xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : จาก “แทรกแซงสื่อ” ถึง “ฮั้วเอ็นบีที”...(จักรภพ) ส่อไม่รอด !?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรรคประชาธิปัตย์ยื่นหนังสือเพื่อถอดถอนนายจักรภพ ต่อประธานวุฒิสภา วานนี้(21 พ.ค.)
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน

ในที่สุด “จักรภพ เพ็ญแข” ก็ได้รับเกียรติเป็น “รมต.คนแรก” ที่ถูกฝ่ายค้านยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง หลังส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ รธน.และกฎหมายในหลายกรรมหลายวาระ ไม่ว่าจะเรื่องแทรกแซงสื่อหรือเรื่องส่อฮั้วในเอ็นบีที แม้ฝ่ายค้านจะไม่พ่วงเรื่อง “ทัศนคติที่อันตราย” ของนายจักรภพมาประกอบในการยื่นถอดถอนด้วย แต่ลำพังแค่ 2 เรื่องที่ยื่นไป ก็น่าจะหนักหนาสาหัสเกินพอแล้ว โดยเฉพาะเรื่องฮั้วในเอ็นบีที ที่ไม่เพียงมีการพบพิรุธหลายจุด แต่นายจักรภพเอง ยังออกอาการไม่กล้าสู้หน้า-ไม่กล้าตอบคำถามสื่อในเรื่องนี้ โดยโบ้ยให้ไปถามอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์แทน จากนั้นก็เกิดการ “โยนกลอง” กันอุตลุด

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

แม้ไม่ใช่เรื่องยากที่ “จักรภพ เพ็ญแข” อดีตแกนนำ นปก.และอดีตโฆษกรัฐบาลทักษิณ จะก้าวขึ้นนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนอมินีของไทยรักไทย แต่การจะรักษาเก้าอี้รัฐมนตรีของตัวเองไว้ดูจะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญพอสมควร

อาจเป็นเพราะเมื่อมีอำนาจ ก็ใช้อำนาจไม่ถูกทาง เพราะแทนที่เมื่อเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสื่อ จะปฏิรูปสื่อ ให้สิทธิเสรีภาพแก่สื่อ กลับทำหลายสิ่งที่สะท้อนว่าต้องการปิดปากสื่อ ล้วงลูก-แทรกแซงสื่อ ครอบงำสื่อ อันเป็นกระทำที่ขัดต่อ รธน. ไม่เท่านั้นยังส่อว่าได้ใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายในการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องด้วย จึงได้นำไปสู่การถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวานนี้ (21 พ.ค.) นับเป็น “รัฐมนตรีคนแรก”ในรัฐบาลนอมินีที่ถูกฝ่ายค้านยื่นถอดถอน

เหตุผลที่ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนนายจักรภพออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี มี 2 ประเด็นใหญ่ๆ 1.มีพฤติกรรมแทรกแซงสื่ออย่างชัดเจน เช่น การสั่งให้กรมประชาสัมพันธ์ยึดคลื่นวิทยุคืน 5 สถานี และการแทรกแซงวิทยุชุมชน ด้วยการจะนำมาเป็นเครื่องมือของรัฐ ฯลฯ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อ รธน.2550 มาตรา 46 และ 2.การเข้าไปบริหารจัดการเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์เป็นเอ็นบีที ส่อว่าจะมีการฮั้วให้บุคคลบางกลุ่มเข้าไปร่วมผลิตรายการ ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว

ลองมาไล่เรียงดูว่า แต่ละพฤติกรรมที่ว่า มีหลักฐานชัดเจนแค่ไหน? และงานนี้ นายจักรภพจะดิ้นหลุดหรือไม่?

