ขณะที่ รบ.กำลังขะมักเขม้นแต่เรื่องแก้ รธน. เพื่อประโยชน์ของตัวเอง โดยพยายามใช้สื่อของรัฐปลุกระดมให้ ปชช.ต้าน รธน.2550 และโฆษณาชวนเชื่อให้ ปชช.เห็นด้วยกับ รบ.ในการแก้ รธน. ดูเหมือนว่า อาจยังไม่สาแก่ใจ รบ. หรือยังไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร สังคมจึงได้เห็น รมต.ที่ชอบแทรกแซงสื่อมากกว่าจะแค่ “กำกับดูแลสื่อ”อย่าง “จักรภพ เพ็ญแข”ออกมาใช้อำนาจ “รุกราน”สื่ออีกครั้ง คราวนี้ ถึงคิว “วิทยุชุมชน”ที่มีอยู่หลายพันสถานีทั่วประเทศ โดย รมต.ผู้นี้ ไม่เพียงโกหกคำโตต่อบรรดาวิทยุชุมชน แต่เขายังออกอาการข่มขู่ให้วิทยุชุมชนยอม “สวามิภักดิ์” ด้วยการเป็นเครือข่ายของ รบ. เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกตำรวจจับด้วย ...ลองมาดูกันว่า หลายภาคส่วนในสังคมจะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างไร
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
“เราอยากจะเริ่มต้นด้วยความเป็นกลาง โดยไม่คิดเรื่องการแบ่งฝ่ายแบ่งข้างอย่างที่แล้วมา เราเป็นเหยื่อของการแบ่งข้างมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าหากเราเข้ามาแล้วบอกว่า จะต้องเอาคืน บ้านเมืองก็ไม่สงบสุข ...เราไม่เกี่ยงที่จะมีสื่อภาครัฐวิจารณ์รัฐบาล เพราะสื่อก็คือสื่อ ไม่ว่าจะอยู่ภาครัฐหรือภาคเอกชน ได้รับความคุ้มครองตาม รธน.ที่จะได้วิพากษ์วิจารณ์ตามที่ตนเองเห็นสมควร…”
คงยังไม่ลืมกันว่า ถ้อยคำที่สวยหรูดังกล่าวออกจากปากจักรภพ เพ็ญแข อดีตแกนนำ นปก.หลังได้ดิบได้ดีเป็นถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่ได้กำกับดูแลสื่อ คำพูดของเขา อาจทำให้บางฝ่ายเชื่ออย่างสนิทใจว่า การเคยเป็น “คนสื่อ”ของเขา อาจทำให้เขาต้องการเห็นสื่อของรัฐมีความกลางขึ้นมาจริงๆ ก็ได้ ไม่ใช่สักแต่หลับหูหลับตาเชียร์รัฐบาลท่าเดียว ต้องสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้
แต่รูปการณ์ที่ค่อยๆ ปรากฏ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีจนถึงวันนี้ กลับสวนทางกับสิ่งที่เคยพูดโดยสิ้นเชิง ไล่ตั้งแต่เช็คบิลอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ด้วยการสั่งเด้งนายปราโมช รัฐวินิจ พ้นตำแหน่ง หรือกรณีที่รายการ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม.ถูกปลดออกจากผังรายการวิทยุในเครือกรมประชาสัมพันธ์ วิสดอม เรดิโอ เอ็ฟ.เอ็ม 105 หลัง ดร.เจิมศักดิ์จับโกหกนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ที่อ้างว่ามีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แค่คนเดียว
ให้หลังไม่เท่าไหร่ นายจักรภพ ก็ปฏิบัติการแทรกแซง-คุกคามสื่ออีก โดยสั่งให้กรมประชาฯ ยึดคลื่นวิทยุในเครือกรมประชาฯ คืน 5 สถานี ซึ่งรวมถึงคลื่นวิสดอม เรดิโอ ดังกล่าวด้วย ทั้งที่สัญญาสัมปทานยังไม่หมด โดยนายจักรภพ อ้างว่า กรมประชาฯ ควรนำคลื่นกลับมาดำเนินการเอง เพื่อไม่ให้คลื่นเหล่านี้หลุดมือกรมประชาฯ ไป หากมี กสทช.มาทำการจัดสรรคลื่น แต่นายจักรภพ ก็ไม่วายหลุดปากให้รู้เจตนาที่แท้จริงที่น่าจะต้องการปิดปากคลื่นที่วิพากษ์วิจารณ์ตนมากกว่า โดยบอก ที่ยึดคลื่นคืนดังกล่าว เพื่อให้การเสนอข่าวมีความสมดุล-เป็นกลาง ไม่ใช่ว่าเป็นสถานีวิทยุของรัฐ แล้วมีแต่รายการที่ชี้ถึงความพินาศของบ้านเมือง!?!
