xs
xsm
sm
md
lg

ประธานวุฒิฯ ย้ำจุดยืนยังไม่ควรมุบมิบแก้ รธน.ควรใช้ก่อน 1 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประสพสุข บุญเดช
ประธานวุฒิฯ ย้ำจุดยืนควรใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ไปอย่างน้อย 1 ปีก่อนพิจารณาแก้ไข ไม่เห็นด้วยตั้ง ส.ส.ร.3 และทำประชามติ หวั่นสังคมเผชิญหน้า

วันนี้ (23 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า หากมีการเสนอร่างแก้ไขเข้ามาก็ต้องมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาว่าจะรับหลักการหรือไม่ ซึ่งหากมีการรับก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ ขึ้นมาพิจารณา ทั้งนี้ ในส่วนของ ส.ว. ก็จะชี้แจงผลดี ผลเสียในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งรับฟังเสียงประชาชน แต่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะทำประชามติถามประชาชน เพราะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและเวลา

เมื่อถามว่า มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะดูเหมือนจะมีการแก้ไขทั้งฉบับ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าควรที่จะใช้รัฐธรรมนูญไปอีก 1 ปี แต่ก็เป็นสิทธิของคนอื่นที่จะแก้ไข และยอมรับว่ามีความเป็นห่วงสังคมที่หากจะมีการเผชิญหน้า เพราะมีความเห็นแตกต่าง โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เตรียมเคลื่อนไหวทันทีหากมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เข้าสู่สภา ดังนั้นตนเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดคือควรหารือกันให้จบในสภา

“ผมมองว่าเรื่องนี้ไม่สามารถตั้ง ส.ส.ร.3 ได้ เพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องมีการเสนอร่างแก้ไข แต่หน้าที่ ส.ส.ร.คือ ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งกระบวนการแตกต่างกัน ส่วนแนวทางที่ดีที่สุด คือ ยังไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรใช้ให้ครบ 1 ปีก่อน” ประธานวุฒิสภา กล่าว

เมื่อถามว่าจะแนะรัฐบาลหรือไม่ว่าควรจะถอยในเรื่องนี้หรือไม่ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า คงไม่สามารถแนะนำได้ เพราะต่างคนต่างมีความคิดและมีสิทธิที่จะวิจารณ์ได้ ทั้งนี้ ตนไม่ขอวิจารณ์ในรายละเอียด เนื่องจากยังไม่เห็นตัวร่างฯ แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายต้องการทำเพื่อประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง

เมื่อถามย้ำว่า การที่รัฐบาลมีเป้าหมายแก้มาตรา 237 และ 309 ตรงนี้เป็นการทำเพื่อตัวเองหรือไม่ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า รัฐบาลก็บอกเองว่าจะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูในอนาคต

ผู้สื่อข่าวถามว่า นักวิชาการออกมาระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการตัดตอนอำนาจตุลาการในฐานะเป็นอดีตผู้พิพากษา มองเรื่องนี้อย่างไร ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า คงไม่ใช่ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งตนมองว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ส่วนการพิจารณาคดียุบพรรคหากเสร็จในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 50 มีผลบังคับใช้ก็ต้องยึดตามนั้น แต่ถ้ากระบวนการพิจารณายุบพรรคยังไม่เสร็จ แล้วแก้กฎหมายเสร็จก่อนก็ต้องมาถกเถียงกันอีกในเรื่องข้อกฎหมาย

เมื่อถามย้ำว่า หากเรื่องการยุบพรรคเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ตรงนี้กฎหมายจะมีผลย้อนหลังหรือไม่ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ไม่มีผลย้อนหลัง

/0110
กำลังโหลดความคิดเห็น