เริ่มด้วย พฤติกรรมที่ค่อนข้างชัดเจนว่า นายจักรภพแทรกแซงสื่อ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่นายจักรภพแถลงเปิดตัวสถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีที่แปลงโฉมมาจากช่อง 11 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ในงานดังกล่าว นอกจากนายจักรภพจะยอมรับว่า ได้นำอดีตพนักงานไอทีวีมาเป็นผู้ประกาศข่าวที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีจำนวนมากแล้ว ยังบอกด้วยว่า ตนได้ขอให้กรมประชาสัมพันธ์ยึดคืนคลื่นวิทยุ 5 สถานี ประกอบด้วย เอฟเอ็ม 88 เมกะเฮิรตซ์, เอฟเอ็ม 93.5, เอฟเอ็ม 95.5, เอฟเอ็ม 97.0 และเอฟเอ็ม 105 วิสดอมเรดิโอ โดยอ้างว่า ที่ให้ยึดคืนเพื่อให้การเสนอข่าวของคลื่นดังกล่าวมีความสมดุล-เป็นกลาง ไม่ใช่เป็นสถานีวิทยุของรัฐ แล้วมีแต่รายการที่ชี้แต่ความพินาศของบ้านเมือง!?!

คำพูดดังกล่าวของนายจักรภพ ทำให้หลายคนอดคิดย้อนกลับไปไม่ได้ว่า การที่รายการของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม.ถูกปลดออกจากคลื่นวิสดอมเรดิโอแบบฟ้าผ่า หลังออกมาจับโกหกนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ที่อ้างว่ามีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แค่คนเดียวนั้น เป็นรายการที่ชี้แต่ความพินาศของบ้านเมืองอย่างนั้นหรือ ถึงต้องถูกปลด?

นี่ยังไม่รวมกรณีที่นายจักรภพลงไปล้วงลูก อสมท ด้วยการส่งสัญญาณให้บอร์ดปลดนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ พ้นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท แถมยังชงรายชื่อบอร์ดใหม่ โดยให้คนใกล้ชิดตัวเองเข้าไปนั่งเป็นบอร์ด อสมท ด้วย เช่น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ บิดาของนายจารุวงศ์ เรืองสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ หรือเลขาฯ ตัวเองนั่นเอง ซึ่งนายจารุพงศ์ไม่เพียงเป็นบิดาของเลขาฯ นายจักรภพเท่านั้น แต่ยังเป็นอดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคพลังประชาชนด้วย ที่เคยมีข่าวเกรียวกราวว่า นายเนวิน ชิดชอบ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เข้าไปล้วงลูกจัดโผรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.กทม.ด้วยการปลดนายจารุพงษ์ และนายคณวัฒน์ วศินสังวร พ้นจากการเป็นว่าที่ผู้สมัคร แล้วนำชื่อ 2 แกนนำ นปก.อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ มายัดใส่ในโผแทน

หลังล้วงลูก อสมท นายจักรภพก็ออกมาส่งสัญญาณแทรกแซงสื่ออีกครั้ง ด้วยการขู่แกมบังคับให้ “วิทยุชุมชน” ที่มีอยู่ทั่วประเทศขณะนี้ประมาณ 4,000-6,000 สถานี มาสวามิภักดิ์กับรัฐบาล โดยนายจักรภพพูดเรื่องนี้ระหว่างพบวิทยุชุมชนในพื้นที่ 19 จังหวัดภาคอีสานเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ว่า หากวิทยุชุมชนรายใดเป็นเครือข่ายให้รัฐบาล โดยอาจจะให้เวลารัฐบาลสักวันละ 2-3 ชม. ตนก็จะช่วยเหลือเป็นารตอบแทนด้วยการประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ให้จับกุมวิทยุชุมชนรายนั้น เพราะถือว่าได้ช่วยงานรัฐบาล!?!

ซึ่งหลายฝ่ายในสังคมได้ออกมาตำหนิท่าทีและแนวคิดของนายจักรภพอย่างกว้างขวาง เช่น ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน ได้ออกมาชี้ว่า คำพูดของนายจักรภพนอกจากสะท้อนว่าขาดความเข้าใจในวิทยุชุมชนแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำการใช้อำนาจจัดการวิทยุชุมชนซึ่งแย่ยิ่งกว่าสมัยรัฐบาลทักษิณด้วยซ้ำ

“ดิฉันคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า นักการเมืองก็ดี หรือแม้กระทั่งรัฐบาลก็ดี ยังขาดความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับวิทยุชุมชน คือมองเป็นเพียงแค่ว่า ชุมชนมาทำสื่อ ความเป็นจริงแล้วมันเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ มันเป็นเรื่องของการใช้สื่ออย่างมีวิจารณญาณของเขาเอง เพราะฉะนั้นความคิดของรัฐมนตรีจักรภพก็เป็นเหมือนสมัยรัฐมนตรีสุรนันทน์ (เวชชาชีวะ รัฐมนตรีที่กำกับดูแลสื่อสมัยรัฐบาลทักษิณ) ก็คือ มีความคิดว่าต้องใช้อำนาจที่มีอยู่นั้นในการจะเข้าไปจัดการวิทยุชุมชน แต่ของคุณจักรภพนี่ยิ่งแย่ตรงที่ว่ามีข้อแลกเปลี่ยนก็คือ ใช้มิติทั้งพระเดชและพระคุณ ทั้งที่มิติเดียวที่เรื่องวิทยุชุมชนควรจะต้องได้รับการดูแลจากรัฐบาล ก็คือเรื่องการเคารพในสิทธิเสรีภาพการสื่อสารของชุมชน และความเชื่อในเรื่องของศักยภาพชุมชนที่เขาสามารถคิดได้ว่า เขาควรจะสื่อสารอะไร”

ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต ส.ว.อุบลราชธานี และประธานคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมและพัฒนาการใช้ทรัพยากรสื่อสารมวลชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง ชี้ว่า พฤติกรรมของนายจักรภพที่พยายามข่มขู่แกมบังคับให้วิทยุชุมชนมาเป็นเครือข่ายของรัฐบาลนั้น นอกจากจะเข้าข่ายขัด รธน.2550 แล้ว ยังจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยกและนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นด้วย

“อันที่ 1 คือ เป็นเรื่องการขัดต่อ รธน. ไม่ว่า รธน.ปี 50 หรือปี 40 ก็ตาม เพราะหน้าที่ในการที่จะเข้าไปในเรื่องของการดูแลวิทยุชุมชนเนี่ย ไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาล รธน.ปี’50 กำหนดว่าเป็นเรื่องขององค์กรอิสระ กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งมาจาก กทช.+กสช.) เพราะฉะนั้น การที่รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารเข้ามา ก็ถือว่าตรงนี้เป็นเรื่องของการเอาการเมืองเข้ามาแทรกแซงในเรื่องของการจัดการคลื่นความถี่ ก็ขัดต่อ รธน. ประการที่ 2 คือ ที่(จักรภพ) พูดอย่างนี้แสดงว่าไม่เข้าใจเนื้อหาหรือการทำงานของวิทยุชุมชน เพราะคำว่าวิทยุชุมชน ต้องเป็นการจัดการโดยชุมชน เพื่อชุมชน และเป็นของชุมชน ...รัฐบาลหรือนักการเมืองไม่มีหน้าที่จะเข้าไปยุ่งหรือก้าวก่าย เพราะเนื้อหาของวิทยุชุมชนไม่ต้องการที่จะมาตอบสนองในเรื่องของกิจการของรัฐ พูดง่ายๆ คือไม่ได้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของการที่ต้องการจัดในเรื่องเนื้อหาหรือประโยชน์ของการสื่อสารเพื่อกิจการภายในชุมชนท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ...ประการสุดท้ายคือ ผมเป็นห่วงว่า ถ้าหากว่าคุณจักรภพทำตรงนี้ ก็เหมือนกับว่าเข้ามาแทรกแซง และใช้วิทยุชุมชนซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศมาเป็นเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ในขณะที่สังคมมีความแตกแยก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราวิตก คือ ถ้าใช้วิทยุชุมชนเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง มันก็อาจจะทำให้สังคมเกิดความแตกแยกและความรุนแรงมากขึ้น”

หลังส่งสัญญาณข่มขู่แกมบังคับให้วิทยุชุมชนมาเป็นมือไม้ของรัฐบาลได้ไม่ถึง 1 เดือน นายจักรภพก็ออกอาการแทรกแซงสื่ออีกครั้งเมื่อวันที่ 10 พ.ค.(ระหว่างเปิดงานสัมมนาเรื่อง “บทบาทสื่อกับความเป็นกลางในยุคสังคมแตกแยก(ความคิด)” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม) คราวนี้ เขาได้ผุดไอเดียจะให้กรมประชาสัมพันธ์ออกกฎระเบียบห้ามสื่อของรัฐเสนอข่าวสนับสนุนการรัฐประหารทั้งทางตรงและทางอ้อม ถ้าไม่เชื่อฟัง จะโดนเล่นงานทางวินัย!?!