ไม่เพียงนายจักรภพจะแทรกแซงวิทยุกรมประชาฯ แต่เขายังลงไปล้วงลูกการทำงานของ อสมท ที่ไม่ใช่สื่อของรัฐแล้ว ด้วยการดิสเครดิต-กล่าวหาและส่งสัญญาณให้บอร์ด อสมท ปลดนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ พ้นตำแหน่ง กก.ผอ.ใหญ่ อสมท ซึ่งล่าสุด นายจักรภพได้ชงรายชื่อบอร์ด อสมท แทนตำแหน่งที่ว่าง 9 คน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ในจำนวนดังกล่าว มีบิดา(จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ)ของเลขานุการรัฐมนตรีจักรภพเอง(จารุวงศ์ เรืองสุวรรณ)รวมอยู่ด้วย
พฤติกรรมการแทรกแซงสื่อของรัฐมนตรีจักรภพ นอกจากน่าจะเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 266 และ 268 ซึ่งอาจส่งผลให้เขาต้องพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี หากมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว ยังมีความไม่ชอบมาพากลที่นายจักรภพอาจมีความผิดทางอาญาด้วย ซึ่งเป็นผลจากการที่นายจักรภพเปลี่ยนโฉมโทรทัศน์ช่อง 11 เป็นเอ็นบีที โดยพบว่า อาจมีการฮั้วให้บริษัทบางบริษัทของอดีตพนักงานทีไอทีวีได้รับงานในเอ็นบีที
เท่าที่กล่าวมา ก็น่าจะเป็นพฤติกรรมที่ฉาวมากพอแล้ว และหลายฝ่ายคิดว่า นายจักรภพน่าจะลดพฤติกรรมการแทรกแซงสื่อให้น้อยลง เพื่อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งได้นานขึ้น แต่เปล่า! ล่าสุด เขาได้รุกคืบไปสู่ “วิทยุชุมชน” ที่มีอยู่ทั่วประเทศขณะนี้ประมาณ 4,000-6,000 สถานี ด้วยการข่มขู่แกมบังคับให้วิทยุชุมชนเหล่านี้เข้ามาสวามิภักดิ์ ด้วยการเป็นเครือข่ายของรัฐบาล โดยอ้างว่าเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกตำรวจจับ!?!
