ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอคุ้มครองและช่วยเหลือ กรณีแรงงานข้ามชาติ ดับคารถห้องเย็น 54 ศพ พร้อมแนะ 5 ข้อคิดเห็นเสนอรัฐบาลแก้ไขปัญหา
วันนี้ (22 เม.ย.) บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ทีแอลเอสซี) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายต่างๆ จำนวน 25 องค์กร นำโดย นางสาววิไลวรรณ แซ่เตียว แกนนำ พร้อมด้วยกลุ่มผู้ชุมนุมราว 50 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้การคุ้มครองช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ กรณีแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าจำนวน 54 ราย เสียชีวิตในตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นของรถบรรทุกสิบล้อ ที่จังหวัดระนอง อย่างเร่งด่วน พร้อมกับทำสำเนาถึง รมว.มหาดไทย, รมว.แรงงาน, รมว.ยุติธรรม, รมว.ต่างประเทศ, รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รมว.สาธารณสุข,อธิบดีอัยการสูงสุด, รักษการ ผบ.ตร.ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการต่างประเทศและอาชญากรรมระหว่างประเทศ, สถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย, ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อีกด้วย
รายงานข่าวระบุว่า ทางเครือข่ายองค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์เอกชนด้านแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่เป็นองค์กรในไทยและต่างประเทศรู้สึกเสียใจ และมีข้อกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ดังกล่าวพร้อมกับมีความเห็นต่อการดำเนินงานของรัฐบาล ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำผิดอันมีลักษณะค้ามนุษย์ อีกทั้งตรวจสอบการมีส่วนรู้เห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น สร้างความโปร่งใสในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง 2.ระงับการดำเนินการส่งกลับแรงงานข้ามชาติที่รอดชีวิต เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้รับการบำบัดฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจในระหว่างที่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจนกว่าจะกระบวนการตรวจสอบชัดเจนตามกระบวนการยุติธรรม พร้อมจัดหาทนายความในการดำเนินการ
3.รัฐบาลต้องให้การดูแลและปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ รวมถึงครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมให้ความช่วยเหลือทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และโอกาสในการเข้าถึงการคุ้มครองตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ 4.รัฐบาลควรหยุดการทำให้แรงงานเป็นเสมือนหนึ่งอาชญากรและยุติการอ้างถึงความมั่นคงของชาติและละเลยการแก้ปัญหาของการย้ายถิ่น รวมถึงเคารพต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ และ 5.รัฐบาลจะต้องปรับเปลี่ยนแนวนโยบายให้สอดคล้องต่อการย้ายถิ่นข้ามชาติที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ ปรับปรุงระบบการจดทะเบียนแรงงาน พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกด้านสถานที่จดทะเบียนโดยเฉพาะพื้นที่แถบชายแดน อีกทั้งป้องกันการคอรัปชั่นและการลักลอบการค้ามนุษย์ นอกจากนี้แรงงานควรได้รับอนุญาตทำงานทันทีที่จดทะเบียน และควรมีการออกเอกสารการเดินทางชั่วคราวสามารถเดินทางเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งนายหน้าหรือผู้นำพา และควรมีกลไกในการคุ้มครองแรงงานให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจังต่อการดำเนินการ
ทั้งนี้ การยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวได้มี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รับเรื่องแทนนายกรัฐมนตรี โดยรับปากว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งหลังจากการปราศัยของนางสาววิไลวรรณ แล้วนั้น ทางกลุ่มได้เผาดอกไม้จันทน์จำนวน 54 ดอก เพื่อรำลึกถึงแรงงานพม่าที่เสียชีวิตในตู้คอนเทนเนอร์อีกด้วย