ทันทีที่นายจักรภพคิดจะออกกฎเหล็กดังกล่าว ก็ถูกหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอีกครั้ง เช่น อ.สุรัตน์ เมธีกุล ประธานสภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.) ได้ออกมาชี้ว่า รัฐมนตรีไม่สามารถออกกฎระเบียบมาควบคุมหรือสั่งห้ามสื่อได้ เพราะนอกจากจะไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว สื่อของรัฐ ก็ไม่ใช่สื่อของรัฐบาลด้วย จะมาใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลไม่ได้

ขณะที่ รศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร รณะนันทน์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะออกมาติงนายจักรภพว่าส่อเข้าข่ายขัด รธน.มาตรา 46 ที่คุ้มครองสื่อของรัฐว่าต้องมีเสรีภาพในการเสนอข่าวเช่นเดียวกับสื่อของเอกชนแล้ว ยังชี้ด้วยว่า สื่อมวลชนต้องมีหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน เพื่อตรวจสอบรัฐบาลที่แม้จะมาตามระบอบประชาธิปไตยแต่ทำตัวประหนึ่งทรราชเหมือนกัน

ด้าน นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ก็ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากรัฐบาลและรัฐมนตรีจักรภพจะไม่เร่งทำหน้าที่ของตนเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อแล้ว ยังมาทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ เช่น การแทรกแซงสื่อ ทั้งสื่อของรัฐและวิทยุชุมชน แถมยังจะออกกฏมาควบคุมเนื้อหาในสื่อของรัฐไม่ให้พูดเรื่องการรัฐประหารอีก ถือว่าเข้าข่ายละเมิดสื่อของรัฐตาม รธน.2550 มาตรา 45-46

“ระเบียบ(ที่จะออกมาห้ามสื่อรัฐเสนอข่าวสนับสนุนการรัฐประหาร)นั้นคงเป็นระเบียบของ จนท.หรือของส่วนราชการที่จะมาใช้บังคับสื่อมวลชนของราชการ ซึ่งหมายความว่า ก็จะละเมิดต่อ รธน.มาตรา 45-46 อยู่ดี ซึ่งนั่นคงยิ่งตอกย้ำเรื่องของการแทรกแซง(สื่อ) การฟ้องร้องต่างๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ง่าย รวมไปถึงการตรวจสอบโดยฝ่ายค้านที่มีการยื่นถอดถอนคุณจักรภพ ขณะนี้ทางสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นเครือข่ายของประชาชนเอง ที่มีสถานีวิทยุชุมชนอยู่ไม่เกิน 200 สถานี มีการหารือกันพูดคุยกันถึงท่าทีของรัฐบาลที่ไม่ได้แสดงความจริงใจในการปฏิรูปสื่อ แต่กลับมาใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในการที่จะมาแทรกแซงสื่อ ไม่ว่าจะเริ่มจากกรณีรายการของ อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เอง วิสดอมเรดิโอ หรือกรณีต่อมาที่วิทยุขนาดเล็กที่เกิดขึ้น(วิทยุชุมชน)และอยู่ระหว่างสุญญากาศ (จักรภพ) ก็พยายามชักจูงให้มาอยู่ในเครือข่ายของรัฐบาล และท้ายสุดนี่ ยังใรกรณีเอ็นบีทีด้วย แม้จะเป็นหน่วยงานราชการเองก็ต้องมีอิสระมีเสรีภาพที่จะนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ในฐานะของสื่อมวลชนด้วยเช่นกัน ท้ายสุดการกำกับด้วยนโยบายของรัฐบาลเองในเรื่องของการควบคุมเนื้อหาการพูดถึงเรื่องการรัฐประหารเนี่ย ก็อาจจะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับกรณีคุณจักรภพเองก็ได้”