ปฏิบัติการแทรกแซงวิทยุชุมชน เริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อนายจักรภพเดินสายไปมอบนโยบายให้วิทยุชุมชน และเคเบิลทีวีในพื้นที่ภาคเหนือเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ จ.เชียงใหม่ คราวนั้น เขายังไม่พูดอะไรมาก เพียงแต่ส่งสัญญาณว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายจับกุมวิทยุชุมชน แต่อยากให้มีการทำงานในลักษณะสนับสนุนกันทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม พร้อมชี้ ตนไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่ออกโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยนายจักรภพอ้างว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวทำให้เกิดสุญญากาศในการออกใบอนุญาต และมีข้อจำกัดในการโฆษณา
ล่าสุด นายจักรภพได้เดินสายบุกภาคอีสานเพื่อพบวิทยุชุมชนในพื้นที่ 19 จังหวัดภาคอีสานเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ จ.ขอนแก่น คราวนี้เขานี้เขาอ้างอีกว่า พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ทำให้วิทยุชุมชนอยู่นอกกรอบของกฎหมาย ทำให้วิทยุชุมชนเถื่อนโดยปริยาย แต่ตนไม่มองว่าวิทยุชุมชนเถื่อน เพราะวิทยุชุมชนมาก่อนที่จะเกิดกฎหมายดังกล่าว นายจักรภพ ยังชี้ด้วยว่า กฎหมายดังกล่าวมาจากรัฐบาลภายใต้อำนาจของ คมช. ซึ่งตนและวิทยุชุมชนก็เหมือนอยู่ในเรือลำเดียวกัน คือไม่ยอมรับอำนาจที่มาจากเผด็จการ ดังนั้นต้องแก้กฎหมายดังกล่าวเพื่อผ่าทางตันให้วิทยุชุมชน
และว่า ทางออกของเรื่องนี้ก็คือ ตนจะเสนอ ครม.ให้มี “โครงการทดลองพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและวิทยุชุมชน” ถ้าวิทยุชุมชนรายใดเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นสถานีเครือข่ายของรัฐบาล โดยอาจจะให้เวลารัฐบาลวันละประมาณ 2-3 ชม. จะถือว่าวิทยุชุมชนรายนั้นช่วยงานรัฐบาล รัฐบาลก็จะช่วยเหลือเป็นการตอบแทน โดยจะทำข้อตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ห้ามจับหรือห้ามดำเนินคดีวิทยุชุมชนที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล!?!
คำพูดของนายจักรภพดังกล่าว น่าจะทำให้เกิดคำถามตามมาอย่างน้อย 2 ประการ 1.คำอ้างของนายจักรภพที่ว่า พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ทำให้วิทยุชุมชนเถื่อนไปโดยปริยายนั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่? 2.นายจักรภพมีอำนาจสั่งให้วิทยุชุมชนมาเป็นเครือข่ายของรัฐบาลหรือไม่? แถมยังออกอาการข่มขู่ว่า ถ้าวิทยุชุมชนรายใดไม่เข้าร่วม อาจถูกตำรวจจับ
ลองมาไขปริศนาประเด็นแรกกันก่อน ซึ่ง อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้ร่วมร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ทำให้วิทยุชุมชนกลายเป็นสิ่งที่เถื่อนอย่างที่ นายจักรภพ อ้าง ตรงกันข้าม กฎหมายฉบับนี้ช่วยเปิดโอกาสให้วิทยุชุมชนซึ่งดำเนินการมาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ โดยระหว่างที่องค์กรอิสระที่จะมาจัดสรรคลื่นความถี่ คือ กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งมาจาก กทช.+กสช.) ยังสรรหาไม่แล้วเสร็จ (เพราะรัฐบาลยังไม่ทำอะไร) กฎหมายฉบับนี้ ก็กำหนดในบทเฉพาะกาลให้ กทช.(คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 22 คน เพื่อทำหน้าที่ให้ใบอนุญาตแก่วิทยุชุมชน-เคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียม เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมี กสทช.
