมาอย่างนี้ ป.ป.ช.มองว่ามีคดีใหญ่อะไรบ้างที่เป็นห่วงและเร่งรีบเป็นพิเศษ นายกล้านรงค์ กล่าวว่า คดีใหญ่ๆ หลายคดี กรรมการทุกคนพยายามเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปตามกระบวนการ ถ้าเสร็จก็เสร็จไม่เสร็จก็ไม่เสร็จ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช.ระบุว่า กรณีค่าโง่ทางด่วน และ คลองด่าน ใกล้จวนเสร็จในเร็วๆ นี้ อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น