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือพฤติกรรมและคำพูดของนายจักรภพที่สะท้อนถึงการแทรกแซงสื่อ-ล้วงลูกสื่อ โดยเป็น 1 ในเหตุผลหลักที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นถอดถอนนายจักรภพพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี ส่วนอีกเหตุผลหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะใหญ่และร้ายแรงกว่า คือ พฤติกรรมที่ส่อว่านายจักรภพอาจผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ฐานรวบรัดให้บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง ของอดีตพนักงานทีไอทีวี เข้ามาร่วมผลิตรายการข่าวกับเอ็นบีที โดยไม่เปิดประมูลให้โปร่งใส ซึ่งเรื่องนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และหลายฝ่ายที่พยายามตรวจสอบเริ่มพบพิรุธหลายจุดว่าส่อเข้าข่ายฮั้วจริง

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชน ระบุว่า แค่นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ พูดผ่านรายการ “สนทนาประสาสมัคร”เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ว่า จะมีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่ดีกว่าไทยพีบีเอส แต่ยังไม่ได้บอกรูปแบบที่ชัดเจน ปรากฏว่า ให้หลังแค่ 5 วัน ทางบริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง ที่มีนายอดิศักดิ์ ชื่นชม เป็นกรรมการผู้จัดการ ก็ทำหนังสือ(ลงวันที่ 25 ก.พ.) ถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ โดยขอร่วมผลิตรายการข่าวประจำวันกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ทั้งที่กรมฯ ยังไม่ได้มีการออกประกาศหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับโครงการร่วมผลิตข่าวแต่อย่างใด

ต่อมา 5 มี.ค. นายเผชิญ ขำโพธิ์ รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้ลงทะเบียนรับหนังสือของบริษัท ดิจิตอล มีเดียฯ พร้อมทำหนังสือด่วนมากถึงนายสุริยงค์ หุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(สทท.)ช่อง 11 ในวันเดียวกันให้พิจารณาดำเนินการหรือนำเสนอโดยด่วน

11 มี.ค. นายสุริยงค์ ทำบันทึกด่วนที่สุดกลับไปยังรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อีกครั้ง เสนอผลการพิจารณาบริษัทที่เสนอตัวเข้าร่วมผลิตรายการข่าวประจำวันกับช่อง 11 โดยสิ่งที่เสนอระบุอยู่ในกระดาษเพียง 1 หน้าเท่านั้น ซึ่งระบุว่า มีบริษัทเสนอตัว 2 บริษัท คือ บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้ง(จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 2 ต.ค.50) เสนอให้สิทธิประโยชน์แก่ช่อง 11 เป็นเงินปีละ 36 ล้านบาท และบริษัท เคแอลทีเอ็ม มีเดีย โปรดักส์(จดทะเบียนจัดตั้ง 22 ส.ค.49) เสนอสิทธิประโยชน์เป็นเงินปีละ 30 ล้านบาท

ซึ่งนายสุริยงค์ ได้เสนอความเห็นในหนังสือให้รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์พิจารณาอนุมัติให้บริษัท ดิจิตอล มีเดียฯ เป็นผู้ร่วมผลิตรายการข่าวประจำวันกับช่อง 11 โดยให้เหตุผลว่า บริษัทดังกล่าวให้สิทธิประโยชน์สูงกว่า และมีผู้นำเสนอข่าวที่เป็นที่รู้จักของสังคมมากกว่า ซึ่งในที่สุด นายเผชิญ ขำโพธิ์ รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้อนุมัติตามที่เสนอในวันเดียวกัน