“เราจะเห็นว่า กฎหมายเกี่ยวข้องกับเรื่องของสื่อเนี่ย ดูเหมือนรัฐบาลไม่กระตือรือร้นใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของการแก้ไขกฎหมาย กสทช.ให้เสร็จภายใน 180 วัน ขณะนี้ รัฐบาลเองยังไม่ขยับอะไรเลย นับตั้งแต่วันที่แถลงนโยบาย จนกระทั่งปัจจุบัน รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใดใด มัวแต่มุ่งแก้ รธน.อย่างเดียว (ถาม-ระหว่างที่ยังไม่มี กสทช.จะให้อนุฯ ทำหน้าที่แทนไปก่อน?) ทำหน้าที่แทน โดยมีหน้าที่อยู่ 2 ประการ คือ 1.ให้ใบอนุญาตวิทยุชุมชน 2.ให้ใบอนุญาตเคเบิลทีวีและทีวีผ่านดาวเทียม นอกจากนั้น ตามกฎหมายฉบับนี้ จะเห็นว่า คุณจักรภพเองพูดไม่ตรงความเป็นจริง เพราะความจริงแล้ว กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ได้มองว่า วิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีนั้นเป็นสิ่งที่มันเถื่อน แต่กฎหมายฉบับนี้กลับให้โอกาส คณะอนุฯ 22 คนนี้ให้โอกาสในเรื่องที่จะทำให้สิ่งที่เคยดำเนินการมาไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ให้มันถูกต้องตามกฎหมาย”
“(ถาม-ถ้าจะบอกว่า วิทยุชุมชนมันเถื่อนเนี่ย มันเถื่อนมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว?) ใช่ ตั้งแต่รัฐบาลคุณทักษิณแล้ว และมีการเรียกร้องให้เปิดวิทยุชุมชนขึ้นมา โดยให้เรียกว่า จุดเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชนมา อันนี้เป็นมติ ครม.ช่วงรัฐบาลทักษิณ เสร็จแล้ว กรมประชาสัมพันธ์เองก็ให้โอกาสในการที่สามารถโฆษณาได้ พอโฆษณาได้ ปรากฏว่า วิทยุต่างๆ เกิดขึ้นมามากมาย ทำเป็นคลื่นที่แสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ จนกระทั่งควบคุมไม่ได้ ขึ้นมาตั้งหลายพันสถานีทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นคณะอนุกรรมการชุดนี้ ก็คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้วิทยุชุม เคเบิลทีวี ซึ่งปัจจุบันก็ถือว่าเป็นเคเบิลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ทำให้มันถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมา”
อ.อนุสรณ์ ยังยืนยันด้วยว่า รัฐมนตรีไม่มีอำนาจมาแทรกแซงวิทยุชุมชน หรือสั่งให้วิทยุชุมชนมาเป็นเครือข่ายของรัฐบาล ดังนั้น หากรัฐมนตรีจักรภพไม่แน่ใจ ควรกลับไปเปิดกฎหมายดูให้ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ อ.อนุสรณ์ ยังแนะด้วยว่า องค์กรวิชาชีพสื่อน่าจะชี้แจง หรือออกแถลงการณ์ให้ประชาชนและวิทยุชุมชนทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ หาไม่แล้ว อาจเข้าใจอย่างที่รัฐมนตรีจักรภพอ้างได้
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี และประธานคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมและพัฒนาการใช้ทรัพยากรสื่อสารมวลชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ชี้ว่า พฤติกรรมของ นายจักรภพ ที่พยายามสั่งเชิงข่มขู่ให้วิทยุชุมชนมาเป็นเครือข่ายของรัฐบาลนั้น นอกจากจะเข้าข่ายขัด รธน.2550 แล้ว ยังจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยกและนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น
