xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ชี้ผิด “วิรุฬ” ถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กล้านรงค์ จันทิก
ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด “วิรุฬ” ถือหุ้นเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ซ้ำรอย “ไชยา” เตรียมส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

วันนี้ (24 เม.ย.) นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกกรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ปปช. ได้พิจารณาตามที่นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2551 และได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบกรณีเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.ในวันที่ 29 ก.พ.2551 นั้น

จากการตรวจบัญชีแสดงทัพย์สินและหนี้สินของนายวิรุฬ ปรากฎว่า ได้ยื่นแสดงว่ามีเงินทุนในบริษัททรัพย์วัฒนา จำกัด จำนวน 22,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 200,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 11 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ซึ่งเป็นการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้โดยบริษัทฯ และไม่ปรากฎว่า ตังแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.พาณิชย์ นายวิรุฬ ได้แจ้งให้ประธาน ป.ป.ช. ทราบว่า ประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการที่ตนถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 269 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 5

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 เม.ย.51 นายวิรุฬ ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยกวับบริษัท ทรัพย์วัฒนา จำกัด ว่าบริษัทดังกล่าวได้หยุดประกอบกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 และมอบหมายให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอยกเลิกบริษัทเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2551 แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2551 นายวิรุฬได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 22 เม.ย.2551 ถึงประธานกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อยกเลิกบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 ท ทรัพยม.ค.2551 เป็นการการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2 แต่ได้นำความไปจดทะเบียนเลิกบริษัท ทรัพย์วัฒนา จำกัด ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2551

นายกล้าณรงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า 1. พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 มาตรา 5 ได้กำหนดให้รัฐมนตรีที่ประสงค์จะได้ประโยชน์จากการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทในส่วนที่เกินกว่า ร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ ภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี และโอนหุ้นในบริษัทนั้นให้นิติบุคคลภายในเก้าสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้แจ้งให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และแจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในสิบนับแต่โอนหุ้นในนิติบุคคล

2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 269 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติในกรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะรับประโยชน์จากกรณดังกล่าวต่อไป ให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคล ซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น

3.เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 128 วรรคเจ็ด กำหนดว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 269 โดยมิได้มีบทบัญญัติใดที่ให้เป็นอำนาจของกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะวินิจฉัยได้ว่า นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ใดจงใจหรือมิได้จงใจ ฝ่าฝืนบทบัญญัติ 269 หรือไม่ ดังเช่นกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินตาอกรรมการ ป.ป.ช. หรือยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ที่ควรแจ้งให้ทราบ ซึ่งกฏหมายให้อำนาจกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะวินิจฉัยถึงความจงใจหรือไม่จงใจได้

4.กรณีที่นายวิรุฬ ได้มีหนังสือลงวันที่ 18 เม.ย.2551 ถึงประธานป.ป.ช. ชี้แจงว่า บริษัท ทรัพย์วัฒนา จำกัด ได้หยุดประกอบกิจการตั้งแต่ พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน และผู้ถือหุ้นได้มีมติให้เลิกบริษัท และต่อมาได้มีหนังสือลงวันที่ 22 เม.ย.2551 ถึงประธาน ป.ป.ช. แจ้งว่า ได้นำมติผู้ถือหุ้นที่มีมติให้เลิกบริษัทฯ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2551 ไปจดทะเบียนเลิกบริษัทฯ ต่อนายทะเบียนห้างหุ้นส่วนกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22เม.ย.2551 นั้น เป็นการดำเนินการหลังจากที่พ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีแล้ว และไม่อยู่ในอำนาจของกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะวินิฉัยได้

5.นอกจากนี้ปรากฎว่านายวิรุฬ ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 ก.พ.2551 ถึงประธาน ป.ป.ช. หารือถึงกรณีนายวิรุฬ ถือหุ้นในบริษัท วังเพชรบูรณ์ จำกัด จำนวน 700,000 หุ้น ซึ่งเกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยบริษัท วังเพชรบูรณ์ จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว ตั้งแต่ปี 2546 และอยู่ระหว่างการชำระบัญชี จะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 หรือไม่ โดยมิได้หารือเกี่ยวกับการถือหุ้นในบริษัท ทรัพย์พัฒนา จำกัด ที่เป็นปัญหาในกรณีนี้แต่อย่างใด

นายกล้าณรงค์ กล่าวอีกว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นรักษาการ และรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 128 วรรคสาม ได้กำหนดให้บทบัญญัติมาตรา 91และ92 มาใช้บังคับกับการสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม วรรค 2 3 5 หรือ 7 โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย ซึ่งมาตรา 91 และ 92 เป็นกรณีที่ส.ส.หรือ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิ์เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติ ให้แจ้งข้อเท็จจริง พร้อมส่งเอกสารในเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อทราบและพิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น