14 มี.ค.ได้มีการประชุมคณะทำงานระหว่างช่อง 11 กับบริษัท ดิจิตอล มีเดียฯ โดยบริษัทดังกล่าวจะจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ช่อง 11 เพิ่มจาก 36 ล้าน เป็น 40 ล้าน โดยอ้างว่า เพื่อพัฒนาบุคลากร อุปกรณ์ การจัดจ้างบุคลากรผู้ปฏิบัติงานและการพัฒนาการผลิตรายการ นอกจากนั้น ทางบริษัทฯ ยังจะจ่ายให้อีก 5 ล้าน รวมเป็น 45 ล้าน โดยอ้างว่า เพื่อสนับสนุนสวัสดิการสำหรับค่าใช้จ่ายลูกจ้างร่วมผลิตรายการที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากทางราชการได้

3 วันต่อมา 17 มี.ค. ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมผลิตรายการข่าวประจำวันระหว่างรักษาการ ผอ.ช่อง 11(สุริยงค์ หุณฑสาร) กับบริษัท ดิจิตอล มีเดียฯ และรายงานให้รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ทราบในวันถัดมา(18 มี.ค.)

ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจกรณีที่ช่อง 11 เลือกบริษัท ดิจิตอล มีเดียฯ เป็นผู้ร่วมผลิตรายการข่าว ครั้งนี้ ไม่เพียงอยู่ที่ระยะเวลาแห่งการพิจารณาและการดำเนินการคัดเลือกที่รวดเร็วโดยใช้เวลาแค่ไม่กี่วัน แต่ยังน่าสงสัยด้วยว่า มีการประกาศหรือเปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้าร่วมเสนอตัวหรือไม่ เหตุใดจึงมีบริษัทเข้าร่วมเสนอตัวน้อยรายแค่ 2 บริษัท แถมยังพบพิรุธด้วยว่า ที่ตั้งของบริษัททั้งสอง(ดิจิตอล มีเดียฯ-เคแอลทีเอ็ม มีเดียฯ) ก็อยู่ที่เดียวกัน คือ 731 พีเอ็มทาวเวอร์ ถ.อโศก-ดินแดง แขวงดินแดง เขตดินแดง กทม.

และไม่เพียงบังเอิญว่า ทั้ง 2 บริษัทดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่เดียวกับ “สำนักข่าวประชาทรรศน์”ที่สังคมมองว่าเสนอข่าวสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ยังให้บังเอิญอีกว่า หมายเลขโทรสารของบริษัท ดิจิตอล มีเดียฯ ยังเป็นเบอร์เดียวกับบรรณาธิการนิตยสารประชาทรรศน์ (นายอุดมศักดิ์ เสาวนะ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทสำนักข่าวประชาทรรศน์) อีกด้วย (หมายเลขโทรสาร 0-2642-9914)

ไม่เท่านั้น ในส่วนของเงิน 45 ล้านที่บริษัท ดิจิตอล มีเดียฯ เสนอเป็นสิทธิประโยชน์ให้ช่อง 11 นั้น นอกจากหลายฝ่ายจะมองว่า เป็นเงินที่เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่บริษัทดังกล่าวจะได้จากโฆษณาที่ช่อง 11 ให้บริษัทดังกล่าวชั่วโมงละ 7 นาที แต่ยังน่าสงสัยด้วยว่าเงิน 45 ล้านจะเป็นประโยชน์แก่รัฐจริงหรือ? ในเมื่อกรมประชาสัมพันธ์ได้ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ขอไม่นำเงินดังกล่าวส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยให้เหตุผลว่า กรมฯ ขอเก็บไว้เองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผลิตรายการและข่าวของช่อง 11 ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในสัญญาร่วมผลิตข่าวระบุว่า ทางบริษัท ดิจิตอล มีเดียฯ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างฉาก ผลิตเทปไตเติ้ล ฯลฯ แต่ในทางปฏิบัติ กรมประชาสัมพันธ์กลับจะนำเงิน 45 ล้านไปจ่ายเป็นค่าจ้างทำฉากใหม่อีก ค่าทำกราฟฟิกหน้าจอ ฯลฯ จึงเกิดคำถามว่า แล้วเงิน 45 ล้านบาทที่กรมฯ ขอไม่นำเข้าคลังนั้น จะต้องนำไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายที่บริษัทดังกล่าวควรเป็นผู้จ่ายอย่างนั้นหรือ?