“อันที่ 1 คือ เป็นเรื่องการขัดต่อ รธน. ไม่ว่า รธน.ปี’50 หรือปี’40 ก็ตาม เพราะหน้าที่ในการที่จะเข้าไปในเรื่องของการดูแลวิทยุชุมชนเนี่ย ไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาล รธน.ปี’50 กำหนดว่าเป็นเรื่องขององค์กรอิสระ กสทช.เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารเข้ามา ก็ถือว่าตรงนี้เป็นเรื่องของการเอาการเมืองเข้ามาแทรกแซงในเรื่องของการจัดการคลื่นความถี่ ก็ขัดต่อ รธน. ประการที่ 2 คือ ที่พูดอย่างนี้แสดงว่าไม่เข้าใจเนื้อหา หรือการทำงานของวิทยุชุมชน เพราะคำว่าวิทยุชุมชน ต้องเป็นการจัดการโดยชุมชน เพื่อชุมชน และเป็นของชุมชน คือ เป็นการทำงานในพื้นที่ที่เน้นในเรื่องการจัดการโดยเครือข่ายของภาคชุมชน ซึ่งตอนนี้มีกฎหมายสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น กฎหมายสภาพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง รัฐบาลหรือนักการเมืองไม่มีหน้าที่จะเข้าไปยุ่งหรือก้าวก่าย เพราะเนื้อหาของวิทยุชุมชนไม่ต้องการที่จะมาตอบสนองในเรื่องของกิจการของรัฐ พูดง่ายๆ คือ ไม่ได้กระบอกเสียงของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของการที่ต้องการจัดในเรื่องเนื้อหาหรือประโยชน์ของการสื่อสารเพื่อกิจการภายในชุมชนท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เพราะฉะนั้นก็น่าเสียดายที่ว่า คุณจักรภพก็เคยทำงานสื่อมาก่อน แต่ไม่เข้าใจในเรื่องอุดมการณ์ของวิทยุชุมชน ไม่เข้าใจเรื่องการปฏิรูปสื่อว่าอันนี้เป็นเรื่องสื่อภาคประชาชน ซึ่งมันมีระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ สื่อสาธารณะ สื่อภาคธุรกิจ และสื่อภาคประชาชน แล้วก็มาควบคุม เป็นเรื่องที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อ”
“ประการสุดท้าย คือ ผมเป็นห่วงว่า ถ้าหากว่าคุณจักรภพทำตรงนี้ ก็เหมือนกับว่าเข้ามาแทรกแซง และใช้วิทยุชุมชนซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศมาเป็นเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ ก็คือ รัฐบาลในขณะที่สังคมมีความแตกแยก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราวิตกคือ ถ้าใช้วิทยุชุมชนเป็นประโยชน์ของนักการเมือง มันก็อาจจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยกและความรุนแรงมากขึ้น เช่น ในสมัยที่มีปัญหาเรื่อง อดีตนายกฯ ทักษิณ จำได้ใช่มั้ยว่า มีวิทยุชุมชนที่เป็นเครือข่ายของนักการเมือง และทำหน้าที่ในการปลุกระดมชาวบ้านในพื้นที่ให้ออกมาต่อต้าน(ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล)และเกิดการทำลายล้างซึ่งกันและกัน เช่น กรณีที่อุดรฯ หรือจังหวัดในภาคเหนือ ก็มี 3 อย่างที่ผมคิดว่า สังคมต้องลุกขึ้นมาตรวจสอบการทำงานของรัฐมนตรีจักรภพแล้วล่ะครับ”
ลองไปฟังความเห็นของผู้ที่ทำงานกับสื่อภาคประชาชนกันบ้างว่าจะรู้สึกอย่างไรกับคำพูดของรัฐมนตรีจักรภพ อ.ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ ยืนยันว่า ถ้าดูหลักการและเจตนารมณ์ของการเกิดวิทยุชุมชนแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะให้วิทยุชุมชนมาเป็นเครือข่ายหรือลูกข่ายของรัฐบาล เพราะถ้าทำอย่างนั้น ก็จะไม่ใช่วิทยุชุมชน แต่จะกลายเป็นวิทยุของรัฐแทน และว่า จริงๆ แล้ว รัฐบาลก็มีสื่อในมือเยอะอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาปิดกั้นหรือกดทับพื้นที่ของวิทยุชุมชนอีก เพราะยิ่งปิดกั้นมากเท่าไหร่ ความรุนแรงก็จะยิ่งเกิดขึ้นมากเท่านั้น
“วิทยุชุมชนในประเทศไทยมันเกิดจาก รธน.ปี 2540 มาตรา 40 ให้สิทธิกับชุมชน และชุมชนประชาชนก็มีสิทธิในการที่จะตั้งสถานีวิทยุชุมชน เพื่อศึกษาเรื่องราวของตนเอง มันเป็นของชุมชน ถ้าในลักษณะนี้มันก็ไม่สามารถที่จะเอาวิทยุชุมชนไปเป็นเครือข่ายของรัฐได้ ถ้าไปเป็นลูกข่ายของรัฐก็เท่ากับว่า มันไม่ใช่เป็นวิทยุชุมชนแล้ว มันกลายเป็นวิทยุของรัฐไป ซึ่งมันขาดความเป็นอิสระในกรณีนี้นะ ดังนั้น ตามหลักการหรือตามเจตนารมณ์ของการเกิด มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะเอาวิทยุชุมชนไปเป็นลูกข่ายของรัฐ แต่ถ้าในกรณีที่ไม่ใช่เป็นวิทยุชุมชน แต่เป็นวิทยุที่เกิดมาจากผลประโยชน์ส่วนตัว ทำเพื่อธุรกิจ หรือทำเพื่อแสวงหาอำนาจ รักษาอำนาจทางการเมือง ผลประโยชน์ทางการเมืองเหล่านี้ อันนั้นถ้าเกิดเขา ผลประโยชน์เพื่อตัวเอง เพื่อกลุ่มทุน เพื่อทางการเมืองของกลุ่มทางรัฐบาลอยู่แล้ว เขาก็ยอมที่จะสวามิภักดิ์ หรือยอมที่จะปรับตัวเอง เพื่อจะเป็นลูกข่ายของรัฐบาล ดังนั้นถ้าพูดถึงคำว่า วิทยุชุมชน มันต้องย้อนกลับไปถามว่า คำว่า “วิทยุชุมชน” ในความหมายของคุณจักรภพหรือของรัฐบาลเองหรือฝ่ายที่ดูแลสื่ออยู่ในประเทศไทยอยู่เนี่ย คำว่าวิทยุชุมชนของคุณมันหมายถึงอะไร ต้องตีความให้มันชัดเจน”
“อย่างที่ 2 มันต้องมาคุยต่อว่า เรื่องที่จะให้เป็นลูกข่ายเนี่ย มันหมายความว่า คุณพยายามจะเข้ามาควบคุม พยายามเข้ามาแทรกแซงหรือเปล่า แล้วมันขัดกับเรื่องของความเป็นสังคมประชาธิปไตยหรือเปล่า คุณพยายามที่จะให้มีการนำเสนอเรื่องราวของรัฐมากๆ อย่างนั้นเหรอ จริงๆ แล้ว รัฐบาลมีสื่อเยอะมาก มากกว่าวิทยุชุมชน มากกว่าวิทยุอื่นๆ อีก และเป็นสื่อที่มีพลังอำนาจมาก คือสื่อกระแสหลัก ดังนั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของภาครัฐเนี่ย มันมีมาก ดังนั้นถ้าพยายามคุมพื้นที่ทุกอย่างที่มันมีวิทยุชุมชน หรือเกิดสื่อใหม่ๆ แล้วพยายามจะเข้าไปควบคุมหรือแทรกแซง ตรงนี้ให้มาเป็นลูกข่ายของรัฐเนี่ย มันยิ่งเป็นการปิดกั้นความคิด เรื่องราวความหลากหลายของวัฒนธรรมภาษาของท้องถิ่น ถ้าหากว่าคุณปิดกั้น คุณพยายามควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร คุณยิ่งปิดกั้นมากเท่าไหร่ มันจะเหมือนกับปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เขาไม่มีพื้นที่สำหรับแสดงวัฒนธรรม ความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้นออกมา ถ้าคุณยิ่งไปปิดกั้นภูมิภาค หรือปิดกั้นกดดันวัฒนธรรม ความหลากหลายเขามากเท่าไหร่ ปัญหาของสังคมยิ่งรุนแรงมากเท่านั้น เพราะธรรมชาติคนเรา มันต้องการอิสระเสรี มันต้องการแสดงความคิดเห็น มันมีความภูมิใจในความเป็นตัวตน หรือความเป็นคนท้องถิ่น หรือความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาษาของตัวเองอยู่”