ข้อพิรุธทั้งหลายทั้งปวงที่ส่อว่างานนี้ อาจมีการฮั้วในเอ็นบีทีหรือช่อง 11 ที่นายจักรภพกำกับดูแลและเป็นผู้เปลี่ยนโฉมเองกับมือ เป็นเรื่องที่รัฐมนตรีอย่างนายจักรภพต้องชี้แจง แต่ล่าสุด(21 พ.ค.) นายจักรภพก็ยังไม่มีคำตอบสำหรับเรื่องฮั้วดังกล่าว โดยอ้างว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าแล้ว พร้อมโยนให้สื่อไปถามนายเผชิญ ขำโพธิ์ รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพราะเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ แต่รู้สึกจะไม่มีใครอยากรับ “เผือกร้อน” ก้อนนี้ เพราะเมื่อสื่อไปถามนายเผชิญ ปรากฏว่า นายเผชิญก็โบ้ยให้ไปถามรัฐมนตรีจักรภพแทน

คงต้องติดตามว่า ที่สุดแล้ว จักรภพกับเรื่องแทรกแซงสื่อและเรื่องฮั้วเอ็นบีทีจะจบลงอย่างไร? จะนำไปสู่การถูกถอดพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่? นี่ยังไม่รวมกรณี“ทัศนคติที่อันตราย”ของนายจักรภพที่บรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เมื่อ 29 ส.ค.2550 ซึ่งหลายฝ่ายไม่เพียงมองว่าน่าจะเป็นคำพูดที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน แต่หลายคนยังยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยเห็นใครแสดงออกถึงความต้องการล้มสถาบันอย่างชัดเจนขนาดนี้มาก่อน แต่นายจักรภพ ก็คงปฏิเสธว่าไม่ใช่

...ถ้าไม่ใช่ ก็น่าสงสัยว่า แล้วทำไม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ที่นายจักรภพอุตส่าห์บากหน้าไปขอให้ช่วยชี้แจง กลับไม่กล้าช่วย หรือแม้แต่บุคคลที่นายจักรภพจงรักภักดีมาตลอดอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังต้องรีบตัดตอน “ลอยแพ” ให้นายจักรภพตายคนเดียว อยากรู้จริงๆ ว่า นาทีนี้จักรภพยังจะรักทักษิณเหมือนที่เคยรักอยู่มั้ย?

ประสพสุข บุญเดช ปธ.วุฒิสภา บอก จะรีบตรวจเอกสารการยื่นถอดถอนนายจักรภพ คาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งต่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการได้ไม่เกิน 26 พ.ค.นี้
จักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ ประกาศก่อนที่ฝ่ายค้านจะยื่นถอดถอนตนว่า ฝ่ายค้านมีหน้าที่ถอดก็ถอด ตนมีหน้าที่ใส่ก็ใส่ ถือว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ตามระบบรัฐสภา
แผนใช้เงิน 45 ล้านที่เอ็นบีทีได้รับจาก บ.ดิจิตอล มีเดียฯ หลังขอไม่นำเงินก้อนนี้ส่งเข้าคลัง ซึ่งน่าสังเกตว่า ค่าใช้จ่ายที่ปรากฏหลายรายการ น่าจะเป็นความรับผิดชอบของทางบริษัทฯ มากกว่า(ภาพ-มติชน)
หลักฐานเบอร์โทรสาร บ.ดิจิตอล มีเดียฯ ที่ระบุใน นส.ที่ทำถึงกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเบอร์เดียวกับ บ.ก.นิตยสารประชาทรรศน์ ส่วนที่ตั้งบริษัทระบุไม่ตรงกับที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า(ภาพ-มติชน)
จักรภพ ไม่ยอมคำถามผู้สื่อข่าวกรณีส่อฮั้วในเอ็นบีที โดยโบ้ยให้ไปถามอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์แทน
เผชิญ ขำโพธิ์ รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ยอมชี้แจงกรณีส่อฮั้วในเอ็นบีทีเช่นกัน โดยบอก ไม่มีปัญหา แต่รายละเอียดให้ถามรัฐมนตรีจักรภพ
กำลังโหลดความคิดเห็น