อ.ปัณณพร ยังแนะรัฐมนตรีจักรภพด้วยว่า แทนที่จะทำให้วิทยุชุมชนกลายเป็นเครือข่ายของรัฐบาล น่าจะหันมาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดสื่อที่หลากหลายมากกว่า และรัฐบาลไม่ควรปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเสียงเหล่านั้นก็คือเสียงของการตรวจสอบนั่นเอง
ด้าน ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน ก็มองคำพูดของ นายจักรภพ ที่พยายามข่มขู่ให้วิทยุชุมชนมาเป็นเครือข่ายของรัฐบาล ว่า นอกจากสะท้อนว่ารัฐมนตรีขาดความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยุชุมชนแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำว่า ความคิดของรัฐมนตรีจักรภพ ขณะนี้ แย่ยิ่งกว่าสมัยรัฐมนตรี สุรนันทน์ เวชชาชีวะ ที่กำกับดูแลสื่อสมัยรัฐบาลทักษิณด้วยซ้ำ
“ดิฉันคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า นักการเมืองก็ดี หรือแม้กระทั่งรัฐบาลก็ดี ยังขาดความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับวิทยุชุมชน คือ มองเป็นเพียงแค่ว่า ชุมชนมาทำสื่อ ความเป็นจริงแล้วมันเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ มันเป็นเรื่องของการใช้สื่ออย่างมีวิจารณญาณของเขาเอง เพราะฉะนั้นความคิดของรัฐมนตรีจักรภพก็เป็นเหมือนสมัยรัฐมนตรีสุรนันทน์ ก็คือ มีความคิดว่าต้องใช้อำนาจที่มีอยู่นั้นในการจะเข้าไปจัดการวิทยุชุมชน แต่ของคุณจักรภพ นี่ยิ่งแย่ตรงที่ว่ามีข้อแลกเปลี่ยน ก็คือ ใช้มิติทั้งพระเดชและพระคุณ ทั้งที่มิติเดียวที่เรื่องวิทยุชุมชนควรจะต้องได้รับการดูแลจากรัฐบาล ก็คือ เรื่องการเคารพในสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของชุมชน และความเชื่อในเรื่องของศักยภาพชุมชนที่เขาสามารถคิดได้ว่า เขาควรจะสื่อสารอะไร เพราะวิทยุชุมชนนั้น ไม่ใช่เป็นกรวย”
“คำว่าเป็นกรวย คือ ไม่ใช่เอาฝากรวยหงายขึ้นข้างบน แล้วให้ท่อต่อลงไปในจุดเล็กที่สุดคือชุมชน แต่วิทยุชุมชนเป็นการสื่อสารแนวระนาบ คือ การพูดแบบนี้สำหรับคนที่เชื่อในเรื่องของการใช้สื่อเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งเนี่ย จะไม่มีทางเข้าใจ เพราะวิทยุชุมชนแล้ว มันเป็นการใช้สื่อเพื่อประโยชน์ในชีวิตของเขาเอง มันหมดเวลาแล้วที่ใครต่อใครจะมานั่งจัดการวิทยุชุมชน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาคราชการหรือรัฐบาล หรือรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องนี้ดิฉันคิดว่า แม้กระทั่งตัววิทยุชุมชนเอง บางกลุ่มก็เรียกตัวเองว่าวิทยุชุมชนเอง ก็ต้องเรียนรู้หลักการวิทยุชุมชน โมเดลที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดิฉันกำลังจะถอดสรุปโมเดลอันนี้ลองส่งให้พรรคพวกที่เขาทำงานเคลื่อนไหววิทยุชุมชนทั่วโลกดูซิว่า ไอ้ตัวเหตุปัจจัยที่เราเจอเนี่ย เราจะจัดการกับเรื่องนี้ได้อย่างไร คือ เรื่องที่ไม่เข้าใจและไม่เคารพในสิทธิการสื่อสารของชุมชนและของประชาชน”
ขณะที่ นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) ชี้ว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ อำนาจไม่ได้อยู่ที่รัฐมนตรีหรือกรมประชาสัมพันธ์ที่จะเข้ามาแทรกแซงหรือให้ใบอนุญาตคลื่นความถี่หรือวิทยุชุมชน แต่อำนาจอยู่ที่องค์กรอิสระ คือ กทช.ที่จะต้องตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ให้ใบอนุญาตแทน กสทช.ชั่วคราว ดังนั้น ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ ตนจะยื่นหนังสือต่อ กทช.เพื่อขอทราบถึงบทบาทของ กทช.ว่าจะทำอะไรบ้าง และเหตุใดจึงปล่อยให้รัฐมนตรีออกมาแสดงบทบาทที่ทับซ้อนกับ กทช.เช่นนี้
“ที่ผ่านมา กรมประชาสัมพันธ์เองก็มีมาตรการที่ให้วิทยุขนาดเล็กที่เกิดขึ้นโฆษณาได้ 6 นาที ซึ่งนั่นก็นอกเหนือแนวคิดของวิทยุชุมชนที่ดำเนินการอยู่แต่เดิม ซึ่งมีเพียงแค่ประมาณ 200-300 สถานี หลังจากนั้นจำนวนมันก็เพิ่มมากขึ้น หลัก 4,000 สถานี ซึ่งตัวเลขจำนวนนี้ก็เกิดขึ้นเนื่องจากตัวการมีโฆษณาหรือการแสวงหารายได้ได้ อันนี้ก็เลยเป็นปัญหาตามมาว่ามันมีคลื่นรบกวน ระหว่างคลื่นหลักที่มีอยู่แล้ว รบกวนกันเองด้วย การที่รัฐเองขณะนี้ หรือพอเปลี่ยนพรรคการเมืองหลัก ก็คือพรรคพลังประชาชนเองเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เองเข้ามาดูในเรื่องนี้ ก็มีมาตรการหลายๆ เรื่องในเรื่องสื่อ ซึ่งดูท่าทีที่ออกมา การใช้อำนาจต่างๆ เนี่ยถือว่ากำลังก้าวล่วงกฎหมายไปในหลายๆ ประเด็น”
“(ถาม-ทาง คปส.มีแนวคิดจะออกแถลงการณ์ติง หรือชี้แจงกรณีที่คุณจักรภพออกมาข่มขู่ให้วิทยุชุมชนเป็นเครือข่ายของรัฐบาลมั้ย?) มีฮะ ที่กำลังจะไปยื่นอยู่ ยื่นแล้วก็หารือกับ กทช.ในเรื่องนี้ว่า โดยบทบาทของ กทช.ตามกฎหมายฉบับนี้ (พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ) เองเนี่ย จะต้องมีหน้าที่ดำเนินการอย่างไรบ้าง เพราะขณะนี้ก็ปล่อยให้ทางรัฐมนตรีออกมามีบทบาท ซึ่งทับซ้อนกับหน้าที่ของทาง กทช.(ถาม-จะยื่นเมื่อไหร่?) วันที่ 23 ช่วงบ่าย ต้องถือโอกาสหารือกับ กทช.ด้วยว่า วิทยุชุมชนจริงๆ จะมีหลักเกณฑ์มีกรอบดำเนินการอย่างไร มีที่มาอย่างไร และตัวจำนวนสถานีที่ดำเนินการจริงๆ มีอยู่ประมาณเท่าไหร่ ซึ่งหาก กทช.เองจะให้ใบอนุญาต ก็ควรจะต้องมีกระบวนการในการให้ใบอนุญาตที่โปร่งใส มีการประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ โดยวิทยุชุมชนเองต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ในขณะเดียวกันถ้าเกิดว่าทางหน่วยงานรัฐซึ่งไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ หรือจะเป็นกรมประชาสัมพันธ์เอง ออกมาเข้ามาจดทะเบียนหรือให้ใบอนุญาตโดยที่ไม่มีอำนาจแล้วเนี่ย ผมคิดว่าเป็นช่องทางที่สามารถที่จะฟ้องร้องได้ ซึ่งขณะนี้เอาเข้าจริงแล้ว ก็เริ่มมีการฟ้องร้องรัฐมนตรีท่านนี้อยู่แล้ว”
เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ ยังเผยด้วยว่า เร็วๆ นี้ จะจัดเวทีเพื่อหารือกับหลายๆ ฝ่าย เพื่อประเมินการทำงานของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที (ช่อง 11) และทีวีไทย ทีวีสาธารณะ (ไทยพีบีเอส) ว่า ที่ผ่านมา ทั้ง 2 สถานีอยู่ตามลู่ของตัวเองหรือไม่ เป็นสถานีโทรทัศน์ที่บริการสาธารณะจริงมากน้อยแค่ไหน อะไรเป็นส่วนที่เกิน อะไรเป็นส่วนที่ขาด เช่น เรื่องการโฆษณา การแสวงหารายได้ต่างๆ ถือว่าดำรงอยู่ในหลักปรัชญาของทีวีสาธารณะจริงหรือไม่? นายสุเทพ วิไลเลิศ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุผลหนึ่งที่รัฐมนตรีจักรภพ ต้องการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ก็เพราะต้องการให้เอ็นบีทีสามารถแสวงหารายได้จากการโฆษณาสินค้าทั่วไปได้ ไม่ใช่โฆษณาได้เฉพาะในเชิงภาพลักษณ์จากหน่วยงานของรัฐเท่านั้น!!